หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560


คำนำผู้เขียน

เอกสารชุดความรู้ที่ 1 หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 จัดทำขึ้นในเวลาที่ค่อนข้างรวบรัด เพื่อวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

1. เป็นชุดความรู้ของ ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางทุกหมวด สำหรับการทำหน้าที่จัดการเดินรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายการขนส่งทางบก

2. เป็นชุดความรู้ของ เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกโดยเฉพาะนักวิชาการขนส่ง ซึ่งจะต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง รวมถึงการควบคุมและกำกับดูแลการจัดเดินรถโดยสารที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายการขนส่งทางบก

3. เป็นชุดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ เป้าหมายและขอบเขตของการจัดทำและการจัดให้มีซึ่งกิจการรถโดยสารประจำทางอันเป็นบริการสาธารณะของรัฐ และการปกป้องและคุ้มครองรักษาประโยชน์โดยรวมของประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางของไทยตามหลักกฎหมายมหาชน

เอกสารชุดความรู้นี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจของผู้เขียน ที่ต้องการให้ชุดความรู้นี้เป็นเสมือนคู่มือในการบริหารจัดการกิจการรถโดยสารประจำทางของผู้ประกอบการ และเป็นคู่มือประกอบแนวคิดการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกต่อผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ที่ต่างมีเป้าหมายร่วมกัน คือ เพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชนหรือประโยชน์มหาชนหรือประโยชน์สาธารณะ ซึ่งหากทั้งสองภาคส่วนนี้มีหลักพื้นฐานของแนวคิดและมุมมองไปในทิศทางเดียวกันแล้ว การจัดการเดินรถของผู้ประกอบการก็ดี การใช้อำนาจหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกก็ดี ก็จะเกิดประโยชน์โดยรวมต่อประชาชน กล่าวคือ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายการขนส่งทางบก

ผู้เขียน ในฐานะที่เคยเป็นผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง และได้มีโอกาสเดินทางไปบรรยายให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางในจังหวัดภูมิภาคหลายจังหวัด และการติดต่อขอมาศึกษาดูระบบการบริหารจัดการรถโดยสารประจำทาง ได้พบข้อมูลสำคัญว่า ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางยังขาดแคลนแหล่งเรียนรู้และองค์ความรู้สำหรับการทำหน้าที่ผู้ประกอบการตามกฎหมายการขนส่งทางบก ซึ่งส่งผลให้การจัดการเดินรถไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมาย ผู้ใช้บริการไม่มีความพึงพอใจ

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงได้จัดทำชุดความรู้นี้ขึ้นเพื่อเป็นองค์ความรู้ โดยหวังว่าชุดความรู้นี้จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทำหน้าที่จัดการเดินรถโดยสารประจำทางได้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประชาชนอย่างแท้จริง และหากมีข้อผิดพลาดประการใดก็โปรดแจ้งให้ผู้เขียนได้ทราบด้วย ขอขอบคุณ.

ฉัตรไชย ภู่อารีย์

19 เมษายน 2560

Email : [email protected]

ชุดความรู้ที่ 1

หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560

โดย นายฉัตรไชย ภู่อารีย์

นักวิชาการอิสระด้านการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง

1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายการขนส่งทางบก

กิจการรถโดยสารประจำทางไทยเป็นบริการสาธารณะที่อยู่ภายใต้การควบคุมและกำกับดูแลของรัฐ มีลักษณะเป็นการขนส่งคนโดยสารจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง โดยผู้ใช้บริการต้องเสียค่าโดยสารให้แก่ผู้ให้บริการเป็นการตอบแทน กิจการรถโดยสารประจำทางไทยจึงมีลักษณะเป็นการให้บริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการโดยรวมของประชาชนในการเดินทาง หากให้เอกชนดำเนินการกิจการรถโดยสารประจำทางอย่างเสรีไม่มีการควบคุมจากรัฐ ก็จะเกิดการแก่งแย่งและทะเลาะวิวาทกัน จนเป็นเหตุให้ผู้ใช้บริการได้รับอันตรายและถูกเอาเปรียบได้ ด้วยเหตุนี้ รัฐจึงจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษเหนือประชาชน ด้วยการออกกฎหมายพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พุทธศักราช 2522 หรือกฎหมายการขนส่งทางบก ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายมหาชน เพื่อควบคุมจัดระเบียบและจัดระบบของกิจการรถโดยสารประจำทางให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการจัดทำบริการสาธารณะด้วยรถโดยสารประจำทาง ตามหลักว่าด้วยความเสมอภาค หลักว่าด้วยความต่อเนื่อง และหลักว่าด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การจัดเดินรถและการจัดให้บริการรถโดยสารประจำทางของผู้ประกอบการทั้งที่เป็นภาครัฐและเอกชน มีความเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ภายใต้กฎเกณฑ์เงื่อนไขเดียวกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อประโยชน์โดยรวมแก่ประชาชนเป็นการทั่วไปทั้งประเทศ

หลักว่าด้วยความเสมอภาคในกิจการรถโดยสารประจำทาง หมายถึง การมีรถโดยสารประจำทางวิ่งรับส่งประชาชนทุกพื้นที่ ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด ก็มีรถโดยสารใช้บริการด้วยมาตรฐานและ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการจัดการเดินรถโดยสารประจำทางเดียวกันทั้งประเทศ และผู้ใช้บริการจะได้รับการบริการในลักษณะเดียวกันโดยไม่จำกัด สถานที่ เพศ อายุ และเชื้อชาติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิและมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการใช้บริการของรถโดยสารประจำทางทุกเส้นทางอย่างเท่าเทียมกัน หลักว่าด้วยความเสมอภาคนี้ยังหมายถึง การออกกฎเกณฑ์และเงื่อนไขใด ๆ การกำหนดนโยบาย รวมถึงการควบคุมบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับกิจการรถโดยสารประจำทาง ต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและเสมอภาคกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติแก่บุคคลหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ

หลักว่าด้วยความต่อเนื่องในกิจการรถโดยสารประจำทาง หมายถึง การมีรถโดยสารประจำทางวิ่งบริการรับส่งประชาชนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องแม้จะเป็นวันหยุดหรือช่วงเทศกาล เพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชนที่มีความต้องการใช้บริการรถโดยสารประจำทางในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์จากการใช้บริการภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันไม่ว่าจะใช้บริการในช่วงเวลาใด ก็ตาม

หลักว่าด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในกิจการรถโดยสารประจำทาง หมายถึง รูปแบบการจัดเดินรถและการให้บริการของรถโดยสารประจำทาง ต้องสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ตามยุคสมัยและความเหมาะสมของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทางสังคมได้ เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์สาธารณะของประชาชนส่วนใหญ่ หลักว่าด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนี้ จึงส่งผลให้กรมการขนส่งทางบกมีอำนาจฝ่ายเดียวในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหรือกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการเดินรถและการให้บริการเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ และอาจไปกระทบต่อสิทธิของผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นที่มีอยู่แล้วได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบและไม่ถูกต้อง และผู้ประกอบการและบุคคลอื่นที่ได้รับผลกระทบนั้นก็ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือไม่ยินยอมใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น การปรับปรุงเส้นทางเดินรถให้ทับซ้อนกัน การกำหนดให้ 1 เส้นทางเดินรถมีผู้ประกอบการหลายราย เป็นต้น

คำว่า “ประโยชน์สาธารณะ” หรือ “ประโยชน์โดยรวมของประชาชน” หรือ ประโยชน์มหาชน” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายอย่างเดียวกัน เป็นวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการดำเนินภารกิจบริการสาธารณะด้วยรถโดยสารประจำทาง เพื่อมุ่งตอบสนองต่อความต้องการโดยรวมของคนส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่ความความต้องการของผู้จัดทำภารกิจนั้นหรือของหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่นั้นหรือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ หัวใจสำคัญของบริการสาธารณะด้วยรถโดยสารประจำทาง คือ การจัดเดินรถโดยสารประจำทางและการให้บริการ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดและตามความต้องการของส่วนใหญ่ของผู้ใช้บริการ โดยนัยนี้ ประโยชน์โดยรวมของประชาชน ก็คือ หน้าที่ตามกฎหมายการขนส่งทางบกทุกหน้าที่ ที่ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางจะต้องปฏิบัติ จัดทำและจัดให้มี

จากเป้าหมายการจัดทำบริการสาธารณะด้วยรถโดยสารประจำทางเพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชน ดังกล่าวนี้ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายแม่บทของกิจการรถโดยสารประจำทางไทย จึงมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ ดังนี้

1) ในด้านของวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ถือว่า กฎหมายการขนส่งทางบกได้กำหนดขอบเขตของกิจการรถโดยสารประจำทาง ให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางมีหน้าที่จัดการเดินรถโดยสารประจำทางและการบริการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายการขนส่งทางบดกำหนด และยังให้อำนาจหน้าที่แก่กรมการขนส่งทางบกในการควบคุมและกำกับดูแลผู้ประกอบการเพื่อให้จัดการเดินรถตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ส่วนเป้าหมายของกฎหมายการขนส่งทางบก ก็เพื่อให้การจัดเดินรถโดยสารประจำทางและบริการของผู้ประกอบการ เกิดประโยชน์โดยรวมแก่ประชาชน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายการขนส่งทางบก

2) ในด้านของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพรับส่งผู้โดยสารด้วยรถโดยสารประจำทาง จะประกอบอาชีพนี้โดยอิสระทันทีทันใดตามความต้องการของตนไม่ได้ หากแต่จะต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมายการขนส่งทางบกเสียก่อน และมีหน้าที่ที่จะต้องจัดการเดินรถและการบริการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายการขนส่งกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประชาชนผู้ใช้บริการ

3) ในด้านของกรมการขนส่งทางบก หน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงคมนาคม ก็มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายการขนส่งทางบก ในการควบคุมและกำกับดูแลการจัดการเดินรถโดยสารประจำทางและการบริการของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายการขนส่งกำหนด และหากพบว่าผู้ประกอบการกระทำการฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการจัดการเดินรถและการบริการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ กรมการขนส่งทางบกก็มีอำนาจลงโทษ และเสนอต่อนายทะเบียนกลางเพื่อเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางได้ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า กรมการขนส่งทางบกมีอำนาจหน้าที่รักษาประโยชน์โดยรวมของประชาชน และป้องกันมิให้ประชาชนต้องเสื่อมประโยชน์จากการใช้บริการของรถโดยสารประจำทาง

4) ในด้านของประชาชน เนื่องจากเป้าหมายของกิจการรถโดยสารประจำทางมีไว้เพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะบุคคลบางกลุ่มบางพวก ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด จะเคยใช้หรือไม่เคยใช้บริการรถโดยสารประจำทาง หรือแม้แต่บุคคลที่อยู่ตามป่าเขาไม่มีถนนหนทาง ไม่มีเส้นทางรถโดยสารประจำทาง บุคคลเหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นผู้มีสิทธิใช้บริการและได้รับประโยชน์จากบริการของรถโดยสารประจำทางทุกเส้นทางในประเทศไทย โดยนัยนี้ ประชาชนทุกคนรวมถึงคนต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย จึงมีสถานะเป็นผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางตามกฎหมายการขนส่งทางบกทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ประชาชนทุกคนจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสะท้อนภาพของการจัดการเดินรถและบริการของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางในเส้นทางต่าง ๆ ว่า เกิดประโยชน์หรือทำให้เสื่อมประโยชน์จากการใช้บริการ ไปสู่ภาครัฐคือกรมการขนส่งทางบกซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ให้การควบคุมและกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางจัดการเดินรถและบริการให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประชาชนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนด ซึ่งบางประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้มีกฎหมายกำหนดให้มีองค์กรสำหรับที่ทำหน้าที่ในการควบคุมและตรวจสอบการจัดเดินรถของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต โดยมีองค์กรภาคประชาชนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย โดยมีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบและประเมินผลการจัดเดินรถโดยสารประจำทางของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตว่ามีความเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่

โดยนัยที่กล่าวข้างต้นนี้จะเห็นว่า กฎหมายการขนส่งทางบก นอกจากจะเป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางมีหน้าที่จัดการเดินรถและให้บริการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยมีกรมการขนส่งทางบกหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่ในการใช้อำนาจควบคุมและกำกับดูแลการจัดเดินรถของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางให้เป็นไปที่กฎหมายกำหนดแล้ว อีกนัยหนึ่ง กฎหมายการขนส่งทางบก ยังเป็นเครื่องมือและหลักประกันของประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์โดยรวมของประชาชนว่า ทุกครั้งที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ผู้ใช้บริการทุกคนหรือโดยส่วนใหญ่จะได้รับประโยชน์จากการใช้บริการรถโดยสารประจำทางตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนดไว้ทุกประการหรือในระดับเดียวกัน

2. หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง

ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 23 หมายถึง บุคคลที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมายการขนส่งทางบก ให้เป็นผู้มีสิทธิจัดการเดินรถโดยสารประจำทางในเส้นทางตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง โดยนัยนี้ เจ้าของรถร่วมหรือบริษัทรถร่วมที่เป็นคู่สัญญากับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการรถโดยสารประจำทาง เช่น บริษัทรถร่วมต่าง ๆ ของ ขสมก. หรือ บขส. เจ้าของรถร่วมที่นำรถเข้าร่วมเดินรถกับผู้ประกอบการเอกชน เจ้าของรถที่เข้าร่วมเดินรถกับสหกรณ์ จึงมิใช่ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางตามนัยแห่งกฎหมายการขนส่งทางบก แต่เป็นเพียงผู้อาศัยสิทธิของผู้ประกอบการ และเป็นการเดินรถโดยสารประจำทางในนามของผู้ประกอบการมิใช่ในนามของตนเอง

ปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว คือ ไม่รู้ว่ามีหน้าที่อย่างไร ต้องจัดการเดินรถอย่างไรจึงจะถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด หรือได้ชื่อว่าจัดการเดินรถอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้อันเนื่องมาจากสาเหตุสำคัญหลายประการ เช่น การไม่มีเอกสารคู่มือหรือตำราทางด้านรถโดยสารประจำทางสำหรับใช้ศึกษาหาความรู้ การขาดการเผยแพร่องค์ความรู้หรือการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทางด้านการบริหารจัดการรถโดยสารประจำทาง และในประการสำคัญ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกรมการขนส่งทางบกไม่สามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาหรือเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการจึงจัดการเดินรถโดยสารประจำทางไปตามความรู้สึกนึกคิดของตน หรือทำตามที่ผู้ประกอบการรายอื่นเขาทำกันตั้งแต่ในอดีต โดยไม่รู้ว่าการจัดการที่ปฏิบัติอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร จนเป็นความเชื่อว่า การจัดการเดินรถโดยสารประจำทางที่ได้ปฏิบัติอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เพื่อนำไปสู่ความถูกต้องและการบริการที่ดี

หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ในประการใด ๆ ก็ตาม ถือเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะในระหว่างการเดินทาง ผู้ประกอบการมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการให้ผู้ใช้บริการไปถึงจุดหมายปลายทาง หรืออาจเรียกว่า “การบริหารจัดการเพื่อให้ผู้โดยสารไปถึงปลายทาง” โดยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงมีหน้าที่ที่จะต้องบริหารจัดการเดินรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้ผู้ใช้บริการไปถึงจุดหมายปลายทางด้วยดีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการที่จะนำพาผู้ใช้บริการไปถึงจุดหมายปลายทางนั้น มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจหรือความต้องการของผู้ประกอบการ หากแต่ต้องเป็นไปตามความต้องการโดยรวมของผู้ใช้บริการ เช่น ผู้ขับรถขับรถขับรถโดยปราศจากอุบัติเหตุ ใช้เวลาในการเดินทางที่เหมาะสม รถโดยสารสามารถวิ่งไปถึงจุดหมายปลายทางโดยไม่จอดเสียระหว่างทาง ผู้โดยสารได้รับการปฏิบัติด้วยดีมีความปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็น “งานบริการ” ที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องจัดทำหรือจัดให้มีขึ้น เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า งานบริการ เป็นการสนองตอบต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ

หากมองย้อนไปในอดีต จะพบว่า ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางจะให้ความสำคัญแก่รายได้ของตนเองเป็นหลัก ไม่ให้ความสำคัญแก่การทำหน้าที่จัดเดินรถและการให้บริการ ประชาชนผู้ใช้บริการจึงถูกเอาเปรียบ เกิดการผูกขาดในกิจการรถโดยสารประจำทาง ต่อมา เมื่อสังคมเจริญก้าวหน้าขึ้น ความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการจึงมีเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางยังคงเห็นแก่รายได้และประโยชน์ส่วนตัว จัดเดินรถและให้บริการแบบเดิม ๆ จึงได้มีระบบการขนส่งในรูปแบบอื่นเกิดขึ้นมาเพื่อสนองตอบความต้องการในการเดินทางของประชาชนที่ขาดหายไปนั้น จนถึงในปัจจุบันได้มีระบบการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย และเป็นคู่แข่งที่สำคัญของรถโดยสารประจำทาง ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้อำนาจในการตัดสินใจใช้บริการจากเดิมที่อยู่ในกำมือของผู้ประกอบการ ได้ตกไปอยู่ในกำมือของประชาชนผู้ใช้บริการ โดยประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะใช้บริการขนส่งรูปแบบใด ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางในปัจจุบันจึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารจัดการกิจการรถโดยสาร จากระบบครอบครัวไปสู่ระบบธุรกิจหรือกึ่งธุรกิจ จากเพื่อประโยชน์ส่วนตนไปสู่ประโยชน์โดยรวมของผู้ใช้บริการ จากการจัดเดินรถตามใจของผู้ประกอบการไปสู่การจัดการเดินรถอย่างมีแบบแผน เพื่อเป็นแผนที่หรือเข็มทิศนำทางการจัดการเดินรถโดยสารในเส้นทางไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

แผนภาพ : กระบวนการพัฒนาการบริหารจัดการของกิจการรถโดยสารประจำทาง


ในด้านของการจัดการเดินรถ จะเห็นว่าผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางมีทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดการเดินรถโดยสารประจำทางใน 2 ประการ คือ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนดประการหนึ่ง และตามความต้องการโดยรวมของประชาชนผู้ใช้บริการอีกประการหนึ่ง ซึ่งหน้าที่ทั้ง 2 ประการดังกล่าวมานี้ จะเกิดขึ้นใน 3 ระยะ คือ

ระยะแรกก่อนใช้บริการ หมายถึง การจัดเตรียมรถโดยสารประจำทางและผู้ขับรถให้มีความพร้อมต่อการใช้และทำหน้าที่ รวมถึงการแนะนำประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ

ระยะที่สองขณะใช้บริการ หมายถึง การทำให้ผู้ใช้บริการหรือผู้โดยสารไปถึงที่หมายปลายทางด้วยความปลอดภัยและตรงต่อเวลา ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกระหว่างเดินทาง

ระยะที่สามหลังใช้บริการ หมายถึง การทำให้ผู้ใช้บริการติดต่อสื่อสารกับผู้ประกอบการได้โดยตรง สามารถให้คำแนะนำ ติชม ร้องเรียน แจ้งสิ่งของสูญหายหรือเสียหาย รวมถึงหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือเยียวยาเมื่อเกิดเหตุต่าง ๆ แก่ตัวผู้ใช้บริการ

หน้าที่ของผู้ประกอบการทั้ง 3 ระยะ ดังที่กล่าวมานี้ มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายประการ เช่น ผู้ใช้บริการซึ่งมีอยู่หลากหลาย เช่น นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน เป็นต้น รถโดยสารที่ใช้ทำการขนส่ง ผู้ขับรถโดยสารประจำทาง กฎระเบียบ/ข้อบังคับ/หรือมาตรการต่าง ๆ ของรัฐและของผู้ประกอบการ และปัจจัยสำคัญที่ขาดมิได้ คือ รูปแบบของการจัดให้บริการ โดยมีปัจจัยทางด้านความต้องการและความคาดหวังของประชาชนและภาคประชาสังคมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการบริหารจัดการ จากการศึกษาความต้องการจากกลุ่มผู้ใช้รถโดยสารประจำทาง พบว่าความต้องการของผู้ใช้บริการ มี 7 ประการ เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ 1)ความปลอดภัย 2)ด้านความสะอาด 3)ด้านความสะดวก 4)ด้านการตรงต่อเวลา 5)ด้านมารยาท 6)ด้านรูปแบบและนวัตกรรมการบริการ และ 7)ด้านความรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการและสังคม

แผนภาพ : ความต้องการของผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง


ความต้องการเหล่านี้ เป็นปัจจัยกระตุ้นหรือแรงขับที่ส่งผลโดยตรงต่อความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ หากผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางสามารถบริหารจัดการสนองความต้องการของผู้ใช้บริการเหล่านี้ได้ ผู้ใช้บริการก็จะใช้บริการต่อไป เกิดการใช้บริการซ้ำและบอกต่อ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาผู้ใช้บริการเดิมไว้ได้และมีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น รายได้จากค่าโดยสารก็จะเพิ่มมากขึ้นและมีความยั่งยืนต่อไป ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การสนองความต้องการของผู้ใช้บริการก็คือการทำหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนด ดังนั้น ผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันจึงมีภารกิจหน้าที่ที่จะต้องบริหารจัดการเพื่อสนองต่อความต้องการโดยรวมของประชาชน ดังนี้ 1)การบริหารองค์กรผู้ประกอบการ 2)การบริหารเจ้าของรถร่วม 3)การบริหารรถโดยสาร 4)การบริหารผู้ประจำรถ 5)การบริหารการให้บริการ 6)การบริหารความปลอดภัย 7)การบริหารคุณภาพการให้บริการ 8)การบริหารการตลาดและประชาสัมพันธ์ 9)การบริหารข้อร้องเรียนและแนะนำ และ 10)การบริหารผู้ใช้บริการ

แผนภาพ : วงจรการบริหารจัดการกิจการรถโดยสารประจำทาง


สรุป หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง หมายถึง หน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารและจัดการเดินรถโดยสารประจำทาง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายการขนส่งทางบก และเป็นไปตามความต้องการและความคาดหวังของผู้ใช้บริการ โดยทั้งสองหน้าที่นี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งผู้ประกอบการจะจัดการเดินรถโดยสารประจำทางและให้บริการไปตามอำเภอใจของตน ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนดไม่ได้ เพราะจะเป็นเหตุให้ประชาชนต้องเสื่อมประโยชน์จากการใช้บริการ

(หมายเหตุ ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากชุดความรู้ เรื่อง การบริหารกิจการรถโดยสารประจำทางด้วยแผนการบริหารจัดการรถโดยสารประจำทาง ของผู้เขียน)

3. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสาร สาธารณะ

ความปลอดภัย มีความหมายแตกต่างกันไปตามบริบทที่นำไปใช้ แต่โดยรวมแล้วหมายถึง ภาวะที่ไม่อันตราย โดยนัยนี้ ความปลอดภัยในกิจการรถโดยสารประจำทาง จึงหมายถึง “การขนส่งผู้โดยสารจากต้นทางไปยังปลายทางโดยไม่เกิดภาวะอันตรายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการและบุคคลอื่น”

มนุษย์ทุกคนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมากที่สุดและเป็นอันดับแรก เพราะความไม่ปลอดภัยหรืออุบัติเหตุ เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และไม่อาจทดแทนหรือเยียวยาได้ด้วยเงินหรือทรัพย์สินใด ๆ ได้ ความปลอดภัยทำให้ลดอุบัติเหตุและการสูญเสีย ความปลอดภัยจึงเป็นการสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง และความปลอดภัยยังส่งผลให้ลดต้นทุนของการประกอบการลงได้ ความปลอดภัยของทุกชีวิตบนรถโดยสาร จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและมีความหมายมากที่สุดของกิจการรถโดยสารประจำทาง และความปลอดภัยนี้เป็นความต้องการที่ผู้ใช้บริการต้องการมากที่สุด

กฎหมายการขนส่งทางบก ซึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 กฎกระทรวงคมนาคมที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และประกาศกรมการขนส่งทางบก ได้มีบทบัญญัติและข้อกำหนดที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของรถโดยสารประจำทางและผู้ใช้บริการเพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ขับรถถือปฏิบัติหลายประการ และมีบทลงโทษหากผู้ประกอบการและผู้ขับรถฝ่าฝืน หรือเพิกเฉยละเลยไม่จัดการเดินรถโดยสารประจำทางให้เกิดความปลอดภัยหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติหรือข้อกำหนดนั้น แต่ที่ผ่านมาการจัดเดินรถโดยสารประจำทางของผู้ประกอบการทั้งที่เป็นภาครัฐ(ขสมก. และ บขส.) และภาคเอกชน ก็ยังคงเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากดังที่เป็นข่าวปรากฏต่อสาธารณชน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคประชาสังคม และมีทัศนคติในทางลบต่อกิจการรถโดยสารประจำทางว่า "รถโดยสารประจำทางไม่มีความปลอดภัย" ซึ่งถือว่า เป็นความล้มเหลวอย่างรุนแรงของมาตรการในการควบคุมและกำกับดูแลรถโดยสารประจำทางไทย และการทำหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประชาชนต้องเสื่อมประโยชน์จากการใช้บริการ และหันไปใช้รูปแบบการขนส่งอย่างอื่นที่มีความปลอดภัยมากกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความปลอดภัย เป็นความต้องการสูงสุดเป็นอันดับแรกที่ผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางต้องการและให้ความสำคัญมากกว่าความต้องการในลำดับอื่น ๆ

ด้วยเหตุนี้ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุแก่ประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางเพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้การปฏิบัติและการบังคับใช้กฎหมายการขนส่งทางบกเป็นไปอย่างเคร่งครัดมิให้เกิดการกระทำผิดหรือการกระทำที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจึงได้มีประกาศมาตรการเพิ่มความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ เพื่อให้กรมการขนส่งทางบกและผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางในฐานะที่เป็นผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายการขนส่งทางบกในการจัดเดินรถโดยสารประจำทางแทนรัฐ ถือเป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติ เพื่อให้การจัดเดินรถโดยสารประจำทางเกิดความปลอดภัยสูงสุด ด้วยการมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ โดยมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายการขนส่งทางบก ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางนอกจากจะมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนดเป็นหน้าที่ไว้แต่เดิมแล้ว ยังเป็นการกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางเพิ่มเติมขึ้นใหม่อีกหลายประการ ที่ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางจะต้องปฏิบัติและควบคุมกำกับดูแลให้ผู้ขับรถและผู้เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ด้วย

ในด้านของบทกำหนดโทษ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 นี้ ได้ให้อำนาจแก่นายทะเบียนตามกฎหมายการขนส่งทางบกเพิ่มขึ้น ในการลงโทษผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางที่ไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนต่อการทำหน้าที่ตามที่กฎหมายการขนส่งทางบกและประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 กำหนด ด้วยการสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนรถ สั่งระงับใช้รถ หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง นอกเหนือจากการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522

นอกจากนี้ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ยังส่งผลให้กรมการขนส่งทางบก จะต้องจัดทำประกาศกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และประกาศกรมการขนส่งทางบกในเรื่องต่าง ๆ เพื่อกำหนดเป็นข้อบังคับและหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางที่จะต้องปฏิบัติ ต่อไป

สาระสำคัญของ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560

ข้อ 1. ยกเลิกความใน มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และใช้ข้อความที่กำหนดขึ้นใหม่แทน เนื้อหาของมาตรา 35 ที่บัญญัติขึ้นใหม่นี้ เป็นการเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้ประกอบการจากที่ได้มีกำหนดไว้ในมาตรา 35 อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถพร้อมทั้งบันทึกการตรวจสอบ

ข้อ 2. ให้อำนาจหน้าที่แก่นายทะเบียนกลางเพิ่มขึ้น ในการเพิกถอนการจดทะเบียนรถ ระงับการใช้รถ หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ไม่เกินหกเดือน หากผู้ประกอบการฝ่าฝืนหรือละเลยเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนด

ข้อ 3. ให้อำนาจกรมการขนส่งทางบกลงโทษผู้ให้บริการระบบติดตามรถที่ฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับคุณลักษณะและระบบการทำงานของเครื่องบันทึกข้อทูลการเดินทางของรถ

ข้อ 4. กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับรถตู้โดยสารสาธารณะ เกี่ยวกับการติดตั้งถึงบรรจุก๊าซไม่ให้มีน้ำหนักเกินสมรรถนะของรถ การติดตั้งปรับปรุงตัวรถให้มีทางเข้าออกที่สะดวกมากขึ้น และการกำหนดที่นั่งรถตู้โดยสารไม่เกิน 13 ที่นั่ง

ข้อ 5. กำหนดให้รถสาธารณะจัดให้มีประกันภัยภาคสมัครใจ เพิ่มเติมจากประกันภัยภาคบังคับ

ข้อ 6. ให้ใช้กฎกระทรวงคมนาคมที่ออกตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ไปพลางก่อนเป็นเวลาไม่เกิน 60 วัน นับจากวันที่ 21 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 มีผลใช้บังคับ จนกว่าจะมีประกาศที่ออกตามความในมาตรา 35 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งนี้ใช้บังคับแทน

ข้อ 7. ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายการขนส่งทางบก ปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ในทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง หากปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือเพิกเฉยหรือละเลยหรืองดเว้นการกระทำ

จะเห็นว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ข้อ 1., ข้อ 2., ข้อ 4. และ ข้อ 5. เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ส่วนข้อที่ 6. กับข้อ 7. เป็นหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกที่จะต้องปฏิบัติ และข้อ 3. เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการ GPS

คำสั่ง คสช. ที่ 15/2560 มีลักษณะสำคัญเฉพาะที่เกี่ยวกับกิจการรถโดยสารประจำทาง ดังนี้

1. มีสภาพเป็นกฎหมายการขนส่งทางบก

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 นี้ แม้จะเป็นการประกาศใช้โดยคำสั่งของคณะรักษาความสงบเรียบร้อย มิได้ผ่านการออกกฎหมายทางรัฐสภาก็ตาม แต่ฐานของการใช้อำนาจออกคำสั่งฉบับนี้เป็นการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557) ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงมีผลให้คำสั่ง คสช. ที่ 15/2560 ฉบับนี้ มีผลเป็นกฎหมาย และมีผลใช้บังคับแก่รถโดยสารสาธารณะทุกประประเภท

แต่เนื่องจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ทุกข้อ มีเนื้อความที่เกี่ยวกับการบริการสาธารณะด้วยรถโดยสารสาธารณะตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ที่กำหนดขอบเขตเกี่ยวกับการจัดเดินรถโดยสารสาธารณะให้เกิดความปลอดภัย มีลักษณะเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์โดยรวมของประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการรถสาธารณะหรือไม่ก็ตาม จึงมีผลทำให้เนื้อความตามคำสั่ง คสช. ที่ 15/2560 นี้ เป็นหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการจัดเดินรถโดยสารประจำทางและบริการของกฎหมายการขนส่งทางบกด้วย และต่อไปในภายหน้าแม้จะไม่มีคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 นี้ ก็ยังคงมีสภาพเป็นกฎหมายต่อไป จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิก

2. เป็นกฎหมายที่กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ข้อ 1. ข้อ 2. ข้อ 4. ข้อ 5. และข้อ 6. ถือเป็นการกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางที่จะต้องจัดทำให้ชัดเจนและเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การจัดเดินรถและบริการเกิดประโยชน์โดยรวมแก่ประชาชน มีความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งหากผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางเพิกเฉยฝ่าฝืนต่อคำสั่งนี้ ไม่มีการบริหารจัดการ ขาดควบคุมและกำกับดูแลเพื่อให้การจัดเดินรถและบริการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนด ผู้ประกอบการนั้นก็จะต้องถูกลงโทษตามความในข้อ 2. และตามที่พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 กำหนด

3. เป็นกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการรักษาประโยชน์โดยรวมของประชาชนผู้ใช้บริการ

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ข้อ 7. กำหนดให้กรมการขนส่งทางบก มีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายการขนส่งทางบกอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมและกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางทำหน้าที่จัดการเดินรถและบริการตามที่กำหนดไว้อย่างถูกต้อง มิให้มีการฝ่าฝืนหรือกระทำการใดที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการให้บริการของรถโดยสารประจำทาง และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ยังให้อำนาจหน้าที่แก่กรมการขนส่งทางบกในการออกกฎกระทรวงที่อาศัยความตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และประกาศกรมการขนส่งทางบกในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ด้วย

(หมายเหตุ ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากชุดความรู้ เรื่อง การใช้อำนาจหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกตามหลักกฎหมายมหาชน เพื่อรักษาและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ของผู้เขียน)

4. เป็นกฎหมายที่มีบทกำหนดโทษ

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ข้อ 2. ข้อ 3. และข้อ 7. ได้กำหนดบทลงโทษผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง และกรมการขนส่งทางบก ไว้ดังนี้

4.1 ลงโทษผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ด้วยการเพิกถอนรถคันที่เกิดเหตุออกจากบัญชีเดินรถ และระงับใช้หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่เกินหกเดือน หากเกิดเหตุตาม ข้อ 2. (1) (2) และ (3) ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ

4.2 ลงโทษกรมการขนส่งทางบก ตามข้อ 7. ซึ่งได้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หากเพิกเฉย ละเลย ไม่ปฏิบัติหรือไม่บังคับใช้กฎหมายการขนส่งทางบกอย่างเคร่งครัด ตรงไปตรงมา หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในทางผลประโยชน์ใด ๆ กับผู้ประกอบการ ซึ่งมีโทษในทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครอง และยังมีผลลงโทษผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่นั้น หากไม่ควบคุมและกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ในปกครองของตนให้ปฏิบัติหน้าที่และบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาและรวดเร็ว

4.3 ลงโทษผู้ให้บริการระบบติดตามรถ หากเครื่องบันทึกข้อมูลไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบของกรมการขนส่งทางบกได้ ตามข้อ 3. ด้วยการปรับเป็นเงินวันละ 5,000 บาท

จะเห็นว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางไว้ 3 ลักษณะ กล่าวคือ

1) หน้าที่ที่ได้มีกำหนดไว้ในกฎหมายการขนส่งทางบกอยู่แล้ว เช่น หน้าที่ตามมาตรา 35 การจัดให้มีสมุดประจำรถ ใบประวัติผู้ประจำรถ การควบคุมตรวจสอบมิให้ผู้ขับรถทำหน้าที่ขับรถเกินชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด การควบคุมตรวจสอบมิให้ผู้ขับรถทำหน้าที่ขับรถในขณะที่ร่ายกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ การควบคุมตรวจสอบมิให้ผู้ขับรถบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง เป็นต้น

2) หน้าที่ที่กำหนดขึ้นใหม่ ซึ่งยังมิได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมายการขนส่งทางบก เช่น การตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถโดยสาร การจัดทำประกันภัยภาคสมัครใจ เป็นต้น

3) หน้าที่ที่กำหนดขึ้นใหม่ตามกฎหมายอื่น ๆ เช่น การควบคุมตรวจสอบมิให้ผู้ขับรถขับรถโดยประมาท การควบคุมตรวจสอบมิให้มีการนำรถไปใช้ในการกระทำความผิด เป็นต้น

ปัจจุบัน กรมการขนส่งทางบกโดยอาศัยอำนาจตามความของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ได้ออกประกาศกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางและเจ้าของรถขึ้นอีกหลายฉบับ โดยมีผลเป็นกฎหมายการขนส่งทางบกและเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางด้วยเช่นกัน ได้แก่

1. ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งและหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ การตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถ และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง พ.ศ.2560 ซึ่งได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2560 เป็นต้นไป เว้นแต่การจัดทำสมุดประจำรถให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศราชกิจจานุเบกษา (5 เมษายน 2560)เป็นต้นไป

2.ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทรถและวงเงินที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือเจ้าของรถต้องจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมจากฎหมายว่าด้วยคุ้มครองผู้ประสพภัยจากรถ พ.ศ.2560 ซึ่งได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้ว

3. ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง การจัดวางที่นั่งรถตู้โดยสารสาธารณะตามมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ พ.ศ.2560 ซึ่งได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้ว

อนึ่ง ในการทำหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 และประกาศกรมการขนส่งทางบกดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ผู้ประกอบการยังจะต้องนำข้อกำหนดตามกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ.2558 ที่ออกตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง มาตรา 102 (4) และมาตรา 36 แห่งประราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาปฏิบัติร่วมด้วย เช่น การจัดให้มีข้อมูลของผู้ประจำรถและหมายเลขทะเบียนรถ เป็นต้น

4 หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560

หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 เป็นหน้าที่ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ที่ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางจะต้องปฏิบัติ จัดทำและจัดให้มี เพราะเป็นเรื่องของประโยชน์โดยรวมแก่ประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ดังนั้นหากผู้ประกอบการมีความเข้าใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำหน้าที่ดังกล่าว ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการทำหน้าที่ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมแก่การจัดการเดินรถโดยสารประจำทางในเส้นทางและรถสาธารณะอื่น ๆ ได้ ซึ่งหน้าที่ของผู้ประกอบการ มี 17 ประการ ดังนี้

1. จัดให้มีสมุดประจำรถและควบคุมตรวจสอบการกรอกข้อความ

2. จัดทำประวัติผู้ประจำรถ

3. ตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถโดยสารประจำทางในเส้นทางและบันทึกการตรวจสอบ

4. ตรวจสอบสภาพและความพร้อมของผู้ขับรถโดยสารในเส้นทางและบันทึกการตรวจสอบ

5. จัดทำรายงานการขนส่งต่อกรมการขนส่งทางบก

6. จัดทำรายงานการเกิดอุบัติเหตุต่อกรมการขนส่งทางบก

7. ควบคุมและตรวจสอบให้ผู้ขับรถใช้ความเร็วไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

8. ควบคุมและตรวจสอบผู้ขับรถมิให้ทำหน้าที่ขับรถเกินชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด

9. ควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ขับรถขับรถโดยประมาท

10. ควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ประจำรถนำรถโดยสารไปใช้ในการกระทำความผิดกฎหมายใด ๆ

11. ควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ประจำรถบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง

12. ควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ประจำรถทอดทิ้งผู้โดยสาร

13. ควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ประจำรถเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด

14. ควบคุมและตรวจสอบให้มีการจัดทำประกันภัยรถเพิ่มเติม

15. ควบคุมและตรวจสอบการติดตั้งถังก๊าซในรถตู้โดยสารมิให้มีน้ำหนักเกินสมรรถนะของรถ

16. ติดตั้งหรือแก้ไขปรับปรุงตัวรถและเครื่องอุปกรณ์ให้เกิดความปลอดภัยต่อการใช้รถและการเดินทาง ตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด

17.ควบคุมและตรวจสอบให้รถตู้โดยสารมีที่นั่งไม่เกินเกิน 13 ที่นั่ง

ชุดความรู้นี้ จะยกเว้นไม่กล่าวถึงหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ในอันดับที่ 15 กับอันดับที่ 16 เนื่องจากเป็นเรื่องของมาตรฐานรถ ซึ่งจะต้องรอให้มีความชัดเจนจากประกาศกรมการขนส่งทางบกเสียก่อน และเรื่องที่ 17 ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้แก้ไขตามประกาศกรมการขนส่งทางบกกันเสร็จสิ้นแล้ว

1. จัดให้มีสมุดประจำรถและควบคุมตรวจสอบการกรอกข้อความ

สมุดประจำรถ เป็นเอกสารที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนดให้มีไว้กับรถโดยสารทุกคันขณะที่ทำการขนส่ง โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องจัดทำสมุดประจำรถให้เป็นไปตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด และเก็บรักษาไว้ ณ ที่ทำการหรือสำนักงานของผู้ประกอบการอย่างน้อยหนึ่งปี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ

ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ การตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถ และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง พ.ศ.2560 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการสมุดประจำรถ ไว้ในข้อ 5 และกำหนดให้ใช้แบบของสมุดประจำรถตามท้ายประกาศกรมการขนส่งทางบกฉบับนี้

ขั้นตอนการจัดทำสมุดประจำรถและควบคุมตรวจสอบการกรอกข้อความ มีดังนี้

1. จัดทำสมุดประจำรถตามแบบที่ประกาศกรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยจะจัดทำเป็นเล่มหรือเป็นแผ่นก็ได้ ตามความเหมาะสมของกิจการรถโดยสารแต่ละเส้นทาง แต่สมุดประจำรถ 1 เล่ม หรือ 1 แผ่น ใช้กับรถโดยสารประจำทางเพียง 1 คันเท่านั้น จะนำไปใช้กับรถโดยสารคันอื่น ๆ ไม่ได้

2. ควบคุมตรวจสอบให้ผู้แทนของตนและผู้ขับรถกรอกข้อความในสมุดประจำรถให้ครบถ้วนถูกต้องและเป็นไปตามความเป็นจริงทุกรายการ ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง อาจจัดทำสมุดประจำรถโดยพิมพ์ข้อความที่เป็นรายละเอียดของผู้ประกอบการไว้ในสมุดประจำรถเลยก็ได้ เช่น ชื่อผู้ประกอบการ ประเภทของการประกอบการขนส่ง เลขที่ใบอนุญาตประกอบการ ที่ตั้งสำนักงาน เป็นต้น

3. ควบคุมและตรวจสอบให้ผู้มีหน้าที่บันทึกแบบการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถตามท้ายประกาศกรมการขนส่งทางบก ทำการบันทึกผลการตรวจสอบสมุดประจำรถตามรายการที่กำหนดในแบบการตรวจสอบสภาพรถนั้นให้ครบถ้วนถูกต้อง

4. ควบคุมและตรวจสอบให้ สมุดประจำรถที่บันทึกรายการสำหรับรถคันใดแล้ว ต้องอยู่กับรถคันนั้นตลอดวันที่ทำการขนส่งรับผู้โดยสาร

5. เก็บรักษาสมุดประจำรถไว้ที่ทำการหรือสำนักงานของผู้ประกอบการเมื่อสมุดประจำรถเต็มหรือไม่ใช้แล้ว เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกตรวจสอบ ผู้ประกอบการอาจใช้วิธีทำสำเนาสมุดประจำรถที่กรอกข้อความเรียบร้อยแล้วเป็นข้อมูลทางอิเล็คทรอนิกส์เพื่อเป็นการสำรองข้อมูล ก็จะเป็นประโยชน์มาก หากสมุดประจำรถเกิดความชำรุดเสียหาย

ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางที่ฝ่าฝืนไม่จัดทำสมุดประจำรถ ไม่ควบคุมตรวจสอบให้ผู้แทนหรือผู้ขับรถกรอกข้อความในสมุดประจำรถให้ครบถ้วนถูกต้อง ก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 131 ปรับไม่เกิน 50,000 บาท ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ขับรถก็มีหน้าที่ตามมาตรา 102 (4) หากผู้ขับรถฝ่าฝืนหรือกรอกข้อมูลไม่ครบถ้วน ก็จะต้องถูกปรับตามมาตรา 127 ไม่เกิน 5,000 บาท

การตรวจสอบสมุดประจำรถ เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบก ในการตรวจสอบสมุดประจำรถได้ใน 2 ลักษณะ คือใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 50 เรียกให้รถโดยสารประจำทางหยุดเพื่อทำการตรวจสอบสมุดประจำรถและใช้อำนาจตาม มาตรา 49 ประกอบด้วยมาตรา 51 เข้าไปในสถานที่ทำการหรือสำนักงานของผู้ประกอบการเพื่อทราบข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบเอกสาร

(ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากชุดความรู้ เรื่อง หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง เกี่ยวกับสมุดประจำรถและการควบคุมตรวจสอบ ซึ่งจะอธิบายให้เห็นถึงความเกี่ยวพันระหว่างเงื่อนไขจำนวนรถ จำนวนเที่ยว และเวลาเดินรถ ตามใบอนุญาตประกอบการกับสมุดประจำรถ และการนำข้อมูลรายงานการเดินรถจากระบบติดตามรถ หรือ GPS มาใช้ในการควบคุมตรวจสอบ ของผู้เขียน)

2. จัดทำประวัติผู้ประจำรถ

การจัดทำประวัติผู้ประจำรถและผู้ขับรถ เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญมากเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะยินยอมหรือใช้ให้ผู้นั้นทำหน้าที่ขับรถโดยสารประจำทางในเส้นทาง ไม่ว่าผู้ประจำรถนั้นจะเป็นผู้ขับรถของผู้ประกอบการหรือของเจ้าของรถร่วมก็ตาม เพราะผู้ประจำรถถือว่าเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการ การกระทำใด ๆ ของผู้ประจำรถต่อผู้ใช้บริการไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะใดก็ตาม ก็จะเป็นการสะท้อนภาพการบริการของผู้ประกอบการนั้น

การที่ผู้ที่เป็นเจ้าของรถจะมอบหมายหรือไว้วางใจให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำหน้าที่ขับรถโดยสารของตนไปรับส่งผู้โดยสารในเส้นทาง จึงมิได้หมายถึงการมอบหมายให้ผู้นั้นนำรถโดยสารไปขับรับส่งผู้โดยสารเท่านั้น หากแต่ยังหมายรวมถึง การมอบหมายให้ผู้ขับรถคนนั้นเป็นผู้ดูแลรักษารถโดยสารคันนั้นแทนตนด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้จะต้องมีการคัดเลือกเพื่อให้ได้ผู้ขับรถที่มีคุณสมบัติความสามารถและไว้วางใจได้มากที่สุด มาทำหน้าที่ขับรถและรักษารถโดยสารของตนเพื่อที่จะได้ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

กฎหมายการขนส่งทางบกมิได้กำหนดไว้ว่า รถโดยสารที่ผู้ประกอบการนำมาใช้ทำการรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ประกอบการเพียงผู้เดียว จึงทำให้ผู้ประกอบการมีสิทธิที่จะยินยอมหรือไม่ยินยอมให้บุคคลอื่นนำรถมาเข้าร่วมเดินรถรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางกับตน และเมื่อได้ยินยอมรับรถของบุคคลอื่นให้เข้าร่วมเดินรถโดยสารในเส้นทางกับตนได้แล้ว กฎหมายการขนส่งทางบกยังได้กำหนดให้ผู้ประกอบการนั้นเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและใช้รถโดยสารคันนั้นได้แต่เพียงผู้เดียว แม้ว่ารถคันนั้นจะเป็นของเจ้าของรถร่วมก็ตาม ดังที่ปรากฏในหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก จะมีรายการแสดงสถานะให้ผู้ประกอบการเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและใช้รถไว้ ส่วนเจ้าของรถร่วมมีสถานะเป็นเพียงเจ้าของหรือผู้ถือกรรมสิทธิ์รถเท่านั้น ซึ่งหากผู้ขับรถโดยสารประจำทางในเส้นทางไม่ว่าจะเป็นรถของผู้ใดก็ตาม ได้กระทำผิดฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายการขนส่งทางบก ผู้ประกอบการก็ต้องมีความรับผิดในความผิดที่ผู้ขับรถได้ก่อขึ้นนั้นด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้กฎหมายการขนส่งทางบก จึงกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางมีหน้าที่จะต้องจัดทำประวัติผู้ประจำรถในเส้นทางทุกคัน เพื่อให้รู้ว่า รถโดยสารในเส้นทางคันใดใครทำหน้าที่อะไร ใครทำหน้าที่ขับรถ มีคุณสมบัติและความสามารถอย่างไร

ขั้นตอนการจัดทำประวัติผู้ประจำรถ ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ การตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถ และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง พ.ศ.2560 ในข้อ 6 ดังนี้

1. จัดทำประวัติผู้ประจำรถทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่กับตน

การทำประวัติผู้ประจำรถนี้ ผู้ประกอบการจะใช้แบบใบสมัครงานที่สถานประกอบการต่าง ๆ ใช้หรือออกแบบขึ้นเองก็ได้ และควรมีเอกสารประกอบใบสมัครหรือจะเรียกว่าใบประวัติ เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนทางกฎหมายของผู้ประจำรถนั้น ได้แก่ สำเนาใบอนุญาตผู้ประจำรถ ได้แก่ ใบขับขี่ ใบอนุญาตนายตรวจ ใบอนุญาตพนักงานเก็บค่าโดยสาร เป็นต้น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น

2. แจ้งข้อมูลผู้ประจำรถให้นายทะเบียนที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ทราบภายใน 15 วัน นับจากวันที่ผู้ประจำรถปฏิบัติหน้าที่กับผู้ประกอบการ ตามแบบที่กำหนดในประกาศกรมการขนส่งทางบก พ.ศ.2560 (แบบใบประวัติตามข้อนี้ เป็นเอกสารตามกฎหมายที่ผู้ประกอบการจะต้องทำส่งแก่นายทะเบียน ซึ่งต่างกับใบประวัติหรือใบสมัครตามข้อ 1 ข้างต้น ซึ่งผู้ประกอบการจะจัดทำหรือใช้รูปแบบใดก็ได้)

3. หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้ประจำรถคนใด ผู้ประกอบการก็ต้องแจ้งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อมูลประวัติผู้ประจำรถนั้น ให้นายทะเบียนทราบภายใน 15 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้ประจำรถนี้ใช้แบบเดียวกันกับที่ใช้แจ้งข้อมูล ตามข้อ 2)

4. ผู้ประกอบการต้องเก็บข้อมูลประวัติผู้ประจำรถ(ที่จัดทำตามข้อ 1)ที่พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่กับตนไว้ ณ ที่ทำการหรือสำนักงานของตนเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับจากวันที่ผู้ประจำรถนั้นพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่

5. ผู้ประกอบการจัดทำข้อมูลของผู้ประจำรถ ได้แก่ รูปภาพของผู้ประจำรถ ชื่อ-นามสกุล เลขที่ใบอนุญาต หมายเลขทะเบียนรถ และหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเป็น โดยติดประกาศไว้บนรถในบริเวณที่ผู้ใช้บริการสามารถมองเห็นได้ชัดเจนในตัวรถ ตามแบบใบข้อมูลผู้ประจำรถที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ.2558 ข้อ 3 (4)

6. กำหนดมาตรการในการควบคุมตรวจสอบให้ผู้ประจำรถ เป็นบุคคลคนเดียวกับที่ปรากฏในใบข้อมูลผู้ประจำรถ และมีมาตรการลงโทษหากมีการฝ่าฝืน

(ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากชุดความรู้ เรื่อง หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง เกี่ยวกับการคัดกรองและทำประวัติผู้ขับรถ และใบข้อมูลผู้ประจำรถ ของผู้เขียน)

3. ตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถโดยสารประจำทางในเส้นทางและบันทึกการตรวจสอบ

หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางในการตรวจสภาพและความพร้อมของรถโดยสารในเส้นทางและบันทึกการตรวจสอบนี้ เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งมีบัญญัติขึ้น เพื่อให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางในการตรวจสภาพและเตรียมความพร้อมของรถโดยสาร ซึ่งบทบัญญัติตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องมิได้มีการบัญญัติหน้าที่ของผู้ประกอบการนี้ไว้แต่อย่างใด จึงเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการไม่ตรวจสภาพและความพร้อมของรถโดยสารก่อนใช้ทำการวิ่งรับส่งผู้โดยสารไม่ว่าจะเป็นรถของตนเองและหรือรถร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนอันเนื่องมาจากความชำรุดบกพร่องของรถ และเป็นเหตุให้ผู้โดยสารและผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

การกำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการในการตรวจสภาพและความพร้อมของรถโดยสารประจำทางในเส้นทางและบันทึกการตรวจสอบนี้ จึงมีเหตุผลเพื่อให้ผู้ประกอบการทำการตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถก่อนออกวิ่งให้บริการเที่ยวแรก และก่อนให้บริการแต่ละเที่ยว เพื่อให้รถโดยสารประจำทางทุกคันในเส้นทางมีความพร้อมและสามารถใช้ทำการขนส่งผู้โดยสารได้อย่างปลอดภัยสูงสุด

ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ การตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถ และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง พ.ศ.2560 ข้อ 7 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการเกี่ยวกับการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถโดยสารประจำทาง ไว้ดังนี้

“ข้อ 7 ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องทำการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถทุกครั้งก่อนทำการขนส่ง และบันทึกข้อมูลรายการตรวจสอบให้ครบถ้วนและเก็บไว้ประจำรถทุกคัน

(2) จัดเก็บข้อมูลการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถไว้ ณ ที่ทำการหรือหรือสำนักงานของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งนั้นเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

แบบการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามแบบแนบท้ายประกาศนี้

โดยนัยของประกาศกรมการขนส่งทางบกนี้ ผู้ประกอบการจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถโดยสารประจำทางในเส้นทางทุกคันก่อนนำออกวิ่งรับส่งผู้โดยสาร ตามแบบที่ประกาศกรมการขนส่งทางบกนี้กำหนด ในระบบต่าง ๆ ต่อไปนี้ 1)เครื่องยนต์(เครื่องกำเนิดพลังงาน) 2)มาตรวัด 3)ตัวถังรถ 4)ตัวถังด้านหน้า 5)ตัวถังด้านหลัง 6)ที่นั่ง อุปกรณ์ความปลอดภัย 7)ระบบไฟภายใน ระบบแอร์ (ถ้ามี) 8)ยาง 9)กระจกและหน้าต่าง 10ห้องน้ำ (ถ้ามี)

สำหรับขั้นตอนและวิธีการในการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของผู้ประจำรถ มีดังนี้

1. จัดทำแบบการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถ ตามประกาศของกรมการขนส่งทางบกให้พอเพียงแก่การใช้งาน

2. กำหนดตัวบุคคลสำหรับทำหน้าที่ตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถโดยสารประจำทางในเส้นทาง โดยควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการตรวจสอบสภาพรถได้อย่างถูกต้อง หรือโดยผู้ประกอบการทำหน้าที่ตรวจสภาพความพร้อมของรถโดยสารด้วยตนเอง

3. ควบคุมตรวจสอบให้ผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบ ทำการตรวจสอบสภาพรถโดยสารประจำทางทุกคันก่อนใช้ทำการขนส่งรับผู้โดยสารเที่ยวแรก และการบันทึกรายการที่ตรวจสอบอย่างถูกต้องและครบถ้วนตามแบบที่กำหนด รวมถึงการลงลายมือชื่อผู้ขับรถและผู้ตรวจสอบในช่องรายการที่กำหนด

4. กำหนดแผนการหรือมาตรการรองรับ สำหรับกรณีที่ผลการตรวจสอบสภาพรถพบว่า รถโดยสารคันนั้นมีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้น เช่น ให้หยุดพักรถเพื่อซ่อมแซม เปลี่ยนเป็นรถโดยสารคันอื่น หรือให้วิ่งรับส่งผู้โดยสารไปก่อน เป็นต้น รวมถึงขั้นตอนการรายงานให้ผู้ประกอบการทราบเพื่อตัดสินใจ

5. แบบการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถ ที่ผู้ตรวจสอบได้บันทึกผลการตรวจสอบสภาพรถเรียบร้อยแล้ว ให้เก็บไว้กับรถโดยสารคันนั้นตลอดวันที่ทำการขนส่งรับผู้โดยสาร และเมื่อหมดวันทำการแล้ว ให้เก็บแบบการตรวจสอบสภาพรถคันนั้นไว้ ณ ที่ทำการหรือสำนักงานของผู้ประกอบการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

(ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากชุดความรู้ เรื่อง หน้าที่ของผู้ประกอบการในการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถโดยสารประจำทาง ของผู้เขียน)

4. ตรวจสอบสภาพและความพร้อมของผู้ขับรถโดยสารในเส้นทางและบันทึกการตรวจสอบ

ในการบริหารจัดการกิจการรถโดยสารประจำทาง จะพบว่า “ขีดความสามารถ” (Competency) ขององค์กรผู้ประกอบการ เป็นเรื่องที่สำคัญและมีความจำเป็นมาก เพราะเป็นคุณลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่ในองค์กร ซึ่งขีดความสามารถนี้ถือเป็นคุณสมบัติร่วมของทุกคนที่จะมีส่วนช่วยให้การจัดการเดินรถโดยสารประจำทางเป็นไปตามที่กฎหมายการขนส่งทางบกและตามที่ผู้ประกอบการกำหนด จะเห็นได้ว่า ผู้ประจำรถเป็นผู้ทำหน้าที่แทนผู้ประกอบการ หรืออาจกล่าวว่า ผู้ประจำรถ ได้แก่ ผู้ขับรถ พนักงานบริการ พนักงานเก็บค่าโดยสารและนายตรวจ เป็นพนักงานต้อนรับส่วนหน้าของผู้ประกอบการ ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการมากกว่าตัวผู้บริหารของผู้ประกอบการหรือพนักงานอื่นใดของผู้ประกอบการ ดังนั้น ผู้ขับรถและหรือผู้ประจำรถ จึงต้องทำหน้าที่เสมือนเป็นผู้ประกอบการที่สามารถสะท้อนภาพของการขับรถที่ปลอดภัยและการบริการที่ดีไปสู่ผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

การตรวจสอบสภาพและความพร้อมของผู้ขับรถโดยสารในเส้นทาง จึงเป็นการตรวจสอบความพร้อมและขีดความสามารถของผู้ประจำรถหรือผู้ขับรถ ว่า ในวันที่จะทำหน้าที่นั้น มีความพร้อมและขีดความสามารถในการทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยหรือไม่อย่างไร

ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ การตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถ และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง พ.ศ.2560 ข้อ 7 ได้กำหนดให้การตรวจสอบสภาพและความพร้อมของผู้ขับรถ ตามแบบที่กำหนดในท้ายประกาศ ไว้เพียง 3ประการ กล่าวคือ 1) การตรวจใบอนุญาตขับรถ 2) การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ และ 3) ตรวจสอบการแต่งกาย

ขั้นตอนและวิธีการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของผู้ขับรถโดยสารในเส้นทาง มีดังนี้

1. ควบคุมตรวจสอบ ให้มีการตรวจสอบ

1) การตรวจใบอนุญาตขับรถ

ผู้ขับรถ ที่มีสิทธิขับรถโดยสารประจำทางได้ จะต้องมีใบอนุญาตขับรถทุกประเภท ตามกฎหมายการขนส่งทางบก ชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3 หรือชนิดที่ 4 แล้วแต่ลักษณะของรถ เท่านั้น

ผู้ประกอบการจะต้องควบคุมตรวจสอบให้ผู้ขับรถ ที่ได้ทำประวัติไว้กับตนและมีใบอนุญาตขับรถถูกต้องตรงตามชนิดและประเภทกับรถเป็นผู้ขับรถโดยสารในเส้นทางเท่านั้น ถ้าไม่มีใบอนุญาตขับรถก็ไม่สามารถอนุญาตให้ขับรถได้ เพราะก่อนออกรถ ผู้ขับรถจะต้องแสดงตนโดยการรูดแถบแม่เหล็กของใบอนุญาตขับรถกับเครื่องรูดบัตรที่ติดไว้กับรถก่อนทุกครั้ง

2) การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในลมหายใจ

ผู้ประกอบการจะต้องควบคุมตรวจสอบ มิให้ผู้ขับรถมีแอลกอฮอล์ในลมหายใจโดยเด็ดขาด เพราะเป็นกรณีที่กฎหมายการขนส่งทางบกห้ามไว้เด็ดขาด สำหรับการตรวจที่ได้ผลสมบูรณ์และถูกต้อง ก็โดยการตรวจสอบโดยใช้เครื่องมือตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ หรือใช้วิธีการอย่างง่าย คือ การดมกลิ่นแอลกอฮอล์จากผู้ขับรถ แต่ก็มีความผิดพลาดสูง

3) ตรวจสอบการแต่งกาย

กฎหมายการขนส่งทางบกได้กำหนดแบบเครื่องแต่งกายของผู้ประจำรถ ไว้ดังนี้

1) เสื้อที่จะสวมให้ใช้แบบใดแบบหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(ก) เสื้อเชิ้ตคอพับ แขนยาวหรือแขนสั้น การสวมเสื้อให้สอดชายล่างของเสื้ออยู่ภายในกางเกงหรือกระโปรง

(ข) เสื้อคอแบะปล่อยเอว แขนสั้น

2) กางเกงขายาวหรือกระโปรงแบบสุภาพ

3) รองเท้าหุ้มส้นหรือหุ้มข้อ

ผู้ประกอบการอาจกำหนดแบบของเครื่องแต่งกายของผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถ ให้แตกต่างไปจากแบบที่กฎหมายได้ แต่ต้องเป็นแบบที่สุภาพ เรียบร้อย และเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ โดยต้องแจ้งแบบของเครื่องแต่งกายนั้นให้กรมการขนส่งทางบกทราบ

2. ควบคุมตรวจสอบให้มีการบันทึกการตรวจสอบ ตามข้อ 1. ในแบบบันทึกการตรวจสอบให้ถูกต้องเรียบร้อยตามรายการที่กำหนด

3. ควบคุมตรวจสอบให้ ผู้ขับรถและผู้ตรวจสอบ ลงลายมือชื่อในแบบบันทึกการตรวจสอบให้เรียบร้อยถูกต้อง

4. กำหนดแผนหรือขั้นตอนการปฏิบัติ หากเกิดกรณีผลการตรวจสอบปรากฏว่า ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถที่ถูกต้อง ผู้ขับรถมีแอลกอฮอล์ในลมหายใจ และหรือ ผู้ขับรถแต่งกายไม่ถูกต้อง

5) แบบการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของผู้ขับรถ ที่ผู้ตรวจสอบได้บันทึกผลการตรวจสอบสภาพเรียบร้อยแล้ว ให้เก็บไว้กับรถโดยสารคันนั้นตลอดวันที่ทำการขนส่งรับผู้โดยสาร และเมื่อหมดวันทำการแล้ว ให้เก็บแบบการตรวจสอบสภาพนั้นนั้นไว้ ณ ที่ทำการหรือสำนักงานของผู้ประกอบการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

(ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากชุดความรู้ เรื่อง หน้าที่ของผู้ประกอบการในการตรวจสอบสภาพและความพร้อมของผู้ขับรถ ของผู้เขียน)

5. จัดทำรายงานการขนส่งต่อกรมการขนส่งทางบก

การจัดทำรายงานการขนส่ง มีกำหนดไว้ในบทบัญญัติมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ต่อมาแม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ก็ยังคงกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางมีหน้าที่ในการรายงานการขนส่งต่อกรมการขนส่งทางบกอยู่ตามเดิม

เกี่ยวกับรายงานการขนส่งนี้ ได้มีกฎกระทรวงการกำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งที่ต้องจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ รายงานการขนส่งและรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง พ.ศ.2559 ซึ่งออกตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ใช้บังคับอยู่ กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งต้องจัดทำรายงานการขนส่ง ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ กล่าวคือ 1)ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง 2)รถที่ใช้ในกระกอบการขนส่ง 3)ผู้ประจำรถ 4)จำนวนผู้โดยสาร 5)เส้นทางพร้อมทั้งสถานที่หยุดและจอดรถ และ 6)จำนวนเที่ยว โดยผู้ประกอบการต้องส่งรายงานต่อกรมการขนส่งทางบกทราบทุกสามเดือน

ต่อมา กรมการขนส่งทางบกได้มีประกาศ เรื่อง กำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ การตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถ และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง พ.ศ.2560 ขึ้นใช้บังคับแล้ว ซึ่งประกาศของกรมการขนส่งทางบกฉบับนี้ ส่งผลให้เป็นการยกเลิกกฎกระทรวงดังที่กล่าวข้างต้น แต่เนื้อความตามประกาศของกรมการขนส่งทางบกฉบับนี้ มิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับรายงานการขนส่ง จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการจะต้องรอให้กรมการขนส่งทางบก มีประกาศเรื่องรายงานการขนส่ง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 ขึ้นบังคับใช้ก่อน จึงจะดำเนินการได้

รายงานการขนส่ง ถือว่า เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบการจัดเดินรถของผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้ทราบว่า ในทุกวัน ผู้ประกอบการได้จัดการเดินรถโดยสารในเส้นทางถูกต้องตามเงื่อนไขจำนวนเที่ยว จำนวนรถ เวลาเดินรถ และเส้นทางเดินรถ หรือไม่อย่างไร และการที่จะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลการจัดเดินรถของแต่ละวันนี้ ก็ได้มาจากข้อมูลที่ปรากฏในสมุดประจำรถโดยสารในเส้นทางทุกคันที่ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำและจัดให้มี

6. จัดทำรายงานการเกิดอุบัติเหตุต่อกรมการขนส่งทางบก

ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดประเภทผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง และหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจัดให้มีสมุดประจำรถ ประวัติผู้ประจำรถ การตรวจสอบสภาพและความพร้อมของรถและผู้ขับรถ และรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่ง พ.ศ.2560 ข้อ 8 ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับการรายงานการเกิดอุบัติ ไว้ดังนี้

1) ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง จะต้องจัดทำรายงานการเกิดอุบัติเหตุให้นายทะเบียนที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งทราบ ภายใน 7 วัน นับจากวันที่เกิดเหตุ

2) อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและต้องรายงานต่อนายทะเบียน เฉพาะกรณี ดังนี้

1) มีผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสารบนรถหรือผู้อื่นก็ตาม

2) มีผู้บาดเจ็บสาหัส หมายถึง การรักษาพยาบาลเกิน 21 วัน ติดต่อกัน ซึ่งต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของแพทย์ที่ทำการรักษา

3) ความเสียหายของทรัพย์สิน มีมูลค่ารวมกันตั้งแต่ 300,000 บาท ขึ้นไป ความเสียหายของทรัพย์สินนี้ หมายถึง มูลค่าของตัวทรัพย์ที่เป็นวัตถุสิ่งของเท่านั้น เช่น รถยนต์ ส่วนควบต่าง ๆ เป็นต้น ไม่หมายรวมถึงค่าขาดประโยชน์ เช่น เงินทดแทน เงินชดเชย เป็นต้น

3) การจัดทำรายงานอุบัติเหตุให้เป็นไปตามแบบที่กำหนดไว้ท้ายประกาศกรมการขนส่งทางบก ซึ่งมีทั้งหมด 9 รายการ ได้แก่

1) ชื่อ และข้อมูลของผู้ประกอบการและการประกอบการ

2) ข้อมูลของผู้ขับรถของผู้ประกอบการ

3) ข้อมูลรถของผู้ประกอบการที่เกิดอุบัติเหตุ

4) วันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ

5) ลักษณะของทางบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ เช่น ทางโค้ง ทางกลับรถ ผิวทางต่างระดับ เป็นต้น

6) ทัศนวิสัยและสิ่งแวดล้อม เช่น มีหมอกควัน ฝนตก เป็นต้น

7) ลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ชนท้าย ตกถนน เป็นต้น

8) สาเหตุหรือข้อสันนิษฐาน หมายถึง เกิดขึ้นจากฝ่ายใด หรืออะไรเป็นต้นเหตุให้เกิด

9) ผลที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ เช่น จำนวนผู้เสียชีวิต รายการทรัพย์สินเสียหาย เป็นต้น

ขั้นตอนและวิธีการจัดทำรายงานอุบัติที่เกิดจากการขนส่ง มีดังนี้

1. ผู้ประกอบการ กำหนดมาตรการหรือขั้นตอนการรายงานอุบัติเหตุ เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของผู้ประจำรถหรือผู้เกี่ยวข้อง ในการรายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทุกครั้งให้ผู้ประกอบการทราบอย่างเร่งด่วน

2. กำหนดบุคคลผู้มีหน้าที่ทำการตรวจสอบอุบัติเหตุ และอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการตรวจสอบ เช่น สายวัด กล้องถ่ายรูป เป็นต้น

3. ควบคุมตรวจสอบให้ผู้รายงาน ทำการบันทึกข้อความและรายละเอียดอย่างครบถ้วนถูกต้องในแบบรายงานอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งตามประกาศของกรมการขนส่งทางบกทุกครั้ง

4. เมื่อผู้ประกอบการได้รับรายงานแล้ว ต้องตรวจสอบและสอบถามข้อสงสัยจากผู้ตรวจสอบและผู้ประจำรถของตน เพื่อให้ความชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัย

5. ถ้าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเข้าเงื่อนไขการรายงาน ผู้ประกอบการต้องจัดส่งรายงานอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการขนส่งนั้นแก่นายทะเบียนที่ออกใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ภายใน 7 วัน นับจากวันที่เกิดเหตุ

6. ผู้ประกอบการต้องนำข้อมูลที่ได้จากรายงานการเกิดอุบัติเหตุมาวิเคราะห์วางแผนและกำหนดมาตรการเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุในลักษณะเดียวกันขึ้นซ้ำอีก

7. ควบคุมและตรวจสอบการใช้ความเร็วของผู้ขับรถไม่ให้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

ข้อกำหนดการใช้ความเร็ว เป็นมาตรการหนึ่งของการควบคุมพฤติกรรมการขับรถของผู้ขับรถ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ขับรถ ขับรถโดยใช้ความเร็วเกินกว่าระดับของความปลอดภัยที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความเร็วในเขตเมืองหรือเขตนอกเมือง เว้นแต่ถนนในบางช่วงที่เป็นจุดอันตราย ก็มีป้ายเตือนบอกระดับของการใช้ความเร็วไว้ข้างทาง ก็ต้องถือว่า อัตราความเร็วที่กำหนดไว้ตามป้ายเตือนนั้น เป็นระดับการใช้ความเร็วของรถโดยสารประจำทางที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย

การควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ขับรถโดยสารในเส้นทางใช้ความเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่สำคัญและจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพราะจะทำให้การขับรถมีความปลอดภัย เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน เพราะผู้ใช้บริการจะให้ความสำคัญแก่ความปลอดภัยเป็นอันดับแรก และส่งผลต่อความเชื่อมั่นใช้บริการในครั้งต่อ ๆ ไป

กฎหมายการขนส่งทางบกที่เกี่ยวกับการใช้ความเร็วในการขับรถของผู้ขับรถ ประกอบด้วย

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 111 บัญญัติว่า ให้นำบัญญัติทั้งหลายในกฎหมายรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ขับรถ ผู้เก็บค่าโดยสารและนายตรวจมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยนัยแห่งมาตรา 111 นี้ เป็นผลให้ ผู้ขับรถโดยสารประจำทางต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ ตามข้อกำหนดของกฎหมายจราจรทางบกทั้งสิ้น

พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 36 บัญญัติว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งต้องจัดให้มีอุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และต่อมากระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงความปลอดภัยในการขนส่ง พ.ศ.2558 โดยอาศัยความในมาตรา 36 กำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่ง ด้วยการ ควบคุม กำกับ ดูแลให้ผู้ขับรถต้องขับรถด้วยอัตราความเร็วไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ต่อมา คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 11/2555 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 ได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรฐานบริการในการประกอบการขนส่งตามมาตรา 31 (10) แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ต้องติดตั้งระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) ในรถที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง และรายงานข้อมูลตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดให้รถโดยสารประจำทางทุกประเภทติดตั้งระบบ GPS แล้ว ยกเว้นรถโดยสารประจำทางที่เป็นรถโดยสารสองแถวเท่านั้น

โดยนัยนี้ ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางจึงมีหน้าที่ที่จะต้องควบคุมและกำกับดูแลผู้ขับรถโดยสารในเส้นทาง ให้ขับรถด้วยอัตราความเร็วไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยใช้ระบบ GPS เป็นเครื่องมือในการควบคุมและตรวจสอบ

ขั้นตอนและวิธีการควบคุมตรวจสอบผู้ขับรถมิให้ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด มีดังนี้

1. ผู้ประกอบการกำหนดมาตรการ การตรวจสอบการขับรถด้วยระบบ GPS หรือด้วยวิธีการอื่น ๆและมาตรการจัดการข้อร้องเรียนและการตรวจสอบการขับรถเร็วหรือประมาทหวาดเสียว และกำหนดบทลงโทษผู้ขับรถที่ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้ขับรถและผู้เกี่ยวข้องให้ทราบและถือปฏิบัติ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบ

2. ผู้ประกอบการกำหนดบุคคลผู้มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้ความเร็วของผู้ขับรถ ด้วยระบบ GPS หรือด้วยวิธีการอื่น ๆ ตลอดเวลาที่ทำการขนส่งผู้โดยสาร

3. กำหนดช่องทางการติดต่อระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ประกอบการหลาย ๆ ช่องทาง และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบ เพื่อให้ผู้ใช้บริการใช้เป็นช่องทางในการแจ้งข้อมูลการขับรถที่เร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดของผู้ขับรถให้ผู้ประกอบการทราบ

4. ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างทันทีและรวดเร็ว เมื่อตรวจสอบด้วยระบบ GPS หรือระบบอื่น ๆ เมื่อพบว่ามีการขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือเมื่อมีผู้โดยสารร้องเรียนแจ้งให้ทราบ

5. ประเมินผลพฤติกรรมการขับรถของผู้ขับรถในเส้นทาง เพื่อวิเคราะห์หาความจำเป็นในการอบรมและปรับพฤติกรรมการขับรถให้ปลอดภัยตามกรอบของกฎหมาย

6. นำข้อมูลพฤติกรรมการขับรถในรอบ 1 ปี ประเมินผลการอนุญาตในขับรถในรอบปีต่อไป

(ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากชุดความรู้ เรื่อง มาตรการเพื่อความปลอดภัยในการจัดการเดินรถโดยสารประจำทาง ของผู้เขียน)

8. ควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ขับรถทำหน้าที่ขับรถเกินชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด

ผู้ขับรถ เป็นผู้ที่ต้องมีหน้าที่ในการควบคุมบังคับรถไปตามเส้นทาง ซึ่งรถจะไปถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่ จะเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางขึ้นหรือไม่ ก็ย่อมขึ้นอยู่กับการควบคุมและบังคับรถหรือที่เรียกว่า "ขีดความสามารถในการขับรถ" ของผู้ขับรถนั้น ว่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานและหลักของความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด หากผู้ขับรถขับรถในขณะที่สภาพร่างกายและจิตใจมีความสมบูรณ์ สมองและประสาทไม่มีความอ่อนล้า ก็จะทำให้การคิดเป็นไปอย่างรวดเร็วถูกต้องส่งผลให้การตัดสินใจขับรถเป็นไปอย่างรอบคอบบนพื้นฐานของความปลอดภัย แต่เนื่องจากประสาทและสมองของคนหากใช้งานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานก็จะมีการอ่อนล้าและเพลีย ซึ่งจะส่งผลต่อความคิดและการตัดสินใจในการขับรถให้ช้าลงไปหรือเลอะเลือน ซึ่งต่างจากเครื่องยนต์ของรถที่สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องหยุดพัก ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่ผู้ขับรถได้ขับรถไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง ระบบประสาทและสมองจึงเกิดอาการล้าและอ่อนเพลีย จึงจำเป็นต้องหยุดพักชั่วระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ระบบประสาทและสมองได้รับการพักและสามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มที่มีประสิทธิภาพตามเดิม ซึ่งหากปล่อยให้ผู้ขับรถทำหน้าที่ขับรถเกินกว่าเวลาที่เหมาะสม ก็อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนขึ้นได้

จากเหตุผลดังกล่าว พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 จึงได้อ้างอิงชั่วโมงการทำงานตามกฎหมายแรงงานออกเป็นบทบัญญัติ มาตรา 103 ทวิ เพื่อควบคุมชั่วโมงการขับรถของผู้ขับรถโดยสารโดยมิให้ผู้ขับรถโดยสารทำหน้าที่ขับรถเกินกว่า 4 ชั่วโมงติดต่อกันนับแต่เริ่มทำหน้าที่ขับรถ แต่ถ้าระหว่างนั้นหรือก่อนครบ 4 ชั่วโมง ผู้ขับรถได้หยุดพักการขับรถเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงติดต่อกัน ก็ให้ทำหน้าที่ขับรถต่อไปได้อีกไม่เกิน 4 ชั่วโมงติดต่อกัน ผู้ขับรถที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 103 ทวิ จะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 127 ปรับไม่เกิน 5,000 บาท

แต่เนื่องจากมาตรา 103 ทวิ เป็นบทบัญญัติที่มีผลบังคับแก่ผู้ขับรถ มิได้มีผลบังคับถึงผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางด้วย ด้วยเหตุนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งที่ 15/2560 ข้อ 1 ประกอบด้วยข้อ 2 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางจะต้องตรวจสอบสภาพและความพร้อมของผู้ขับรถโดยสารในเส้นทางมิให้ขับรถเกินชั่วโมงการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด คือ ตามบทบัญญัติในมาตรา 103 ทวิ ดังที่กล่าวข้างต้น

ซึ่งหากผู้ประกอบการ ไม่ควบคุมตรวจสอบสภาพและความพร้อมของผู้ขับรถ ปล่อยให้ผู้ขับรถทำหน้าที่ขับรถเกิน 4 ชั่วโมง โดยไม่ได้หยุดพัก ก็จะถือว่าผู้ประกอบการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 35 มีโทษปรับตามมาตรา 131 ปรับไม่เกิน 50,000 บาท และหากการฝ่าฝืนหรือไม่ควบคุมตรวจสอบจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ผู้ประกอบการนอกจากจะต้องถูกลงโทษตามมาตรา 131 แล้ว ยังจะต้องถูกลงโทษตามคำสั่ง คสช. ที่ 15/2560 ข้อ 2 ด้วยการถูกนายทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนรถโดยสารหรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน และอาจต้องถูกลงโทษตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 46 หากทำให้ประชาชนต้องเสื่อมประโยชน์ ตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก ในการประชุมครั้งที่ 12/2558 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558

เอกสารหรือหลักฐานสำหรับการตรวจสอบชั่วโมงการทำงานของผู้ขับรถ คือ สมุดประจำรถ ที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องจัดทำและจัดให้มีสมุดประจำรถไว้กับรถโดยสารทุกคันในเส้นทางตลอดเวลาที่ทำการขนส่งผู้โดยสาร

ขั้นตอนและวิธีการควบคุมตรวจสอบมิให้ผู้ขับรถทำหน้าที่ขับรถเกินชั่วโมงตามที่กฎหมายกำหนด มีดังนี้

1. กำหนดขั้นตอน ช่วงเวลาและตัวบุคคลที่มีหน้าที่ สำหรับตรวจสอบเวลาปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขับรถจากสมุดประจำรถและการรายงานผลการตรวจประจำวัน รวมถึงกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติหากผู้ขับรถทำหน้าที่ขับรถเกินกว่าสี่ชั่วโมงและยังมิได้หยุดพัก

2. กำหนดให้ผู้ขับรถกรอกข้อความและลงเวลาในสมุดประจำรถ ตั้งแต่เวลาที่นำรถออกจากสถานที่เก็บรถไปยังท่ารถหรือสถานีขนส่งผู้โดยสารทุกครั้ง

3. จัดให้มีสถานที่สำหรับใช้เป็นที่พักผ่อนของผู้ขับรถ พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ในบริเวณท่ารถหรือสถานีขนส่งผู้โดยสาร และกำกับดูแลให้ผู้ขับรถได้พักผ่อนจริง ๆ

4. จัดทำข้อมูลการทำหน้าที่ขับรถของผู้ขับรถเป็นรายชั่วโมงต่อวันจากสมุดประจำรถ เพื่อนำไปใช้วิเคราะห์และวางแผนกำหนดช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่ขับรถของผู้ขับรถต่อไป

9. ควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ขับรถขับรถโดยประมาท

การขับรถโดยประมาท หมายถึง การขับรถที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ให้เพียงพอ ดังเช่นการขับรถของบุคคลอื่นโดยทั่วไปที่ปฏิบัติกัน เช่น ขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดง ขับรถย้อนศร ขับรถเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน ขับรถชิดคันหน้าเกินสมควร เป็นต้น การกระทำที่เป็นการขับรถโดยประมาท ก็คือ การขับรถที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งมีทั้งเรื่องให้ผู้ขับรถปฏิบัติและห้ามมิให้ปฏิบัติหลายลักษณะหลายประการ

กฎหมายจราจรทั้งที่เป็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามต่าง ๆ เป็นกฎแห่งความปลอดภัย ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้ขับรถทุกคนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดความไม่ปลอดภัยหรืออุบัติเหตุจากการใช้ถนน และหน้าที่ในการทำให้เกิดความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสารก็เป็นหน้าที่หลักของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางและผู้ขับรถร่วมกัน แต่เนื่องจากรถโดยสารในเส้นทางมีหลายคัน และผู้ประกอบการก็ไม่สามารถขึ้นไปกับรถโดยสารทุกคันได้ในเวลาเดียวกัน ผู้ประกอบการจึงต้องมีเครื่องมือสำหรับใช้ในการควบคุมตรวจสอบการขับรถของผู้ขับรถโดยสารในเส้นทาง มิให้ขับรถโดยประมาทหรือต้องขับรถให้ปลอดภัยตลอดเวลา เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดการสูญเสียและเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการและบุคคลภายนอก รวมถึงรถที่ใช้ทำการขนส่งผู้โดยสารด้วย

ปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดให้รถโดยสารประจำทางบางลักษณะ ต้องติดตั้งระบบติดตามรถหรือระบบ GPS เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบอกความเร็วของรถ โดยระบบ GPS สามารถแสดงว่ารถโดยสารคั้นนั้นวิ่งอยู่ที่ใด จากทิศทางใดไปที่ใด ด้วยอัตราความเร็วเท่าใด เท่านั้น แต่ระบบ GPS ก็ยังไม่สามารถแสดงหรือบอกได้ว่า ผู้ขับรถขับรถเปลี่ยนช่องทางกะทันหันหรือไม่ ขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงหรือไม่ ขับรถย้อนศรหรือย้อนช่องทางเดินรถหรือไม่ ฯ ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางจึงต้องหาเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งที่เป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีและมาตรการทางกฎระเบียบของผู้ประกอบการ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ขับรถขับรถโดยประมาท เช่น การกำหนดมาตรการหรือระเบียบในการขับรถ การใช้กล้องหน้ารถ เป็นต้น

ในปัจจุบัน แม้ว่ากรมการขนส่งทางบกจะยังมิได้มีการประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางควบคุมตรวจสอบมิให้ผู้ขับรถขับรถโดยประมาท ดังเช่นประกาศในเรื่องอื่น ๆ ตามคำสั่งที่ 15/2560 แต่ก็เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่สำคัญของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ที่จะต้องดำเนินการด้วยประการทั้งปวงเพื่อให้ผู้ขับรถโดยสารในเส้นทาง ขับรถด้วยความไม่ประมาทมีความปลอดภัยตลอดการเดินทางทุกเที่ยว โดยไม่ต้องมีการกำหนดให้ทำหรือต้องมีประกาศบังคับจากกรมการขนส่งทางบกหรือภาครัฐ

ขั้นตอนและวิธีการควบคุมตรวจสอบผู้ขับรถมิให้ขับรถโดยประมาท มีดังนี้

1. กำหนดหลักสูตรฝึกอบรมผู้ขับรถที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ขับรถ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและเสริมทักษะขีดความสามารถในการขับรถที่ปลอดภัยของผู้ขับรถ รวมถึงนำกิจกรรมหรือมาตรการต่าง ๆ มาใช้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรับผิดชอบและสร้างจิตสำนัก เช่น กิจกรรม 5 ส. เป็นต้น

2. กำหนดมาตรการสำหรับการขับรถที่ปลอดภัยของผู้ขับรถในเส้นทาง นอกเหนือจากข้อกำหนดตามกฎหมายจราจรทางบก เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของผู้ขับรถ และมีบทลงโทษที่รุนแรงหากมีการฝ่าฝืน

3. กำหนดมาตรการสุ่มตรวจการขับรถในเส้นทางบริเวณต่าง ๆ เพื่อป้องปรามมิให้ผู้ขับรถ ขับรถโดยประมาท เช่น บริเวณทางแยก บริเวณที่มีการจราจรและผู้คนพลุกพล่าน เป็นต้น

4. กำหนดใช้เครื่องอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีสำหรับควบคุมพฤติกรรมการขับรถของผู้ขับรถ เช่น กล้องติดหน้ารถชนิดบันทึกข้อมูลที่สามารถส่งสัญญาณภาพวีดีโอไปยังเครื่องรับของผู้ประกอบการได้ทันที เทคโนโลยีระบบ GPS เป็นต้น

5. กำหนดช่องทางติดต่อระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ใช้บริการ เช่น ไลน์ อีเมลล์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถแจ้งพฤติกรรมการขับรถมายังผู้ประกอบการได้ทันที เพื่อผู้ประกอบการจะได้ทราบและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ด้วยการแจ้งไปยังผู้ขับรถให้หยุดการขับรถที่ประมาทนั้นในทันที

10. ควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ประจำรถนำรถโดยสารไปใช้ในการกระทำความผิดกฎหมายใด ๆ

เมื่อผู้ขับรถได้ขับรถออกจากท่ารถหรือสถานีและได้พ้นจากสายตาของผู้ประกอบการไปแล้ว ผู้ขับรถจะนำรถไปใช้อย่างไรหรือไปที่ไหน ผู้ประกอบการจะไม่มีทางทราบและรับรู้ได้เลย โดยเฉพาะรถโดยสารคันที่เป็นรถร่วม ทางฝ่ายเจ้าของรถร่วมมักจะอาศัยความเป็นเจ้าของรถนำรถไปใช้ในกิจการอย่างอื่นอย่างอิสระโดยไม่แจ้งขออนุญาตจากผู้ประกอบการก่อน ทั้งที่ตามกฎหมายการขนส่งทางบกแล้วสิทธิในการครอบครองและใช้รถโดยสารทุกคันในเส้นทางไม่ว่าจะเป็นรถร่วมหรือรถของผู้ใดก็ตาม เป็นสิทธิของผู้ประกอบการนั้นแต่เพียงผู้เดียว เจ้าของรถร่วมหาได้มีสิทธิเป็นผู้ครอบครองและใช้รถคันนั้นแต่อย่างใดไม่แม้ว่าจะเป็นรถของตนเองก็ตาม

ที่ผ่านมา การนำรถไปใช้ในกิจการอย่างอื่นหรือในการกระทำผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการมักจะปฏิเสธความรับผิดชอบโดยอ้างว่า ผู้ขับรถหรือฝ่ายเจ้าของรถนำรถไปใช้เองโดยตนเองมิได้อนุญาตหรือรู้เห็นเป็นใจให้ไปกระการดังกล่าวแต่อย่างใด การกล่าวอ้างในลักษณะนี้ ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการมิได้มีการควบคุมตรวจสอบการใช้รถโดยสารในเส้นทางแต่อย่างใด และอาจไม่ทราบด้วยว่ารถคันนั้นได้มาวิ่งรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางตามปกติทุกวันหรือไม่อย่างไร ซึ่งถือว่าผู้ประกอบการนั้นมิได้ทำหน้าที่เถป็นผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางตามกฎหมายการขนส่งทางบกอย่างแท้จริง เพราะผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางถือเป็นผู้ที่มีขีดความสามารถและมีความพร้อมในการเป็นผู้มีหน้าที่จัดการเดินรถโดยสารประจำทางตามคุณสมบัติที่กฎหมายการขนส่งทางบกต้องการทุกประการ

หน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบมิให้มีการนำรถไปใช้กระทำความผิดต่อกฎหมายใด ๆ นี้ เป็นหน้าที่ที่ถูกกำหนดขึ้นใหม่ โดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ข้อ 2 (2) ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางต้องควบคุมตรวจสอบการใช้รถโดยสารในเส้นทางให้วิ่งรับส่งผู้โดยสารในเส้นทาง ไม่ปล่อยปละละเลยให้มีการนำรถโดยสารไปใช้ในกิจการอย่างอื่น โดยเฉพาะการนำไปเป็นยานพาหนะสำหรับกระทำความผิดตามกฎหมายต่างๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษี ความผิดเกี่ยวกับการปล้นทรัพย์ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางจึงต้องควบคุมและตรวจสอบการใช้รถโดยสารทุกคันในเส้นทางให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องรู้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงว่า รถโดยสารคั้นนั้นได้นำมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางหรือไม่ หรืออยู่ที่ใดและอย่างไร

ขั้นตอนและวิธีการในการควบคุมตรวจสอบมิให้ผู้ประจำรถนำรถโดยสารไปใช้ในการกระทำความผิดกฎหมายใด ๆ มีดังนี้

1. ผู้ประกอบการออกระเบียบ กำหนดให้เจ้าของรถโดยสารทุกคันในเส้นทางและผู้ขับรถ ต้องนำรถไปวิ่งรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางทุกวัน หากจะนำรถไปใช้ในกิจการอย่างอื่น ๆ จะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ประกอบการก่อนทุกครั้ง และมีบทกำหนดโทษหากมีการฝ่าฝืน

2. กำหนดให้มีนายท่า เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและลงเวลาเข้าออกท่ารถหรือสถานีจากสมุดประจำรถของรถคันนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการนำรถไปใช้ในกิจการอื่นโดยพลการหรือไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบการ

3. นำเทคโนโลยีระบบติดตามรถ หรือ GPS มาใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามเพื่อทราบตำแหน่งและทิศทางของรถโดยสารในเส้นทาง

11. ควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ประจำรถบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง

รายได้หลักของผู้ประกอบอาชีพขับรถโดยสารประจำทาง ก็คือ ค่าโดยสาร ที่ผู้ขับรถหรือผู้ประกอบการสามารถเรียกเก็บได้จากผู้ที่มาใช้บริการในอัตราที่คณะกรรมการกำหนด หากมีผู้โดยสารใช้บริการมาก ย่อมส่งผลให้มีรายได้จากค่าโดยสารมาก แต่ถ้ามีผู้โดยสารน้อยก็จะส่งผลให้มีรายได้น้อย ซึ่งทำให้เห็นว่า จำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละเที่ยวหรือในแต่ละวัน เป็นสัดส่วนโดยตรงที่ส่งผลต่อรายได้จากค่าโดยสารของผู้ขับรถและผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ด้วยเหตุนี้ ผู้ขับรถและผู้ประกอบการจึงมักทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามารถบรรทุกผู้โดยสารในแต่ละเที่ยวให้ได้มากที่สุด เพื่อจะได้มีรายได้และกำไรมาก ๆ เป็นเหตุให้มีการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนของรถที่ได้จดทะเบียนไว้ โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและขีดความสามารถของรถที่สามารถรองรับต่อจำนวนผู้โดยสารได้อย่างปลอดภัย

ด้วยเหตุนี้ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 31 (4) จึงให้อำนาจหน้าที่แก่ นายทะเบียนโดยอนุมัติของคณะกรรมการในการกำหนดจำนวนที่นั่ง เกณฑ์น้ำหนักบรรทุกและวิธีการบรรทุกไว้ในใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางทุกเส้นทาง โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องใช้รถโดยสารตามที่กำหนดให้เป็นรถสำหรับรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางเท่านั้น และต้องเป็นรถที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรง มีเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 71 และจะแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพเครื่องอุปกรณ์หรือส่วนควบของรถให้ผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 78 ซึ่งลักษณะของรถที่จะนำมาใช้เป็นรถโดยสารประจำทางในเส้นทาง จะต้องเป็นไปตามลักษณะของรถตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2524) ออกตามความในกระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ข้อ 10 ซึ่งกำหนดลักษณะของรถโดยสารไว้ 7 มาตรฐาน และกำหนดจำนวนที่นั่งของผู้โดยสารไว้ตามลักษณะของรถมาตรฐานนั้น ๆ ไว้ด้วย ซึ่งส่งผลให้ผู้ขับรถและผู้ประกอบการไม่สามารถบรรทุกผู้โดยสารให้มีจำนวนเกินกว่าจำนวนที่นั่งที่ได้จดทะเบียนรถคันนั้นไว้ได้ แม้ว่าจำนวนที่นั่งของรถตามมาตรฐานนั้นๆ จะกำหนดไว้เท่าใดก็ตาม ซึ่งหากผู้ขับรถหรือผู้ประกอบการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งตามที่ได้จดทะเบียนรถไว้ ก็จะเป็นความผิดตามกฎหมายการขนส่งทางบก เช่น จดทะเบียนรถไว้จำนวน 20ที่นั่ง ต่อมาได้เพิ่มเติมที่นั่งอีก 3 ที่ รวมเป็น 23 ที่นั่ง หรือกรณีมิได้มีการเพิ่มจำนวนที่นั่ง แต่รับผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งและให้ผู้โดยสารยืนบนรถ โดยที่รถคันนั้นจดทะเบียนเป็นรถไม่กำหนดที่สำรับผู้โดยสารยืน ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ ก็เป็นความผิดฐานบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง

เดิมความผิดฐานบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งนี้ ผู้ประกอบการมักจะพ้นจากความรับผิด โดยให้เหตุผลว่าผู้ขับรถหรือพนักงานขายตั๋วและหรือเจ้าของรถร่วมรับผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งเอง โดยผู้ประกอบการมิได้สั่งหรือรู้เห็นเป็นใจด้วย กรมการขนส่งทางบกจึงได้แต่ลงโทษเฉพาะคนขับรถ พนักงานจำหน่ายตั๋วและเจ้าของรถร่วมเท่านั้น โดยไม่สามารถลงโทษผู้ประกอบการได้ เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการไม่ต้องถูกลงโทษแม้ว่าจะได้มีส่วนร่วมหรือเป็นผู้สั่งการให้กระทำผิดดังกล่าว หรือในกรณีที่ผู้ประกอบการมิได้สั่งการหรือรู้เห็นเป็นใจ แต่ถ้ามีการกระทำผิดบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งเกิดขึ้น ก็ต้องถือว่าผู้ประกอบการมีส่วนผิดและต้องรับผิดชอบร่วมด้วย เพราะหากผู้ประกอบการมีการควบคุมตรวจสอบและเอาใจใส่ดูแลทำหน้าที่ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ก็จะไม่มีช่องทางให้ผู้ขับรถและผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ สามารถกระทำผิดได้ ด้วยเหตุนี้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงได้มีคำสั่งที่ 15/2560 นี้ กำหนดให้ลงโทษผู้ประกอบการหากว่าไม่ควบคุมกำกับดูแลผู้ขับรถหรือพนักงานเก็บค่าโดยสารทำให้มีการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง ซึ่งโดยผลของคำสั่งนี้ การควบคุมตรวจสอบมิให้มีการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโดยตรง

ขั้นตอนและวิธีการควบคุมตรวจสอบมิให้ผู้ประจำรถบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง มีดังนี้

1. กำหนดมาตรการควบคุมตรวจสอบโดยใช้คนหรือเทคโนโลยี และบทลงโทษหากมีการฝ่าฝืน เช่น การสุ่มตรวจ การใช้กล้องวงจรบันทึกภาพบนรถ เป็นต้น

2. กำหนดมาตรการตรวจสอบรถโดยสารในเส้นทาง เพื่อมิให้มีการตัดแปลงเพิ่มเติมที่นั่งให้ผิดไปจากที่จดทะเบียน และมีบทกำหนดโทษหากมีการฝ่าฝืน

3. กำหนดช่องทางติดต่อสื่อสารที่สะดวกและรวดเร็วระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ใช้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถร้องเรียนได้อย่างทันท่วงที เช่น ระบบไลน์ เป็นต้น

4. กำหนดขั้นตอนแก้ไขปัญหาการรับเรื่องร้องเรียนบรรทุกเกินอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์

12. ควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ประจำรถทอดทิ้งผู้โดยสาร

โดยหลักการแล้ว เมื่อผู้ขับรถได้ขับรถโดยสารประจำทางออกจากท่ารถหรือสถานีต้นทางมาแล้ว ผู้ขับรถโดยสารนั้นก็มีหน้าที่ตามภารกิจของรถโดยสารประจำทางเกิดขึ้นในทันที และถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติให้สำเร็จเสร็จสิ้นครบถ้วนถูกต้องจนกว่าจะขับรถโดยสารคันนั้นไปจนถึงท่ารถหรือสถานีปลายทาง ใน 2 ประการที่สำคัญ กล่าวคือ

ประการแรก ขับรถโดยสารคันนั้นไปตามเส้นทางเดินรถจนถึงท่ารถหรือสถานีปลายทาง โดยนัยนี้ ผู้ขับรถมีหน้าที่ต้องขับรถรับส่งผู้โดยสารไปตลอดเส้นทาง จะหยุดการทำหน้าที่ขับรถรับส่งผู้โดยสารระหว่างทางโดยไม่ถึงท่ารถหรือสถานีปลายทางไม่ได้ หรือจะวนรถกลางทางเพื่อที่จะได้ไม่ต้องรับส่งผู้โดยสารตามเส้นทางอีกต่อไปก็ไม่ได้เพราะในเส้นทางที่ยังไม่ถึงอาจมีผู้โดยสารรอใช้บริการอยู่ก็ได้

ประการที่สอง หยุดรถรับส่งผู้โดยสาร โดยนัยนี้ ผู้ขับรถโดยสารประจำทางมีหน้าที่ต้องหยุดรถเพื่อรับและส่งผู้โดยสารระหว่างทางตลอดเส้นทางจนกว่าจะถึงท่ารถหรือสถานีปลายทาง จะปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารไม่ได้ และในระหว่างเส้นทางจะให้ผู้โดยสารต้องลงจากรถก่อนถึงจุดหมายที่ผู้โดยสารต้องการลงก็ไม่ได้

พฤติการณ์ที่ผู้ขับรถไม่ปฏิบัติหน้าที่ใน 2 ประการ ดังที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นการทอดทิ้งผู้โดยสาร ซึ่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ได้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับทอดทิ้งผู้โดยสารไว้ ดังนี้

มาตรา 104 ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ กระทำการใด ๆ ให้ผู้โดยสารจำต้องลงจากรถก่อนที่จะได้โดยสารถึงจุดหมายปลายทาง โดยที่ได้ชำระค่าโดยสารถูกต้องตามอัตราที่กำหนดแล้ว

มาตรา 105 ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถละเว้นการหยุดรถเพื่อรับหรือส่งผู้โดยสาร ณ ที่ที่มีเครื่องหมายให้รถนั้นหยุด ในเมื่อปรากฏว่ามีผู้โดยสารต้องการให้หยุดรถเพื่อรับหรือส่ง

มาตรา 106 ในขณะปฏิบัติหน้าที่ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถกระทำการใด ๆ อันเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร

จากบทบัญญัติ มาตรา 104 มาตรา 105 และมาตรา 106 ดังที่กล่าวนี้ จะเห็นว่า การกระทำที่จะถือว่าเป็นการทอดทิ้งผู้โดยสารนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ผู้ขับรถมีเจตนาหรือหวังต่อผล เพื่อให้ผู้โดยสารไม่สามารถใช้บริการรถโดยสารประจำทางคันนั้นได้

ขั้นตอนและวิธีการควบคุมตรวจสอบมิให้ผู้ประจำรถทอดทิ้งผู้โดยสาร มีดังนี้

1. กำหนดมาตรการหรือข้อบังคับการเดินรถ ให้ผู้ขับรถต้องขับรถถึงท่ารถหรือสถานีปลายทางทุกเที่ยวเดินรถแม้จะไม่มีผู้โดยสารบนรถ และมีบทลงโทษหากผู้ขับรถฝ่าฝืน

2. กำหนดใช้อุปกรณ์หรือเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือในการควบคุมและตรวจสอบการเดินรถตามเส้นทาง เช่น เทคโนโลยีระบบ GPS เป็นต้น

3. ตรวจสอบการเดินรถของผู้ขับรถจากสมุดประจำรถ

4. กำหนดให้มีกิจกรรมเพื่อเป็นการกระตุ้นการทำหน้าที่ของผู้ขับรถให้มีความรับผิดชอบและจิตสำนึกการบริการ เช่น กิจกรรม 5 ส. การเข้าค่ายปรับพฤติกรรม เป็นต้น

13. ควบคุมและตรวจสอบมิให้ผู้ประจำรถเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด

รายได้หลักของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง คือ ค่าโดยสาร ที่ผู้ประกอบการมีสิทธิเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการได้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

ในยุคสมัยที่เริ่มมีรถโดยสารประจำทางในประเทศไทย ภาครัฐยังมิได้เข้ามาควบคุมจัดระเบียบและจัดระบบกิจการรถโดยสารประจำทาง ปล่อยให้ผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพนี้ กำหนดเส้นทาง จัดการเดินรถ และกำหนดอัตราค่าโดยสารกันเอง โดยปราศจากการควบคุมใด ๆ จากรัฐ จึงเป็นเหตุให้ผู้ใช้บริการถูกเอาเปรียบ โดยเฉพาะการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เป็นไปตามความพอใจของเจ้าของรถและคนขับ จนในที่สุดรัฐได้ออกกฎหมายการขนส่ง พ.ศ.2497 เพื่อควบคุมและจัดระเบียบกิจการรถโดยสารประจำทางของไทย ต่อมารัฐได้ยกเลิกและประกาศใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ขึ้นใช้บังคับแทนจนถึงปัจจุบัน อำนาจในการกำหนดอัตราค่าโดยสารของรถโดยสารประจำทางทั้งหมด จึงอยู่ในอำนาจของรัฐโดยคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางนับแต่นั้นมา ผู้ประกอบการจึงไม่สามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารได้ด้วยตนเอง และจะต้องใช้อัตราค่าโดยสารตามที่คณะกรรมการกำหนดให้เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติ มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ที่มีบทบัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง เพิ่ม ลด หรือยกเว้น ค่าขนส่งหรือค่าบริการอย่างอื่นในการขนส่ง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ

โดยนัยแห่งมาตรา 38 นี้ หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ที่เกี่ยวกับค่าโดยสาร หรือค่าบริการอย่างอื่น จึงมีดังนี้

1) เก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการ ตามอัตราที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางหรือคณะกรรมการขนส่งประจำจังหวัดกำหนด

2) ไม่เก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการ เกิน หรือ ต่ำ กว่าอัตราที่คณะกรรมการกำหนด และไม่ยกเว้นหรือไม่เก็บค่าโดยสาร

สาเหตุที่กฎหมายการขนส่งทางบก กำหนดให้ผู้ประกอบการเก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการอย่างอื่นตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนด เนื่องมาจากหลักการและเหตุผลที่สำคัญ ดังนี้

1) เพื่อมิให้ผู้ใช้บริการถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการและผู้ประจำรถ ต้องชำระค่าโดยสารหรือค่าบริการในอัตราที่สูงกว่าความเป็นจริง อันเนื่องมาจากการกำหนดอัตราค่าโดยสารเองของฝ่ายผู้ประกอบการที่ย่อมไม่มีความเป็นธรรมแก่ฝ่ายผู้ใช้บริการ

2) เพื่อมิให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบกันเองและสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในลักษณะของการทุ่มตลาด ด้วยการลดอัตราค่าโดยสารหรือค่าบริการเพื่อให้ผู้ใช้บริการมาใช้บริการของตนฝ่ายเดียว ซึ่งจะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการที่มีต้นทุนสูงกว่าได้รับความเสียหายและอาจต้องเลิกกิจการไป ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีผู้อื่นมารับจัดการเดินรถในเส้นทางสายนั้น

3) เพื่อให้เกิดความเสมอภาคร่วมกันระหว่าง ฝ่ายผู้ใช้บริการกับฝ่ายผู้ประกอบการ เพราะรัฐเป็นผู้กำหนดอัตราค่าโดยสารหรือค่าบริการขึ้นเอง รัฐมิได้มีส่วนได้เสียในอัตราค่าโดยสารหรือค่าบริการด้วย การกำหนดอัตราค่าโดยสารหรือค่าบริการจึงย่อมอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย

ขั้นตอนและวิธีการควบคุมตรวจสอบมิให้ผู้ประจำรถเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด มีดังนี้

1. ผู้ประกอบการติดป้ายแสดงอัตราค่าโดยสารบนรถโดยสารในเส้นทางทุกคัน ในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจนทั้งคันรถ หรือติดหลาย ๆ แผ่น

2. กรณีที่ผู้ประกอบการมีจุดจำหน่ายตั่วโดยสาร เช่น สถานีขนส่งผู้โดยสาร เป็นต้น ก็ต้องจัดให้มีป้ายบอกอัตราค่าโดยสารและติดไว้ในตำแหน่งที่ผู้ซื้อตั๋วสามารถมองเห็นได้ชัดเจน

3. กำหนดมาตรการลงโทษ หากผู้ประจำรถหรือผู้ที่มีหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร เก็บค่าโดยสาร หรือค่าบริการอย่างอื่น ผิดไปจากที่คณะกรรมการกำหนด

4. สุ่มตรวจสอบการเก็บค่าโดยสารและจำหน่ายตั๋วโดยสารหรือค่าบริการ เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้เกี่ยวข้องฝ่าฝืนและกระทำผิดต่อกฎหมายและข้อกำหนดของผู้ประกอบการ

14. ควบคุมและตรวจสอบให้มีการจัดทำประกันภัยรถเพิ่มเติม

หน้าที่ของผู้ประกอบการ ในการควบคุมและตรวจสอบให้รถโดยสารประจำทางในเส้นทางมีการจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมนี้ เป็นหน้าที่เกิดขึ้นใหม่ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 ข้อ 5 เพื่อเพิ่มความคุ้มครองให้แก่ผู้ใช้บริการและผู้ประสบภัยจากรถโดยสารประจำทางให้มากขึ้นนอกเหนือจากความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2534 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้บริการและบุคคลภายนอกที่ประสบภัยหรือได้รับอุบัติเหตุจากรถโดยสาร มีความมั่นใจในการเข้ารักษา ตัวที่โรงพยาบาลที่ตนเองเชื่อใจโดยไม่ต้องพะวงกับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น เพราะมีบริษัทประกันภัยทั้งจาก พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 และบริษัทประกันภัยเพิ่มเติมนี้เป็นผู้ออกค่ารักษาพยาบาลโดยตรงกับโรงพยาบาลนั้นหรือหากผู้ประสบภัยจะต้องออกค่ารักษาพยาบาลไปก่อนก็สามารถเรียกร้องเอาจากบริษัทผู้รับประกันภัยได้ โดยไม่ต้องไปฟ้องคดีเอาจากผู้ขับรถ เจ้าของรถ และผู้ประกอบการ ซึ่งทำให้ผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางมีหลักประกันและความมั่นใจในการใช้รถโดยสารประจำทางเพิ่มมากขึ้น

กรมการขนส่งทางบกได้อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแก่งชาติ ที่ 15/2560 มีประกาศ เรื่อง กำหนดประเภทรถและวงเงินที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งหรือเจ้าของรถต้องจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมจากกฎหมายว่าด้วยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2560 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวกับรถโดยสารประจำทาง ดังนี้

1. กำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง เส้นทางหมวด 2 และหมวด 3 ทุกเส้นทาง ต้องจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมตามประกาศนี้ ยกเว้นรถที่มีลักษณะเป็นรถมาตรฐาน 3 สองแถว

โดยนัยนี้ รถโดยสารประจำทางในเส้นทางหมวด 2 และหมวด 3 ที่เป็น รถโดยสารปรับอากาศทั้งชั้นเดียวและสองชั้น รถโดยสารไม่ปรับอากาศหรือที่เรียกว่ารถร้อนหรือรถพัดลม รถตู้โดยสาร และรถตู้ป้ายทะเบียน 36 จะต้องจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมจาก ประกันภัยตาม พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 แต่ถ้าเป็นรถโดยสารสองแถว แม้จะอยู่ในเส้นทางหมวด 2 หรือหมวด 3 ก็ไม่ต้องทำประกันภัยเพิ่มเติม

ส่วนเส้นทางเดินรถหมวด 1 และหมวด 4 ไม่ว่าจะใช้รถลักษณะหรือมาตรฐานใดก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีประกาศให้ต้องทำประกันภัยเพิ่มเติม

2. กำหนดวงเงินความคุ้มครองการจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 ของรถโดยสารประจำทาง เส้นทางหมวด 2 และหมวด 3 ได้แก่

1) ความเสียหายต่อชีวิตหรือร่างกายของผู้โดยสารและบุคคลภายนอกในวงเงินไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท สำหรับการชดใช้ค่าเสียหายต่อคนในแต่ละครั้ง

2) ความเสียหายต่อทรัพย์สินในวงเงินไม่ต่ำกว่า 300,000 บาท สำหรับการชดใช้ค่าเสียหายในแต่ละครั้ง

3. กำหนดให้ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางหรือเจ้าของรถ ต้องจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมตามข้อ 2) ในการเสียภาษีตั้งแต่งวดภาษี 31 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป และมีระยะเวลาความคุ้มครองอย่างน้อยตลอดภาษีรถ โดยต้องนำหลักฐานการจัดให้มีประกันภัยเพิ่มเติมไปแสดงต่อนายทะเบียนด้วย

การจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมตามประกาศของกรมการขนส่งทางบกฉบับนี้ ผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถจะจัดทำประกันภาคสมัครใจ ประเภท 1 หรือประเภท 3 เป็นประกันภัยเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 ก็ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากเพราะวงเงินความคุ้มครองมีจำนวนที่สูงกว่าที่ประกาศนี้กำหนดหลายเท่า

ขั้นตอนและวิธีการควบคุมตรวจสอบการจัดทำประกันภัยเพิ่มเติม มีดังนี้

1. ผู้ประกอบการกำหนดระเบียบการจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมตามประกาศของกรมการขนส่งทางบก และกำหนดให้เจ้าของรถร่วมส่งสำเนาประกันภัยเพิ่มเติมทั้งฉบับแก่ผู้ประกอบการ อย่างช้าก่อนวันสิ้นงวดภาษีรถ และมีบทกำหนดโทษถ้าเจ้าของรถไม่ส่งสำเนาประกันภัยเพิ่มเติมภายในกำหนดงวดภาษี

2. ผู้ประกอบการเก็บเอกสารสำเนาประกันภัยเพิ่มเติมไว้กับสำเนา พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 เพื่อความสะดวกในการนำออกมาใช้และให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ

3. ผู้ประกอบการควรติดประกาศข้อมูลของประกันภัย พ.ร.บ.บุคคลที่ 3 และประกันภัยเพิ่มเติมบนรถโดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจใช้บริการในครั้งต่อ ๆ ไป

5. บทกำหนดโทษผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืน คำสั่ง คสช. ที่ 15/2560 และกฎหมายการขนส่งทางบก

หน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ตามคำสั่ง คสช. ที่ 15/2560 ทั้ง 17 ประการ ดังที่กล่าวนี้ จะเห็นว่า ทุกหน้าที่ต่างมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการทำหน้าที่อื่น ๆ ด้วย เช่น การทำประวัติผู้ขับรถ จะส่งผลต่อหน้าที่ในการจัดให้มีสมุดประจำรถ หน้าที่ในการตรวจสอบความพร้อมของผู้ขับรถโดยสาร ด้วย หน้าที่การควบคุมการใช้ความเร็ว และหน้าที่ควบคุมมิให้ผู้ขับรถขับรถโดยประมาท ด้วย เป็นต้น

ในทางกลับกัน หากผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางไม่ปฏิบัติหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง หรือปฏิบัติหน้าที่อย่างขอไปทีไม่มีความตั้งใจที่จะทำ หรือขาดความรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร การปฏิบัติหน้าที่ในประการนั้นก็จะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายการขนส่งทางบกเกิดความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ในประการอื่น ๆ ให้เกิดผลเสียหายด้วย เช่น ผู้ประกอบการไม่มีกระบวนการจัดทำประวัติผู้ขับรถ เพียงแต่มีใบอนุญาตขับรถที่ถูกต้องก็อนุญาตให้ขับรถโดยสารในเส้นทางได้แล้ว ลักษณะนี้ ผู้ขับรถในเส้นทางนั้นก็จะมีหลากหลาย ทั้งประเภทที่มีทัศนคติส่วนบุคคลที่ดีและไม่ดีต่อการทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถโดยสารประจำทาง และผู้ขับรถที่ทัศนคติไม่ดีนั้นก็จะเป็นผู้ที่สร้างปัญหาและความเสียหายต่าง ๆ ต่อการทำหน้าที่ของผู้ประกอบการ เป็นต้น

ผลของการที่ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง คสช. ที่ 15/2560 และตามที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนด ไม่ว่าจะเพราะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม เช่น ความไม่รู้ ความประมาทเลินเล่อ หรือความบกพร่องต่าง ๆ หรือเกิดจากการกระทำของผู้ขับรถหรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยผู้ประกอบการมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วย ก็ดี ก็ถือว่าเป็นความผิดโดยตรงของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางนั้นที่จะต้องรับผิด ซึ่งนอกจากจะต้องรับโทษตามที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนดแล้ว ยังผลต่อการถือครองใบอนุญาตประกอบการรถโดยสารประจำทาง ใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ

1. คำสั่ง คสช. ที่ 15/2560 นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง เป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน เมื่อเกิดกรณีดังต่อไปนี้ว่า

(1) เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงจากการขนส่งอันกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบการขนส่ง โดยมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ประกอบการขนส่งไม่ควบคุมกำกับดูแลผู้ขับรถให้ใช้ความเร็วไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ขับรถเกินชั่วโมงการทำงานตามที่กฎหมายกำหนด ขับรถโดยประมาท หรือขับรถในขณะที่ร่างกายหรือจิตใจหย่อนความสามารถ

(2) ผู้ประกอบการขนส่งปล่อยปละละเลยให้มีการนำรถไปใช้กระทำความผิด เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษี

(3) ผู้ประกอบการขนส่งไม่ควบคุมกำกับดูแลผู้ขับรถหรือพนักงานเก็บค่าโดยสาร ทำให้มีการบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่ง ทอดทิ้งผู้โดยสาร หรือเก็บค่าโดยสารเกินอัตราที่กำหนด

2. พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 46 นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง เมื่อปรากฏว่า (1) ขาดคุณสมบัติตาม มาตรา 24 หรือ (2) ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขใน มาตรา 31 มาตรา 32 มาตรา 33 หรือ มาตรา 34 หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อกำหนด ว่าด้วยความปลอดภัยของผู้โดยสารตาม มาตรา 36 หรือไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติ ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติในหมวด 4 ว่าด้วยการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง

เกี่ยวกับการใช้อำนาจของนายทะเบียนตามมาตรา 46 นี้ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 12/2558 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 กำหนดแนวทางการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง ในกรณีที่ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง และกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัย พ.ศ.2558 โดยสรุป ดังนี้

กรณีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบการขนส่ง

1) กรณีความผิดครั้งที่ 1 นายทะเบียนสั่งให้ผู้ประกอบการขนส่งปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและสั่งเปรียบเทียบปรับ

2) กรณีกระทำความผิดครั้งที่ 2 นายทะเบียนสั่งเปรียบเทียบปรับเป็นสองเท่า และสั่งให้ผู้ประกอบการปฏิบัติให้ถูกต้อง

3) กรณีตาม 2) การที่ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสั่งนั้นน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายหรือเสื่อมประโยชน์ต่อประชาชน ให้นายทะเบียนนำเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งต่อไป

กรณีไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัย พ.ศ.2558

1) กรณีฝ่าฝืนเงื่อนไขและเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง ให้นายทะเบียนเปรียบเทียบปรับ และสั่งให้ถอนรถคันนั้นออกจาบัญชีเดินรถในเส้นทาง รวมถึงสั่งพักการเดินรถของเจ้าของรถร่วมตามเวลาที่กำหนด และหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตาม ให้นายทะเบียนนำเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งต่อไป

2) กรณีฝ่าฝืนเงื่อนไขและเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยสาเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือความบกพร่องของผู้ประกอบการขนส่ง และนายทะเบียนเห็นว่าน่าจะเป็นเหตุให้เกิดภยันตรายหรือเสื่อมประโยชน์ต่อประชาชน ให้นายทะเบียนนำเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งต่อไป.

6. บทสรุป

การทำหน้าที่ของผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง ก็คือ การทำหน้าที่ในเรื่องต่าง ๆ ตามที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนด เพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชน

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ประกอบการจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการ จากการใช้จินตนาการไปสู่แผนการบริหารจัดการที่เป็นเอกสารหนังสือ ดังจะเห็นว่า ขั้นตอนการทำหน้าที่ทั้ง 15 ประการที่กล่าวมานี้ จะเกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรการหรือแผนการหรือข้อกำหนดของเรื่องนั้นๆ เพราะต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นแผนที่หรือเข็มทิศในการบริหารจัดการกิจการรถโดยสารประจำทางไปสู่ความถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายการขนส่งทางบกกำหนดและ เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประชาชน

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่หวังความมั่นคงและความยั่งยืนในอาชีพนี้ จึงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทการทำหน้าที่ ให้สมกับที่ เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทาง./

...............................................................................
หมายเลขบันทึก: 627692เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2017 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2017 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท