ฉากญี่ปุ่น : ในจิตรกรรมฝาผนัง พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ​


ฉากญี่ปุ่น : ในจิตรกรรมฝาผนัง พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

วาทิน ศานติ์ สันติ


ฉากมีประโยชน์มากมายหลายสถานเช่น ใช้กั้นห้องเพื่อเป็นสัดส่วน หรือบังตาจากบุคคลภายนอกไม่ให้เห็นส่วนของพื้นที่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว หากมีลวดลายก็สามารถใช้สร้างบรรยากาศความแปลกใหม่ในห้องก็ได้ หากมาใช้ประกอบการแสดงก็สามารถสร้างภาพของพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับเนื้อเรื่องให้สมจริงประกอบจินตนาการ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงฉากกั้นห้องหรือกั้นพื้นที่ที่พบในจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยเดิมคือฉากญี่ปุ่น หรือเรียกอีกชื่อว่าฉากพับ

ฉากญี่ปุ่น หรือ ฉากพับคือเครื่องบังตาที่ประกอบด้วยแผ่นพับหลายแผ่น มีลึกษณะแข็ง สร้างด้วยไม้ มีภาพวาดประกอบเช่นต้นไม้ ดอกไม้หรือทิวทัศน์ สามารถยืดให้ยาวและหดให้สั้นได้พอประมาณ ลักษณะและการยืดหดให้พับคล้ายพัดญี่ปุ่นหรือฝาเฟื้อม สามารถเคลื่อนย้ายได้ ใช้กั้นห้องให้เป็นสัดส่วน ที่เรียกว่าฉากญี่ปุ่นอาจเป็นเพราะว่ามีลักษณะแบบพัดของญี่ปุ่นนั่นเอง

ในวรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขึ้นเรือนขุนช้างแล้วฟันม่านวันทอง ได้กล่าวถึงฉากพับสำหรับกั้นห้องของขุนช้างดังนี้

“เดินถือฟ้าฟื้นขึ้นหอกลาง

ของขุนช้างสร้างขึ้นไว้ใหม่ใหม่

หอนั่งตั้งฉากพับไว้

ขุนทองกรงทองใส่สะอาดตา”

ฉากญี่ปุ่น หรือฉากพับมักปรากฏในงานจิตรกรรมฝาผนังเพื่อใช้กั้นห้องหรือเป็นฉากหลัง ช่างจะวาดขอบบนของฉากเป็นหยักแบบฟันปลา พบมาตั้งแต่จิตรกรรมสมัยอยุธยา และพบมากในจิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ฉากญี่ปุ่นงานจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตอนมหาภิเนษกรมณ์ เจ้าชายสิทธัตถะเลื่อนฉากเข้ามาทอดพระเนตรพระนางพิมพายโสธรากับพระราหุลกุมารเพื่อเป็นการอำลาครั้งสุดท้ายก่อนออกมหาภิเนษกรมณ์ ลักษณะเป็นฉากญี่ปุ่นพับคล้ายพัด วาดลายดอกไม่ร่วง ลายต้นไม้ ส่วนด้านซ้ายของภาพจะเห็นฉากญี่ปุ่นลายทิวทัศน์ ความพิเศษของภาพนี้ยังพบที่ด้านหลังฉากญี่ปุ่นคือฉากทิ้งหรือฉากอ่อน เป็นผ้าม่านใช้แขวนตามราวแล้วทิ้งลงให้ชายจรดพื้น สามารถรูดไปทางซ้ายขวา หรือตลบชายผ้าขึ้นมาได้ ช่างจะวาดขอบบนของฉากเป็นรูปโค้งหลายโค้งเหมือนม่านในปัจจุบันที่ร้อยด้วยหวงเป็นระยะแล้วแขวนบนราว ในจิตรกรรมจะเป็นม่านสีแดง ขลิบด้วยเส้นสีทอง วาดลายต้นไม้สีทอง การมีหลายฉากในที่นี้ภายในห้องพระบรรทมของพระนางยโสธราพิมพา แสดงถึงพื้นที่ชั้นใน ที่ไม่ต้องการให้ใครเห็น ต้องการความเป็นส่วนพระองค์จึงต้องมีเครื่องกั้นถึงสองชั้นนั่นเอง

หน้าที่ของฉากญี่ปุ่นและฉากอ่อนในงานจิตรกรรมนอกจากจะใช้เป็นส่วนสำคัญในการประกอบเรื่องราวแล้ว ยังสามารถใช้สำหรับเป็นส่วนกั้นแบ่งเรื่อง แบบเส้นสินเทา หรือภูเขา กองหิน หรือป่าไม้ได้อีกด้วย

มีหลักฐานการใช้งานฉากญี่ปุ่นเพื่อใช้บังเพลิงในงานพระเมรุเจ้าจอมมารดาอ่วม ในรัชกาลที่ 5 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2434 เล่มที่ 12 ตอนที่ 8 หน้าที่ 58 ความว่า

"...ยกลองในขึ้นตั้งบนตารางเหนือฐานที่พระราชทานเพลิง บนฐานบัตรบังด้วยฉากญี่ปุ่น..."

นอกจากนี้ยังมีเครื่องบังหรือเครื่องกั้นที่มีลักษณะการใช้งานที่เอาไว้ใช้กันแบ่งสัดสัดส่วนของห้อง หรือเอาไวใช้บังตาผู้คนไม่ให้เห็นในพื้นที่ที่ต้องการสงวนไว้ เช่นฉากลับแล ฉากแข็ง ม่าน ฉากทิ้งหรือฉากอ่อนเป็นต้น ซึ่งปรากฎในงานจิตรกรรมไทยด้วยเช่นกัน

ภาพ จิตรกรรมตอนมหาภิเนษกรมณ์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

หมายเลขบันทึก: 627744เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2017 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2017 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท