วันวิชาการกิจการนิสิต : คุณค่าและมูลค่าของกิจกรรมนอกหลักสูตร


ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้นำองค์กรนิสิตได้ฝึกทักษะในการจัดการความรู้สู่การเผยแพร่ต่อสาธารณะและสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปผล หรือสะท้อนผลการดำเนินงานของกิจกรรมนอกหลักสูตร (กิจกรรมเสริมหลักสูตร) ผ่านกลไกการสื่อสารสร้างพลังหลากรูปแบบในศตวรรษที่ 21 ผูกโยงถึงการสร้างเครือข่ายจิตอาสาไปในตัว

โครงการวันวิชาการกิจการนิสิต ครั้งที่ 1 (กิจกรรมนอกหลักสูตร) เป็นกิจกรรมเชิงรุกในทางนโยบายของฝ่ายพัฒนานิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ริเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 

จะว่าไปแล้วเวทีนี้ถือเป็นวิสัยทัศน์ของ ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ (รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต) โดยตรง ซึ่งท่านได้มอบหมายให้ผมเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อน 


\

ขับเคลื่อนแบบค่อยเป็นค่อยไป : นิสิตเรียนรู้ร่วมกับเจ้าหน้าที่


ผมและทีมงานจัดเตรียมงานกันเงียบๆ มาร่วมสองสามเดือนเลยทีเดียว จัดเตรียมแบบไม่เป็นทางการ เริ่มต้นจากการเชื้อเชิญองค์กรนิสิตให้สกัดความรู้ หรือสรุปผลการดำเนินงานในแต่ละโครงการภายใต้ประเด็นสำคัญๆ องค์กรไหนจัดกี่โครงการก็สรุปมาโดยสังเขป แนบภาพถ่ายที่เกี่ยวพันกับเรื่องราวมาอย่างละ 4-5 ภาพ 



กรณีประเด็นที่สรุปกันมานั้น ส่วนใหญ่จะครอบคลุมสาระสำคัญๆ เช่น วัตถุประสงค์ เป้าหมาย กระบวนการ วิธีการ กรอบแนวคิด ผลสัมฤทธิ์ ปัญหาอุปสรรค ความสำเร็จ ความล้มเหลว ปัจจัยความสำเร็จและความล้มเหลว รวมถึงการต่อยอดครั้งใหม่ หรือการยกระดับความรู้ นั่นเอง

ผมกำหนดให้แต่ละองค์กรส่งมาให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเป็นหลัก ไม่ให้ตรงส่งมายังผม เพราะผมต้องการสร้างเวทีให้นิสิตกับเจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน ฝึกให้เจ้าหน้าที่ได้เป็น "พี่เลี้ยง" หรือ “โค้ช” ที่จะพิจารณากลั่นกรองให้ข้อเสนอแนะต่อนิสิตในเรื่องที่นิสิตได้สะท้อนออกมา นั่นยังไม่รวมถึงการการแฝงเร้นวิธีการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับนิสิต ซึ่งดูเหมือนจะมีช่องว่างทางความรู้และความรู้สึกอยู่ในระดับหนึ่ง -- 

พอได้เอกสารชั้นต้นที่ผ่านการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับเจ้าหน้าที่มาแล้ว ผมพิจารณาทวนซ้ำอีกรอบ คราวนี้เพิ่มความเข้มข้นเข้าไป หากต้องปรับแก้ก็ส่งกลับไปยังเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่นิสิตโดยตรง รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ประสานนิสิตมานั่งโสเหล่กันในแบบไม่เป็นทางการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่และนิสิตได้รับรู้และเรียนรู้ร่วมกันกับผม




จากประเด็นสู่หนังสือ : จากหนังสือสู่นิทรรศการ


ครั้นมีการแก้ไขทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ผมก็นำเรื่องทุกเรื่องมาจัดพิมพ์รวมเล่มเพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการจัดโครงการวันวิชาการกิจการนิสิต โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสภานิสิต –



การจัดทำหนังสือเช่นนี้เป็นงานสร้างสรรค์ในมุมมองของผม เป็นการจัดทำฐานความรู้เพื่อการเรียนรู้และสืบค้น หรือแม้แต่เผยแพร่ไปยังบุคคลอื่นๆ หรือแม้แต่การยืนยันว่าสิ่งที่ผมให้ทำนั้นผมให้ความสำคัญและเอาจริง มิใช่ทำเล่นๆ หรือทำแค่ให้ได้ตัวชี้วัดใดๆ

กระบวนการดังกล่าวเดินคู่กับการต่อยอดให้แต่ละองค์กรได้สกัดความรู้ซ้ำอีกรอบเพื่อเผยแพร่ในรูปของนิทรรศการ จัดสรรงบประมาณให้นิสิตเล็กๆ น้อยๆ แต่ไม่ได้บังคับว่าทุกองค์กรต้องทำ เน้นการสร้างความตระหนักและแรงจูงใจเสียมากกว่า 



โดยส่วนตัวผมมองว่านิทรรศการก็เป็นอีกงานสร้างสรรค์ที่สะท้อนชุดความรู้ในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตรได้เป็นอย่างดี ผมจะไม่พูดว่านิทรรศการคือทักษะการเรียนรู้ คือทักษะการผลิตสื่อ คือทักษะในการใช้ไอทีสารสนเทศใดๆ แต่ผมย้ำแค่ว่ามันเป็นผลพวงการเรียนรู้และเป็นวิธีการของการส่งต่อความรู้ไปยังคนอื่น มันเป็นเสมือนมรดกขององค์กรที่นิสิตต้องจัดทำขึ้นไว้ มิใช่ทำแล้วก็ไม่จารึกสิ่งใดๆ ไว้ให้คนรุ่นหลัง –


จากนิทรรศการสู่เรื่องเล่ากึ่งบทความ : สะท้อนงาน พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี

กระบวนการถัดมา ผมก็เชื้อเชิญให้นิสิตได้นำข้อมูลจากหนังสือและนิทรรศการมาต่อยอดเป็น “เรื่องเล่ากึ่งบทความ” โดยให้นิสิตได้เขียนขนาดความยาวไม่เกิน 4-5 แผ่นมาตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม พร้อมๆ กับการนำเสนอบทเวที 



กระบวนการนี้ดูซับซ้อนขึ้น เพราะเกี่ยวโยงกับการสกัดงานและนำเสนองานในรูปของวิชาการ และข้อเขียนที่ส่งมานั้นก็จะเข้มข้นกว่าครั้งแรกๆ คราวนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวคิด เครื่องมือ กระบวนการ ผลลัพธ์ ฯลฯ ที่เข้มข้นขึ้น พร้อมๆ กับการฝึกให้อ้างอิงข้อมูลอย่างเป็นระบบ ผูกโยงกับการสื่อสารบนเวทีอย่างจริงจัง 



กรณีการสื่อสารบนเวทีนั้น ผมมองง่ายๆ บนฐานคิดว่านี่คือกระบวนการฝึกทักษะของการสื่อสารสร้างพลัง หรือการสื่อสารสาธารณะ ผมเปิดกว้างในด้านรูปแบบของการนำเสนอ ใครใคร่นำเสนอแบบเล่าเรื่องก็เล่าเรื่อง ใครประสงค์จะบรรยายก็บรรยาย ใครใคร่นำเสนอผ่านละคร-ผ่านเพลง หรืออื่นๆ ผมก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่แน่ๆ ขอให้มีสื่อฉายขึ้นจอเพื่อสร้างการรับรู้เชิงประจักษ์และการสร้างพลังบวกแก่ผู้ชม –



เช่นเดียวกับการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ได้จัดทำคลิปนิสิตแต่ละองค์กรที่จะมานำเสนองานแบบง่ายๆ เพื่อเปิดใช้ประกอบเวทีในครั้งนี้ เรียกได้ว่านี่คือครั้งแรกในรอบหลายๆ ปีที่เราขับเคลื่อนกันแบบนี้ ดีไม่ดีเราไม่อะไรมากมายนัก เรารู้แต่เพียงว่าเราได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ยากสุดก็คือการเริ่มต้น และเราก็ชนะมันแล้ว


เชิดชูเกียรติ : ความดีไม่ได้เดินทางอย่างเดียวดาย

เวทีวันวิชาการกิจการนิสิต ครั้งที่ 1 (กิจกรรมนอกหลักสูตร) ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพียงเพื่อให้นิสิตได้ “ปล่อยของ” หรือสะท้อนผลการเรียนรู้ของตนเองเท่านั้น แต่เวทีนี้ยังได้มอบโล่รางวัลให้แก่ผู้นำนิสิตและองค์กรนิสิตเนื่องในรางวัล “ช่อราชพฤกษ์” อันเป็นรางวัลสูงสุดของคนที่เรียกตนเองว่านักกิจกรรม ซึ่งมีทั้งประเภทบุคคลและองค์กร

ในทำนองเดียวกันก็มีการมอบรางวัลให้กับองค์กรที่นำเสนอผลงานดีเด่นผ่านนิทรรศการ และการนำเสนอบนเวที ทั้งนี้กรณีนิทรรศการเราเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานโหวตกันเอง ซึ่งชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน) ได้รับรางวัลชนะเลิศ ส่วนการนำเสนอบทเวทีเรามีกรรมการพิจารณาตัดสินอย่างเป็นระบบ โดยชมรมรุ่นสัมพันธ์ คือผู้ที่คว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ไปครอง


ท้ายที่สุด

โดยสรุปแล้ววันวิชาการกิจการนิสิต ครั้งที่ 1 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้นำองค์กรนิสิตได้ฝึกทักษะในการจัดการความรู้สู่การเผยแพร่ต่อสาธารณะและสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สรุปผล หรือสะท้อนผลการดำเนินงานของกิจกรรมนอกหลักสูตร (กิจกรรมเสริมหลักสูตร) ผ่านกลไกการสื่อสารสร้างพลังหลากรูปแบบในศตวรรษที่ 21 ผูกโยงถึงการสร้างเครือข่ายจิตอาสาไปในตัว

เวทีดังกล่าวนี้ คือสิ่งที่ยืนยันได้ว่ากิจกรรมนอกหลักสูตรมีคุณค่าและมูลค่าเกินมองข้าม ไม่ใช่เรื่องงูๆ ปลาๆ งมงาย และไม่ใช่เรื่องไร้ซึ่งความรู้และสาระใดๆ

รวมถึงการยืนยันว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ควรค่าต่อการเชิดชูยกย่องเป็นที่สุด อย่างน้อยพวกเขาก็มิใช่เอาแต่ก้มหน้าก้มตาเรียนและเรียนอย่างเดียว หากแต่ยังรู้สึกว่าตนเองยังเป็นส่วนหนึ่งต่อการรับใช้สังคม และตระหนักว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงมันมีมากกว่าในชั้นเรียน


ภาพ :   บุณฑริกา ภูผาหลวง/พนัส  ปรีวาสนา
องค์กรที่เข้าร่วม 

1) สภานิสิต 

2) สโมสรนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

3) สโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์

4) สโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ

5) สโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์

6) สโมสรนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ

7) สโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์

8) สโมสรนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม 

9) กลุ่มนิสิตมอน้ำชี

10) กลุ่มนิสิตชาวดิน

11) ชมรมรุ่นสัมพันธ์

12) ชมรมพรางเขียว

13) ชมรมสานสายใยร่วมชายคา 

14) ชมรมอาสาพัฒนา

15) ชมรมสานฝันคนสร้างป่า

16) ชมรมสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชน

17) ชมรมรักษ์อีสาน

18) ชมรมกู้ภัยราชพฤกษ์

19) ชมรมเดินตามรอยเท้าพ่อ

20) ชมรมอาสายุวกาชาด 

21) ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง

22) ชมรมพุทธศาสนาและสมาธิ

23) ชมรม MSU Stage Band 

24) ชมรมหมากกระดาน

25) ชมรมเทควันโด

 

หมายเลขบันทึก: 630534เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2017 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2017 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาอ่านบันทึกนี้ครับ

-เก็บประสบการณ์ชีวิตเกี่ยวกับการ"ลิ้มลองผักพื้นบ้าน"มาฝากครับ..

-เมี่ยงใบหม่อน...

สวัสดีครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง


ขอบพระคุณมากๆ นะครับที่หนุนนกำลังใจอย่างไม่ขาดห้วง

บันทึกนี้ เขียนบันทึกไว้เป็นจดหมายเหตุองค์กรครับว่ามีการยกระดับงานในแต่ละปีอย่างไร

และเวทีนี้ก็มีนัยสำคัญที่พยายามสื่อให้รู้ว่า การเรียนรู้นอกหลักสูตรเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะทักษะชีวิต ทักษะสังคมก็ล้วนต้องบ่มเพราะผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรนี่แหละครับ


ปรบมือรัวๆ ค่ะอาจารย์

เห็นด้วยอย่างยิ่ง ชอบกิจกรรม ชอบสังคมควบคู่การเรียนตามหลักสูตร บ่มเพาะวิชาการ ทักษะชีวิตพร้อมสำหรับโลกการทำงานนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท