๒๓๖. บ้านหนองผือ..กับโครงการสถานศึกษาพอเพียง


ผมถามว่า..ทำไมจึงจำเพาะเจาะจงให้เป็นบ้านหนองผือ..ทั้งที่ไม่ได้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามเกณฑ์มาตรฐานของมูลนิธิยุวสถิรคุณ..ศึกษานิเทศก์ให้คำตอบว่า..โรงเรียนมีพัฒนาการที่ต่อเนื่อง บุคลากรมุ่งมั่นตั้งใจ และเข้าใจในปรัชญาฯอย่างแท้จริง

เขตพื้นที่ฯแจ้งข่าว..ว่าจะเลือกโรงเรียนบ้านหนองผือ..เข้าโครงการสถานศึกษาพอเพียง..ของกระทรวงศึกษาธิการ..ซึ่งเป็นโครงการใหม่ของสำนักงานปลัดกระทรวง..

ผมยังไม่ได้ปฏิเสธ..แต่ขอศึกษาก่อน ก็เลยเข้าใจแจ่มแจ้งจากการศึกษาเอกสารโครงการและประสบการณ์เดิมๆที่พอมี..คือ..คำว่า”สถานศึกษาพอเพียง” โรงเรียนผ่านการประเมินมานานแล้ว องค์กรหลักที่ทำเรื่องนี้ คือมูลนิธิยุวสถิรคุณ..เป็นที่รู้จักของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.เป็นอย่างดี..

วันนี้..เป็นครั้งแรก..ที่กระทรวงศึกษาธิการ..ทำโครงการเต็มรูปแบบ เพื่อต้องการเผยแพร่และทำให้เห็นเป็นรูปธรรม..ให้ส่วนภูมิภาคน้อมนำศาสตร์พระราชา..ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง..ไปใช้ในการดำเนินชีวิต..

ส่วนภูมิภาค..ได้แก่จังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษา..ซึ่งเขตพื้นที่ฯจะมีหลายอำเภอ ให้เลือกอำเภอละ ๑ โรงเรียน...จึงเป็นที่มาของ..โรงเรียนบ้านหนองผือ..สถานศึกษาพอเพียง..

ศึกษานิเทศก์บอกว่า..ถ้าไม่ขัดข้องจะส่งเอกสารมาให้กรอก.เพื่อแสดงความสมัครใจ..และขอภาพประกอบที่เป็นแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนด้วย..

ผมถามว่า..ทำไมจึงจำเพาะเจาะจงให้เป็นบ้านหนองผือ..ทั้งที่ไม่ได้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามเกณฑ์มาตรฐานของมูลนิธิยุวสถิรคุณ..ศึกษานิเทศก์ให้คำตอบว่า..โรงเรียนมีพัฒนาการที่ต่อเนื่อง บุคลากรมุ่งมั่นตั้งใจ และเข้าใจในปรัชญาฯอย่างแท้จริง

ผมบอกตรงๆว่าสนใจ..เพราะไม่ต้องแข่งขันกับใคร..ไม่ต้องลงทุนอะไร..ไม่ต้องไปอบรมที่ไหน..ยังทำงานอยู่ในพื้นที่..เป็นโอกาสดีๆที่จะได้พัฒนางาน..สานต่อที่พ่อทำ..

ผมพลิกเข้าไปดูแผนการขับเคลื่อนเรื่องนี้ของกระทรวงฯ ก็พบวัตถุประสงค์ที่น่าสนใจทุกข้อ..อาทิ..จะเสริมสร้างให้เด็กนักเรียนสามารถประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตประจำวันได้ และมีอุปนิสัยในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง.....

ส่วนกลยุทธ์ในการดำเนินโครงการฯมีความแปลกใหม่..ประกอบด้วยกลยุทธ์การดำเนินชีวิต ๖ พ. ๔ ม. ๑ อ. ดังนี้

ดำรงชีวิตด้วย ๖ พ. คือ พอมี พออยู่ พอกิน พอใช้ พอเพียง และพึ่งตนเอง

ไม่ดำรงชีวิตด้วย ๔ ม. คือ ไม่สุดโต่ง ไม่ตามกระแส ไม่ฟุ้งเฟ้อ และไม่ฟุ่มเฟือย

ดำรงชีวิตด้วยหลักธรรม ๑ อ. คือ อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ในแผนฯ ขยายความ..กลยุทธ์ ๖ พ. เป็นการสร้างอุปนิสัยและอัตลักษณ์ให้แก่ผู้เรียน ดังนี้

๑) พอมี : ผู้เรียนมีการวางแผนในการจัดทำโครงงานทำมาหากิน

๒) พออยู่ : ผู้เรียนรู้จักการดำรงชีวิตตามปัจจัย ๔ อย่างพอเพียง

๓) พอกิน : ผู้เรียนรู้จักการดำรงชีวิตตามสภาพความเป็นอยู่ด้วยเหตุผล

๔) พอใช้ : ผู้เรียนสามารถควบคุมรายรับ-รายจ่ายตามความเป็นจริง เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง

๕) พอเพียง : ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขตามแนวทางมีความรู้ มีคุณธรรม

๖) พึ่งตนเอง : ผู้เรียนมีอุปนิสัยการอยู่ร่วมกับชุมชน/สังคมตามมิติแห่งความสมดุลของชุมชน/สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม

กลยุทธ์ ๔ ม. เป็นการสร้างอุปนิสัยให้แก่ผู้เรียน ดังนี้

๑) ไม่สุดโต่ง : ผู้เรียนดำรงชีวิตตามแนวทางสายกลาง ขจัดปัญหาความขัดแย้ง

๒) ไม่ตามกระแส : ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม

๓) ไม่ฟุ้งเฟ้อ : ผู้เรียนมีอุปนิสัยในการประหยัดอดออมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

๔) ไม่ฟุ่มเฟือย : ผู้เรียนมีอุปนิสัยในการดำรงชีวิตตามอัตภาพของตนเอง และครอบครัว

ผมศึกษาเอกสารโครงการอย่างละเอียดแล้ว..พบว่า..โครงการสถานศึกษาพอเพียง..จัดทำเพื่อผู้เรียน..ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ..จริงๆ..ผมจะนิ่งเฉยต่อไปไม่ได้แล้ว...

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 628665เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2017 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2017 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท