ชีวิตที่พอเพียง : 2949. โรงเรียนเป็นที่ผลิตพลเมืองเยาวชนได้หรือไม่



คำถามตามหัวข้อนี้เกิดขึ้นในเช้าวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐  เมื่อผมอ่านเอกสารการประชุม คณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล วาระ “โครงการวิจัย ศึกษาต้นแบบนวัตกรรมในการสร้าง จิตสำนึกพลเมืองในเยาวชน และการเสริมศักยภาพองค์กรผ่านการดำเนินการเพื่อชุมชนและการโค้ช”   โดยก่อนหน้านั้นผมอ่าน “รายงานฉบับสมบูรณ์  โครงการสร้างการเรียนรู้และพัฒนายุทธศาสตร์ การทำงานสร้างเสริมสุขภาวะ เด็กและเยาวชนผ่านพื้นที่ฐานการทำงานโรงเรียน (Development Phase)” ของ สคส. เสนอต่อ สสส. 

ทั้งสองโครงการมีส่วนซ้อนทับกันที่เยาวชน และโรงเรียน   ซึ่งตีความได้ว่าเกี่ยวกับการศึกษา หรือการเรียนรู้

ทำให้ผมมีคำถามต่อตนเองว่า ทำไมระบบการศึกษาไทยไม่ได้ครอบคลุมเรื่องเหล่านี้   และต่อไปในอนาคตเราจะช่วยกันทำให้ระบบการศึกษาไทยครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ได้หรือไม่   โดยผมมีความเห็นว่า    ในอุดมคติระบบการศึกษาไทยต้องสามารถปรับมาครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ ให้เป็นเนื้อเดียวกันกับงานปรกติประจำวัน    

จะบรรลุผลนี้ได้ ผมมองว่าต้องการการ transform สี่ชั้น  คือ transform วิธีจัดการเรียนรู้,  transform ครู,  transform โรงเรียน, และ transform กระทรวงศึกษาธิการ

ในที่ประชุมมูลนิธิสยามกัมมาจลเมื่อเช้าวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ให้ความเห็นว่า ต้องการความรู้จากการดำเนินการพัฒนาศักยภาพภาคีเพื่อพัฒนาพลเมืองเยาวชน เพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงใน ๔ มิติ คือ (๑) ระบบการบริหารการศึกษาของประเทศ (๒) การผลิตครู ทักษะของครูในการทำหน้าที่โค้ช (๓) บทบาทของพื้นที่และชุมชน (๔) บทบาทของครอบครัว  

ผมได้ชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า มูลนิธิสยามกัมมาจล มีเป้าหมายพัฒนาเยาวชน เน้นที่การพัฒนาอุปนิสัย หรือคุณลักษณะ   ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพภาคีเพื่อพัฒนาพลเมือง เยาวชนมา ๖ - ๗ ปี   เริ่มจากการ สนับสนุนสงขลาฟอรั่ม   แล้วนำโมเดลการทำงานที่สงขลาฟอรั่มพัฒนาขึ้น ไปขยายผลที่จังหวัดน่าน ศรีสะเกษ และสมุทรสงคราม    รวมเป็น ๔ จังหวัด    ผลงานช่วง ๓ ปีหลังของ ๔ จังหวัด ถือได้ว่าเป็น practical knowledge ด้านการพัฒนาพลเมืองเยาวชน    เป้าหมายของ “โครงการวิจัย ศึกษาต้นแบบนวัตกรรมในการสร้าง จิตสำนึกพลเมืองในเยาวชนฯ” คือสร้าง theoretical knowledge ด้านการพัฒนาพลเมืองเยาวชน ต่อยอดจาก practical knowledge นั้น   สำหรับนำไปใช้ในวงกว้างของการ พัฒนาเยาวชนของชาติต่อไป   โดยผู้ใช้ความรู้คือ ๔ กลุ่มที่ ดร. กฤษณพงศ์กล่าว  

คำถามคือ ทำอย่างไรวงการศึกษาภาคที่เป็นทางการ จะนำเอาความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ไปใช้งาน    เพื่อสร้างพลเมืองแห่งศตวรรษที่ ๒๑  และสร้างสรรค์ประเทศไทย ๔.๐   




วิจารณ์ พานิช                                                                                                                         

๒๓ พ.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 630532เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2017 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มิถุนายน 2017 08:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท