อำนาจแห่งพิธีกรรม


อำนาจแห่งพิธีกรรม

(The Power of Rituals)

ณรงค์วรรษ บุญมา

หน่วยวิจัยพุทธพัฒน์, ศูนย์บริการวิชาการธรรมสุทัศน์

สาขาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

ความทั่วไป

อำนาจมีอยู่ทั่วไป ไร้ขอบเขต ไร้พรหมแดน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ อำนาจที่ได้จากการอุปโลกน์ขึ้น หรืออำนาจอื่นใดก็ตาม หากแต่อำนาจนั้นถ้าเป็นอำนาจฝ่ายต่ำแล้วก็ล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจนั้นพังพินาศ หาความเจริญมิได้ ยกตัวอย่าง อำนาจของกิเลส ชีวิตมนุษย์ปุถุชนที่ยังมีกิเลสอยู่ต้องฝึกจิตให้ดี ถ้าไม่เช่นนั้น อำนาจฝ่ายต่ำคือกิเลสที่มีอยู่ในตนจะครอบงำและชักนำไปสู่ที่ต่ำ อาทิเช่น อำนาจของความโลภ ก็จะชักนำคนนั้นให้มีความอยากได้ อยากมี อยากเป็น (เกินไปจากความพอดี) ไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่สนใจวิธีการที่จะได้มาว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว ควรหรือไม่ควร และบุญหรือบาป แม้กระทั่งฆ่าคนอื่นเพื่อให้ได้มาก็เอา อำนาจของกิเลสเป็นอำนาจตามธรรมชาติ ซึ่งไม่มีใครอุปโลกน์ขึ้นได้ มีอยู่ในปุถุชนทุกคน หากแต่มากน้อยแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับการขัดเกลา เรียนรู้ ฝึกฝน ของแต่ละคนเป็นสำคัญ

ส่วนอำนาจที่อุปโลกน์ขึ้นนั้น เป็นอำนาจที่มีสภาพเป็นสมมุติสัจจะ มีอำนาจจริงแต่เป็นจริงโดยสมมุติ เช่น อำนาจรัฐ อำนาจในตำแหน่งหน้าที่การงาน อำนาจตามกฎหมาย เป็นต้น และหนึ่งในอำนาจที่ว่านี้ก็คืออำนาจของพิธีกรรม พิธีกรรมมีอำนาจลึกลับแฝงอยู่ซึ่งสามารถที่จะสะกดคนให้อยู่ในอำนาจและให้ปฏิบัติตามได้อย่างน่าอัศจรรย์ ยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิต


อำนาจ คือ อะไร

คำว่า “อำนาจ” เพียงได้ยินชื่อก็สร้างความรู้สึกว่า ทรงอิทธิพล มีพลังเหนือสิ่งอื่นใด ใครๆ ต้องให้ความเคารพย่ำเกรง หากได้มีไว้ในตนก็จะเป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้ความคุ้มครองป้องกันภัย ไม่ต้องเกรงกลัวต่อสิ่งใด พร้อมกันนั้นก็เป็นเหมือนแก้วสารพัดนึกที่จะบันดาลหรือขอพรอะไรก็ได้ เมื่อความรู้สึกที่มีต่อ “อำนาจ” เกิดขึ้นเช่นนั้น ก็ชวนให้เข้าใจว่า “อำนาจ” ก็ไม่ได้ต่างจากของสิ่งของที่มีค่าที่ใครๆ ก็ปรารถนา แต่อาจมากกว่าสิ่งของก็ตรงที่สามารถปกป้องคุ้มภัยและอำนวยพรอันสุดวิเศษให้กับผู้มีมันไว้ในครอบครอง เพราะว่า “อำนาจ” ให้ทุกอย่างที่มนุษย์ปรารถนา

พอพูดทำนองนี้ก็ทำให้นึกถึงตอนเด็กๆ ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง อะลาดินกับตะเกียงวิเศษ ด้วยความเป็นเด็กๆ ดูแล้วอินเข้าไปข้างในทำให้รู้สึกอยากเป็นอะลาดินและอยากพบกับยักษ์จินนี่ขึ้นมาจับใจ เพียงมีตะเกียงวิเศษอย่างเดียวก็เสมือนมีทุกอย่าง เพราะหลังจากถูๆ ตะเกียง ยักษ์จินนี่ผู้ภักดีก็จะออกมาช่วยเหลือจัดการให้สมปรารถนาทุกอย่างมันช่างวิเศษอะไรขนาดนั้น ผู้เขียนเชื่อว่า นิทานหรือเรื่องเล่าปรัมปราของชาวอาหรับ “อะลาดินกับตะเกียงวิเศษ – Aladin and the Wonderful Lamp” นั้น แม้จะเป็นเพียงมหากาพย์ที่สนุกสนานแต่ก็แฝงไว้ให้เห็นถึงความปรารถนาพื้นฐานที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์โดยทั่วไป ไม่กำจัดเฉพาะชาวอาหรับ หรือชาวมุสลิมเท่านั้น อะลาดินกับตะเกียงวิเศษจากตำนานเรื่องเล่ากลายเป็นความเชื่อแห่งพลังสู่ความสำเร็จ ปัจจุบันประเทศอียิปต์และประเทศกลุ่มอาหรับอื่นๆ ได้สร้างตะเกียงอะลาดินวางขายกันเป็นเครื่องลาง รวมไปถึงภาพแกะสลักยักษ์จินนี่บนตะเกียงด้วย โดยเชื่อว่าในวันพระจันทร์เต็มดวง ยักษ์จินนี่จะออกมาจากตะเกียงและมอบความสุขและความสมปรารถนาให้แก่ผู้เป็นเจ้าของมัน

ความจริงอำนาจอยู่ข้างๆ กายเรานี่เอง อำนาจเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของมนุษย์ที่เราสามารถที่จะรับรู้และซึมซับความหมายของมันไว้โดยปริยาย เช่นเดียวกับที่มนุษย์เกิดและเติบโตในวัฒนธรรมหนึ่งๆ ก็จะรู้สึกคล้ายๆ กับว่าเข้าใจและปฏิบัติตามตรรกะของวัฒนธรรมนั้นอย่างอัตโนมัติ โดยที่อาจจะยังไม่สามารถอธิบายเรื่องวัฒนธรรมในลักษณะที่เป็นแนวคิดในลักษณะนามธรรมชัดเจนได้ (รัตนา, 2548)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของ “อำนาจ” ไว้ว่า หมายถึง อิทธิพลที่จะบังคับให้ผู้อื่นต้องยอมทำตาม ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่ หรือความสามารถบันดาลให้เป็นไปตามความประสงค์ เช่น อำนาจบังคับตามกฎหมาย อำนาจบังคับบัญชา

พิธีกรรม คือ อะไร

พิธีกรรม เป็นกระบวนการสื่อสารจากมนุษย์ถึงเทพเจ้า ที่ตนนับถือ เนื่องจากความรู้ความสามารถของมนุษย์ปุถุชนมีข้อจำกัด เมื่อไม่อาจทำสิ่งใดให้เป็นไปตามอำนาจแห่งตน หลายสิ่งหลายอย่างอยู่เหนือการรับรู้และควบคุม อยู่เหนืออำนาจที่มนุษย์จะจัดการได้ เช่น แผ่นดินไหว ฟ้าผ่า น้ำท่วม ลมพายุพัดกระหน่ำ สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และมันไม่น่าจะเกิดขึ้นเอง น่าจะมีผู้ทรงอำนาจทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้น ทำอย่างไรสิ่งเหล่านั้นจึงจะไม่เกิดขึ้น ก็ต้องเอาใจผู้ทรงอำนาจที่เรียกว่า เทพเจ้า ให้ท่านพออกพอใจ

สุริยา รัตนกุล (2555 : 3) ได้กล่าวไว้ว่า คำว่า “พิธี” และ “พิธีกรรม” เป็นคำที่มีความหมายมาประกอบกันหลายหน่วย หน่วยของความหมายนี้ นักภาษาศาสตร์เรียกว่า อรรถลักษณ์ หน่วยของความหมายหรืออรรถลักษณ์ที่มาประกอบกันในคำว่า พิธี มีหลายหน่วย คือ 1) เป็นการจัดงาน 2) จัดขึ้นตามลัทธิความเชื่อถือ 3) จัดขึ้นตามขนบธรรมเนียมประเพณี 4) เป็นการจัดขึ้นเพื่อความขลัง 5) หรือ เป็นการจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคล

พิธีกรรม เป็นพฤติกรรมที่มนุษย์ถือปฏิบัติตามความเชื่อ ความศรัทธาต่อศาสนาของตนในแต่ละศาสนาที่มีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมากลายเป็นพิธีกรรมทางศาสนา ที่ถือว่าเป็นกิจกรรมบูชาหรือการปฏิบัติพิธี ซึ่งพิธีกรรมเหล่านั้นส่วนมากจะสัมพันธ์กับวิถีการดำรงชีวิตประจำวันมีบางพิธีกรรมไม่อาจนับได้ว่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนา เป็นความเชื่อของคนในท้องถิ่นที่มักจะอ้างเรื่องความเชื่อที่ยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันมา น่าจะมีมาแต่โบราณ สมัยก่อนพุทธกาลตั้งแต่ยุคของศาสนาพราหมณ์ โดยที่ศาสนาพราหมณ์นั้นจะยึดถือและปฏิบัติตามคัมภีร์พระเวทย์ซึ่งพระเวทย์หรือมนตราใช้สำหรับการสวดภาวนาในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ พระเวทย์แบ่งออกเป็น 3 ประการ เรียกว่า “ไตรเภท” เป็นที่มาของ “คัมภีร์ไตรเภท” ซึ่งถือว่าได้รับมาจากโอษฐ์ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับการเรียกร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณทั้งหลายในการบูชาพระผู้เป็นเจ้า การบูชาด้วยเครื่องสักการะประเภทนี้เรียกว่า “การบวงสรวงเทวดา” เพื่อต้องการเน้นให้เกิดอิทธิปาฏิหาริย์ การดลบันดาลให้บังเกิดสิ่งที่ดีของการตั้งจิตอธิษฐานขอให้สัมฤทธิ์ผลตามปรารถนา ต่อมาได้กลายเป็นพิธีกรรมยึดถือสืบทอดต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ (กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, 2552 : 9)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) (2537: 4-5) กล่าวไว้ว่า พิธีกรรม แปลว่า การกระทำที่เป็นพิธี คือเป็นวิธีที่จะให้สำเร็จผลที่ต้องการหรือ การกระทำที่เป็นวิธีการเพื่อให้สำเร็จผลที่ต้องการ หรือนำไปสู่ผลที่ต้องการ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายไว้ ดังนี้

“พิธี” เป็นคำนาม หมายถึง งานที่จัดขึ้นตามลัทธิความเชื่อ ตามขนบธรรมเนียมความขลังหรือความเป็นสิริมงคล เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีมงคลสมรส, แบบอย่างธรรม เช่น พิธี ทำให้ถูกพิธี, การกำหนด เช่น ก็อยู่จนสิ้นชนมายุ ส่วน “กรรม” หมายถึง การงาน การกระทำ

เมื่อนำ 2 คำมาประกอบกันเป็นคำว่า “พิธีกรรม” มีความหมายว่า การบูชา แบบอย่าง หรือ แบบแผน หน่วยงานที่ปฏิบัติในทางศาสนา หรือ การงานที่เกี่ยวข้องกับพิธี ความหมายตามภาษาไทย คำว่า “พิธีกรรม” จึงหมายถึง “แนวทาง หรือ วิธีทำงานพิธีต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ให้ถูกต้อง”

พิธีกรรมกับวิถีชีวิตของมนุษย์

พิธีกรรมเกิดขึ้นเพื่อบรรเทาความกลัวของมนุษย์ต่อสิ่งที่มีอำนาจสูงส่งซึ่งอยู่รอบตัว พร้อมกันนั้นก็อยู่เหนือการควบคุม ไม่ว่าในโลกแห่งความเป็นจริง อำนาจหรือสิ่งที่สูงส่งยิ่งนั้นจะมีอยู่จริงหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งเหล่านั้นก็มีอยู่จริงในจินตนาการของมนุษย์

ชีวิตมนุษย์ทุกเชื้อชาติ ศาสนา แม้กระทั่งไม่มีศาสนาก็ตาม ตั้งแต่เกิดไปจนตายย่อมจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม ไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่ง จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ จะด้วยทำเองหรือใครทำให้ก็ตาม หรือจะด้วยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม อย่างน้อยชีวิตก็จะต้องผ่านพิธีกรรมใดพิธีกรรมหนึ่ง

หากมองให้ใกล้เข้ามาให้เห็นชัดมากขึ้นขอยกตัวอย่างวิถีชีวิตแบบไทยๆ พิธีกรรมจะเข้าไปเกี่ยวข้องตั้งแต่เกิดจนตาย หลังจากคลอดเมื่อมีอายุครบ 1 เดือน กับ 1 วัน ก็จะมีพิธีกรรมรับขวัญ ตั้งชื่อ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ เด็ก ต่อมาก็จะมีพิธีโกนผมไฟ ถ้าไว้จุก ก็มีพิธีโกนจุก โตขึ้นเมื่ออายุได้ 20-21 ปี ผู้ชายยังต้องเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบท หรือบวชเรียน อีก 3 เดือน (ปัจจุบันมักจะบวชตามความเหมาะสมที่เวลาของแต่ละท่านจะอำนวย) จากนั้นเมื่อถึงเวลาสร้างครอบครัว ต้องเข้าพิธีหมั้นและแต่งงาน เมื่อเจ็บไข้หรือประสบเคราะห์ก็ยังต้องประกอบพิธีเรียกขวัญหรือสะเดาะเคราะห์ เช่น ภาคกลางมีพิธีสวดโพชฌงค์ต่ออายุ ส่วนทางภาคเหนือมีพิธีสืบชะตา และเมื่อตายไปก็ยังต้องทำพิธีเกี่ยวกับงานศพ พิธีกรรมจึงอยู่ในวงจรของชีวิตมนุษย์

อำนาจกับพิธีกรรม

แนวคิดนีโอมาร์กซิสม์ เสนอว่าความเชื่อเป็นอุดมการณ์ที่มีอำนาจและก็สร้างอำนาจผ่านพิธีกรรม เช่น ความเชื่อเรื่องผีเมืองเป็นรากฐานอำนาจให้เจ้าเมือง โดยเฉพาะที่ผ่านพิธีไหว้ผีเมือง ด้วยเหตุนี้ กรุงเทพมหานคร จึงได้ยกเลิกพิธีนี้ และให้จัดพิธีบูชาเสาหลักเมืองที่อิงคติพุทธในฐานะสัญลักษณ์ของอำนาจกรุงเทพมหานครแทน ความเชื่อเรื่องผีปู่ย่าเป็นฐานให้กับการมีอำนาจของร่างทรง เป็นต้น

อานันท์ กาญจนพันธุ์ เสนอว่าอำนาจเหล่านี้จะมีความชอบธรรมได้ก็ต่อเมื่อเป็นสิ่งนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์หรือประโยชน์ของชุมชน อำนาจที่เป็นธรรมแม้จะรุนแรง หากว่าความรุนแรงนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชุมชน และได้ชี้ให้เห็นว่าอำนาจนั้นมักจะเกิดขึ้นขณะประกอบพิธีกรรม อำนาจการควบคุมทั้งก่อนหน้าและหลังการประกอบพิธีกรรม เป็นสภาวะไร้อำนาจที่ เช่น ร่างทรง ม้าทรง

พิธีกรรมให้อำนาจสูงสุดได้ พร้อมกันนั้นก็เป็นช่องทางให้ผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เสียเปรียบหรืออยู่ในตำแหน่งด้อยอำนาจในสภาวะปกติได้อาศัยในการสร้างตัวตนและแสดงออกซึ่งอำนาจได้ หรือเป็น mediated agency ดังกรณีของร่างทรงผู้หญิงที่ได้อำนาจมาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เป็นอำนาจเหนือชีวิต หรือกรณีสตรีมุสลิมที่ด้วยการจำนนต่อพระเจ้าในฐานะบุตรสาวของพระองค์ก็ช่วยให้พวกเธอสามารถใช้สิทธิอำนาจในนามของพระเจ้าได้ เช่น การสามารถบอกให้ผู้ชายเลิกประชุมกลางคันด้วยเหตุผลที่ว่าได้เวลาละหมาดแล้ว ไม่ว่าการประชุมจะกำลังเข้มข้นเพียงใดหรือไม่ว่าจะมีผู้ชายคนไหนที่อยากจะข้ามการละหมาดนี้ไปเสีย การมองพิธีกรรมว่าเป็นอาณาบริเวณที่อำนาจประเภทนี้ทำงานเข้มข้นและขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางให้ผู้ด้อยกว่าในสภาวะปกติได้แสดงซึ่งอำนาจจะช่วยให้มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพิธีกรรมกับอำนาจที่ละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น (อนุสรณ์ อุณโณ, 2555)

เหตุแห่งอำนาจของพิธีกรรม

การก่อกำเนิดเกิดขึ้นของพิธีกรรมเริ่มจากมนุษย์มีข้อจำกัดในด้านต่างๆ ทำให้ไม่สามารถรับรู้ และควบคุมสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบกายตนได้ และเข้าใจว่าน่าจะมีสิ่งอื่นหรือผู้อื่นที่มีอำนาจเหนือตน ยิ่งใหญ่กว่าตน ข้อจำกัดของมนุษย์ดังกล่าวนั้น อาจจำแนกเป็นด้านๆ ได้ ดังนี้

1. ด้านสติปัญญา – มนุษย์มีข้อจำกัดเรื่องความรู้ ความเข้าใจต่อธรรมชาติ มีความรู้ไม่พอเพียงที่จะตอบสนองต่อความอยากรู้ ทำให้ไม่อาจที่จะก้าวพ้นจากสัญชาตญาณแห่งความกลัวได้ กลัวต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว เช่น แผ่นดินไหว ฟ้าผ่า น้ำท้วม เป็นต้น มนุษย์ไม่อาจที่หาคำตอบต่อการเกิดขึ้นของเหตุการณ์เหล่านั้นได้ พร้อมทั้งไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อยู่เหนือการรับรู้ และควบคุม ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มนุษย์ยังเชื่อว่า สิ่งเหล่านั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นเองได้ น่าจะต้องมีผู้ที่มีอำนาจหรือทรงอิทธิพล หรือมากด้วยอิทธิฤทธิ์ อยู่เหนือสรรพสิ่งบันดาลให้เกิดขึ้น ด้วยเหตุว่าการกระทำของมนุษย์ไม่เป็นที่โปรดปราน ไม่เป็นที่พอพระทัย หรือด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของมนุษย์ ความกลัวนำไปสู่ความหวาดระแวง ความหวาดระแวงต่อสิ่งต่างๆ ที่กลัวนั้นนำไปสู่การป้องกันภัยที่จะเกิดขึ้นกับตน ทั้งๆ ที่ภัยทั้งหลายที่หวาดระแวงนั้นอาจจะไม่มีอยู่จริง ในความกลัวก็มีความเชื่อแบบอวิชชาแฝงตัวอยู่ เมื่อเป็นความเชื่อแบบอวิชชา ความเชื่อนั้นก็ไม่อาจที่จะบอกได้ว่าเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง แต่อย่างน้อยความเชื่อดังกล่าวนั้นก็จะช่วยบรรเทาความกลัวที่เกิดจากสัญชาตญาณแห่งความเป็นมนุษย์ลงไปได้ เพื่อขจัดความกลัวความหวาดระแวงนั้นให้หมดไปและเพื่อให้ความปลอดภัยความโชคดี หรือความเป็นมงคลเกิดขึ้นในแทนที่ มนุษย์ก็เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ก็คิดเอาแบบมนุษย์ว่า งั้นก็คงต้องเอาใจและบูชาท่านเพื่อไม่ให้ท่านโกรธและจะไม่บันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นขึ้นอีก โดยเรียกผู้ที่ทรงอำนาจหรือมากด้วยฤทธิ์เดชนั้นว่า “เทพเจ้า” (gods) และความเชื่อในเรื่องของเทพเจ้านั้น ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปอีก แม้จะมีความเชื่อที่เริ่มจากจุดเดียวกันว่า น่าจะมีเทพเจ้าก็ตาม บางคนก็เชื่อว่า ไม่น่าจะมีเทพเจ้าองค์เดียว น่าจะมีเทพเจ้าหลายองค์ ซึ่งประจำอยู่ในแต่ละแห่งแต่ละอย่าง เช่น เทพเจ้าประจำน้ำ เพทเจ้าประจำอากาศ เทพเจ้าประจำภูเขา เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีบางกลุ่มก็เชื่อว่ามีเทพเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น

2. ด้านความเชื่อ - เมื่อมนุษย์ได้สร้างความเชื่อนั้นขึ้นมา ความเชื่อนั้นก็พัฒนากลายมาเป็นความรู้ เป็นความรู้ที่เกิดจากความเชื่อ ความรู้ที่เกิดจากความเชื่อได้ขยายตัวไปสู่คนรอบข้าง จากหนึ่งไปสองจากสองไปสาม ขยายตัวไปจนสู่สังคมกว้าง จนได้แนวร่วมทางความเชื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดอิทธิพลทางความเชื่อ ต้องการสะท้อนความเชื่อนั้นให้ออกมาเป็นรูปธรรม และที่สำคัญต้องการสะท้อนความภักดีที่มนุษย์มีต่อเทพเจ้าที่ตนเชื่อ เพื่อต้องการสื่อสารกับเทพเจ้าว่า มนุษย์ภักดีต่อท่านนะ และต้องการเอาใจเทพเจ้าโดยการถวายเครื่องสักการบูชา ที่เรียกกันว่า “บูชายัญ”

การสนองตอบต่อความเชื่อนั้นด้วยการประกอบพิธีกรรมบูชายัญ ซึ่งเครื่องสักการะหรือเครื่องสังเวชนั้นก็คือเลือดสดๆ ของมนุษย์นี่เอง การบูชาเทพเจ้าผู้สูงส่งต้องบูชาด้วยของที่สูงส่งเช่นเดียวกัน ดังนั้น มนุษย์ที่จะถูกนำไปบูชานั้นก็ต้องเป็นมนุษย์ที่บริสุทธิ์ นอกเหนือจากนั้นการบูชายัญในระยะแรกๆ ผู้บูชาก็เชื่อว่าเทพเจ้านั้นเป็นเพศชาย เมื่อเชื่อเช่นนั้น เครื่องบูชาที่จะนำไปบูชาก็จะต้องเป็นเพศหญิง และต้องเป็นเพศหญิงที่บริสุทธิ์ด้วย คำว่าบริสุทธิ์นั้น หมายถึงยังเป็นสาว และยังไม่เคยร่วมหลับนอนกับชายมาก่อน มีตำราบางเล่มบอกว่า นอกจากจะเป็นสาวโสดแล้วจะต้องเป็นผู้ที่มีเยื่อพรหมจารีที่ยังไม่ขาดด้วย

อำนาจของพิธีกรรม

หัวใจสำคัญของพิธีกรรมในการบูชายัญก็คือ เลือดอันบริสุทธิ์ที่ไหลออกจากคอของเหยื่อสาวผู้บริสุทธิ์ที่นำมาเป็นเครื่องบูชานั้น จะทราบได้อย่างไรว่าเทพเจ้าพอใจหรือไม่พอใจ ผู้ประกอบพิธีสามารถเสี่ยงทายได้ขณะประกอบพิธีกรรมได้เลย โดยดูที่การไหลของเลือด หากเลือดนั้นพุ่งกระซูดออกจากคอของเหยื่อมุ่งตรงไปยังพระโอฏฐ์ของเทพเจ้าที่เป็นรูปเหมือนหรือรูปปั้นของเทพเจ้านั้นๆ แสดงว่าเทพเจ้าพอพระทัย ชื่นชอบ ตรงกันข้ามหากไม่เป็นเช่นนั้น ก็แสดงว่าเพทเจ้าไม่ชื่นชอบ

ปีหนึ่งๆ มีคนตายเพราะเป็นตกเป็นเครื่องสังเวชในการประกอบพิธีกรรมบูชายัญมากมาย หนักๆ เข้า ชีวิตใคร ใครก็รัก ถึงแม้ว่าตนจะมีความเชื่อในเรื่องพิธีกรรมนั้นเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ก็ตาม แต่ก็ยังไม่อยากตาย เมื่อหาคนที่จะมาเป็นเครื่องสังเวชหรือเครื่องบูชาไม่ได้ ก็หันไปหาสัตว์แทน และสัตว์ที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือ แพะ แพะเลยตกเป็นเครื่องสังเวชเทพเจ้าแทนมนุษย์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย กลายเป็นแพะรับบาปแบบไม่รู้ตัว เมื่อแพะน้อยลง และหายากขึ้น ก็ใช้สัตว์อื่นๆ ที่จะหาได้แทน ต่อมาก็เป็นสัตว์อะไรก็ได้แบบไม่เลือกแล้ว จนกระทั่งถึงไข่ หรือขนม นม เนย เปล่าๆ ก็ได้

ยิ่งระยะเวลาการบูชายัญสืบทอดมายาวนานเท่าใด ความน่าเชื่อถือ ความขลังความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมนั้นก็ยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นมากเท่านั้น ขณะเดียวกันเทพเจ้าก็เกิดขึ้นมากมายดังกับดอกเห็ด เพื่อสนองตอบต่อความเชื่อของมนุษย์ที่แตกต่างกันออกไป และเทพเจ้านั้นมีทั้งเพทเจ้าที่เป็นเพศชายและเทพเจ้าที่เป็นเพศหญิง มีให้เลือกบูชาได้ตามต้องการ พิธีกรรมใดที่ออกแบบการบูชายิ่งให้พิสดาร ก็ยิ่งได้ศรัทธาจากสาวก ยิ่งลึกลับเท่าใด ก็ยิ่งศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น เพราะทำให้น่าค้นหาอยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบันแม้หลายๆ พิธีกรรมได้ตายลงไป เพราะความรุ่นแรงของพิธีกรรมเอง หรือ เพราะขาดผู้สืบทอด หรือจะด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม แต่ก็ยังมีหลายๆ พิธีกรรมที่ดำเนินมาเป็นพันๆ ร้อยๆ ปี จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็มี จะขอนำเรื่องพิธีกรรมการบูชายัญมาพอให้เห็นอำนาจของพิธีกรรม ดังนี้

พิธีกรรมพิธีบูชายัญของเผ่าเคอร์มัน

ชนเผ่า “เคอร์มัน” อาศัยอยู่ห่างจากเมืองโกัลกัตตาไปทางเหนือ 220 กิโลเมตร หมู่บ้านนี้อยู่ระหว่างชายแดนประเทศอินเดียกับประเทศบังกลาเทศ พื้นที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นป่าทึบห่างไกลความเจริญ ชาวเคอร์มันดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวและพืชผัก พวกผู้ชายจะออกไปล่าสัตว์มาเป็นอาหารเนื้อ

เผ่าเคอร์มันจะมีประเพณีประกอบพิธีกรรมบูชายัญ “กาจัน” เป็นประจำทุกปี เป็นพีธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อบูชาพระศิวเทพผู้เป็นใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จุดประสงค์ของการจัดพิธีศักดิสิทธิ์นี้เป็นไปเพื่อขอพรต่อพระศิวเทพ ให้พวกเขามีความอุดมสมบูรณ์ในอาหารการกิน ปลอดภัยจากสัตว์ร้ายและศัตรู ปราศจากความเจ็บป่วยใด ๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่จะนำมาสักการบูชายัญต่อองค์เทพผู้ยิ่งใหญ่ให้พอพระทัยก็คือ “ศีรษะบุตรชายคนแรกของครอบครัว”


ภาพที่ 1 พิธีกรรมบูชายัญด้วยศรีษะเด็กชาย

ที่มา : http://board.palungjit.org/f6/พิธีกรรมความเชื่ออุบาทว์-258204.html


ณ หมู่บ้านนี้ หากใครออกเรือนไปตั้งครอบครัวใหม่และภรรยาตั้งท้องบุตรคนแรก จะต้องแจ้งให้หัวหน้าหมู่บ้านรับทราบ หากบุตรคนแรกเกิดมาเป็นชายจะได้นำเข้าประกอบพิธีดังกล่าว หากปีใดมีเด็กเกิดมาใหม่เป็นชายหลายคน พวกเขาจะยินดีปรีดาเป็นพิเศษ เพราะถือว่าปีนั้นจะทำให้องค์ศิวเทพพอพระทัยอย่างมาก เนื่องจากมีศีรษะเด็กชายมาบูชายัญหลายศีรษะ

ทุกคนในหมู่บ้านจะมาชุมนุมกันโดยมีหัวหน้าหมู่บ้าน เป็นประธาน หลังจากมีการร้องรำทำเพลงสรรเสริญต่อองค์ศิวเทพ เมื่อร้องเพลงจบแล้วหัวหน้าหมู่บ้านจะสั่งให้คนเป็นพ่อซึ่งมีบุตรชายคนแรกนำเด็กมาที่แท่นบูชา ซึ่งอยู่เบื้องหน้าพระศิวเทพ แล้วผู้เป็นพ่อจะใช้มีดปลายงอโค้งคล้ายมีดกูรข่าคมกริบ ฟันคอลูกชายจนขาดกระเด็น จากนั้นจึงนำศีรษะลูกชายใส่สาแหรกที่เตรียมไว้เอาไปร่วมในพิธีเต้นรำต่อ เมื่อพิธีบูชายัญเสร็จสิ้นผู้เป็นพ่อจะต้องนำศีรษะลูกชายไปแขวนไว้ในบ้านของ ตน และต้องแขวนไว้จนกว่ากะโหลกศีรษะจะผุพังไปเอง

คืน”ศิวาราตรี” ประกอบพิธีบูชายัญ หัวหน้าครอบครัวทุกคนจะนำศรีษะบุตรชายคนแรกของตนที่ใส่ในสาแหรกแขวนไว้ใน บ้าน(ซึ่งแห้งกรังหมดแล้ว) เอามาเข้าในพิธีร้องรำทำเพลงสรรเสริญองค์ศิวเทพ ด้วยเพื่อให้เทพผู้ยิ่งใหญ่มองเห็นและพอพระทัย จะได้อวยพรอันศักดิ์สิทธ์ให้แก่ครอบครัวของตนให้อยู่ดีมีสุขตลอดไปอีกหนึ่งปี พิธีกรรมการบูชาดังกล่าวนั้น ชนเผ่านี้ได้ยึดถือและปฏิบัติสืบเนื่องกันมายาวนาน ตั้งแต่บรรพกาล

พิธีกรรม Suttee

พิธีกรรม Suttee หรือ Sati เป็นพิธีกรรมการเผาตัวเองตายตามสามี พิธีศพทางศาสนาของชาวฮินดูที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาในประเทศอินเดีย โดยให้หญิงม่ายที่กำลังเศร้าโศกเสียใจจากการที่สามีเสียชีวิต มานั่งข้างๆศพสามีของเธอในกองฟืนที่ใช้ในการเผาศพ และเธอก็จะถูกเผาทั้งเป็นเคียงข้างศพสามี หรือถ้าหญิงม่ายคนไหนไม่ยอม หรือหนีออกจากกองเพลิง ก็จะถูกจับมัดแล้วโยนเข้ากองเพลิงให้ตายตามสามีไป


ภาพที่ 2 พิธีกรรมการเผาตัวเองตายตามสามี

ที่มา : http://guru.sanook.com/7152/


พิธีกรรมนี้ถูกสืบทอดกันมาในอินเดียเป็นเวลานาน เมื่ออินเดียถูกยึดครองโดยของอังกฤษ พวกผู้ปกครองชาวอังกฤษเห็นว่า พิธีกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่เหี้ยมโหดร้ายมากจึงได้ยกเลิก และถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งผิดกฎหมายในปี 1829 แต่ก็มีการแอบลักลอบกระทำกันอีกเรื่อยมา

ภาพที่ 3 เปรียบเทียบภาพพิธีกรรมการตายตามสามี

ที่มา : http://guru.sanook.com/7152/


จากรูปจะเห็นว่า หญิงหม้ายจะยืนอยู่บนเนิน รูปแรกเธอจะกระโดดเข้ากองเพลิงเอง แต่รูปที่สองบริเวณรอบคอของเธอจะถูกผูกด้วยเชือกแล้วยืนอยู่หลังม่าน แล้วเธอจะถูกกระชากตกลงมาในกองเพลิง


สรุป

รวมความว่าจากที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้นก็พอที่จะทำให้เห็นว่าเรื่องอำนาจของพิธีกรรมนั้น ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าอำนาจใดๆ เลย ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นอำนาจที่ทำให้มนุษย์สามารถสละชีวิตตนเพื่อการประกอบพิธีกรรมนั้นๆ ได้อย่างง่ายดาย

ความจริง อำนาจ เป็นสิ่งกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่วด้วยตัวมันเอง ขึ้นอยู่กับว่าอำนาจนั้นไปอยู่กับใคร ไปเป็นของใคร คนนั้นก็บังคับใช้มันให้เป็นไปตามความชอบแห่งตน สำหรับจะชอบธรรม หรือชอบใจนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้บังคับใช้อำนาจนั้นว่าจะมีคุณธรรมจริยธรรม มีความยุติธรรมแค่ไหน อำนาจของพิธีกรรมก็เฉกเช่นเดียวกัน ถ้ามนุษย์ให้อำนาจที่รุ่นแรงกับพิธีกรรม พิธีกรรมก็บังคับใช้อำนาจที่รุนแรงนั้น ขณะเดียวกันหากมนุษย์ให้อำนาจที่เป็นคุณกับพิธีกรรม พิธีกรรมนั้นก็บังคับใช้อำนาจที่เป็นคุณนั้น ขึ้นอยู่กับมนุษย์ผู้ให้อำนาจแก่พิธีกรรมนั้นอย่างไร

ถึงอย่างไรก็ตาม พิธีกรรมก็มีอำนาจในตัวของเขาเองด้วย ซึ่งเป็นอำนาจที่ทรงพลังลึกลับ พิธีกรรมยิ่งลึกลับเท่าไหร่ ยิ่งศักดิ์สิทธิ์และขลังเท่านั้น และความลึกลับนั่นเองที่เป็นหัวใจแห่งอำนาจของพิธีกรรมอย่างแท้จริง เราจะเห็นอำนาจของพิธีกรรมนั้นได้ในช่วงเวลาของการประกอบพิธีกรรม ซึ่งอาจแยกออกเป็นด้านๆ ได้อย่างน้อย 5 ด้าน ดังนี้

1. ด้านความเชื่อ - ทำให้คนมีความเชื่อในเรื่องเดียวกันแบบไม่ต้องบังคับ

2. ด้านการแต่งกาย - ทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมแต่งกายเหมือนกัน

3. ด้านระเบียบวินัย - ทำให้ผู้เข้าร่วมพิธีกรรมเงียบสงบเมื่อพิธีเริ่มขึ้น

4. ด้านความจิตใจ - ทำให้ผู้ประกอบพิธีกรรมรู้สึกสบายใจ ได้พร จะสำเร็จ

จะได้ไปสวรรค์

5. ด้านความเสียสละ - ทำให้คนยอมสละได้แม้กระทั่งชีวิตเพื่อพิธีกรรม

นั่นคืออานุภาพแห่งอำนาจของพิธีกรรม สรรพสิ่งในโลกล้วนมี 2 ด้าน เพื่อสอนมนุษย์ให้เข้าใจความหมายในสิ่งที่กำลังสื่อ เช่น มีขาว ก็ต้องมีดำ เราจะไม่เข้าใจคำว่า “ขาว” ได้เลย ถ้าไม่มี “ดำ” เปรียบเทียบให้เห็น หรือ ไม้สั้น กับไม้ยาว เราจะยืนยันความถูกต้องได้อย่างไรว่า ไม้นั้นสั้นจริงๆ หากไม่มีไม้ยาวนำมาเปรียบเทียบ เรื่องของอำนาจก็เฉกเช่นเดียวกัน ก็มี 2 ด้าน คือมีทั้งอำนาจฝ่ายดี และอำนาจฝ่ายไม่ดี (อำนาจฝ่ายต่ำ, อำนาจมืด) อำนาจไม่ว่าจะอยู่กับคนหรืออยู่กับพิธีกรรม มันก็คืออำนาจ


เอกสารอ้างอิง

ราชบัณฑิต. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน.

สริยา รัตนกุล, ศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิง. (2555). พิธีกรรมในศาสนา. นครปฐม : มหาวิทยาลัยมหิดล.

คณะราชครู. (2516). ประเพณีและพิธีสำคัญของไทย. กรุงเทพมหานคร: เสริมวิทย์บรรณาคาร.

พระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (2549). พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, พิมพ์ครั้งที่11,

กรุงเทพมหานคร : บริษัท สหธรรมิก จำกัด.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.(2539).พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราช-

วิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย. (2534). พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถาแปล. ชุด 91

กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย.

รัตนา โตสกุล. มโนทัศน์เรื่องอำนาจ.กรุงเทพฯ: คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติสาขาสังคมวิทยา, 2548.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). (2537). พิธีกรรม ใครว่าไม่สำคัญ. กรุงเทพฯ : พิมพ์สวย.

โกนผมไฟพิธีแห่งชีวิต. เข้าถึงเมื่อ 4 มกราคม 2558 :http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9510000094504)

วัฒนธรรมแบระบบความเชื่อในสังคมไทย.เข้าถึงเมื่อ 4มกราคม 2558 :

http://www.baanjomyut.com/library/culture_faith/

อนุสรณ์ อุณโณ. บันทึกจากการเสวนาหัวข้อ “พิธีกรรมและความเชื่อในโลกยุคดิจิตอล”

เข้าถึงเมื่อ 1 สิงหาคม 2558 : http://socanth.tu.ac.th/blogs/rituals-and-power-in-ganjanapans-works/

ถิรนัย อาป้อง. อำนาจ: ว่าด้วยมโนทัศน์ทางแนวคิดทฤษฎี

เข้าถึง เมื่อ 1 สิงหาคม 2558 : http://chornorpor.blogspot.com/2011/09/blog-post_22.html

หมายเลขบันทึก: 627293เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2017 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2017 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่าน


ความเห็น

เขียนได้ละเอียดและน่าสนใจมาก

มาเขียนอีกนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย