บทวิเคราะห์ประเทศไทย 4.0 ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศย่อมจะทำให้การพัฒนาเกิดความสมดุล มีความเข้มแข็งจากภายใน แม้ว่าการพัฒนาตามแนวทางนี้จะต้องใช้ความอดทน ความเพียร และระยะเวลาพอสมควร จึงจะเห็นผลสำเร็จได้ เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ที่เพาะจากเมล็ดย่อมจะมีรากแก้วที่หยั่งลงลึก แม้จะเติบโตช้ากว่าต้นไม้ที่ปลูกจากกระบวนการตอนกิ่ง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับพายุลมแรง หรือภาวะที่แห้งแล้งแล้ว ต้นไม้ที่ได้จากการเพาะเมล็ดย่อมที่จะสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงมากกว่า

นับเนื่องจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทย สู่ “การเป็นประเทศในโลกที่หนึ่ง (ประเทศที่พัฒนาแล้ว) ภายในปี พ.ศ. 2575” และได้มีการจัดทำวาระพัฒนาที่ 7 : แนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจไทยเพื่อเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี พ.ศ. 2575 เสนอรัฐบาล พร้อมๆ กับรายงานวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศไทยและการปรับเปลี่ยนกลไกภาครัฐ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับแนวทางการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยจากประเทศโลกที่สอง ไปสู่ประเทศในโลกที่หนึ่ง

คณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยและออกแบบอนาคตประเทศไทย (ซึ่งมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นประธานฯ) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (2558) ได้นำเสนอตัวแบบการขับเคลื่อนความมั่งคั่งของประเทศไทย ภายใต้ตัวแบบ “ประเทศไทย 4.0” หรือ “Thailand 4.0” ซึ่งจะเป็นการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่การเป็นประเทศในโลกที่หนึ่ง ปรับเปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลาง เป็นประเทศรายได้สูง ปรับเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตามรายงานแนวคิดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศไทยและการปรับเปลี่ยนกลไกภาครัฐ เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 และมีการนำเสนอเรื่องนี้ในหลายโอกาส นำมาสู่การประกาศเป็นนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยปัจจุบัน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้บริหารจัดการกลไกสำคัญในการผลักดันประเทศไทย 4.0 เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ Value Based Economy

ต่อมาจึงมีผู้นำแนวคิดประเทศไทย 4.0 นี้ ไปขยายความ เพื่อประยุกต์ใช้ในขอบเขตงานของตนเองเองอย่างกว้างขวาง เช่น อุตสาหกรรม 4.0 เกษตร 4.0 ท่องเที่ยว/บริการ 4.0 แรงงาน 4.0 คนไทย 4.0 จังหวัด 4.0 เป็นต้น รวมทั้งการนำไปบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)

ทั้งนี้ ในจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน (ปีที่ 2 ฉบับที่ 30, 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559) ยังได้ระบุถึงทิศทางการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจสู่ประเทศไทย 4.0 ที่เน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา “โดยที่ภาคการเกษตรยังคงเป็นแกนหลัก แต่จะเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่” สร้างเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) และสนับสนุนให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น พร้อมๆ กับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่รัฐให้ความช่วยเหลือ ไปสู่ SMEs ที่มีศักยภาพสูง การพัฒนาการบริการที่สร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำไปสู่การบริการที่สร้างมูลค่าสูง และการพัฒนาแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงาน
ที่มีทักษะสูง


ที่มา: ดัดแปลงจาก Eco Magazine (2559 : 7) & ที่มา: จดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน ปีที่ 2 ฉบับที่ 30, 15 กรกฎาคม 2559, หน้า 7.

"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : กระบวนทัศน์การพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0"

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ (2559) ได้กล่าวถึง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : กระบวนทัศน์การพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0” ไว้ว่า ในอดีตประเทศไทยมุ่งเน้นการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Economic Wealth) เป็นสำคัญ โดยขาดการพัฒนาในมิติอื่นให้มีความสอดคล้องกัน จึงทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบในด้านต่างๆ มากมาย อาทิ ความเหลื่อมล้ำของรายได้และโอกาสที่เพิ่มขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมถูกทำลายมากขึ้น

พูดง่ายๆ ก็คือ การพัฒนาดังกล่าว มิเพียงแต่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลระหว่าง "มนุษย์" กับ "มนุษย์" ยังก่อให้เกิดความไม่สมดุลระหว่าง "มนุษย์" กับ "ธรรมชาติ" อีกด้วย

ดังนั้น หากพวกเราต้องการก้าวสู่ "ประเทศไทย 4.0" -- ประเทศที่มีความมั่งคั่ง ความมั่นคง และความยั่งยืน จะต้องมีการพัฒนาที่สมดุลใน 4 มิติ อันประกอบด้วย (1) มิติความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Economic Wealth) (2) มิติการรักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Wellness) (3) มิติการมีสังคมที่อยู่ดีมีสุข (Social Well-Beings) และ (4) มิติการเสริมสร้างภูมิปัญญามนุษย์ (Human Wisdom) หรือ "4 Ws Model" นั่นเอง

การพัฒนาที่สมดุลนั้น ตั้งอยู่บนฐานคิดของ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" หลักการสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีอยู่ว่า

  • เมื่อพร่อง ต้องรู้จักเติม (Fulfilled)
  • เมื่อพอ ต้องรู้จักหยุด (Enough)
  • เมื่อเกิน ต้องรู้จักปัน (Sharing)

ในระดับจุลภาค "การรู้จักเติม รู้จักพอ รู้จักปัน" จะทำให้ประชาชนมีหลักประกันในด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคม สร้างสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน ก่อให้เกิดการสร้างเสริมพลังทางสังคม และการสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนในสังคมตามมา

ในระดับมหภาค "การรู้จักเติม รู้จักพอ รู้จักปัน" จะทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับประเด็นท้าทายในพลวัตโลก เติมเต็มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการสร้างพลังจากการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนผ่านกลไก "ประชารัฐ"

"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" จึงเป็น "กระบวนทัศน์การพัฒนา" (Developmental Paradigm) ที่จะขับเคลื่อนสู่ "ประเทศไทย 4.0" -- ประเทศในโลกที่หนึ่ง ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างแท้จริง


ที่มา: ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์. (2559). https://goo.gl/0ei9qo

บทวิเคราะห์ประเทศไทย 4.0 ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

จากกระบวนทัศน์การพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 โดยมีปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง (Guiding Philosophy) ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นกระบวนทัศน์ของการพัฒนาประเทศที่ดำเนินมาในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม สอดรับกับวาระแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 แห่งสหประชาชาติ อย่างลงตัว สามารถเป็นแบบอย่างให้กับหลายประเทศทั่วโลก เฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคล จนถึงระดับประเทศ หรือแม้กระทั่งในระดับโลก

การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศย่อมจะทำให้การพัฒนาเกิดความสมดุล มีความเข้มแข็งจากภายใน แม้ว่าการพัฒนาตามแนวทางนี้จะต้องใช้ความอดทน ความเพียร และระยะเวลาพอสมควร จึงจะเห็นผลสำเร็จได้ เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ที่เพาะจากเมล็ดย่อมจะมีรากแก้วที่หยั่งลงลึก แม้จะเติบโตช้ากว่าต้นไม้ที่ปลูกจากกระบวนการตอนกิ่ง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับพายุลมแรง หรือภาวะที่แห้งแล้งแล้ว ต้นไม้ที่ได้จากการเพาะเมล็ดย่อมที่จะสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงมากกว่า สอดคล้องกับที่ ศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐพงศ์ ทองภักดี ได้กล่าวไว้ในบทความ เรื่อง ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง: ความเป็นมาและความหมาย. วรสารพัฒนบริหารศาสตร์ ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ 1/2550 หน้า 30 ว่า “ความพอเพียงเป็นทั้งวิธีการและผล (Means and Ends) จากการกระทำ โดยจะทำให้เกิดวิถีการพัฒนาและผลของการพัฒนาที่สมดุล และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงความสมดุลและความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง หมายถึง ความสมดุลในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันความสมดุลของการกระทำทั้งเหตุและผล
จะนำไปสู่ความยั่งยืนของการพัฒนา ภายใต้พลวัตทั้งภายในและภายนอกประเทศ”

การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป คงไม่สามารถใช้กระบวนทัศน์การพัฒนาแบบเก่าที่มุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิต การบริโภคเป็นจำนวนมากอีกต่อไปไม่ได้แล้ว หากแต่จะต้องเน้นการพัฒนาที่ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดที่สุด คุ้มค่าที่สุด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชนสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขได้โดยไม่ต้องใช้ทรัพยากรต่างๆ เป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “...คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย. ถ้าทุกประเทศมีความคิด ‘อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ’ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข. ...”

ดังนั้น นโยบายการพัฒนาประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นกลไกและเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ (New Growth Engine) ที่สำคัญในการพัฒนาประเทศสู่วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ได้อย่างแท้จริง หากทุกภาคส่วนมีการดำเนินการอย่างจริงจัง

ทศพนธ์ นรทัศน์
ประธานชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club)

www.facebook.com/ICTforAll.org

ดาวน์โหลดบทความได้ที่นี่

หมายเลขบันทึก: 627839เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2017 00:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2017 00:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท