​ภูมิปัญญาในการใช้ชีวิต



ในช่วงที่เป็นเด็กน้อยเราย่อมไม่เข้าใจในหลายอย่างและเกิดความสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่าการที่ใครทำอะไรแล้วทำไปทำไม กรณีตัวอย่างหนึ่งที่ยังคงติดตาเมื่อผู้เขียนมองดูบิดานั่งตอกสิ่งสกัดเข้าไปที่โคนต้นมะขามข้างบ้านของตนความลึกที่ทำเป็นรูเข้าไปในต้นมะขามนั้นประมาณ 1 คืบเห็นจะได้แล้วท่านใส่หัวน้ำตาลทรายเป็นเม็ดหรือก้อนสีขาว ๆ ลงไปจนหมดขวดเล็ก ๆ ใบนั้น ทีนี้ท่านก็นำไม้ที่เตรียมไว้แล้วมาตอกตีเข้าไปเป็นการปิดรูนั้นให้สนิทนานเท่าไหร่ไม่ทราบจนมะขามออกดอกให้ผลเมื่อมะขามมันสุกแล้วท่านก็นำมาให้กินกับข้าวเหนียวเออมันกลายเป็นมะขามหวานไปได้นะ

การใช้ชีวิตของมนุษย์เรานี้ก็สลับซับซ้อนอยู่พอสมควรบางครั้งต้องศึกษามุมคิดของนักปราชญ์โบราณท่านเสนอแนะวิธีในการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง เนื่องจากสังคมไทยคนส่วนมากได้รับอิทธิพลทางความเชื่อทางศาสนาที่มาจากชมพูทวีปหรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน ดังนั้นจึงขอแนะนำการใช้ชีวิตบนพื้นฐานจริยธรรม 4 รูปแบบดังนี้

1.การใช้ชีวิตแบบศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก็เป็นการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแต่มีความคิดที่สูงส่ง ชอบค้นหาสัจธรรมแบบรู้แจ้งตนด้วยตัวของตนเอง โดยแบ่งช่วงอายุของตนออกเป็น 4 ช่วงคือ ช่วงอายุ 25 ปีถ้าเกินกว่านั้นก็รวมยอดอยู่ในช่วงที่ 4 นั้น ในช่วงที่ 1 เป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ ช่วงที่ 2 เป็นช่วงแห่งการแต่งงาน ช่วงที่ 3 เป็นช่วงทำงานหาทรัพย์สินเงินทองข้าวของเครื่องใช้สอยให้พอเพียงแก่ความต้องการ และช่วงที่ 4 เป็นช่วงสละปล่อยวางออกค้นหาสัจธรรมเพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับเข้าสู่ธรรมชาติดังเดิม

2.การใช้ชีวิตแบบลัทธิจารวาก หรือโลกายัต เป็นการใช้ชีวิตไปตามอำนาจความพึงพอใจหรือตามกิเลสตนคืออยากทำอะไรก็ทำเพราะถือว่าตายแล้วสูญเปล่า เมื่อทำงานหาเงินได้แล้วก็ใช้จ่ายให้คุ้มค่ากับเงินที่หามาได้ อย่าเอาเก็บไว้ให้มากมายมหาศาลเพื่อให้ผู้คนกล่าวถึงว่าเป็นมหาเศรษฐีมีเงินหมื่นล้านแต่ใช้เงินไม่เป็นเพราะตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ หรือหาไว้ให้คนข้างหลังส่วนตัวเองไม่ต้องใช้จ่ายอย่างนี้ไม่ถูกต้องตามหลักการใช้ชีวิตแบบจารวากนี้

3.การใช้ชีวิตแบบศาสนาเชน เป็นการใช้ชีวิตที่ปกป้องจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์แต่เพียรพยายามทรมานกายของตนจนอยู่อย่างคนเปลือยเปล่าพร้อมเสมอที่จะตายไปจากโลกนี้ ด้วยทรัพย์สมบัติอันมีค่าใด ๆ ไม่มีติดตัวจะมีเพียงหม้อตักน้ำดื่มและพัดเอาไว้พัดวีไม่ให้แมลงสิ่งมรชีวิตเล็ก ๆ บินเข้ารูจมูกเวลาหายใจเพราะมันจะตายเป็นการทำลายชีวิตสัตว์ คือเป็นชีวิตที่อยู่อย่างอหิงสาธรรมหมายถึงความเป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายแต่ก็เบียดเบียนตนเองทรมานตนเอง

4.การใช้ชีวิตแบบศาสนาพุทธ เป็นการใช้ชีวิตที่พอเพียงเป็นผู้เลี้ยงง่ายผู้เขียนมักชอบชี้ชวนให้มองดูพระพุทธรูปแล้วตีปริศนาธรรมว่าเห็นอะไรบ้าง กรณีตัวอย่างทำไมพระพุทธรูปมีดวงตามองต่ำ อาจตีความได้ว่า เป็นการสอนให้มองตนเองศึกษาตนเองให้เข้าใจตนเองแล้วเรียนรู้ธรรมชาติแห่งตน ทำไมมีติ่งหูยาว ๆ อาจตีความได้ว่าเป็นการสอนคนให้ฟังหูไว้หูอย่าหูเบาเชื่อคนง่ายหัดตั้งใจฟังเรื่องราวที่ดี ๆ โดยเฉพาะท่านผู้รู้ที่เป็นนักคิดนักปรัชญาหรือนักปราชญ์ทั้งหลายเพราะท่านผ่านโลกมามากท่านมีประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตหรือท่านผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนเรา ทำไมจึงมีจมูกโด่ง ๆ ก็เอาไว้สูดดมสิ่งดีงามอยู่ตามธรรมชาติเพราะวิถีชีวิตพระพุทธเจ้าพระองค์ประทับอยู่ตามป่าตามเขาอยู่กับธรรมชาติย่อมหอมดอกไม้ป่าอยู่กับอากาศบริสุทธิ์ไม่ใช่เหมือนเราอยู่ในเมืองมีแต่สูดดมกลิ่นควันมีพิษทั้งนั้น ทำไมต้องมีลิ้นหรือชิวหาอันนี้ตีความได้หลายนัยอาจเป็นเรื่องการกล่าวสอนแต่เรื่องสัจธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบแล้วนำมาบอกต่อกลายเป็นคำสอนในพระไตรปิฎกนั้น ทำไมต้องมีกายอาจตีความได้ว่าท่านรักษากายเพื่อทำประโยชน์ให้กับชาวโลกให้ได้รู้ได้เห็นตามสภาพความเป็นจริงไม่ใช่ให้หลงใหลในเรื่องมายาภาพอยู่อย่างนั้น นับเป็นการสอนไปในตัวว่ากายนี้เป็นของอยู่ได้ไม่นานย่อมเสื่อมสลายไปตามกาลเวลาจงอย่าประมาทในวัยเพราะวันเวลาย่อมล่วงเลยไปรัตติกาลย่อมผ่านพ้นไปช่วงแห่งวัยก็ต้องไปตามกาลเวลาจงรีบทำในสิ่งที่ควรทำขณะยังมีลมหายใจอยู่เพราะวันพรุ่งนี้อาจไม่มีเรา ทำไมต้องมีจิตใจอาจตีความได้ว่าเมื่อเรามีเราจงใส่ใจในการทำความดีเมื่อทำความดีแล้วอย่างน้อยก็ทำให้เราสุขใจที่ได้ลงมือทำแล้วแล

การใช้ชีวิตใน 4 รูปแบบนี้ควรนำมาเทียบเคียงกับตนว่าเราชอบที่จะใช้ชีวิตแบบไหนบ้าง จะเลือกใช้ชีวิตแบบสุดขั้วทรมานตนก็ได้หรือจะเอาแบบสุดขั้วจงกินจงดื่มจงทำตามแรงอำนาจกิเลสตนเพราะตายแล้วก็สูญเปล่าก็ได้ หรือจะแบ่งชีวิตออกเป็น 4 ช่วงอายุก็ใช้ได้ทีเดียว แต่บางคนอาจสนใจการใช้ชีวิตแบบเดินตามทางสายกลางอยู่แบบศาสนาพุทธที่ชี้นำก็ย่อมทำได้อย่างนั้น.

หมายเลขบันทึก: 626960เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2017 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2017 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท