“เส้นทางสายไหมสายเครื่องบิน...จากเมืองจีนผ่านอิหร่านถึงอาเซอร์ไบจาน”


“เส้นทางสายไหมสายเครื่องบิน...จากเมืองจีนผ่านอิหร่านถึงอาเซอร์ไบจาน”

วันนี้อยากเล่าเรื่อง “หม่อน” ต้นไม้ที่ผมคิดว่าเขาเป็นต้นไม้จากสวรรค์ สรรค์สร้างประโยชน์ให้ชาวโลกอย่างมากมาย ถ้าท่านติดตามบทความของผม เรื่อง “หม่อนไหมพืชและสัตว์สารพัดประโยชน์” ก็คงทราบบ้างแล้วว่า หม่อน ต้นไม้เนื้ออ่อน เป็นไม้ยืนต้นวงศ์เดียวกับต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นขนุน และต้นสาเก ให้ประโยชน์อย่างไรบ้าง นอกจากนำใบไปเป็นอาหารเลี้ยงหนอนไหม

ในช่วงปี 2559 – 2560 ได้มีโอกาสไปราชการและส่วนตัว ยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อิหร่าน และอาเซอร์ไบจาน ระยะทางยาวหลายพันกิโลเมตรจากประเทศจุดกำเนิดเส้นทางสายไหมมุ่งสู่ประเทศอิหร่านที่ตั้งอยู่ตะวันออกกลางและขึ้นเหนือไปประเทศอาเซอร์ไบจาน ที่ตั้งอยู่ริมทะเลแคสเปี้ยน (Caspian Sea) หนึ่งในประเทศที่แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต แต่สิ่งที่ได้เห็นและประทับใจ แม้ว่าจะไปเยือนหลายครั้งอย่างประเทศจีน หรือไปเยือนเป็นครั้งแรกทั้งอิหร่านและอาเซอร์ไบจาน คือ การเห็นต้นหม่อนกระจัดกระจายอยู่ทุกหนทุกแห่งอย่างตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

ประเทศอาเซอร์ไบจาน เคยรุ่งเรืองเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทำผ้าไหม มาตั้งแต่ปี 2473 แต่ปัจจุบันมีการเลี้ยงไหมน้อยมาก ทั้งประเทศผลิตรังไหมได้ราว 700 ตัน และเป็นรายย่อยๆ ยังมีการปลูกหม่อนแบบต้นใหญ่ เวลาเก็บใบยังต้องปีนต้นเก็บ แต่ที่นี่ก็มีการปลูกหม่อนเป็นไม้ประดับตามถนนบ้างเช่นกัน ตามร้านอาหารก็มีปลูกไว้เป็นไม้ยืนต้น มีโต๊ะอาหารอยู่ใต้ร่มต้นหม่อน แต่น่าเสียดาย ช่วงที่ไปเป็นช่วงปลายฤดูหนาว ราวต้นเดือนเมษายน หม่อนยังไม่แตกตาเป็นใบอ่อน แต่ก็เห็นต้นหม่อนพร้อมแตกตาใบ และตาดอก อยู่ทั่วไปทั้งเมืองเซกี แหล่งผลิตไหมแหล่งใหญ่ของประเทศ และเมืองบากู เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน อีกทั้งในพิพิธภัณฑ์ยังได้เห็นสิ่งของเครื่องใช้ที่เป็นผ้าไหม โดยเฉพาะผ้าคลุมไหล่ที่เป็นลายตารางหมากรุก เหมือนผ้าโสร่งบ้านเราเสียจริงๆ

ต้นหม่อนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปแบบไม่ได้ตั้งใจนั้น อาจเกิดจากการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หลังจากนกหรือสัตว์ชนิดอื่นๆ กินผลหม่อน ผลไม้ที่มีคุณอนันต์ เพราะมีสารแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง โรคต้อกระจกจากเบาหวาน ความ จำบกพร่อง และมีสารโฟเลทหรือ โฟลิกแอซิด ที่ช่วยสร้างเซลล์ประสาทบำรุงสมอง อีกทั้งมีรสเปรี้ยวหวานต่างกันไปตามระยะของความสุก ผู้บริโภคเลือกได้ตามความชอบ และที่สำคัญในปัจจุบัน การผลิตผลหม่อน ยังไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลง เนื่องจากยังมีศัตรูน้อย จึงปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างมาก พูดเรื่องการแพร่กระจายของต้นหม่อน โดยนกหรือสัตว์อื่นเป็นพาหะอยู่ดีๆ กลับไปพูดเรื่องประโยชน์ของ ต้นหม่อนเฉยเลย เมล็ดหม่อนเปลือกแข็งมีขนาดเล็ก จึงไม่ถูกย่อย เมื่อถ่ายออกมาก็จะงอกเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ได้โดยง่าย อีกทั้งยังเจริญเติบโตได้ทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ไม่ขึ้นเฉพาะในเขตหนาวที่มีหิมะหรือน้ำแข็งตลอดปีตามขั้วโลกเท่านั้นเอง จึงทำให้พบเห็นต้นหม่อนได้ทั่วไปเกือบทั่วโลก

ส่วนต้นหม่อนที่พบเห็นอยู่ทั่วไปแบบตั้งใจนั้น มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป 1) ปลูกไว้เลี้ยงไหมหรือทำชาใบหม่อน จึงปลูกเป็นแถวเป็นแนว มีการตัดแต่งกิ่งและลำต้น ไม่ให้ต้นสูงเกินไปจะได้เก็บเกี่ยวใบไปเลี้ยงตัวหนอนไหมได้สะดวก หรือเก็บใบไปผลิตเป็นชาหม่อน เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ ลดน้ำตาล และ ความดันเลือด 2) ปลูกไว้เก็บผลสด กำลังได้รับความนิยมในบ้านเรา จะปลูกเป็นแถวเป็นแนวเช่นเดียวกัน หรือปลูกไว้ริมรั้ว สวนหลังบ้าน ไว้เก็บผลรับประทานหรือจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และ 3) ปลูกเป็นไม้ประดับ จะปลูกตามริมถนน สวนสาธารณะ สวนหย่อม ริมทางเดินของอาคาร และสถานที่ต่างๆ หม่อนบางพันธุ์มีลักษณะกิ่งย้อยห้อยระย้าสวยงามโดยธรรมชาติ ส่วนพันธุ์ทั่วๆไป ก็จะเน้นการตัดแต่งกิ่งให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตามความต้องการ



ประเทศจีน นอกจากปลูกหม่อนพันธุ์ที่ใช้ใบเป็นอาหารของหนอนไหมแล้ว ยังนิยมนำใบและยอดมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายชนิด ได้มีโอกาสไปลิ้มชิมรส ผัดยอดหม่อน แกงจืดใบหม่อน ตุ๋นใบหม่อน ไข่เจียวใบหม่อน เต้าหู้ผงหม่อน ซาลาเปาหม่อน นอกจากนั้นยังมีการนำดักแด้ไหมมาผัดสมุนไพร เห็ดที่เพาะจากกิ่งหม่อน ไก่ที่เลี้ยงด้วยเห็ดหลินจือจากการเพาะด้วยกิ่งหม่อนมาต้มมะนาว และสารพัดเมนู มีจำหน่ายตามร้านอาหารในหลายๆ มณฑล เช่น กวางตุ้ง อันฮุย เจ้อเจียง ฯลฯ เนื่องจากการเลี้ยงไหมวัยแก่ เขาจะไม่ให้กินยอดหม่อนเพราะมีน้ำมาก แม้ไหมกินอิ่มแต่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอที่จะไปสร้างเส้นใยมากๆ ให้รังใหญ่ๆ เหมือนคนกินข้าวต้ม อิ่มแต่หิวบ่อย ดังนั้นเขาจะตัดยอดหม่อนออกก่อนเลี้ยงวัยแก่เป็นเวลา 3-4 วัน และนำยอดหม่อนนั้นมาเป็นอาหารของคน


ประเทศอิหร่าน แหล่งอารยธรรมเปอร์เซีย ดินแดนแห่งไหมพรม เมื่อได้ไปชมก็ประจักษ์กับสายตา การค้าการขายคึกคัก เขาจึงมีการค้าขายกับชาวโลกรวมทั้งกับชาวไทยด้วยมาตั้งแต่โบราณกาล ผมมีโอกาสไปเยือนเมืองหลวง “เตหะราน” เท่านั้น ก่อนไปในใจรู้สึกกลัว แต่สิ่งที่ได้สัมผัส ทั้งบ้านเมืองก็สวยงาม ผู้คนก็มีอัธยาศัยไมตรีไม่น้อยกว่าชาวไทย แม้ไปคนเดียวก็รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย มากมายกว่าที่คิด สิ่งที่ประทับใจมากที่สุด คือการได้เห็น การนำต้นหม่อนมาประดับประดาบ้านเมืองอย่างยิ่งใหญ่อลังการมากกว่าต้นไม้ชนิดอื่น ออกจากที่พักสู่ท้องถนน ก็เห็นต้นหม่อนปลูกสลับกับไม้ดอกพุ่มเตี้ยๆ ทุกถนน ทุกสวนสาธารณะ สวนหย่อม บริเวณอาคารบ้านเรือน จะเห็นต้นหม่อนที่ตัดแต่งกิ่ง กำลังผลิใบอ่อน เพราะอุณหภูมิสูงกว่าอาเซอร์ไบจานประมาณ 8 องศาเซลเซียส ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่อิหร่านเริ่มเร็วกว่า ส่วนใหญ่เป็นต้นหม่อนตัวผู้ ดอกดก น่านำไปเป็นพ่อพันธุ์ผสมกับหม่อนผลสดพันธุ์เชียงใหม่ของเราจริงๆ แต่มาคนเดียวมิกล้า ได้เพลิดเพลินกับการเก็บภาพต้นหม่อนไม้ประดับของอิหร่านอย่างจุใจตลอด 2 วันเต็ม โดยเฉพาะที่พระราชวังกุหลาบ (Golestan Palace) มีต้นหม่อนย้อย 2 ต้น ในสวนหย่อม กิ่งก้านขดงอหลบหนาว กำลังแตกใบรับฤดูกาลใหม่ เป็นพุ่มสีเขียวอ่อนอันสดใส ได้มีโอกาสไปเยือนสถาบันอะยาตุลลาโคไมนี ที่เป็นทั้งสุสาน สุเหร่า และสถาบันการศึกษา พื้นที่กว้างขวางราวๆ พุทธมณฑล กำลังดำเนินการก่อสร้าง แต่ได้ลงต้นหม่อนเป็นไม้ประดับแล้ว มากกว่าร้อยละ 90 เป็นต้นหม่อนทั้งริมถนนและสวนหย่อม ถ้าออกใบทั้งหมดคงเขียวขจีและร่มรื่น สวยงามยิ่งนัก


จะเห็นว่า “หม่อน” ต้นไม้ธรรมดา แต่ด้วยคุณค่าสารพัดประโยชน์ของเขา จะนำมาปลูกประดับก็สวยงามและให้ร่มเงา หรือจะปลูกเชิงพาณิชย์เพื่อผลิตผล ก็สามารถเพิ่มมูลค่าแก่ผู้ผลิตได้ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองและเรื่องราวบนเส้นทางสายไหมในอดีตที่มีต้นหม่อนเป็นต้นไม้มิตรภาพของชาวโลกมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ดุจดังเส้นไหม



นายวิโรจน์ แก้วเรือง ผู้เขียน


หมายเลขบันทึก: 628194เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2017 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2017 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท