ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๒๔. วางแผนจัดระบบให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน



บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano   ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง

ตอนที่ ๒๔ วางแผนจัดระบบให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน  ตีความจาก Element 22 : Organizing Students to Interact   เป็นตอนสุดท้ายของ ภาค ๖ ใช้ยุทธศาสตร์ที่เป็นลักษณะร่วมของการเรียนทุกแบบ  

เป้าหมายของยุทธศาสตร์จัดระบบให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันทางความคิด ก็เพื่อให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ แบบร่วมมือกัน (collaborative learning)    และจะมีผลเสริมให้ทุกยุทธศาสตร์ในภาค ๖ นี้ ก่อผลสัมฤทธิ์เพิ่มขึ้น 

คำถามเชิงยุทธศาสตร์ของครู ในการวางแผนจัดระบบให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน  คือ    “ครูจะจัดระบบให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างไร”

ยุทธศาสตร์และวิธีการที่ครูใช้จัดระบบให้นักศึกษามีปฏิสัมพันธ์กัน  มีดังต่อไปนี้







ครูต้องเลือกใช้ยุทธศาสตร์ตามตารางข้างบนให้เหมาะสมตามลักษณะของบทเรียน เช่น peer tutoring ใช้ได้ดีกับการสอนสาระความรู้โดยตรง (direct instruction) ในความรู้เชิงสาระ (declarative knowledge)     การจัดนักเรียนเข้ากลุ่มไว้ล่วงหน้า ใช้ได้ผลดีในกิจกรรมฝึกปฏิบัติเพื่อให้รู้ลึกและเชื่อมโยงขึ้น โดยที่ครูจะสามารถ สังเกตเห็นโดยง่ายว่านักเรียนเรียนรู้ก้าวหน้าไปเพียงใด    

เมื่อยุทธศาสตร์นี้ได้ผล   จะสังเกตเห็นพฤติกรรมของนักเรียนดังต่อไปนี้

·       นักเรียนจัดกลุ่มได้อย่างรวดเร็วและมีเป้าหมาย

·       นักเรียนปฏิบัติต่อเพื่อนนักเรียนอย่างให้เกียรติแก่กันและกัน

·       นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กันในลักษณะที่ช่วยทำให้ความเข้าใจลึกและเชื่อมโยงขึ้น

·       นักเรียนทำงานกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ


ใน ภาค ๖ ใช้ยุทธศาสตร์ที่เป็นลักษณะร่วมของการเรียนทุกแบบ นี้   มียุทธศาสตร์หรือเครื่องมือ ๘ แบบ ให้ครูเลือกใช้ตามความเหมาะสม   โดยมีเป้าหมายหลักคือ ให้นักเรียนมองการเรียนเป็นกระบวนการ “สร้างใส่ตัว” (constructive process)   คือสร้างความรู้ความเข้าใจและทักษะต่างๆ สะสมขึ้นภายในตน   และนักเรียนทุกคนจะเรียนได้ดียิ่งขึ้น หากนักเรียนเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน 

ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้คือกระบวนการเปลี่ยนแปลง    นักเรียนจะต้องเปลี่ยนความคิดของตนไปเรื่อยๆ   บางเรื่องเปลี่ยนแบบพอกพูนต่อยอด บางเรื่องเปลี่ยนแบบเพิ่มความซับซ้อน และบางเรื่องเปลี่ยนแบบต้องละทิ้งความรู้เดิม เปลี่ยนชุดความรู้ใหม่   ครูต้องฝึกฝนทักษะในการช่วยให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงตนเองโดยการกระทำของตนเอง   โดยครูคอยสังเกตความก้าวหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน (embedded formative assessment -https://www.gotoknow.org/posts/tags/Dylan_Wiliam) และให้ คำแนะนำป้อนกลับเชิงสร้างสรรค์ (constructive feedback)

หากใช้เครื่องมือ ๘ ตัวตามในภาค ๖ นี้อย่างได้ผล จะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในห้องเรียนสองอย่างคือ  (๑) การเรียนเป็นการทำกิจกรรม (activity-based learning) และ (๒) ห้องเรียนเป็นสถานที่ที่นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์แบบร่วมมือ ช่วยเหลือกัน    สิ่งที่เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นคือ การบูรณาการความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิมภายในสมอง (ร่างกาย) นักเรียน

เครื่องมือทั้ง ๘ นี้จึงเป็นเครื่องมือของ active learning นั่นเอง

ผมเชื่อว่านอกจากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียนแล้ว ตัวครูก็เปลี่ยนไปด้วย




วิจารณ์ พานิช

๙ เม.ย. ๖๐

หมายเลขบันทึก: 630318เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2017 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2017 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท