โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

​บันทึกวิถีเมืองญี่ปุ่น


โสภณ เปียสนิท

..............................

เมืองญีปุ่นอยู่ในใจของคนไทยผู้รักการท่องเที่ยวเกือบทุกคน ผมโชคดีเมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสเดินทางไปโตเกียวอีกครั้ง เป็นครั้งที่สอง รู้สึกดีใจว่า ที่เคยไปอธิษฐานไว้ที่วัดอาซากุสะ วัดพระแม่กวนอิม ครั้งก่อนนั้นขลังยิ่งนัก แม้ว่าการเดินทางครั้งนี้ซ้ำกับที่ไปครั้งก่อนหลายแห่งก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายแห่งที่ครั้งก่อนยังไม่ได้ผ่านไปเยือน

กล่าวกันว่า ญี่ปุ่นเป็นเมืองแห่งความรักสุขภาพ ดร โนกุจิ ซึ่งเกิดในตระกูลชาวบ้านห่างไกลและยากจน แต่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาทางการแพทย์จนสำเร็จ เมื่อมาทำงานแล้วได้คิดค้นวิธีการรักษาเสริมส่งสุขภาพให้แก่ชาวญี่ปุ่นไว้มากมายหลายอย่าง เช่น ถั่วเน่า เรียกภาษาญี่ปุ่นว่า “นัตโตะ” ป้องกันโรคหัวใจ เส้นเลือด เบาหวาน อัลไซเมอร์ ค้นพบเชื้อซิฟิลิส คอลลาเจน ไฮยาลูลอน ช่วยผิวหน้าสวยเด้ง น้ำมันตับปลาฉลามน้ำลึก อย่างน้อย 1500 เมตร ซาคอรีน ผลงานอื่นๆ อีกมากมาย จนกระทั่งรัฐบาลญี่ปุ่นเห็นความสำคัญ นำรูปของ ดร โนกุจิไปไว้บนธนบัตรใบละ 2000 เยน ราว 620 บาทไทย คิดแม้กระทั่งการดื่มน้ำที่ดีนั้นต้องดื่มน้ำไฮโดรเจน ขวดละ 200 กว่าเยน มีเครื่องทำน้ำไฮโดรเจนขายเครื่องละราว หมื่นกว่าบาท

ญี่ปุ่นมีอุปนิสัยส่งเสริมคนเก่งคนดี นิยมยกย่องคนที่ทำชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ จึงนำเอารูปของคนเหล่านั้นไว้บนธนบัตรชนิดต่างๆ เหมือนดั่งที่ ดร โนกุจิได้รับเกียรติอันสูงยิ่งให้มีรูปอยู่บนธนบัตรใบละ 2000 เยน บนธนบัตรใบละ 5000 เยนสีมวง มีรูปผู้หญิง เธอเป็นนักเขียนที่โด่งดังทะลุฟ้าญี่ปุ่นชื่อ อิจิโย ฮิกูจิ นี่ก็เป็นคนทำชื่อให้กับประเทศ คนญี่ปุ่นนับถือคนเขียนหนังสือมาก เพราะเขาชอบการอ่านอย่างมาก อยากให้เมืองเราเป็นนักอ่าน จะได้มีนักเขียนเยอะๆ และอยากให้มีการยกย่องนักเขียนกันให้มากกว่านี้

มัคคุเทศก์เล่าเรื่องห้องน้ำญี่ปุ่นว่า เมืองเขาพัฒนาห้องน้ำให้ความสุขแก่คนญี่ปุ่นอย่างดี เพราะมีปุ่มสัญลักษณ์อยู่มากมายหลายอย่าง ปุ่มปรับระดับความร้อนของน้ำ ปุ่มปรับความแรงของน้ำ ระดับสูงกลางต่ำเลือกเอาได้ตามที่สบายใจ โถส้วมมีหลายอย่าง แบบนั่งโถ แบบนังยองหันหน้าเข้าด้านใน ภายในห้องน้ำมีถังขยะเล็กมาก นักท่องเที่ยวอาจไม่เข้าใจทิ้งกระดาษชำระจนเต็มถัง แถมบ่นว่ามันเล็กไปหน่อย แต่เปล่าเขามีถังเล็กไว้เพื่อทิ้งผ้าอนามัยเท่านั้น กระดาษทิชชู่ละลายน้ำได้สามารถทิ้งลงโถส้วมได้เลยทันทีที่ใช้งานแล้ว ฝาปิดโถส้วมก็แปลกไปจากเมืองไทย เมืองไทยถ้าฝาโถส้วมปิดอยู่ เรามักคิดว่า อาจมีของปฏิกูลลอยอยู่ ส่วนของญี่ปุ่น ถ้าฝาโถปิดแสดงว่า ทำความสะอาดแล้ว บางปุ่มในห้องน้ำมีไว้เพื่อกดฟังเสียงดนตรี เพื่อกลบเสียงอันไม่ปรารถนาให้ใครได้ยิน ฝารองนั่งปรับอุณหภูมิ17 องศา ร้อนสุด 35 องศา เลือกเอาได้ตามชอบใจ เพื่อความสุขของคนที่ไม่อยากให้ก้นของตนหนาวเย็นจนเกินไป

เนื่องจากคราวนี้เราเดินทางไปถึงสนามบินนาริตะตอนค่ำ การรับประทานอาหารของเราจึงเป็นแบบกล่อง ญี่ปุ่นเรียกว่าแบบ เบนโตะ เพราะห้องอาหารเขาเปิดตามเวลา ปิดตามเวลา เช้าเราเตรียมการเดินทางชมโอวาคุดานิ หุบเขาบ่อกัมมะถัน ซึ่งปิดมานานเพราะความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพิ่งจะเปิดอีกครั้งเมื่อเห็นว่าความปลอดภัยสูงถึงร้อยเปอรเซ็นต์ บนเขาแห่งนี้มีสินค้าแนะนำคือ ไข่ดำ คือไข่ไก่พอกด้วยดินดำจากภูเขาแห่งนี้ แล้วต้มในน้ำร้อนที่ภูเขาแห่งนี้ แถมมีโฆษณากันต่อมาว่าใครกินแล้วอายุยืนอีก7 ปีต่อหนึ่งใบ พวกเราบางคนขี้สงสัยจึงถามว่า “อย่างนั้นผมกินสัก 4 ใบ อายุจะได้ยืนต่อไปอีก 21 ปีใช่หรือไม่” มักคุเทศก์หันมาแจ้งว่า “อาจใช่นะ แต่ว่า อันดับแรกขอพากไปเช็คคอเลคเทอรัลที่โรงพยาบาลก่อนแล้วกันนะ” เล่นเอาหมดคำถามกันไปเลย

แถมด้วยไอศกรีมดำ นัยว่าเป็นดินดำที่เกิดขึ้นบนภูเขาแห่งนี้ กินแล้วทำให้มีอายุยืนนาน เล่นเอาหลายคนอดใจไม่ไหวอย่างสังเกตได้ชัด เพราะปากดำกันไปหลายคน คณะของเราต่างคนต่างเดินเที่ยวชมมุมนั้นมุมนี้หลายแห่งตามใจชอบ ผมเดินชมบรรยากาศรอบๆ อย่างหลงใหลในความหนาวเย็น และหมอกควันที่เกิดจากความร้อนจากกัมมะถันใต้ภูเขาปะทะเข้ากับความหนาวเย็นในบรรยากาศลอยขึ้นมากจากซอกเขา ด้านหน้ามีเคเบิ้ลให้นักท่องเที่ยวที่ไม่มีรถได้ขึ้นไปเที่ยวชมจากด้านล่าง พบชายชาวจีนอายุ 72 ปีมาขายซาลาเปาอยู่บนเขานี้เกินกว่า 20 ปี ตอนไม่มีลูกค้าจะได้ยินเขาร้องเชิญชวนคนซื้อเสียงดังตลอดเวลา

มื้อกลางวันวันนี้เรารับประทานอาหารปิ้งย่างกันอย่างเมามัน รสชาติคล้ายไทย แต่จืดกว่าเล็กน้อย มัคคุเทศก์เล่าเรื่องประเพณีของชาวญี่ปุ่นหลายอย่าง เช่น เรื่องเสื้อผ้าการแต่งกายทั่วๆ ไปในงานมงคลมักใช้ซ้ายทับขวาเป็นหลัก ส่วนขวาทับซ้ายนั้นใช้ในงานคนตาย หรืองานอวมงคลทั่วไป ประเพณีการอาบน้ำแบบญี่ปุ่น ที่เรียกกันว่า ออนเซ็นนั้นมักมีอยู่เกือบทุกโรงแรมไว้บริการลูกค้า และจะปิดตีสองตีสามเพื่อทำความสะอาดเท่านั้น

ออนเซ็นมี 5 ประเภท ห้องน้ำแบบชาย แบบหญิง ห้องรวมชายหญิง ห้องครอบครัว และห้องคู่รัก สีแดงหญิง สีน้ำเงินชาย คนยุ่น หรือคนญี่ปุ่นทำงานกันอย่างจริงจังจนเครียด จึงต้องการอาบน้ำแบบออนเซ็นเพื่อผ่อนคลาย ทำให้ผิวพรรณดี แช่ 15 นาทีน่าจะเพียงพอ ห้ามนานเกินเพราะอาจทำให้อ่อนเพลียได้

คณะของเราเดินทางไปเยี่ยมชมเกาะโอไดบะ หรือเกาะขยะ ญี่ปุ่นใช้ขยะถมทะเลจนเป็นเกาะ มี กันดั้มยักษ์ ซึ่งก็คือหุ่นยนตร์ตัวใหญ่เป็นสัญลักษณ์ประจำเกาะ มาครั้งก่อน เห็นมีดอกทิวลิปหน้าห้างดังสวยงามมาก แต่ปีนี้เหลือแค่ต้นต่ออยู่ไม่กี่แห่ง โอ้หนอ ความงามมักไม่ยั่งยืน ยังมีเทพีสันติภาพจากฝรั่งเศสที่มีสายสัมพันธ์กับญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่เทพีสันติภาพที่อเมริกา แม้ว่าดูเผินๆ แล้วจะคล้ายกันอยู่บ้างก็ตาม โดยมีสะพาน เรนโบวบริดจ์เชื่อมกรุงโตเกียวกับเมืองขยะ โอไดบะแห่งนี้

ทราบข้อมูลมาว่า เมืองเขามีค่าครองชีพสูงกว่าไทย 3-5 เท่า ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะอาหารในร้านค้าตามห้างต่างๆ ที่เราเข้าไปรับบริการแต่ละเซ็ทมีราคาพันเยนขึ้นไป มัคคุเทศก์ให้ข้อมูลมาว่า เหรียญ 5 เยน เรียกเหรียญโกะเอน สีทองเหมาะสำหรับขอพระเทพเจ้า หรือใช้ทำบุญตามวัดชินโตต่างๆ หรือพกพาติดตัวแทนเครื่องรางของขลังก็ได้ ญี่ปุ่นชอบไปวัดชินโต เพื่อไหว้พระทำบุญโดยการจุดธูปเทียนแล้วโยนเหรียญลงตู้ขนาดใหญ่เพื่อทำบุญ

เรามุ่งหน้าสู่ทะเลสาบอาชิ เรียกว่าทะเลสาบปลาไหล หมายถึงว่าทะเลสาบแห่งนี้มีรูปร่างคล้ายปลาไหล ส่วนสตรอเบอรี่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า อิจิโกะ อยู่ที่เกาะคิวชู กลางเมืองญี่ปุ่น สายพันธ์อะมาโออุ สีค่อนข้างแดง กลม ผลใหญ่ มีรสชาติอร่อย บนสตรอเบอรี่ราด้วยน้ำเชื่อมสีเหลืองอ่อน คล้ายพริกเกลือบ้านเรา

มารยาทการรับประทานอาหารด้วยตะเกียบ ห้ามตะเกียบต่อตะเกียบ คือการคีบอาหารให้กันและกันไม่ได้ ไม่สุภาพไม่ควรกระทำ เพราะการทำเช่นนั้นถูกใช้ในการคีบกระดูกเท่านั้น ใช้ตะเกียบอีกด้าน คือด้านด้ามคีบอาหารส่วนกลางเสมอ สีเสื้อผ้าเมื่อแต่งกายในงานสำคัญมักใช้สีทึบๆ เช่นงานแต่งงาน อาจใส่ชุดดำก็ได้ไม่ว่ากัน ต่างจากเมืองไทยเรา การแต่งงานมักจัดกันที่ศาลเจ้าต่างๆ โดยแต่งชุดกิโมโนเป็นหลัก แจกการ์ดแล้วต้องไป เพราะมีการคำนวณเรื่องการจัดโต๊ะ จัดอาหาร และต้องตอบรับ มีชื่อแขกเหรื่อติดตามโต๊ะของใครของมัน

การเขียนจดหมายก็ใช้จังหวัดขึ้นก่อน เพราะต้องการให้ส่งได้ง่าย เห็นจังหวัดก็จะรู้ได้ทันว่า ต้องส่งจดหมายไปที่ใด คณะของเราเดินทางชม “ชีบะซากุระ” ชีบะแปลว่าดิน มีชื่อฝรั่งว่า พิงค์มอสส์ ช่วงเดือนพฤษภาคม ถือได้ว่าเป็นช่วงที่ ชีบะซากุระหรือ ซากุระดิน กำลังงามเบ่งบานถึงที่สุดพอดี นับเป็นโชคหรือบุญตาของคณะเราที่ได้เห็นซากุระดินสวยงามเต็มทุ่ง ผมบันทึกบทกวีระหว่างเดินชมไว้ว่า “ฝอยฝนหล่นฟ้ามาเป็นฝอย ทีละน้อยนองน้ำชื่นฉ่ำฝน หนาวเหมยหนาวหมอกซอกกมล หมอกฝนดลให้ดอกไม้บาน” ภายในสวนอันกว้างใหญ่ตระการตาเต็มไปด้วยดอกซากุระชนิดนี้สีชมพูไปทั้งท้องทุ่ง มีของที่ระลึกขาย มีห้องน้ำไว้บริการนักท่องเที่ยว และอยู่ใกล้กับโรงแรม โมโตซึ ที่เราเข้าพักมากนัก

มีจุดเน้นเรื่องการสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นที่มัคคุเทศก์มักพูดถึงคือ ถนนดนตรี อยู่ระหว่างทางไปเยือนภูเขาไฟฟูจี เรียกว่าช่วง มิโลดะ เมื่อรถขับผ่านแล้วจะทำให้เกิดเสียงดนตรีขึ้นเอง เพราะมีการออกแบบจัดทำให้ถนนเป็นร่อง เป็นเส้น รถแล่นผ่านแล้วเกิดเสียงดนตรีได้ จำกัดความเร็วไว้ราว 50-60 กม ต่อชั่วโมงจึงจะเป็นช่วงที่ได้ยินเสียงดนตรีชัดเจนที่สุด

ไกด์เล่าว่า ตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ทำไมระเบิดจึงไม่ลงที่กรุงโตเกียว แต่ไปลงที่ฮิโรชิมา นางาซากิแทน เธอเฉลยเองว่า เพราะโตเกียวโดนถล่มจนเละไปหมดแล้ว ไม่รู้จะทิ้งระเบิดไปตรงไหนอีก ผู้คนหนีออกจากรุงโตเกียวกันหมดก่อนหน้านี้แล้ว แต่เมืองทั้งสองที่โดนระเบิด มีข้อมูลลับว่า เป็นเมืองที่ทำระเบิด ผลิตอาวุธให้กองทัพญี่ปุ่น

หลังแพ้สงครามโลกแล้ว ในปี 1945 ญี่ปุ่นเร่งรัดพัฒนาประเทศของตนขึ้นมาใหม่ด้วยระเบียบวินัยและความรักประเทศชาติจนเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิคในปี 1964 แสดงให้เห็นว่าความสามัคคีและความรักชาติของชาวญี่ปุ่นมีมากน้อยเพียงใด เพียง 19 ปีหลังสงครามและความพ่ายแพ้ย่อยยับของชาวญี่ปุ่น สามารถสร้างประเทศจนก้าวมาเป็นผู้จัดกีฬาระดับโลกได้อย่างดี แถมยังมีรถไฟชินคันเซ็นวิ่งจากเมืองโตเกียวถึงเมืองโอซาก้าได้ภายในเวลา 7 ชั่วโมง เปิดใช้ครั้งแรกในปี 1945 ตรงกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิค คนญี่ปุ่นหันมานั่งรถไฟมากกว่ารถยนต์ส่วนตัวเพราะความสะดวกสบาย

เรื่องความรีบเร่งและเอาจริงเอาจังของคนญี่ปุ่นนั้นกลายเป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับกันไปทั่ว เห็นได้จากการใช้ทางเลื่อนแล้วจะชิดซ้ายเสมอ เพราะเว้นทางขวาไว้ให้คนที่รีบกว่าได้ก้าวเดินแซงไป ความปลอดภัยของประชากรญี่ปุ่นให้ความสำคัญไม่น้อย เช่นที่โรงแรมเปิดหน้าต่างได้นิดหน่อย เปิดกว้างจนหมดไม่ได้ระมัดระวังเรื่องปลอดภัย

ญี่ปุ่นเป็นชาตินักรบเลือดบูชิโด เมื่อแพ้หรือผิดหวังมักมีหลายคนทำฮาราคีรี คือการคว้านท้องตนเองตายตามลัทธิบูชิโด ผมแอบคิดเล่นๆ ว่า และแถมมี ฮาราจูกุ เพื่อคว้านกระเป๋าตังค์คนไทยอีกด้วย ผมเดินตามหมู่คณะชมบ้านเมืองของเขาและได้แง่คิดมากมาย ยังเหลืออีกหลายเรื่องที่ยังไม่เล่า จะเก็บไว้เล่าตอนไปญี่ปุ่นครั้งหน้าแล้วกันนะครับ


หมายเลขบันทึก: 629056เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2017 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2017 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ตามมาเที่ยวเมืองญี่ปุ่นครับ

-เป็นบันทึกการท่องเที่ยวที่บรรยายได้ละเอียดมาก ๆครับ

-ได้อ่านแบบนี้แล้วทำให้ผมได้จินตนาการตาม

-หวนคิดถึงเสน่ห์ของการอ่านหนังสือในสมัยก่อน เมื่อครั้งการบรรยายด้วยภาพยังไม่ค่อยมีให้เห็น

-ขอบคุณครับ

อ่านเรื่องญี่ปุ่นทีไร ชอบในวัฒนธรรมของเขามาก อยากไปเรียนรู้จังเลยครับ

บรรยากาศดีมาก

สนใจไข่ดำเลย

เอามาประยุกต์ใช้ในบ้านเราจะดีมาก

แต่บ้านเราใช้ใบเตยและอย่างอื่นก็น่าสนใจ

กำลังพัฒนาครูศรีสวัสดิ์บ้านเราอยู่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท