ชุมชนเขาราวเทียนน้อมนำพระราชดำริ อนุรักษ์ป่า-สร้างความมั่นคงแหล่งอาหาร


“ถ้าเราไม่รักษาไว้ ป่าก็จะไม่เหลือ ทั้งคนในคนนอกเข้ามากอบโกยกันอย่างผิดวิธี ทั้งใช้รถมาขนมาลอบตัดไม้ หน่อไม้ที่แกแล้วก็ยังถูกหัก ถูกขุดไปก็มี คนเป็นร้อยเป็นพันกรูกันเข้าไปเหยียบย่ำผืนป่า สารพัดวิธี ป่าแทบไม่มีเวลาได้พักฟื้นคืนสภาพ ดังนั้นเราจึงต้องลุกขึ้นปกป้องผืนป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าต่อการดำรงชีวิต และเป็นซุปเปอร์มาเก็ตใหญ่ให้ชาวบ้านได้หยิบจับ”


ป่าสงวนแห่งชาติเขาราวเทียนทอง ถือเป็นผืนป่าใหญ่ที่สุดของจังหวัดชัยนาทที่หลงเหลืออยู่ในขณะนี้ มีพื้นที่มากกว่า 22,000 ไร่ เป็นป่าเบญจพรรณมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจาก 2 อำเภอ ทั้ง 4 ตำบล 14 หมู่บ้านที่อยู่ติดกับเขาราวเทียนทอง ได้แก่ อ.เนินขาม และ อ.หันคา ได้อาศัยผืนป่าแห่งนี้เป็นแหล่งอาหารสำคัญที่หล่อเลี้ยงชุมชนมาเนิ่นนาน

บ้านบุทางรถ หมู่ 5 ต.เด่นใหญ่ อ.หันคา จ.ชัยนาท เป็นหนึ่งใน 14 หมู่บ้านที่ได้ใช้ประโยชน์จากป่าเขาราวเทียนทอง มีจำนวนประชากร 772 คน 269 ครัวเรือน ผืนป่าที่ชาวบ้านบุทางรถช่วยกันดูแลมีเนื้อที่ 1,443 ไร่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้พึ่งพาด้วยการเก็บของป่ามากินทั้งหน่อไม้ ผักหวาน ผักอีนูน เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดระโงก หากกินเหลือก็จะนำไปขายแบบพออยู่พอกิน หรือจะเป็นการเก็บไม้ไผ่มาใช้ในการต่อเติมที่อยู่อาศัยหรือประดิษฐ์ของใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพรอีกหลายชนิด เช่น ปลาไหลเผือก ที่พบเห็นมากที่สุดให้ชาวบ้านได้นำไปเป็นยาแก้ไขแทบจะทุกชนิด หรือ ต้นหนอนตายยาก ที่สามารถแก้โรคผิวหนังได้


มานัส ม่วงเกิด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านบุทางรถ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการรักษาป่าว่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล พร้อมทั้งตั้งกฎระเบียบการใช้ป่าขึ้น 6 ข้อ ประกอบด้วย 1.ห้ามตัดต้นไม้โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ 2.ห้ามขุดต้นไม้ออกจากพื้นที่ 3.ห้ามล่าสัตว์ทุกชนิด 4.ห้ามนำรถตั้งแต่ 4 ล้อขึ้นไปเข้ามาบริเวณผืนป่า 5.ห้ามเผาหรือทิ้งก้นบุหรี่ซึ่งอาจก่อให้เกิดไฟป่า และ 6. ห้ามบุกรุกและยึดครองผืนป่า หากฝ่าฝืนจะถูกตักเตือน หากยังทำผิดซ้ำก็จะถูกปรับเงินตั้งแต่ 500-3,000 บาท และนำส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฎหมาย นอกจากนี้แล้วยังมีการประกาศปิดป่าตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤษภาคม ให้ป่าได้มีเวลาพักฟื้นฟู พร้อมให้ชาวบ้านได้เข้าไปหากินต่อไปเมื่อถึงช่วงเปิดป่า และทำแนวกันไฟ ปลูกป่าเป็นประจำทุกๆ ปี


ผู้ใหญ่มนัส บอกว่า ช่วงแรกชาวบ้านยังไม่เข้าใจว่าจะปิดป่าไปทำไม ทางคณะกรรมดูแลรักษาป่าหมู่บ้านบุทางรถจึงได้จัดเวทีอธิบาย ปลูกฝัง และสร้างจิตสำนึกเรื่อยมา กว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลา 4-5 ปี เพราะเขาเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ได้เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากป่าอย่างถูกวิธี คือ เก็บไว้ให้เหลือหน่อเหลือเชื้อให้สามารถขึ้นใหม่ในปีต่อๆ ไปได้ ไม่ใช่ไปขุดรากถอนโคน จนทุกคนเริ่มเห็นดีเห็นชอบและช่วยกันดูแลป่า ป่าเริ่มสมบูรณ์ขึ้น เกิดฝายชะลอน้ำ ดินมีความชุ่มชื้น ของป่าหาได้เยอะขึ้น เขาก็มีกินมีรายได้ดีขึ้น

“ถ้าเราไม่รักษาไว้ ป่าก็จะไม่เหลือ ทั้งคนในคนนอกเข้ามากอบโกยกันอย่างผิดวิธี ทั้งใช้รถมาขนมาลอบตัดไม้ หน่อไม้ที่แกแล้วก็ยังถูกหัก ถูกขุดไปก็มี คนเป็นร้อยเป็นพันกรูกันเข้าไปเหยียบย่ำผืนป่า สารพัดวิธี ป่าแทบไม่มีเวลาได้พักฟื้นคืนสภาพ ดังนั้นเราจึงต้องลุกขึ้นปกป้องผืนป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าต่อการดำรงชีวิต และเป็นซุปเปอร์มาเก็ตใหญ่ให้ชาวบ้านได้หยิบจับ” ผู้ใหญ่มานัส เน้นย้ำจุดยืน


ปี 2559 นี้ คณะทำงานเครือข่ายเขาราวเทียน ได้พัฒนาโครงการ "แหล่งอาหารชุมชนเพื่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนเขาราวเทียน" โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาป่าชุมชนเขาราวเทียนให้เป็นแหล่งอาหารที่มีความมั่นคงและยั่งยืน ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยดีต่อสุขภาพให้กับชาวบ้านต่อไป

ผู้ใหญ่ฯ มานัส กล่าวถึงโครงการฯว่าหลังจากที่ป่าชุมชนเขาราวเทียนทองเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้น จึงมองความต่อเนื่องของการอนุรักษ์ป่า เพื่อให้ป่าชุมชนเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารและสมุนไพรรักษาโรค ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารปลอดภัยให้ชุมชน เพราะของป่าที่หาได้ถือเป็นอาหารที่ได้จากธรรมชาติปลอดสารเคมีจึงดีต่อสุขภาพอีกด้วย และช่วยลดรายจ่ายค่าอาหารในครัวเรือนได้อีกด้วย


โดยชุมชนจะร่วมกัน “จัดทำแผนที่แหล่งอาหาร” โดยจัดเก็บข้อมูลด้วยการวางแปลงสำรวจ ชนิดพันธุ์ และความหลากหลายของชนิดพันธุ์ เพื่อวิเคราะห์การกระจายตัวของพืชอาหาร และเก็บรวบรวมข้อมูลช่วงฤดูกาลการให้ผลผลิตโดยออกแบบเป็นแผนที่เดินดินของชุมชนอบรมการถนอมและแปรรูปผลผลิตจากป่า” ให้ความรู้เกี่ยวการถนอมอาหารและการแปรรูปอาหารป่าที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารของชุมชนในช่วงนอกฤดูกาล

“อบรมการใช้พืชสมุนไพรเพื่อเป็นยารักษาโรค” ให้ความรู้เกี่ยวกับชนิดพืชสมุนไพรที่พบในป่าชุมชนเขาราวเทียน สาธิตวิธีการปรุงยา และข้อควรระวังในการใช้พืชสมุนไพร และพัฒนาอาสาสมัคร” เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังด้วยคนในชุมชน อย่างน้อย 20 คนครอบคลุมทุกหมู่บ้าน และการส่งเสริมให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเป็นเครือข่ายคณะทำงาน ซึ่งจะเป็นอนาคตที่ช่วยรักษาป่าชุมชนเขาราวเทียนให้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป


ด้าน ผศ.ดร.กิติชัย รัตนะ ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ ในฐานะผู้จัดการโครงการสนับสนุนวิชาการและเสริมสร้างศักยภาพภาคีเครือข่ายภาคกลาง สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. กล่าวเสริมว่า การอนุรักษ์ป่ายุคใหม่ ต้องมองเป็นฐานทรัพยากรเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตให้มากขึ้น ตราบใดที่ทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าป่า ก็จะเกิดการดูแลรักษา เครือข่ายป่าชุมชนเขาราวเทียนทอง ถือว่ามีกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนมากขึ้นและสามารถตอบโจทย์กับวิถีชีวิตมากขึ้น จนเล็งเห็นว่าการจัดการป่านั้นต้องมีการวางแผนพัฒนาป่าแบบองค์รวม ทำให้ชุมชนได้ใช้ป่าเป็นเครื่องมือสู่การเรียนรู้พัฒนาตนเองและชุมชน ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและยืนได้ด้วยตัวเอง

“ทั้งนี้ สสส. ได้ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงฐานทรัพยากรกับมิติสุขภาวะ ซึ่งไม่ได้มองเพียงแค่สุขภาวะทางด้านร่างกาย แต่ในแง่ของอาหารปลอดภัยก็สำคัญไม่น้อยเช่นกัน เพราะเราเชื่อว่าอาหารที่มาจากป่าคืออาหารที่ปราศจากสารเคมีและดีต่อสุขภาพอีกด้วย” อาจารย์กิติชัย กล่าว


เครือข่ายป่าชุมชนเขาราวเทียนทอง คือชุมชนตัวอย่างซึ่งมีบทเรียนที่ดีในการดูแลรักษาป่า จากความสำเร็จของความทุ่มเทและความร่วมมือของชุมชน จึงสามารถเป็นพื้นที่ศึกษาดูงาน และเป็นพื้นที่ถอดแบบแนวคิดการจัดการป่าชุมชนไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ได้เป็นอย่างดี




ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท