สพฺพปาปสฺส อกรณํ : ปุญฺญสฺส อุจฺจโย


เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสสอนการขัดเกลาตน จากวิธีการสอนที่ทรงแสดงอันประกอบด้วยการกระทำเป็นขั้นๆไป โดยตรัสให้ทำจาก "หย่อน" ไปหา "ยิ่ง" แสดงถึงอัจฉริยภาพในการสอน เพราะทำให้บุคคลค่อยพัมนาตน โดยไม่รู้สึกว่าการพัฒนาเป็นเรื่องยากลำบาก

สพฺพปาปสฺส อกรณํ หรือ การไม่ทำบาปทั้งปวง อีกนัยหนึ่งก็คือ ปุญฺญสฺส อุจฺจโย หรือ การสั่งสมขึ้นซึ่งบุญ นั้น เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาตน เพราะเป็นการสร้างกุศลอย่าง"หย่อน" ก่อนที่กุศลที่สร้างจะถูกพัฒนาให้ "ยิ่ง" มากขึ้น

การไม่ทำสิ่งที่ให้โทษทั้งหลาย นอกจากจะเป็นการไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควร อันเป็นบาปแล้ว ยังได้ชื่อว่าได้สั่งสมบุญอย่างแท้จริง

เราควรเริ่มต้นสั่งสมบุญด้วยการไม่ทำบาปหยาบ หรือก็คือไม่แสดงลักษณะที่ให้โทษทางกาย วาจา อันเป็นการสั่งสมบุญหรือสั่งสมเหตุให้ได้สุขอันเลิศคือการห้ามใจไม่ให้กระทำในสิ่งไม่ชอบด้วยธรรม

แต่เมื่อสั่งสมบุญอย่างนี้แล้ว ผลที่ตามมาคือได้รับทั้งสุขและทุกข์ คือทุกข์ที่ความอยากทำตามตัณหาฉันทะถูกขัด และสุขจากการละอันเป็นกุศลฉันทะที่บรรลุผล แต่ความสุขจากกุศลฉันทะในช่วงแรกๆนั้นน้อย เราจึงไม่รู้สึก รู้ได้แต่ทุกข์ จึงจำเป็นต้องอาศัยความเพียรละตัณหาฉันทะในสิ่งที่ไม่ชอบธรรมนั้นๆอย่างไม่ท้อถอย

เมื่อสิ่งที่ไม่ชอบธรรมนั้นยังครองใจอยู่ ก็ต้องเพียรข่มกลั้นไม่แสดงออกทางกายวาจา เพียรพิจารณาเพื่อละอยู่ในใจ จนกว่าสุขจากการละที่มากขึ้นสวนทางกับทุกข์จากการถูกขัดของตัณหาจะมากกว่า จึงจะรู้สึกถึงสุขเพราะการละ เราจึงจะมั่นคงกับการละได้ต่อไป จนในที่สุดก็จะสามารถละบาปอกุศลธรรมที่ครองใจนั้นได้อย่างแท้จริง

กุศลที่สร้างจึงเป็นกุศลที่ "ยิ่ง" ยิ่งขึ้น เพราะเป็นกุศลที่เพียรสร้างด้วยใจ เพียรทำกายวาจาใจให้ตรงกัน จึงเป็นกุศลที่ถึงพร้อมทั้งกายและใจ (กุสลสฺสูปสมฺปทา) สุขที่ได้จึงเป็นสุขอันเลิศเพระสามารถละได้ทั้งทางกาย วาจา ใจ ไม่ใช่ละทางกายวาจาแต่ต้องร้อนรนอยากทำอยู่ในใจ เมื่อละบาปจนเป็นกุศลที่ถึงพร้อมได้แล้ว จึงอยู่เป็นสุขในโลก

แต่เพราะสุขในโลกเป็นสุขที่อาศัยปัจจัย จึงผันแปรไปตามเหตุปัจจัยที่แปรผันได้ จึงอาจโน้มใจให้ต่ำด้วยตระหนี่คือเหนียวแน่นกับสุขและเหตุปัจจัยให้เกิดสุขได้ อันทำทางไปต่ำให้กับตน เช่น โลภอยากได้มาขึ้น อยากได้ไม่รู้จักพอ เพ่งเฉพาะด้วยใจที่โลภหรือโกรธหรือหลง หวงกั้น ริษยา ขัดเคือง โกรธ เกลียด จองเวร

จึงต้องมีการตามดูภาวะ ให้เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นตนถาวร ทุกอย่างเป็นเพียงสภาพเกิดดับที่ไม่จะสามารถยึดไว้ได้ ไม่สามารถเป็นไปตามใจปรารถนา สามารถผันแปรไป จนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์หากตระหนี่และยึดภาวะไม่เป็นตนนั้นไว้

เมื่อตามดูอยู่อย่างนี้ ก็จะเข้าใจภาวะว่าไม่มีความเที่ยง เห็นว่าเหตุให้เกิดสุขนั้น ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ด้วย

เมื้อตามดูอย่างนี้ จิตจึงจะเกิดความหน่ายในเหตุปัจจัยที่ตามดูอยู่นั้น ไม่ใช่เบื่อหน่ายเพราะทำให้ไม่ได้สุข แต่หน่ายเพราะความไม่เที่ยง ความที่ไม่เป็นตน ไม่สามารถยึดไว้ได้

อันทำให้ค่อยๆขยายความเข้าใจไปยังเหตุปัจจัยอื่นๆ

จึงเสพสุขเพราะรู้ว่าสุขเป็นอาหารจิต เสพตามที่พึงมีพึงได้เพื่อให้มีชีวิตรอด เมื่อประกอบกับมีการกระทำเพื่อให้ได้สุขอันเลิศอยู่เรื่อยๆ ทั้งที่เป็นการกระทำต่อสุขอันไม่ชอบธรรมและสุขอันชอบด้วยธรรม อาหารจิตจึงค่อยๆเปลี่ยนไป จากอาหารหยาบ ไปสู่อาหารที่ประณีตขึ้นเรื่อยๆ

สมดังที่ตรัสว่า

ไม่นำทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์

ไม่ทิ้งสุขอันชอบธรรม

แม้แต่สุขชอบธรรมก็ไม่มัวเมายอมสยบ

เพียรเพื่อสุขอันเลิศยิ่งขึ้น

จึงเป็นการทำจิตให้ค่อยๆขาวรอบ (สจิตฺตปริโยทปนํ) ไปทีละน้อยๆ

จนกว่าจิตจะขาวรอบได้อย่างแท้จริง ในกาลอันยืดยาวข้างหน้า

หมายเลขบันทึก: 628214เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2017 06:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2017 06:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท