1. ความรู้สึกว่า "ฉันเป็น"


ผู้แสวงหา คือผู้ที่กำลังค้นหาตัวเอง

เลิกคำถามทุกอย่าง เหลือไว้เพียงคำถามเดียว "ฉันคือใคร?"

สิ่งเดียวที่เธอมั่นใจได้คือ "ฉันเป็น"

"ฉันเป็นนี่" คือคำตอบที่ผิด

จงใช้ความพยายาม ค้นหาว่าเธอที่แท้จริงคืออะไร

การจะรู้ว่าเธอคืออะไร ในขั้นแรก เธอต้องศึกษาและรู้ว่าอะไรที่ไม่ใช่เธอ

ค้นพบทุกสิ่งที่ไม่ใช่เธอ - ร่างกาย อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด เวลา ที่ว่าง นี่หรือนั่น - ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือนาม ทุกอย่างที่เป็นสิงถูกรู้ ไม่ใช่เธอ

เมื่อเธอกำลังอยู่กับการรู้ หรือสติ สิ่งที่ถูกรู้ไม่ใช่เธอ

ยิ่งธอเห็นสิ่งเหล่านี้ที่ไม่ใช่เธอชัดเจนเพียงใด เธอจะเข้าใกล้จุดหมายของการแสวงหามากเพียงนั้น 

และเธอก็จะตระหนักรู้ว่า เธอคือสิ่งหนึ่งซึ่งไร้ขีดจำกัด


ศรี นิสาร์กะทัตตะ มหาราช


1. ความรู้สึกว่า "ฉันเป็น"

ถาม ในแต่ละวัน เมือเรารู้สึกตัวตื่น โลกทั้งโลกก็ปรากฏขึ้น มันมาจากไหนหรือ?

ตอบ ก่อนที่สรรพสิ่งจะปรากฏขึ้นให้รับรู้ มันต้องมีผู้รับรู้เกิดขึ้นมาก่อน

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นและดับไปก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยมีบางสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นฉากหลัง


ถาม ก่อนที่ผมจะตื่นขึ้น ผมไม่รู้สึกตัว

ตอบ ไม่รู้สึกตัวแบบไหน? แบบหลงลืม หรือไม่สามารถรับรู้ได้?

แม้ตอนไม่รู้สึกตัว เธอจะสามารถรับรู้ประสบการณ์บางอย่างได้ใช่ไหม?

เธอจะมีอยู่โดยไม่รู้ได้ไหม?

การที่ความจำขาดหาย นั่นคือข้อพิสูจน์ถึงการไม่มีอยู่หรือเปล่า?

และเธอจะสามารถพูดได้อย่างชัดเจนถึงการไม่มีอยู่ของเธอในลักษณะของประสบการณ์จริงได้หรือ?

เธอไม่สามารถพูดได้ว่าใจของเธอไม่มีอยู่จริง

เวลามีคนปลุก เธอต้องตื่นขึ้นใช่ไหม?

และเมือเธอตื่นขึ้น สิ่งแรกที่ปรากฏให้รับรู้คือความรู้สึกว่า "ฉันเป็น" ใช่ไหม?

เมล็ดพันธุ์แห่งสติส่วนหนึ่งจะต้องมีอยู่ แม้ในระหว่างที่เธอหลับ หรือหมดสติ

เมื่อเธอรู้สึกตัวตื่น สิ่งที่เข้ามาในการรับรู้คือ "ฉันเป็น-ร่างกาย-ในโลก"

นี่คือขั้นตอนการรับรู้ แต่ในความเป็นจริง มันเกิดต่อเนื่องกันเร็วมากในขณะเดียว เป็นความรู้สึกเดียวว่า ฉันเป็นร่างกายในโลก

มันเป็นไปได้ไหทม ที่จะหยุดความรู้สึกไว้แค่คำว่า "ฉันเป็น" โดยไม่มีสิ่งใดมาต่อท้ายว่าเป็นใคร อะไร อย่างไร


ถาม ผมมักจะเป็นใครบางคนที่มีความทรงจำและนิสัยของตัวเอง

ผมไม่รู้จัก “ฉันเป็น” แบบอื่น

ตอบ อาจมีอะไรบางอย่างป้องกันเธอจากการรู้

เวลาเธอไม่รู้อะไรบางอย่างที่คนอื่นรู้ เธอทำอย่างไร?


ถาม ผมจะแสวงหาแหล่งที่มาของความรู้ของพวกเขา โดยให้พวกเขาช่วยให้คำแนะนำ

ตอบ มันไม่สำคัญสำหรับเธอหรอกหรือที่จะรู้ว่าเธอเป็นแค่ร่างกาย หรือเป็นอย่างอื่น?

หรืออาจไม่ได้เป็นอะไรเลย?

เธอไม่เห็นหรือว่าปัญหาของเธอคือปัญหาของร่างกายของเธอ – อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ครอบครัว เพื่อน ชื่อ ความมีชื่อเสียง ความมั่นคง การอยู่รอด – ทั้งหมดนี้หมดความหมายไปในทันทีที่เธอตระหนักว่าเธออาจไม่ใช่ร่างกายนี้


ถาม แล้วการรู้ว่าผมไม่ใช่ร่างกายจะมีประโยชน์อะไร?

ตอบ แม้การพูดว่าเธอไม่ใช่ร่างกายก็ยังไม่จริงเสียทีเดียว

ในแง่หนึ่ง เธอคือร่างกาย หัวใจ และจิตใจ และอื่นๆอีกมากมาย

ดิ่งลึกลงไปในความรู้สึกว่า “ฉันเป็น” และเธอจะพบ

เธอหาพบสิ่งที่เธอวางไว้ผิดที่หรือสิ่งที่เธอลืมได้อย่างไร?

เธอจะนึกถึงมันเสมอจนนึกขึ้นมาได้

ความรู้สึกถึงการมีอยู่ของ “ฉันเป็น” เป็นสิ่งแรกที่แสดงตัวออกมา

ถามตัวเองเมื่อมันออกมา หรือแค่มองดูมันอย่างเงียบๆ

เมื่อใจอยู่ใน “ฉันเป็น” โดยไม่เคลื่อนไปไหน เธอเข้าถึงสภาวะซึ่งไม่สามารถบรรยายด้วยคำพูด แต่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึก

สิ่งที่เธอต้องทำคือพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า

เพราะความรู้สึก “ฉันเป็น” นี้อยู่กับเธอเสมอ เธอเพียงแค่นำสารพัดสิ่งไปติดไว้กับมัน – ร่างกาย ความรู้สึก ความคิด ความเห็น ทรัพย์สิน เป็นต้น

สิ่งที่เธอใช้บ่งบอกความเป็นตัวเองนี้ล้วนทำให้เข้าใจผิด

เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เธอหลงเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่เธอ


ถาม ถ้าอย่างนั้น ผมคืออะไร?

ตอบ เพียงแค่รู้ว่าเธอไม่ใช่อะไร นั่นก็พอแล้ว

เธอไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเธอคืออะไร

เพราะความรู้หมายถึงการบรรยายด้วยถ้อยคำถึงสิ่งที่รู้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้สิ่งที่มีอยู่จริงหรือเป็นแค่แนวคิด 

ดังนั้นการจะพูดถึงสิ่งหนึ่งซึ่งรู้โดยปัจจัตตัง ซึ่งไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ ยกเว้นการบอกได้แค่ว่ามันไม่ใช่อะไร

ทั้งหมดที่เธอจะบอกได้คือ - ฉันไม่ใช่นี่ ฉันไม่ใช่นั่น"

เธอจะไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า "ฉันคือสิ่งนี้" 

ที่เธอจะระบุได้คือ "นี่" หรือ "นั่น" ล้วนไม่ใช่เธอ

ที่ระบุไม่ได้ เพราะเธอคือสิ่งที่ไม่สามารถรับรู้ได้ หรือจินตนาการได้

แต่ถ้าไม่มีเธอ ก็จะไม่มีการรับรู้หรือจินตนาการ

เธอเฝ้าสังเกตอารมณ์ความรู้สึกของหัวใจ ความคิดของใจ การทำงานของร่างกาย 

เมื่อมีการรับรู้ แสดงว่าสิ่งที่ถูกรู้ล้วนไม่ใช่เธอ

ถ้าไม่มีเธอ จะมีการรับรู้ หรือมีประสบการณ์เกิดขึ้นได้หรือ?

ประสบการณ์จะเกิดมีได้ ต้องมีผู้รับรู้ประสบการณ์นั้น 

ผู้รับรู้ประสบการณ์นั้นแหละที่สำคัญมั่นหมายว่าประสบการณ์นั้นเป็นของตน และมีอยู่จริง

แต่ประสบการณ์นี้ไม่ใช่ของเธอ ดังนั้นมันจะมีความสำคัญอะไรเล่า?


ถาม ในฐานะของการเป็นผู้รู้ประสบการณ์ ความรู้สึกว่า “ฉันเป็น” ก็เป็นประสบการณ์ชนิดหนึ่งไม่ใช่หรือ?

ตอบ ใช่ ทุกสิ่งที่ถูกรู้คือประสบการณ์

และในทุกประสบการณ์มีผู้ที่กำลังรับรู้ประสบการณ์นั้น

ความทรงจำทำให้เกิดมายาของความต่อเนื่อง

ในความเป็นจริง แต่ละประสบการณ์มีผู้รับรู้ประสบการณ์ของมันเอง และความรู้สึกว่าเป็นตัวเราของเราเกิดจากปัจจัยร่วมที่เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้เห็นประสบการณ์และตัวประสบการณ์

การระบุตัวตนและความต่อเนื่องไม่เหมือนกัน

เปรียบเหมือนดอกไม้แต่ละดอกมีสีของมันเอง แต่สีทั้งหมดเกิดจากแสงเดียวกัน ดังนั้นประสบการณ์มากมายปรากฏขึ้นในความตระหนักที่เป็นเนื้อเดียวไม่สามารถแบ่งแยกได้ แต่ละประสบการณ์แยกกันในความทรงจำ แต่มีแก่นแท้เหมือนกัน

แก่นแท้นี้คือราก คือฐาน คือ “ความเป็นไปได้” ที่ปราศจากเวลาและสถานที่ ของทุกประสบการณ์


ถาม ผมจะเข้าถึงมันได้อย่างไร?

ตอบ เธอไม่จำเป็นต้องเข้าถึงมัน เพราะเธอ คือ มัน

มันจะเข้าหาเธอเอง ถ้าเธอให้โอกาสมน

ปล่อยวางความยึดมั่นที่เธอมีต่อสิ่งไม่จริง และสิ่งที่จริงจะก้าวเข้าหาตัวมันเองในทันทีและอย่างนุ่มนวล

หยุดจินตนาการว่าเธอเป็นนั่นเป็นนี่ หรือทำนั่นทำนี่ แล้วการตระหนักว่าเธอคือแหล่งกำเนิดและหัวใจของสรรพสิ่งจะเกิดขึ้นแก่เธอ

สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันคือความรักที่ยิ่งใหญ่ซึ่งไม่ใช่การเลือกหรือการสมัครใจ หรือการยึดติด แต่เป็นพลังที่ทำให้ทุกสิ่งมีคุณค่าต่อการรักและน่ารัก



หมายเลขบันทึก: 630552เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2017 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2017 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท