ชีวิตที่พอเพียง : 2910. ควงสาวเที่ยวฮานอย 3. ประชุม 6th HTAsiaLink วันแรก


บ่ายวันจันทร์ที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๖๐

กลับจากชมสองพิพิธภัณฑ์ เราวางแผนกลับมากินอาหารเที่ยงกับคณะประชุม 6th HTAsiaLink : Health Technology Assessment in Designing and Implementing Benefit Package for Universal Health Coverage แล้วผมไปร่วมพิธีเปิด และฟัง Plenary Session เรื่อง How to Design Benefit Package ซึ่งมีทั้งหมด ๔ เรื่อง เรื่องละ ๒๐ นาที เริ่มจากการทบทวนหลักการ แนะนำหนังสือเล่มใหม่ชื่อ What’s In, What’s Out : Designing Benefits for Universal Coverage เขียนโดย Amanda Glassman, Ursula Giedeon, Peter C. Smith โดย Peter Smith เป็นผู้บรรยาย จะเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ตอบคำถามใหญ่ของการประชุมนี้โดยตรง ผมถ่ายรูปสไลต์ ppt ของท่านไว้ได้เกือบทั้งหมด ขอเลือกนำมาลงไว้ให้แก่ผู้สนใจ


เรื่องการกำหนดว่าจะให้บริการ เทคโนโลยี วัคซีน หรือยา ใดอยู่ในรายการคุ้มครองสิทธิในระบบ บริการสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมา โดยมีตัวคงที่คือเงินที่มีอยู่มันจำกัด ใช้แก่ใคร ยอมจ่ายแค่ไหน จึงจะคุ้มหรือเหมาะสมที่สุด อีกข้อเท็จจริงหนึ่งคือการขยายสิทธิไปยังคนกลุ่มหนึ่ง อาจลิดรอนสิทธิของคนอีกกลุ่มหนึ่ง และคนรับสิทธิย่อมอยากได้มากๆ ในขณะที่ผู้ทำธุรกิจขายเทคโนโลยี บริการ ยา วัคซีน ฯลฯ ย่อมอยากขาย และอยากขายในราคาที่สูง รวมทั้งอาจมีผลประโยชน์แฝงอยู่ในกลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่ม เรื่องนี้จึงซับซ้อน และคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องอาจเจ็บตัวได้ง่าย


ตามมาด้วยการนำเสนอของประเทศไทย (ภญ. เนตรนภิส สุชนวนิช) มาเลเซีย และเวียดนาม และช่วงถามตอบ ที่ผู้ดำเนินรายการคือ รมช. สาธารณสุขเวียดนาม รศ. นพ. ฟาม เลอ ต๋วน กับ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ลวดลายของหมอสุวิทย์ให้ทั้งความสนุกสนานและสาระที่ชัดเจน โดยมีข้อเตือนใจสำหรับนักวิชาการ HTA คือ ต้องมุ่งทำงานวิชาการผลิตข้อมูลหลักฐานที่แม่นยำ สำหรับเสนอแนะต่อผู้ตัดสินใจ ไม่คลอนแคลนโงนเงนไปตามแรงบีบหรือวิ่งเต้นจากฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ เมื่อทำงานบนจุดยืนนี้ไประยะหนึ่ง ก็จะได้รับความเชื่อถือและเคารพจากทุกฝ่าย


ชุดสิทธิผลประโยชน์ (benefit package) นี้เป็นเรื่องการเมือง นักวิชาการ HTA ผู้ทำงานให้ข้อเสนอแนะ ต้องทำงานอย่างเป็นระบบ ใช้ข้อมูลของประเทศนั้นๆ เป็นหลัก มีหลักการว่าทำงานเพื่อใคร (เพื่อสังคมส่วนรวม โดยเฉพาะคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้) มีการกำหนดหลักการและเป้าหมาย และมีความแม่นยำทางวิชาการ


ด้วยข้อจำกัดในความรู้ของตนเอง ผมมีข้อสังเกตว่า ความรู้ด้านการกำหนดชุดสิทธิผลประโยชน์ ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ และที่สนุกคือ ไม่ได้มีเส้นทางหรือแนวทางเดียว ที่สำคัญคือ ผู้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ฝ่ายต่างๆ ย่อมแสวงผลประโยชน์ของตน และบางฝ่ายก็มีอิทธิพลทางการเมือง


เวลานี้ความเคลื่อนไหวในประเทศไทย ที่น่าจับตามองคือการเอาชุดสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ ไปให้บริษัทประกันวินาศภัยจัดการ ดังข่าว , , ซึ่งจะเห็นว่าเป็นเพราะความอ่อนแอในการจัดการ ของกรมบัญชีกลาง และอาจผสมกับความเข้มแข็งด้านเครือข่ายผลประโยชน์ส่วนตัวหลายฝ่าย (คอร์รัปชั่น?)


วิจารณ์ พานิช

๑๗ เม.ย. ๖๐



1


2



3



4



5



6



7



8



9



10



11



12



13 วิทยากร



14

หมายเลขบันทึก: 628269เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2017 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2017 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท