Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

การพัฒนาศักยภาพของนักเรียนที่เรียนนาฏศิลป์ไทย ตามแนวคิด 6Q


ผลงานวิจัยเรื่อง " การจัดการเรียนรู้นาฏศิลป์ไทยในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร " ในการประชุมวิชาการระดับชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ครั้งที่ 1 ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 ณ โรงแรมเดอะรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร ได้รางวัลนำเสนอระดับดีมาก

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/628539

ผลการวิจัยพบว่า การพัฒนาศักยภาพของนักเรียนที่เรียนนาฏศิลป์ไทย ตามแนวคิด 6Q ช่วยให้นักเรียนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร พัฒนาอัจฉริยะรอบด้านหรือความฉลาดใน 6 ด้าน ดังนี้

1. การเรียนนาฏศิลป์ช่วยพัฒนาความฉลาดทางสติปัญญา (IQ : Intelligence Quotient) ในการเรียนนาฏศิลป์ นักเรียนจะต้องจดจำเนื้อร้องและทำนอง จังหวะเพลง รวมทั้งท่าทางการร่ายรำตามแบบต้นฉบับให้ถูกต้อง แม่นยำและพร้อมเพรียงกับผู้เรียนคนอื่น เช่น ท่าตั้งวง จีบหงาย จีบคว่ำ ย่อตัว ยกขา ตีไหล่ เป็นต้น ดังนั้น การเลียนแบบท่ารำตามครูผู้สอนและจดจำท่ารำตามเนื้อเพลงและจังหวะทำนอง ทำให้นักเรียนสามารถรำตามแบบได้อย่างถูกต้อง จึงเป็นการช่วยพัฒนาทางด้านสติปัญญาในทักษะความจำ ทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการตัดสินใจได้อย่างดี

2. การเรียนนาฏศิลป์ช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ : Emotional Quotient)

EQ เป็นความสามารถในการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ตนเองและผู้อื่น สามารถควบคุมอารมณ์และยับยั้งชั่งใจตนเองและแสดงออกอย่างเหมาะสม รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักรอคอย เข้าใจกฎเกณฑ์ระเบียบวินัย สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสถานการณ์รอบข้างได้ดี ซึ่งนักเรียนนาฏศิลป์จะได้ฝึกการฟ้อนรำในเพลงและจังหวะต่างๆ หลากหลายในแต่ละภูมิภาคกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน อาจารย์จะฝึกให้นักเรียนเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี เข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล การรำเป็นทีมช่วยสร้างเสริมความสามัคคี ช่วยพัฒนาทักษะมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความสนุกสนาน เพราะการฟ้อนรำได้ทำให้นักเรียนปลดปล่อยความเครียด ส่งผลให้นักเรียนๆ มีอารมณ์เบิกบานแจ่มใส มองโลกในแง่ดี กล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตัวเอง มีแรงจูงใจ อยากประสบความสำเร็จ เห็นคุณค่าและเชื่อมั่นในตนเอง

3. การเรียนนาฏศิลป์ช่วยพัฒนาความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ (CQ : Creativity Quotient)

คือ ความสามารถในการสร้างสรรค์จินตนาการหรือแนวคิดใหม่ๆ ในรูปแบบต่างๆ จินตนาการ เป็นการพัฒนาสมองซีกขวา คนที่มีพลังในการจินตนาการจะเป็นผู้สามารถสร้างสรรค์งานใหม่ สิ่งใหม่ๆได้อย่างดี โดย CQ จะสัมพันธ์กับเรื่องการเล่น การเรียนนาฏศิลป์ช่วยให้ผู้เรียนได้สร้างสรรค์จินตนาการประกอบการร่ายรำในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ท่ารำโบราณคดี เช่น ระบำทวาราวดี สุโขทัย ลพบุรี ศรีวิชัย เชียงแสน ผู้เรียนจะได้จินตนาการถึงประวัติ ความเป็นมา วิถีชีวิตของอาณาจักรโบราณคดีในสมัยต่างๆ ส่วนท่ารำที่แสดงกิจกรรมและวิธีการทำงาน เช่น ฟ้อนสาวไหม เต้นกำรำเคียวร่อนแร่และเซิ้งแหย่ไข่มดแดง ผู้เรียนจะได้จินตนาการถึงวัฒนธรรม ประเพณีและวิธีการทำงานในท้องถิ่น และท่ารำที่เลียนแบบสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น ระบำนกยูง ระบำไก่ ผู้เรียนจะได้จินตนาการถึงลักษณะของสัตว์ต่างๆ เป็นต้น คนที่มีพลังในการจิตนาการจะเป็นผู้กล้าลองผิด ลองถูก และพร้อมจะเผชิญปัญหา การพัฒนาให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์จะทำให้นักเรียนมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น

4. การเรียนนาฏศิลป์ช่วยพัฒนาความฉลาดทางศีลธรรม จริยธรรม (MQ : Moral Quotient)

อาจารย์ผู้สอนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ได้ปลูกฝัง ศีลธรรมและความดีงามให้กับนักเรียน เช่น ความเมตตา กรุณา ความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ ความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความกตัญญู อ่อนน้อมถ่อมตนและมีสัมมาคารวะ เป็นต้น ทำให้นักเรียนมีความประพฤติดี มีศีลธรรมและจริยธรรม ตรงกับหลักพระพุทธศาสนาที่สอนให้ทำความดี ละเว้นความชั่วทำจิตใจให้ผ่องแผ้ว นักเรียนที่มี MQ ดีมักเป็นนักเรียนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นและเมื่อโตขึ้นจะเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นได้ง่าย เป็นที่รักของบุคคลทั่วไป การที่นักเรียนจะมี MQ เกิดขึ้นได้นั้นต้องเริ่มต้นจากการที่นักเรียนรู้จักบุญ บาป ถูกผิดกรรมดีกรรมชั่ว รู้ว่าสิ่งไหนควรทำไม่ควรทำ ซึ่งอาจารย์ได้อบรมสั่งสอนและแสดงให้นักเรียนเห็นอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการเรียนการสอน จึงช่วยพัฒนาความฉลาดทางศีลธรรม จริยธรรมให้กับนักเรียน

5. การเรียนนาฏศิลป์ช่วยพัฒนาความฉลาดที่เกิดจากการเล่น (PQ : Play Quotient)

การเรียนนาฏศิลป์เป็นการเรียนรู้หรือการเล่นในแบบหนึ่ง แนวคิด PQ เชื่อว่าการเล่นช่วยพัฒนาความสามารถและทักษะของนักเรียนในหลายด้าน ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย ความเฉลียวฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ สังคมและสุขภาพ การที่นักเรียนได้ร่ายรำ เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายในการเดิน วิ่ง กระโดด ย่อตัว เอียงตัวนั้น ร่างกายได้เคลื่อนไหวไปมาเหมือนการเล่น ทำให้นักเรียนได้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้สอดคล้องกับเนื้อเพลง ทำนอง จังหวะและเสียงดนตรี ซึ่งเป็นเหมือนการออกกำลังกาย ส่งผลให้นักเรียนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีบุคลิกภาพที่ดี รูปร่างสวยงาม นอกจากความเพลิดเพลินสนุกสนาน อาจารย์ผู้สอนได้นำสาระดีๆ ทักษะชีวิตพร้อมกับสอดแทรกคำสอน คุณธรรมจริยธรรม หลักคิดดีๆ ระหว่างที่เล่น เรียนรู้และสอนด้วย จึงช่วยสร้างเสริมพัฒนาการของนักเรียน ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา นักเรียนจะรู้สึกอบอุ่น มีความสุข สนุกสนานไปกับเพื่อนๆในห้องเรียนนาฏศิลป์

6. การเรียนนาฏศิลป์ช่วยพัฒนาความฉลาดในการแก้ไขปัญหา (AQ : Adversity Quotient)

AQ คือ ความสามารถปรับตัวในการเผชิญปัญหาได้ดี มีความยืดหยุ่นและพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหา เอาชนะอุปสรรคความยากลำบากด้วยตัวเอง ไม่ท้อต่อปัญหา มีความอดทนในการเอาชนะอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ความพยายามควบคุมสถานการณ์และแก้ไขสถานการณ์และกล้าเผชิญอุปสรรคด้วยตนเอง การเรียนนาฏศิลป์ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการมองปัญหาและจัดการปัญหาในการฟ้อนรำจากอาจารย์ผู้สอน ทำให้เข้าใจว่าปัญหานั้น เป็นโอกาสหรือเป็นเรื่องน่าท้าทายซึ่งถ้านักเรียนทำได้จะเกิดความภาคภูมิใจ และยอมรับความสามารถของตนเองมากขึ้น ช่วยพัฒนาการยอมรับนับถือในตนเองหรือการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self- esteem) ของนักเรียน เช่น การรำในท่ายาก หรือรำในเพลงยาก เมื่อนักเรียนทำได้ จะเกิดความภูมิใจในตนเอง และการแสดงนาฏศิลป์บนเวที หรือการแสดงในที่สาธารณะ นักเรียนจะต้องข่มความเขินอายและแสดงออกมาอย่างดีเมื่อทำได้ แสดงได้ดี ได้รับเสียงปรบมือและคำชม ก็ทำให้นักเรียนเกิดความภูมิใจในตนเองมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า นักเรียนที่เรียนนาฏศิลป์ไทย จะได้รับการพัฒนาศักยภาพของตามแนวคิด 6Q หรือพัฒนาอัจฉริยะรอบด้านหรือความฉลาดใน 6 ด้าน ช่วยให้นักเรียนศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร มีความรู้ ความสามารถ มีบุคลิกภาพที่ดี และพัฒนาตนเองอบ่างรอบด้าน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในอนาคต

หมายเลขบันทึก: 628540เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2017 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2017 11:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอชื่นชมการทำงาน

ขอแสดงความยินดีด้วยครับ

นางภัทรพร ฉายรัตน์

อาจารย์คะ ดิฉันเป็นครูนาฏศิลป์ รร.ประเทียบวิทยาทาน จ.สระบุรี ได้อ่านสรุปงานวิจัยโดยย่อแล้ว น่าสนใจ มีประโยชน์สำหรับครูและนักเรียน ถ้าจะขอความอนุเคราะห์ฉบับเต็มจะได้มั๊ยคะ ขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท