ทำไมบ้านยางขี้นก แตกบ้านครั้งที่ 2


ทำไมบ้านยางขี้นก แตกบ้านครั้งที่ 2

เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 ชาวบ้านยางขี้นกได้มีพิธี “แตกบ้าน” ขึ้นอีกครั้ง หลังจากจัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้สอบถามข้อมูลจาก คุณพ่อทองใส ธงศรี ปราชญ์ของชุมชนได้ให้ข้อมูลว่า “ประเพณีแตกบ้าน จะจัดขึ้นในวันที่ขึ้นหรือแรม 1 ค่ำ 5 ค่ำและ 14 ค่ำ เดือน 5 ที่ตรงกับวันอังคาร ดังนั้นปีนี้มีวันอังคารที่ 28 มีนาคม 2560 ตรงกับขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ที่ผ่านมาและวันนี้วันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 ตรงกับแรม 14 ค่ำ เดือน 5 จึงต้องปฏิบัติขึ้นเพราะเป็นฮีตคองของหมู่บ้านตั้งแต่โบราณมา”

ประเพณี “แตกบ้าน” หรือบางแห่งเรียก “มื้อแตกบ้าน” เป็นความเชื่อเกี่ยวกับวันอันเป็นอัปมงคล คือวันที่ถือว่าเป็นวันอุบาทว์ วันจัญไร วันโลกาวินาศ หรือวันโลกแตก คือวันที่เลข 5 มาจบกัน และตรงกับวันอังคาร คำว่าเลข 5 มาจบกันคือวันขึ้นหรือแรม 5 ค่ำ เดือน 5 และตรงกับวันอังคารหรือ 14 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันอังคาร แต่หากไม่ตรงกับวันอังคารแล้วจะไม่ถือว่าเป็นวันอัปมงคล ซึ่งในปีนี้ก็ตรงกับวันที่ 28 มีนาคมและ 25 เมษายน ที่ผ่านมาพอพอดี

ประเพณีดังกล่าวถือว่า การขนข้าวของเคลื่อนย้ายออกจากหมู่บ้านจะเป็นการหนีเภทภัยและสิ่งลี้ลับที่ไม่เป็นมงคล โดยมีความเชื่อว่าจะมีเภทภัยต่าง ๆ เช่น โรคระบาด และการอาละวาดของภูตผี ปองร้ายและเอาชีวิตมนุษย์ หรือ ทำให้ไม่มีความสุขความเจริญ

โดยมีตำนานคำกล่าวเป็นภาษาอีสานความว่า “พ่อแม่ผู่เฒ่าเว้าไว้ฮีตเก่าคลองหลัง หากมื้อได๋เวียนมาตรงขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 วันอังคารให้สูเจ้าพาลูกพาหลานหอบสาดหอบหมอนตอนตะวันขึ้นใหม่แตกบ้านแตกเมืองหลบหนีเสียหลีกให้ออกจากบ้านพอพ้นตกดินจั้งอ่วยคืนกลับบ้านเพื่อความอยู่ดีชุ่มเย็นของบ้าน พ้นจากอันตพานหมู่มารที่ปองร้าย หายทุกข์หายโศกหายโรคภัย ภัยพิบัติทั้งหลายได้อยู่ดีกินแซบ สาธุ สาธุ”

สำหรับประเพณีนี้ปัจจุบันเป็นประเพณีจากความเชื่อ ที่จะยังคงกระทำกันอย่างต่อเนื่องในหลายหมู่บ้าน หลายอำเภอในพื้นที่อำเภอเขื่องในและอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดอุบลราชธานี

การสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่หลายคน ได้ให้ความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ชุมชนบ้านยางขี้นกได้สืบทอดและปฏิบัติประเพณีนี้สืบต่อกันมาช้านาน ตั้งแต่สมัยพระธรรมบาล ในช่วงเช้าจะเป็นการย้ายบ้านและทำกับข้าว พูดคุยแลกเปลี่ยนประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ในช่วงสายจะมีการเจริญพระพุทธมนต์และถวายเพล เป็นอันเสร็จพิธี

ประเพณีแตกบ้านหากมองในเชิงกุศโลบาย จะเห็นได้ว่าเป็นประเพณีที่ทำให้ผู้คนได้มาประชุมกันและร่วมพูดคุยสาระทุกข์สุขดิบ เพื่อให้เกิดความสามัคคีกันในชุมชน ทั้งนี้ยังได้ร่วมกันทำบุญหมดทั้งหมู่บ้าน ถือเป็นบุญใหญ่ในตลอดรอบเดือน ประเพณีแตกบ้าน ทำให้เราเห็นว่าแม้เทคโนโลยีจะรวดเร็วสักปานใด แต่ฮีตคองของชาวอีสาน ยังหยั่งรากลึกอยู่ในจิตใจของผู้คนตลอด


แหล่งข้อมูล

จักรมนตรี ชนะพันธ์.ประเพณี “แตกบ้าน” แต่ไม่ใช่บ้านแตก ของชุมชนอีสาน. 2560 .[ออนไลน์]. https://www.silpa-mag.com/club/miscellaneous/article_7809 , 25 เมษายน 2560

ประเพณีอีสานฉบับ ส.ธรรมภักดี. ม.ป.ท. : ม.ป.พ. , ม.ป.ป.

วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดร้อยเอ็ด.หนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2542

วัชรินทร์ เขจรวงศ์.วันแตกบ้านที่ร้อยเอ็ด. (2553) ออนไลน์. https://www.gotoknow.org/posts/344836, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560

หมายเลขบันทึก: 627981เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2017 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2020 09:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียงลำดับเหตุการณ์ไม่ถูกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท