เติมเต็มประชาธิปไตยเต็มใบด้วย Liquid Democracy และพัฒนากระบวนการยุติธรรมสู่ระบบ Crowd Jury ด้วยเทคโนโลยี Block Chain


ปรเมศวร์ กุมารบุญ

นักกฎหมายเทคโนโลยีและวุฒิวิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร


ฌอง ฌาส์ รูสโซ่ (Jean Jaques Rousseau) นักคิดผู้ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งยุค Enlightenment ได้เขียนหนังสือด้านการปกครองที่อมตะที่สุดเล่มหนึ่งคือ “สัญญาประชาคม” (The social contract) ในปี 1762 เป็นบ่อเกิดของวาทกรรมที่นำมาซึ่งความเสมอภาคมากมาย

ในเรื่อง “ผู้แทน” (Representative) รูสโซ่ ได้กล่าวไว้ทำนองว่า อำนาจอธิปไตยไม่อาจส่งมอบแทนกันได้ เรื่องที่แทนกันได้คือหน้าที่ รูสโซ่ เห็นว่าการที่กฎหมายใดไม่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนโดยตรงถือว่าเป็นโมฆะ เป็นกฎหมายไม่ได้ การมีผู้แทนเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์ พวกเขามีเสรีเพียงตอนเลือกผู้แทนแล้วถูกปกครองจากพวกเขา เป็นการมอบหมายโอนให้ทำหน้าที่แทน แต่ไม่สามารถโอนเจตจำนงที่แท้จริงได้

รูสโซ่ เห็นว่า “ประชาธิปไตยแท้จริงไม่เคยมี และจะไม่มีวันมี” !!!........


ฌอง ฌากส์ รูสโซ่


วาทะกรรมของ รุสโซ่ ที่กล่าวว่า ประชาธิปไตยแท้จริงไม่เคยมี และจะไม่มีวันมี นั่นเป็นเพราะการมีระบบตัวแทน (Representative) หรือผู้แทนราษฎร ก็มิใช่การแสดงถึงเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนในสังคมตราบใดที่แต่ละเรื่องแต่ละประเด็นหรือกฎหมายแต่ละฉบับประชาชนไม่ใช่คนที่แสดงเจตจำนงตัดสินใจในเรื่องนั้นๆด้วยตัวเอง

แต่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้เข้าสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง กำลังถูกท้าทายด้วยแนวคิดการนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมและสังคมเครือข่าย “Telecommunication Technology and Social Network” มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครองสังคมมนุษย์ที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แท้จริงที่พูดถึงในวงการวิชาการว่า Liquid Democracy


วิวัฒนาการจากปรัชญาประชาธิปไตยมาสู่ประชาธิปไตยที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

ผมชอบทัศนะของ อริสโตเติล (384-322 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเสนอปรัชญาการเมืองด้วยการ “สังเกต” การเมืองการปกครองใน 158 นคร อริสโตเติลได้วิเคราะห์ให้ความเห็นเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” ว่าคือการจัดองค์กรของอำนาจปกครองในนครที่กำหนดการจัดสรรและสภาพของอำนาจสูงสุดในรัฐและในวิถีชีวิตของสังคมหนึ่ง และอริสโตเติลยังได้แบ่งรัฐธรรมนูญไว้หลายวิธีตามความเห็นของเขา อริสโตเติล ใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์ คือ สังเกต วิเคราะห์ และสรุปเป็นทฤษฎี

อำนาจในความหมายของ อริสโตเติล นั้น “ไม่ใช่อยู่ที่การทำอย่างไรให้มนุษย์ยอมให้มนุษย์ด้วยกันปกครองกันเอง” เพราะมนุษย์นั้นมักใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตน แต่อำนาจนั้น อริสโตเติล เข้าใจว่า “มนุษย์ยินดีให้ กฏหมายเป็นผู้ปกครอง” แต่ต้องเป็นกฎหมายที่มาด้วยความชอบธรรม และถูกใช้อย่างเป็นธรรม

นอกจากนั้น อริสโตเติล ยังเป็นคนแรกที่แยกกฏหมายฉบับแรก ที่จะต้องเป็นกฏหมายสูงที่สุดในการก่อตั้งนคร ออกจากกฏหมายทั่วไป ซึ่งเรียกว่า “รัฐธรรมนูญ” (Constitution)

พอมาถึงยุคกลางภายหลังโรมันตะวันตกล่มสลายด้วยฝีมือของ อนารยชน (Barbares) สังคมก็เข้าสู่ยุคศักดินามี พระ กษัตริย์ ขุนนาง นักรบ แรงงาน โดยยึด “หน้าที่” ของคนเป็นตัวกำหนดศักดินา ในยุคแรกนั้นไม่มีการรวมศูนย์อำนาจต่างฝ่ายต่างรบพุ่งจนกระทั่งพวก ฟรอง (Francs) ซึ่งมี ซาลมาญ (Charlemange) เป็นหัวหน้าได้สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ โดยได้รับการสวมมงกุฏจากพระสันตะปาปา เมื่อ ค.ศ. 800 และถือว่า ซาลมาญ เป็นจักรพรรดิโรมันตะวันตก ซึ่งมีดินแดนเท่ากับ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยี่ยม ลักซ์เซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ และบางส่วนของสเปน รวมกันในยุคนั้น แต่จักรพรรดิผู้นั้นอายุสั้น และดินแดนอันยิ่งใหญ่ได้ล่มสลายลง ระบบศักดินานี้ได้ทอนอำนาจของจักรพรรดิเป็นทอดๆ โดยให้เจ้าศักดินาชั้นผู้ใหญ่ที่สาบานจะจงรักภักดีกับจักรพรรดิระดับ ดุ๊ก และเค้านท์ ซึ่งทั้งดุ๊ก และเค้านท์ นั้นก็คล้ายการกระจายอำนาจลงเป็นทอดๆ มีอิสระในดินแดนตน และยังมีชั้นอำนาจลดลงมาอีก สุดท้ายก็เกิดเป็นดินแดนระดับ ไวเคาน์ตี้ เป็นป้อมเป็นเมืองเล็กๆ รบพุ่งกันอีกเช่นเคย กลุ่มเล็กๆ ก็ลุกขึ้นมาสู้กับเมืองใหญ่ ชนชั้นล่างยอมพลีชีพรบพุ่งกับกองทัพใหญ่เพราะถูกการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม สุดท้ายก็ไม่มีใครมีอำนาจจริง ไม่มีการเคารพกฏหมาย การทอนอำนาจลดหลั่นกันลงมานี้ มิได้เกิดจากการยินยอมของผู้มีอำนาจสูงสุด จนมีการแข่งขันการมีอำนาจจากระดับล่างขึ้นมา ประชาชนเกิดการเบื่อหน่ายภาวะสงครามและการกดขี่ จึงเกิดนักปราชญ์มากมายหาทางยุติความไม่สงบของสังคม

จนได้มาสิ้นสุดยุคกลาง กษัตริย์ในประเทศมหาอำนาจทั้ง อังกฤษ และฝรั่งเศสต่างเร่งขยายอาณานิคม และอำนาจอธิปไตย เกิดเป็น สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปกครองโดยกษัตริย์ผู้เดียวในแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตามการปกครอง โดยกษัตริย์ในฝรั่งเศสและอังกฤษ ไม่นานก็เกิดความขัดแย้งในสังคม ระหว่างกษัตริย์ ขุนนาง และสามัญชน ซึ่งผลของการขัดแย้ง กษัตริย์กลับเป็นผู้ปราชัย

เมื่อสังคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล้มเหลว นักปราชญ์ทั้งหลายต่างก็ได้ช่วยกันหาทางออก จนสุกงอมมาเป็น “อำนาจนั้นต้องเป็นของประชาชน” แต่ในรัฐนั้นก็ต้องมีอำนาจ 3 ประการ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต่างคานอำนาจกันอยู่ ดังแนวคิดของอริสโตเติลในยุคโรมัน

(คนไทยเราอาจจะนึกว่า นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้มีตำแหน่งสูงสุดทางบริหารนั้น จะเป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ แต่ความจริงมิใช่เลย นายกไม่ได้มีอำนาจ ผู้ที่ใช้อำนาจนั้นคือฝ่าย ตุลาการ โดยอำนาจนั้นก็มาจากกฏหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติอันมาจากประชาชน นายกฯ มีเพียงอำนาจในการบริหารงานราชการเท่านั้นเอง)

เมื่อมาถึงยุคใหม่ เดิม 13 อาณานิคมในทวีปอเมริกาขึ้นต่ออังกฤษ พร้อมใจกันประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 จากอังกฤษ สุดท้ายก็ได้มีการร่วมมือกันร่างรัฐธรรมนูญขึ้น และประกาศใช้ในวันที่ 17 กันยายน 1787 ถือเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของโลก

ต่อมาฝรั่งเศสซึ่งเป็นชาติแรกในยุโรปที่รู้จักสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และขมขื่นกับระบบนี้เต็มทน คนในสังคมถูกเอารัดเอาเปรียบมากมายจากสังคมชั้นขุนนาง และกษัตริย์ ประชาชนจึงลุกฮือปฏิวัติสำเร็จ เมื่อ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 จนนโปเลียนสถาปนาการปกครองแบบกงสุลขึ้น ในที่สุดฝรั่งเศสก็ได้มี “คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองฝรั่งเศส” เมื่อ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1789 คำประกาศนี้มีอิทธิพลอย่างสูงไปทั่วโลก และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อตัวบทในรัฐธรรมนูญไทยหลายมาตราในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเราแทบลอกเขามาเลยซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่ดีทำให้ไทยมีรัฐธรรมนูญได้เร็ว

ที่ผมเกริ่นมานั้นก็เพื่อให้พอเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ในโลกอันกว้างใหญ่ของเรา มนุษย์เราไม่ต้องการให้ใครมาปกครองเรา (แม้แต่พ่อแม่เราเอง สมัยวัยรุ่นเราก็ยังไม่ชอบให้ท่านปกครองเลย) แต่มนุษย์ต้องการให้มีกฏหมาย ซึ่งมาจากมนุษย์คิดเองหรือมาจากตัวเราเอง ซึ่งเชื่อว่ามีความเป็นธรรมมาปกครองให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม และมีความสงบสุข และปัจจุบันมนุษย์ก็ยังเพียงแค่เลือกตัวแทนเข้าไปร่างกฎหมาย ดังนั้นทิศทางการพัฒนากระบวนการนี้ให้เจริญรุ่งเรืองมากกว่าเดิม ก็คือกฎหมายนั้นมนุษย์ต้องการ “มีส่วนร่วม” มากที่สุดในการได้มา


การมีส่วนร่วมภาคประชาชนสูงสุด คือ ประชาธิปไตยเต็มใบ

คำว่า “การมีส่วนร่วม” นั้นก็ลึกซึ้งไม่ใช่เล่น การมีส่วนร่วมนั้น เท่าใดจึงเรียกว่ามีส่วนร่วม? หรือแค่เพียงเลือกใครสักคนหนึ่งเข้าสภา ก็เรียกว่ามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายแล้ว หรือทุกความคิดเห็นของคนในรัฐต้องมีส่วนร่วมในทุกมาตราจริงๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ก็คงถือว่าสมบูรณ์ แต่ในทางปฏิบัติแล้วเงื่อนไขการปฏิบัติคงยุ่งยากเกินไปอาจเกิดความล่าช้า ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าผลดี ดังนั้นปัจจัยในสังคมยังถือว่าไม่เอื้อให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างสมบูรณ์

ผมเคยเข้าอบรมจากสมาคมการมีส่วนร่วมของประชาชนสากล หรือ International Association of Public Participation (http://www.iap2.org/) ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่ได้รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมภาคประชาชน และอบรมผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการสร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาชน ทำให้ได้เข้าใจถึงกระบวนวิธีของการมีส่วนร่วมภาคประชาชนมากขึ้น และเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างมาก ผมจึงขอย่อความรู้ให้สั้นที่สุดเข้าใจง่ายดังนี้ครับ


รูปที่ 1 หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ IAP2 Spectrum of Public Participation

จากรูปที่ 1 Spectrum ของ IAP2 ให้ท่านเริ่มอ่านบันทัดบนสุดจากซ้ายไปขวานะครับ ตามองตารางผ่านๆ ครั้งแรกอาจจะงงนิดนึงนะครับ แต่ลองค่อยๆ อ่านตามคำอธิบายของผมแล้วจะเข้าใจง่ายขึ้นดังนี้ครับ


1. Inform นั้น ก็หมายถึงการแจ้งให้ทราบ

-Public participation goal ซึ่งเป้าหมายของการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ก็เพียงเพื่อแจ้งให้สาธารณชนได้ทราบถึงปัญหา ทางเลือก โอกาส หรือทางแก้ไข เป็นต้น

-Promise to the Public ซึ่งต้องสัญญากับสาธารณชนว่า จะแจ้งประชาชนทราบเสมอ

-Example techniques ตัวอย่างเทคนิควิธีการให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ คือ การแจกเอกสารรายงานข้อเท็จจริง การให้ข้อมูลบนเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่หลักเกณฑ์ หรือระเบียบต่างๆ รวมถึงการจัด Open house หรือการจัดนิทรรศการเปิดบ้านให้สาธารณชนได้เข้ามาในองค์กรของท่าน ได้รู้จักบทบาทหน้าที่ของท่านในการกำหนดกฏเกณฑ์อันเกี่ยวข้องกับสาธารณชน

การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในขั้นตอน Inform นั้น นับว่าเป็นเพียงขั้นแรกที่เริ่มต้นของกระบวนวิธีการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งประชาชนได้มีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้น้อยมาก ก็ยังนับว่าห่างไกลจากธรรมชาติความต้องการของมนุษย์ในการที่จะมีกฎหมาย หลักเกณฑ์ หรือสิ่งใดก็แล้วแต่มาบังคับใช้กับมนุษย์ดังที่ท้าวความยาวมาแต่ต้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็อาจยังมีหน่วยงานรัฐของไทยที่มีอำนาจทางปกครอง ไม่สามารถให้ประชาชนได้มีส่วนเพียงรับรู้ได้ก็มี


2. Consult คือ การดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นหรือให้คำปรึกษา

-Public participation goal เพื่อรับฟังผลตอบรับจากการวิเคราะห์ของประชาชน ทางเลือกอื่น หรือการตัดสินใจ เป็นต้น

-Promise to the Public สิ่งที่ต้องสัญญากับสาธารณชนในขั้นตอนนี้คือ จะแจ้งประชาชนทราบเสมอ ปรารถนาที่จะรับฟัง และยอมรับข้อคิดเห็น ทั้งยังจัดเตรียมหนทางแก้ไขจากการตัดสินใจของสาธารณชน

-Example techniques ตัวอย่างเทคนิควิธีการให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ คือ การจัด Public comment คือจัดงานให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็น หรือการจัดการแสดงความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus group) หรือการออกเดินทางสำรวจข้อคิดเห็น (Survey) หรือจัดการประชุมสาธารณะ (Public meeting) เป็นต้น

การมีส่วนร่วมในระดับนี้ หน่วยงานที่ออกกฏเกณฑ์ ยังถือได้ว่าพอเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้แสดงความคิดเห็นอันเกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในสังคม


3. Involve คือ การทำงานร่วมกับประชาชนโดยตรง

-Public participation goal เป้าหมายของการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ก็คือการนำประชาชนที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือกฏเกณฑ์เข้ามาเป็นผู้ร่วมร่างหลักการโดยตรงตลอดกระบวนการ ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าได้หลักเกณฑ์เกี่ยวข้องโดยตรง เข้าใจตรงกันและได้พิจารณาร่วมกันแล้ว

-Promise to the Public สิ่งที่ต้องสัญญากับสาธารณชนในขั้นตอนนี้คือ เราจะทำงานร่วมกับท่าน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ท่านได้มส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการร่างหลักเกณฑ์ และสะท้อนให้เห็นทางเลือกในการพัฒนาหรือแก้ไขผลตอบรับจากสังคมที่ได้ตัดสินใจร่วมกัน

-Example techniques ตัวอย่างเทคนิควิธีการให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ คือ การจัด Work shop ทำงานร่วมกัน หรือการจัดทำ โพล ลงคะแนนให้ความเห็น

การมีส่วนร่วมในระดับนี้ หน่วยงานที่ออกกฏเกณฑ์ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการเสนอความคิดเห็นโดยตรงในขณะร่างหลักเกณฑ์ เพื่อจะได้นำมาใช้ในการร่างหลักเกณฑ์


4. Collaboration คือ การดึงประชาชนเข้ามาร่วมทำงานด้วยโดยตรงทุกขั้นตอน

-Public participation goal เป้าหมายของการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ก็คือ การทำงานร่วมกับประชาชนทุกขั้นตอนในการตัดสินใจ รวมถึงการตัดสินใจทางเลือกที่ต้องการอย่างแท้จริง

-Promise to the Public สิ่งที่ต้องสัญญากับสาธารณชนในขั้นตอนนี้คือ เราจะสนใจคุณตลอดเวลาเพื่อคำชี้แนะ และหานวัตกรรมสูตรสำเร็จในการแก้ไขปัญหามาใช้งาน ทั้งยังรวมคำชี้แนะ และข้อเสนอแนะของคุณ มาใช้ในการตัดสินใจมากที่สุดเท่าที่จะมากได้

-Example techniques ตัวอย่างเทคนิควิธีการให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ คือ การจัดตั้งคณะที่ปรึกษาภาคประชาชน (Citizen advisory committee) หรือการสร้างฉันทามติ (Consensus building) และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (Participation decision making)

ขั้นตอนนี้ ประชาชนนอกจากจะได้มีส่วนร่วมในการร่างหลักเกณฑ์ทุกขั้นตอน พร้อมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะแสดงความคิดเห็นอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังได้ร่วมตัดสินใจใช้หลักเกณฑ์ด้วย


5. Empower ขั้นตอนนี้ ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมภาคประชาชนสูงที่สุด นั่นคือ การใช้อำนาจของประชาชนบังคับใช้โดยตรง

-Public participation goal เป้าหมายของการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ก็คือ เมื่อได้หลักเกณฑ์หรือกฏหมายที่ตรงตามความต้องการของประชาชนแล้ว ได้ปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของประชาชนแล้ว ได้ตัดสินใจร่วมกันกับประชาชนแล้ว สุดท้ายก็ได้ประกาศบังคับใช้โดยประชาชน

-Promise to the Public สิ่งที่ต้องสัญญากับสาธารณชนในขั้นตอนนี้คือ เราจะส่งเสริมและบังคับใช้สิ่งที่คุณได้ตัดสินใจร่างหลักเกณฑ์ขึ้นมา

-Example techniques ตัวอย่างเทคนิควิธีการให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ คือ การจัดตั้งคณะลูกขุนภาคประชาชน (Citizen Juries) คือการหาประชาชนมาเป็นตัวแทนในการตัดสินใจและบังคับใช้หลักเกณฑ์ หรือการใช้วิธีการลงคะแนน (Ballot) หากมีหลักเกณฑ์ที่มีหลายทางเลือก หรือการใช้วิธีหาผู้แทนมาตัดสินใจ (Delegated decision)

การมีส่วนร่วมภาคประชาชนในขั้นตอนนี้ คือการมีส่วนร่วมขั้นสูงสุด คือนอกจากนำประชาชนเข้ามาร่วมร่างหลักเกณฑ์โดยตรงแล้ว ข้อเสนอแนะต่างๆ ก็ได้รับการแก้ไขโดยตรงแล้ว ยังให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ และบังคับใช้เองอีกด้วย


ทฤษฎี และองค์ความรู้ด้านการมีส่วนร่วมภาคประชาชนมิได้มีเพียงเท่านี้ ผมแต่เพียงหยิบยก Spectrum of Public Participation ของ IAP2 ซึ่งได้สรุปหลักการมีส่วนของประชาชนให้พอเข้าใจได้ง่ายมาอธิบาย และอาจจะอธิบายไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่คาดว่าคงพอประมาณเข้าใจได้ รายละเอียดนั้นท่านผู้อ่านลองเข้าไปค้นคว้าในเว็บไซต์ของเขาดูนะครับ

การมีส่วนร่วมภาคประชาชนที่ IAP2 ได้สรุปไว้นั้นทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนถึงรัฐ หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะนำมาบังคับใช้ให้มนุษย์ปฏิบัติร่วมกันในสังคมนั้น มีระดับหรือความเข้มข้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ขั้นต้นๆ ไปจนขั้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ก็มีตั้งแต่ การแจ้งให้ทราบ การให้ข้อคิดเห็นต่อร่างหลักเกณฑ์ การเข้ามาเป็นผู้ร่วมร่างหลักเกณฑ์ การเป็นผู้ร่วมร่างหลักเกณฑ์และตัดสินใจ จนสูงสุดคือเป็นผู้ตัดสินใจเลือกและบังคับใช้

ทีนี้เราก็หันมามองย้อนรัฐ หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดกฏเกณฑ์แต่ละแห่งว่า ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในระดับไหน และหากต้องการพัฒนาขั้นตอนการมีส่วนร่วมมากขึ้นต้องทำอย่างไรบ้าง

แต่หากจะมองขั้น Empower ที่ AIP2 ได้รวบรวมเป็นองค์ความรู้ไว้นั้น ในทางปฏิบัติก็ใช่ว่าจะทำได้ง่าย เพราะเป้าหมายในเชิงอุดมคติจริงๆ นั้น การใช้อำนาจของประชาชนด้วยการออกกฎหมายหรือกฎเกณฑ์นั้น ประชาชนทุกคนควรเป็นผู้มีส่วนร่วมในการบังคับใช้อย่างแท้จริง มิใช่ใช้ระบบตัวแทน

ดังนั้นการที่จะดึงประชาชนทุกคนในรัฐ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงแล้ว จำเป็นต้องใช้ “โทรคมนาคม” หรือใช้ Social network มาเป็น solution ซึ่งไม่ใช่แค่ลงคะแนนเลือกว่าเสียงข้างใดชนะ ก็ใช้ทางเลือกนั้น แต่กฏเกณฑ์นั้นต้องถก (Discussion) เพื่อให้ตกผลึกทางความคิด เห็นทางสายกลางจนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายมากที่สุด

Extreme Democracy + Social network = Liquid Democracy


แน่นอนที่สุดว่า เป้าหมายสูงสุดในเชิงอุดมคติที่ทุกคนปรารถนาในระบอบประชาธิปไตย คือ ประชาชนทุกคนในรัฐ ควรจะมีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย มีสิทธิคัดค้าน มีสิทธิเสรีในการแสดงความคิดเห็นในระบอบการปกครอง และเป็นผู้ตัดสินใจบังคับใช้เอง

แต่จะทำอย่างไร และใช้อะไรเป็นตัวกลั่นกรองความคิดเห็นที่มากมายมหาศาลเหล่านั้นให้เป็นรูปธรรมให้ได้ แน่นอนว่าต้องใช้เครือข่ายในโลก Internet และจะต้องมี Solution ที่พร้อมสำหรับการจัดการข้อมูลโดยเฉพาะ


Liquid Democracy เป็นแนวคิดพื้นฐานในการใช้ Cyber เป็นเครื่องมือสำคัญในการเติมเต็มระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์โดยตัด “ผู้แทน” ออกไป โดยใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมในการโหวตกฎหมายด้วยตัวของพวกเขาเอง และประชาธิปไตยจะสมบูรณ์เต็มใบอย่างแท้จริงนั้นประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลได้เท่าเทียมกัน ที่สำคัญที่สุดต้องมีการแสดงความคิดเห็นร่วมกันก่อนลงมติใดๆ


Liquid Democracy นั้นไม่ได้เน้นแค่การลงมติ แต่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุดด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารต่างหาก

การระดมสมอง (Brain storm) เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการได้มาของกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจขององค์กรหรือทิศทางของประเทศด้วยเหตุผล หมดยุคของการเดินตามผู้นำที่ไม่ฟังความเห็นคนอื่น แม้แต่ในสมัยโบราณ ขงเบ้ง ประชุมทัพก็ยังเชิญตั้งแต่พ่อครัว ทหารเลว ไปจนถึงแม่ทัพ มาร่วมประชุมด้วยกัน ทุกสมองมีความเห็นมีมุมมองที่ไม่สมควรละเลย อยู่ที่ผู้นำเท่านั้นที่จะได้รับโอกาสมากขึ้นในการเลือกเก็บเพชรพลอยที่ตกหล่นไปทำประโยชน์ด้วยซ้ำในที่นี้ก็คือประชาชนจะเป็นผู้เลือกเองได้ถูกต้องทุกคนมีสมองเท่าเทียมกันต่างกันที่ข้อมูลกับความรู้เท่านั้นเอง ดังนั้นการระดมความคิดเห็นได้มากที่สุดถกกันอย่างเสรีจนสิ้นสงสัยให้ได้มากที่สุดคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในความคิดผม และทุกวันนี้ก็อาจจะเป็นไปได้เพราะสวรรค์มอบเครือข่ายโทรคมนาคมมาให้พวกเราแล้ว

Liquid Democracy เป็นนวัตกรรมที่ถูกดูแลด้วยองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร https://liqd.net/en/about/ ในนคร เบอร์ลิน ก่อตั้งในปี 2009 ทำงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการมีส่วนร่วมภาคประชาชน

อันที่จริงการเติมเต็มประชาธิปไตยให้เต็มใบได้ด้วย เทคโนโลยีโทรคมนาคม และ Solution ของ Liquid Democracy ที่จะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อบริหารจัดการข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล การออกกฎหมาย และแบ่งแยกประเภทของความคิดเห็น ตลอดจนพัฒนาระบบการลงประชามติต่างๆ ในการตัดสินใจนโยบายทางการเมือง ถึงแม้อาจจะดูล้ำหน้าเกินไป แต่โลกดิจิทัลในอนาคตคงหลีกไม่พ้นแน่นอน เพราะไม่มีสิ่งใดจะสร้างระบบการมีส่วนร่วมภาคประชาชนได้ดีเท่ากับ Telecommunication technology and Social Network ผมก็เลยลองร่าง Model ลางๆ ให้พอเห็นภาพเพียงแค่ 4 ปัจจัยหลักตามความคิดเห็นของผมซึ่งเป็นผู้เขียนขึ้นมาก่อนทึกทักเรียกเอาเองว่า Poramez's Cyber Democratic Model แต่ไม่ว่าจะมีกี่ปัจจัยก็ตามจะเห็นได้ว่า Telecom network จะเป็นผู้ที่เชื่อมโยงประสานทุกสิ่งให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้แน่นอน รูปแบบที่ว่าก็เป็นดังรูปที่ 2 นี้ครับ


รูปที่ 2 Fulfill Democracy via Telecommunication Technology and Social network


แต่หากจะพัฒนา กระบวนการมีส่วนร่วมภาคประชาชนให้กว้างขวางนั้น ถึงแม้จะสามารถจัดตั้งหน่วยงานที่ยินดีให้ประชาชนเดินทางเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ตลอดเวลาก็ตาม ก็อาจจะไม่สะดวกสำหรับคนทั่วไปที่จะต้องเสียเวลาเดินทาง แต่การที่จะเอื้อให้เกิดความสะดวกสูงสุด ต้องมีการจัดทำ Solution ด้าน IT โดยสร้างเป็น Social network ให้เกิดการแสดงความคิดเห็นในแต่ละประเด็นได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการพัฒนาระบบการลงคะแนนเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบอีกด้วย เพื่อเป็นการเติมเต็มระบบการมีส่วนร่วมให้สูงมากขึ้น

Social network ด้าน Public participation ที่จะนำมาเติมเต็มประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ดังเป้าหมายที่บทความนี้นำเสนอข้อคิดเห็นนั้น ผมว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดของ Liquid Democracy ส่วนอีกด้านของสังคม คือ “การสร้างเครือข่ายคนดี” หรือ Good people society network

ผมเชื่อว่าคนไทยเรา หรือมนุษย์ทุกคน รวมถึงคนไม่ดีด้วย อย่างไรเราก็ไม่ต้องการให้คนไม่ดีมามีอำนาจครองบ้านเมือง ดังปรัชญา พระพุทธทาสท่านกล่าวว่า “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” อย่างไรก็ตามทุกสังคมนั้น ผมเชื่อว่าคนดีมีมากกว่าคนไม่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่มี “เครือข่าย”

ขณะที่คนไม่ดี รวมหัวระดมสมองประชุมกันทั้งวัน ถึงหนทางการพัฒนากระบวนวิธีการทุจริตคดโกงบ้านเมือง แต่คนดีๆ นั้นใช้ชีวิตตามปกติ ใช้สมองน้อยกว่าในการติดตามวิวัฒนาการการทุจริต หากมนุษย์เรามีสมองเท่ากันแล้ว แน่นอนคนดีนั้นคงคิดตามคนไม่ดีไม่ทันแน่

ถึงเวลาแล้วที่ คนดีต้องมี Social Network สถานที่ที่ชุมนุมสร้างเครือข่ายคนดีให้เข้มแข็ง ให้คนดีที่อยู่อย่างสงบสันโดษมีเพื่อนเยอะ ใครเดือดร้อนถูกรังแกก็พร้อมจะช่วยกัน แต่จะว่าไปแล้วในประเทศไทยเอง ก็ค่อยๆ เริ่มมี Social Network ที่คนดีๆ คนรักความถูกต้องเข้าไปรวมตัวกัน โดยเริ่มจาก Blog หรือเป็นไดอารี่ที่ผู้เขียนบทความ เป็นคนดี มีความรู้ มีอุดมการณ์ เป็นคนที่น่าเลื่อมใสเป็นผู้เขียน ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงคนไทยจากแค่การบริโภคสื่อทางเดียวกลายไปสู่สังคม Journalism นอกจากเป็นผู้อ่านแล้วยังเป็นผู้บันทึก เป็นผู้เสนอข่าวสารเอง แสดงความคิดเห็นมุมมองโลกผ่านสายตาของตนจนเบ่งบานไปทั่วโลกไซเบอร์อีกด้วย คนดีๆ เข้าไปรวมกลุ่มกัน และเป็นพลังในชีวิตให้คนหนุ่มสาวอีกมากมายในปัจจุบัน

เมื่อถึงวันที่ Telecom Network ส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยให้สมบูรณ์เต็มใบได้จริง ประชาชนได้ใช้สิทธิโดยตรงสิ้นผู้แทนราษฎรและรัฐสภา แต่ฝ่ายบริหารน่าจะยังอยู่เพราะต้องมีคนทำงาน ผมเชื่อว่าทุกวันนี้เราคิดต่างกันเลือกต่างกันเพราะเราได้รับข้อมูลไม่เท่ากัน อีกทั้งในแต่ละประเด็นที่สงสัยถูกกีดกันไม่ให้ถกกันด้วยความรู้สึกปฏิปักษ์ชวนทะเลาะวิวาท แต่ถ้าหากข้อมูลทั้งหมดไม่ว่าเรื่องจริงเรื่องเท็จถูกเผยแพร่ให้รับรู้เท่ากัน และมีการถกกันจริง มันจะจบที่ความจริงจนสิ้นสงสัยหากมีระบบนี้เกิดขึ้น

ในด้านกระบวนการยุติธรรมจะถูกเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงนั่นคือประชาชนจะรุกคืบเข้ามา การตัดสินคดีหลายๆ อย่างเราจะเริ่มเห็นความไม่พอใจของคนในสังคม กระบวนการยุติธรรมจะเปลี่ยนไปเป็นระบบ "Crowd Jury" มวลชนจะเป็นผู้ตัดสินคดีเอง ระบบนี้แม้ผมจะมีความรู้ไม่พอ อาจจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดีก็เป็นได้ แต่ถ้าหากมีการลงมติผมเชื่อเอาเองว่า ประชามติชนะแน่นอนโดยเฉพาะคดีสะเทือนขวัญทุกคนอยากมีสิทธิร่วมในการตัดสินคดี หากเราให้อำนาจประชาชนตัดสินคดี สังคมจะระบายความกดดันแน่นอน

อย่างไรก็ตาม เราคงจะต้องตระหนักกันให้ดีแล้วว่า ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย สิ่งที่นับว่ามีอำนาจสูงสุดกลับ มิใช่กองทัพ แต่เป็น “การโทรคมนาคม และการสื่อสารมวลชน” อยู่ที่ว่ามนุษย์เราต้องไม่ยินยอมให้ใครเข้ามาควบคุมสิ่งนี้ ปล่อยให้มันเกิดขึ้นเป็นศูนย์รวมของคนในสังคม และเดินทางไปตามธรรมชาติของมันสู่โลกอันสมบูรณ์ในอุดมคติ ร่วมกันเติมเต็มประชาธิปไตยให้เต็มใบด้วย Liquid Democracy


อ้างอิง

คำสำคัญ (Tags): #liquid democracy#crowd jury
หมายเลขบันทึก: 626270เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2017 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2017 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท