​ทิ้งโอกาสทอง??


เคยไหมคะที่ประจวบกับอารมณ์เฉพาะหน้าแล้ว เรารู้สึกว่า

-รักหรือเมตตาเขามากกว่าปกติ

-หวั่นไหวว่าเขาจะน้อยใจเพราะการทำหรือไม่ทำอะไรของเรามากกว่าปกติ

-อยากให้เขาทำหรือไม่ทำอะไรมากกว่าปกติ

-โกรธเขามากกว่าปกติ

-ยังโกรธเขาไม่หาย

-เฉยเมยกับความทุกข์ของเขา

-เสียใจไม่หาย

ฯลฯ

หรือนำเรื่องที่จบไปแล้วมาเฝ้าครุ่นคิด คิดไปก็ยิ่งทำให้ความรู้สึกในทางลบที่จบไปแล้ว โลดแล่นอยู่ในใจได้ใหม่

ภาวะเหล่านี้แสดงว่าเรายอมให้กิเลสทั้ง

ราคะ (คือการย้อมติดกับสภาพใดสภาพหนึ่งจนอยากได้การเสพซ้ำๆ จนก่อให้ภาวะที่เรียกว่า กามฉันทะ)

โทสะ(คือการที่ราคะถูกขัด หรือก็คือกิเลสที่ก่อให้เกิดภาวะที่ได้ชื่อว่า พยาบาท) ครอบงำใจ

อันนำไปสู่การยึดมั่น เคลิบเคลิ้ม หลงใหลในการครุ่นคิดหรือเพ่งเฉพาะไปตามอำนาจราคะและโทสะ อันเป็นกิเลสประเภทโมหะ ที่ก่อให้เกิดอาการอันได้ชื่อว่า ถีนมิทธะ

เป็นเพราะเรายังเป็นเพียงผู้ฝึกตนนั่นเองค่ะ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มีสติมั่นคง ระลึกรู้เท่าทันภาวะอยู่ตลอดเวลา เราจึงถูกกิเลสครอบงำได้

เพราะถีนมิทธะ ภาวะเกิดดับที่เกิดจากเหตุปัจจัยในขณะหนึ่งๆ ที่จบไปแล้ว จึงไม่เคยหายไปจากใจ เป็นราวเกิดขึ้นได้ใหม่ซ้ำๆ เหตุการณ์ ผู้คนในเหตุการณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์นั้นๆ จึงราวสภาพถาวร ตั้งอยู่ในใจไม่ยอมเลือนหาย

อันนำไปสู่

การคิดด้วยความฟุ้งซ่าน (คือคิดไปตามใจอยากหรือตามความเห็นผิด) และ

คิดด้วยความคะนอง (คือเห็นสภาพเป็นโทษว่าไม่เป็นโทษ เห็นสภาพไม่เป็นโทษว่าเป็นโทษ เห็นสิ่งที่ควรว่าไม่ควร เห็นสิ่งที่ไม่ควรว่าควร)

และคิดเห็นด้วยความฟุ้งซ่านและคะนอง ซึ่งผิดจากความเป็นจริงในปัจจุบัน ดังที่ตรัสว่า จิตที่ดับไปแล้ว กับจิตที่เกิดในปัจจุบันนั้น ไม่ได้เห็นกันเลย

จึงก่อให้เกิดความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไร หรือ สงสัยว่าควรทำอย่างไรจึงให้ได้การเสพตามกามฉันทะ หรือกามฉันทะไม่ถูกขัดอีก อันที่เรียกว่า วิจิกิจฉา

จิตจึงไม่สามารถสงบกับสิ่งที่พบเห็นได้ ถูกสภาวธรรมทั้ง 5 นี้ ที่รวมเรียกว่า นิวรณ์ 5 ครอบงำ

สภาพที่ประสบ จึงพร้อมจะก่อให้เกิดทุกข์สุข ไม่สามารถเห็นความมีสองหน้าของธรรม ดังที่หลวงพ่อชา สุภัทโท กล่าวว่า ให้ราคาสุขและทุกข์เท่ากัน

เพราะราคาของสุขและทุกข์ไม่เท่ากัน จึงมักรักสุข เกลียดกลัวทุกข์

เพราะรักสุข จิตไม่เป็นสมาธิ ได้ชื่อว่าหลงใหลในสุขแม้ว่าสุขนั้นจะเป็นสุขอันชอบธรรม อันนำไปสู่การละเลยการฝึกให้ได้สุขที่ยิ่งขึ้นคือ สุขจากการพิจารณาเพื่อดับนิวรณ์ทั้ง 5

การเกลียดกลัวทุกข์ กลับยิ่งทำให้หลงใหลในทุกข์ คือหยิบเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้น ขึ้นมาคิดเบียดเบียนตนซ้ำๆ

หากมีสติจนระลึกได้ว่า ตนยังมีกิเลสอยู่ ได้สุขทุกข์ก็เพราะเหตุปัจจัย พยายามพิจารณาถึงความที่เป็นสภาพเกิดดับ โอกาสเห็นตรงสภาวะ เห็นว่าเป็นสภาพเกิดดับอย่างแท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้ในกาลต่อไป

ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะใดภาวะหนึ่งขึ้นกับใจ ที่ทำให้ใจผิดปกติไป ควรยกภาวะนั้นขึ้นมาพิจารณาดู หรือ ดูจิต

ที่ว่าดูจิต ก็คือดูให้เห็นถึงเหตุที่ก่อให้เจตสิกธรรมใดๆมาประกอบกับจิต ไม่ใช่ดูแค่อาการสุขทุกข์ของจิต อันเป็นผลที่มาจากจากเหตุ เมื่อรู้เหตุจึงจะขวนขวายหาทางดับเหตุ จนอาจจะรู้วิธีการดับเหตุได้

เมื่อหมดเหตุ ก็หมดทุกข์ แม้ว่าจะยังประจวบสิ่งต่างๆดังเดิม แต่สิ่งที่พบเจออาจไม่ทำให้เกิดอาการอย่างเดิม

อาการต่างๆทางจิตที่เคยเกิด จึงโอกาสทองในการฝึก ที่ปรากฏให้เห็นจึงอยู่ตรงหน้า

หมายเลขบันทึก: 629168เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2017 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2017 10:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

โอกาศ ทอง ฝึกจิต ..ดู..จิต..ทำได้ทุกเวลา....ยืนเดิน นั่ง นอน...ใช่ไหมเจ้าคะ..ท่านพุทธทาส กล่าวไว้...

มีดอกไม้มาฝาก มีรักมามอบให้..เป็นขวัญแลกำลังใจ..ต่อกันและกัน...นะเจ้าคะ...ยายธีค่ะ..

ขอบคุณคุณยายธีมากค่ะ

ส่งกำลังใจให้กันเสมอๆ??

ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตัวตนของเรานะครับคุณณัฐรดา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท