​ไตรลักษณ์และการนำมาประยุกต์ใช้




ไตรลักษณ์และการนำมาประยุกต์ใช้

ดร. ถวิล อรัญเวศ

รอง ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต ๔

“ไตรลักษณ์” หรือกฎสำคัญแห่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัจธรรมที่เป็นจริงตลอดมาและตลอดไป โดยสรรพสิ่งในโลกนี้ ย่อมมีลักษณะ ๓ ประการ ดังนี้

๑. อนิจจัง ความไม่เที่ยง เกิดมาเป็นทารก เป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว วัยชราหรือสูงอายุ ตามลำดับ บางคนบุญน้อยอาจตายก่อนไม่ได้ตามนี้ก็มี ร่างกายสวยงาม เหี่ยวย่น ผมดำ ผมหงอก ฟันดี ก็กลายเป็นฟันโยกฟันหลุด ฟันหรอ และฟันหมด และมีฟันเทียม เป็นเรื่องธรรมดาของสังขาร

๒. ทุกขัง ความทนทุกข์ เมื่อดำรงอยู่ก็พบกับสิ่งต่าง ๆ มากระทบ ทำให้สุขบ้าง ทุกข์บ้าง

ถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตก็จะพบความเจ็บป่วย ปวดหัว ตัวร้อน ปวดท้อง ปวดฟัน มีโรคภัยมาเบียนเบียน

ต้องทนทุกข์ทรมาน เบาหวาน ความดัน ไมเกรน หน้ามืด ตาลาย สารพัดโรค

๓. อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้ อย่าแก่นะ อย่าตายนะ ร่างกายจงงามตลอดไปนะ ไม่สามารถบังคับเหมือนหุ่นยนต์ที่เขาสร้างขึ้นมา ไม่มีใครบอกได้ว่า เจ้าร่างกาย จงอย่าเหี่ยวย่น อย่าอ้วน อย่าเป็นโอ่ง หรืออึ่งยืนนะ บอกไม่ได้

กฎธรรมชาตินี้ จัดว่าเป็น ธรรมธาตุ คือภาวะที่ทรงตัวอยู่โดยธรรมดา เป็น ธรรมฐิติ คือภาวะที่ตั้งอยู่ หรือยืนตัวเป็นหลักแน่นอนอยู่โดยธรรมดา เป็น ธรรมนิยาม คือ กฎธรรมชาติ หรือกำหนดแห่งธรรมดาไม่เกี่ยวกับผู้สร้างผู้บันดาล หรือการเกิดขึ้นของศาสนาหรือศาสดาใด ๆ กฎธรรมชาตินั้นแสดงฐานะของศาสดาในความหมายของพุทธธรรมด้วยว่าเป็นผู้ค้นพบกฎเหล่านี้แล้วนำมาเปิดเผยชี้แจงแก่ชาวโลกไตรลักษณ์นั้น มีพุทธพจน์แสดงหลักไว้ในรูปของกฎธรรมชาติว่าดังนี้ "ตถาคต ทั้งหลายจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุนั้นก็ยังคงมีอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามว่า สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพ สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ คือทนได้ยาก ย่อมประสบกับความไม่สบายกายไม่สบายใจ ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา คือไม่เป็นของใคร ไม่สามารถควบคุมบังคับได้

ตถาคต (พระพุทธเจ้า) ตรัสรู้เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผยแจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่า " สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา”

ไตรลักษณ์นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณ์ แปลว่าลักษณะที่ทั่วไป หรือเสมอเหมือนกันแก่สิ่งทั้งปวงซึ่งได้ความหมายเท่ากันไม่มีสองมาตรฐาน ทุกคนต้องพบเจอแน่นอน

สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เรียกตามคำบาลีว่า เป็น อนิจฺจ หรือ อนิจจะ ภาษาไทยนิยมใช้คำว่า อนิจจัง คือความไม่เที่ยง เรียกเป็นคำศัพท์ตามบาลีว่า อนิจจตา ลักษณะที่แสดงถึงความไม่เที่ยงเรียกเป็นศัพท์ว่า อนิจจลักษณะ

สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ หรือ ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ความเป็นของคงทนอยู่มิได้ ไม่สามารถทนทานได้ สักวันหนึ่งต้องแตกดับสลายไปเป็นธรรมดา ความเป็นสภาวะมีความบีบคั้นขัดแย้ง หรือภาวะที่เป็นทุกข์นั้น เรียกเป็นคำศัพท์ตามบาลีว่า ทุกขตา ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นทุกข์เรียกเป็นศัพท์ว่า ทุกขลักษณะ

ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

ความเป็นอนัตตา ความเป็นของมิใช่ตัวตน หรือภาวะที่เป็นอนัตตานั้นเรียกเป็นคำศัพท์ตามบาลีว่า อนัตตตา ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นอนัตตา เรียกเป็นคำศัพท์ว่า อนัตตลักษณะ

สังขารทั้งปวงกับธรรมทั้งปวง "ธรรม" เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด กินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ใครก็ตามกล่าวถึง คิดถึง หรือรู้ถึงทั้งเรื่องทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งที่ดีและที่ชั่ว ทั้งที่เป็นสามัญวิสัยและเหนือสามัญวิสัย รวมอยู่ในคำว่าธรรมทั้งสิ้น ถ้าจะให้มีความหมายแคบเข้า หรือจำแนกแยกธรรมนั้นแบ่งประเภทออกไป แล้วเลือกเขาส่วนหรือแง่ด้านแห่งความหมายที่ต้องการ หรือมิฉะนั้นก็ใช้คำว่าธรรมคำเดียวเดี่ยวโดดเต็มรูปของมันตามเดิม แต่ตกลงหรือหมายรู้ร่วมกันไว้ว่า เมื่อใช้ในลักษณะนั้น ๆ ในกรณีนั้นหรือในความแวดล้อมอย่างนั้น ๆ จะให้มีความหมายเฉพาะในแนวความ หรือในขอบเขตว่าอย่างนั้น ๆ เช่น เมื่อมาคู่กับอธรรมหรือใช้เกี่ยวกับความประพฤติที่ดี ที่ชั่วของบุคคล หมายถึง บุญ หรือคุณธรรมคือความดี เมื่อมากับคำว่า อัตถะ หรืออรรถ หมายถึงตัวหลัก หลักการ หรือเหตุ เมื่อใช้สำหรับการเล่าเรียน หมายถึงปริยัติ พุทธพจน์ หรือคำสั่งสอน เป็นต้น ธรรม ที่กล่าวถึงในหลักอนัตตา แห่งไตรลักษณ์นี้ หมายถึง สภาวะหรือสภาพทุกอย่าง ไม่มีขีดจำกัด ธรรม ในความหมายเช่นนี้จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น เมือแยกแยะแจกแจงแบ่งประเภทออกไป เช่น จำแนกเป็นรูปธรรม และนามธรรมบ้าง โลกียธรรม และโลกุตตรธรรมบ้าง สังขตธรรมและอสังขตธรรม บ้าง กุศลธรรมและอกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรมบ้าง ธรรมที่จำแนกเป็นชุดเหล่านี้ แต่ละชุดครอบคลุมความหมายของธรรมได้หมดสิ้นทั้งนั้น แต่ชุดที่ตรงกับแง่ที่ควรศึกษาในที่นี้คือ ชุดสังขตธรรม และอสังขตธรรม

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงแยกประเภทได้เป็น ๒ อย่างคือ

๑. สังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่มีปัจจัย สภาวะที่เกิดจากปัจจัย
ปรุงแต่งขึ้น สภาวะที่ปัจจัยทั้งหลายมาร่วมกันแต่งสรรค์ขึ้นสิ่งที่ปัจจัยประกอบเข้าหรือสิ่งที่ปรากฏและเป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังขารซึ่งมีรากศัพท์และคำแปลเหมือนกันหมายถึงสภาวะทุกอย่างทั้งทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ทั้งที่เป็นโลกียะและโลกุตตระ ทั้งที่ดีที่ชั่วและที่เป็นกลาง ๆ ทั้งหมด เว้นแต่นิพพาน

๒. อสังขตธรรม คือ ธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่ง ได้แก่ ธรรมที่ไม่มีปัจจัย หรือสภาวะที่ไม่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของปัจจัย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิสังขาร ซึ่งแปลว่า สภาวะปลอดสังขารหรือสภาวะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง หมายถึง นิพพาน ความดับทุกข์ พ้นทุกข์

ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องไตรลักษณ์

เมื่อได้เรียนรู้ความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งปวงแล้ว จะได้ประโยชน์หลายประการ ดังนี้

๑. ความไม่ประมาท ทำให้คนไม่ประมาทมัวเมาในวัยว่ายังหนุ่มสาว ในความไม่มีโรคและในชีวิต เพราะความตายอาจมาถึงเมื่อไรก็ได้ไม่แน่นอน ทำให้ไม่ประมาทในทรัพย์สิน เพราะคนมีทรัพย์อาจกลับเป็นคนจนได้ ทำให้ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น เพราะผู้ที่ไร้ทรัพย์ ไร้ยศ ต่ำต้อย กว่าแต่ภายหน้าอาจมีทรัพย์ มียศ และเจริญรุ่งเรืองกว่าก็ได้เมือคิดได้ดังนี้จะทำให้สำรวมตน อ่อนน้อม ถ่อมตน ไม่ยโสโอหัง วางท่าใหญ่ ยกตนข่มท่าน เพราะถ่อมตน คนรัก อวดนัก คนชัง

๒. ทำให้เกิดความพยายาม เพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้า เพราะรู้ว่าถ้าเราพยายามก้าวไปข้างหน้าแล้วชีวิตย่อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

๓. ความไม่เที่ยงแท้ ทำให้รู้สภาพการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เมื่อประสบกับสิ่งไม่พอใจ
ก็ไม่สิ้นหวังและเป็นทุกข์ ไม่ปล่อยตนไปตามเหตุการณ์นั้น ๆ จนเกินไป พยายามหาทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ดี

ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องทุกขัง

เมื่อผู้ใดได้เรียนรู้เรื่องความทุกแล้ว จะรู้ว่า ความทุกข์เป็นของธรรมดาประจำโลก อย่างหนึ่งซึ่งใคร ๆ จะหลีกเลี่ยงได้ยาก
ต่างกันก็แต่เพียงรูปแบบของทุกข์นั้น เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นแก่ชีวิต ผู้มีปัญญาตรองเห็นความจริงว่าความทุกข์เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งของชีวิต ชีวิตย่อมระคนด้วยทุกข์เป็นธรรมดา เมื่อเห็นเป็นธรรมดา ความยึดมั่นก็มีน้อย ความทุกข์สามารถลดลงได้หรืออาจหายไปเพราะไม่มีความยึดมั่น ความสุขที่เกิดจากการปล่อยวางย่อมเป็นสุขอันบริสุทธิ์

ประโยชน์ของการเรียนรู้เรื่องอนัตตา

การเรียนรู้เรื่องอนัตตา ทำให้เรารู้คามจริงของสิ่งทั้งปวง ไม่ต้องถูกหลอกลวง จะทำให้คลายตัณหา มานะ ทิฏฐิ ทำให้ไม่ยึดมั่น ถือมั่น เบากาย เบาใจ เพราะเรื่องอนัตตาสอนให้เรารู้ว่า สังขารทั้งปวง เป็นไปเพื่ออาพาธ ฝืนความปรารถนา บังคับบัญชาไม่ได้อย่างน้อยที่สุดเราจะต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ตัวเราเองจะต้องพบกับธรรมชาติแห่งความเจ็บปวด ความแก่ชรา และความตายจากครอบครัวและญาติพี่น้องตลอดจนทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้ปล่อยวาง เพราะทุกข์อยู่ที่ถือ สุขอยู่ที่การรู้จักปล่อยวาง

การนำมาประยุกต์ใช้

ไตรลักษณ์ ลักษณะ ๓ ประการ ที่ต้องเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เป็นกฎของธรรมชาติ ซึ่งกฎนี้สามารถนำมาใช้เป็นฐานในการพัฒนาระบอบการปกครองได้ ซึ่งระบอบการปกครองที่มีรากฐานจากหลักแห่งความจริง จะเป็นระบอบที่คงอยู่ได้นาน เพราะไม่ขัดกับธรรมชาติ เป็นการโอนอ่อนผ่อนปรนไปตามการลื่นไหลเป็นไปของสรรพสิ่งในสังสารวัฏ การจะนำไตรลักษณ์มาเป็นหลักคิดในการปกครองนั้น เช่น สมัยก่อน อำนาจการปกครองจะรวมอยู่แต่ในบุคคลเพียงผู้เดียว ซึ่งขัดกับหลักธรรมชาติที่ว่าทุกอย่างจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเมื่อหลักธรรมชาติสำแดง ผู้คนจึงแสดงออกในรูปแบบของการเยื้อแย่งอำนาจกันด้วยการใช้กำลังประทุษร้าย ที่เห็นชัดคือในสมัยอยุธยาที่มีการแย่งชิงอำนาจในการปกครอง ซึ่งการแย่งชิงอำนาจนี้นำมาซึ่งการผลัดเปลี่ยนอำนาจ การเปลี่ยนแปลงของขั้วอำนาจสิ่งเหล่านี้ก็มีหลักความจริงแห่งการเปลี่ยนแปลงอยู่เบื้องหลัง

ต่อมาได้มีนักปราชญ์ทำการแยกอำนาจปกครองออกเป็น ๓ อย่างเป็นอิสระต่อกัน นั่นคือ อำนาจในอำนาจในการตรากฎหมาย (นิติบัญญัติ) อำนาจในการบริหาร (คณะรัฐมนตรี) และอำนาจในการตัดสินถูกผิด (ศาลหรือผู้พิพากษา) ซึ่งอำนาจปกครองแม้จะถูกแยกออกมาแต่ก็ยังแสดงลักษณะของความจริงแห่งการเปลี่ยนแปลง ในบางครั้งอำนาจก็ซ้อนทับกัน บางครั้งอำนาจทั้ง ๓ ก็ถูกรวบ แต่เมื่อระบอบการปกครองชนิดหนึ่งเกิดขึ้นมา ก็ได้ทำให้อำนาจทั้ง ๓ นี้สงบลง ระบอบการปกครองใหม่นั้นอนุญาตให้ผู้กุมอำนาจทั้ง ๓ นี้มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ได้ ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการลื่นไหลไปตามหลักของธรรมชาติ ไม่ขัดต่อหลักธรรมชาติ ดังนั้นระบอบนี้จึงได้ให้คุณประโยชน์หลายประการแก่ประเทศซึ่งใช้ระบอบนี้ และทำให้การปกครองของประเทศที่ใช้ระบอบนี้มีความมั่นคงยั่งยืนต่อมา

ประชาธิปไตยเป็นหลักการที่สอดคล้องกับหลักแห่งความจริง ในเมื่อมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าสู่พระนิพพาน อันเป็นสิ่งสูงสุดแห่งความสุขในทางศาสนา แล้วเหตุใดมนุษย์จะไม่สามารถเข้าถึงความมีอำนาจในการปกครองตนเองอันเป็นความสุขอย่างหนึ่งในทางโลก เมื่อประชาธิปไตยเป็นหลักการปกครองที่เป็นไปตามหลักธรรมชาติแล้ว เหตุใดเรายังเห็นการเมืองมีความวุ่นวายอยู่อีก นั่นเป็นเพราะประชาชนทั้งหลายมีความยึดติด ความยึดติดเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักไตรลักษณ์ การยึดติดเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนละเมอเพ้อฝันถึงการดำรงอยู่ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งชั่วกาลนาน ต้องการให้สิ่งที่ตนรักใครชอบพอนั้นดำรงอยู่ต่อไป ทั้งที่สิ่ง ๆ นั้นก็ต้องตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ ความปรารถนาในการที่จะให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งคงอยู่ตลอดไปนั้น ถ้าเป็นไปในทางที่ดีก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าเป็นไปในทางที่ไม่ดี ย่อมมีคนต่อต้าน แต่เมื่อไม่ได้ตามใจปรารถนาก็เกิดความทุกข์ แสดงออกโดยยักยื้อกันไปมา สิ่งเหล่านี้ผิดธรรมชาติ นำมาซึ่งความวุ่นวายต่อประเทศชาติ ความยึดติด ยึดมั่นในตัวตนว่า เป็นสีนั้น สีนี้ เป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ เมื่อเจอกันก็เริ่มแบ่งแยกว่าคุณเป็นอีกฝ่าย ฉันเป็นอีกฝ่าย ความพยายามเช่นนี้เป็นการยึดติดยึดมันในตัวตนมากเกินไป ขัดต่อหลักอนัตตา คือมิใช่ของใคร ใครก็บังคับไม่ได้ และเป็นการส่งต่อความยึดมั่นถือมั่นให้ขยายใหญ่โตไปยังบุคคลอื่นอีกด้วย หากทุกคนคิดได้ว่า เราทุกคนก็เป็นคนเหมือนกัน เกิดมาอยู่ในโลกนี้ได้ไม่นานก็ต้องตายไป จะเหลือแต่คุณงามความดีหรือบุญและบาปเท่านั้น ฉะนั้น จำต้องหมั่นทำหน้าที่ของตนต่อไป ความสุขก็ย่อมจะบังเกิดมีแก่ประเทศชาติของเรา

กฎไตรลักษณ์มีความสำคัญมากในการปฏิบัติธรรม ใช้ในการพิจารณาใคร่ครวญใน
ขั้นปัญญามหาปัญญา เพื่อการปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างในขั้นโลกุตตระ.....อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สรรพสิ่งไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ไม่จีรังยั่งยืน ล้วนเป็นทุกข์ ตั้งอยู่ ทนอยู่ไม่ได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แล้วก็เสื่อมสลายแตกดับไปในที่สุด แม้แต่ก้อนกรวดหิน ดินทราย ก็ไม่พ้นกฎนี้ กฎนี้ยิ่งใหญ่ครอบคลุมทั้งจักรวาล กฎไตรลักษณ์ยิ่งใหญ่มาก ครอบคลุมทั้งอนันตจักรวาล เหมือนหรือพอๆ กับกฎแห่งกรรม วัฏสงสาร กฎธรรมชาติ นั่นแล มีเพียงสองสิ่งเท่านั้น ที่กฎเหล่านี้ควบคุมไปไม่ถึง คือ จิต และพระนิพพาน ที่อยู่เหนือโลก เหนือธรรม เป็นโลกอุดรไปแล้ว.....ใครอยากไปนิพพาน หรือแดนดับไปแห่งทุกข์ทั้งปวง จำเป็นอย่างยิ่งต้องศึกษาและปฏิบัติในเรื่องกฎไตรลักษณ์ให้เข้าใจถ่องแท้และแจ่มแจ้งแทงตลอด จึงจะไปได้ ต้องลงมือศึกษา ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่อเนื่อง ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เพราะในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ ต้องมีการลงทุนลงแรงทั้งนั้น และต้องใช้หลัก "อัตตาหิ อัตตโน นาโถ" ตนแลเป็นที่พึ่งของตน (ยกเว้นตนแลหามตนไปทิ้งเมื่อยามตายแล้ว ต้องให้คนอื่นที่อยู่เบื้องหลังจัดการ) และไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น ที่คนใดคนหนึ่งจะอยู่เหนือกฎธรรมชาติเหล่านี้ได้

บทสรุป

เมื่อสรรพสิ่งตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และ

เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับได้ เราต้องไม่ประมาท ตั้งอยู่ในคุณงามความดี ตั้งหน้าตั้งตาทำ

แต่ความดี ละเว้นชั่ว และทำใจให้ผ่องใส ดังบทกลอนที่ว่า

เมื่อเจ้ามา เจ้ามีอะไร มากับเจ้า เจ้าจะมัวเมา แต่สุข สนุกไฉน

เมื่อเจ้ามา มือเปล่า เจ้าจะเอาอะไร เจ้าก็ไป มือเปล่า เหมือนเจ้ามา

พรรณไม้ดอก ถึงโตได้ วันละนิด ยังความงาม พาจิตใจ ให้สดใส

ก่อนเหี่ยวแห้ง หมู่ภมร ได้ชื่นใจ ดูดเกสร บินร่อนไป เลี้ยงรวงรัง

อันมนุษย์ เกิดมาอยู่ คู่กับโลก มีสุข ทุกข์ โศก โรคภัย ตายแล้วฝัง

ก่อนจะดับ ลับโลกไป เพราะอนิจจัง ควรปลูกฝัง ความดีไว้ ให้โลกชม

----------


หมายเลขบันทึก: 626377เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2017 02:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2017 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท