​PMAC 2017 : 7. เศรษฐศาสตร์การเมืองของการคุ้มครองทางสังคม



เช้าวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ เวลา ๙.๐๐ - ๑๐.๐๐ น. เป็น Plenary 2 : The Political Economy of Social Inclusion ดำเนินรายการโดย David Harper แห่ง Chatham House แล้วผมเลือกฟัง PS 2.1 Political Strategies to Tackle Social Exclusion and Improve Health ในช่วงเวลา ๑๐.๓๐ - ๑๒.๓๐ น.


คือช่วงเช้าผมเน้นทำความเข้าใจบทบาทของฝ่ายการเมืองต่อการดูแลคนกลุ่มเปราะบาง ฟังแล้วผมสรุปว่า ประเทศที่ประชาชนได้รับความคุ้มครองทางสังคมอย่างดีนั้น ผู้ปกครองบ้านเมืองของเขามีเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตัวอย่างที่ได้รับฟัง ๒ ประเทศในวันนี้คือ นอร์เวย์กับญี่ปุ่นทั้งสองประเทศบรรลุเป้าหมายการคุ้มครองทางสังคมแก่พลเมืองทุกคนผ่านระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า (UHC – Universal Health Care)


Dr. Gro Harlem Brundtland อดีตนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก บอกว่านอร์เวย์เริ่มพัฒนาระบบดังกล่าวในช่วง ค.ศ. 1930s และบรรลุเป้าหมายในช่วงปี 1950s ใช้เวลาประมาณ ๒๐ ปี


Professor Keizo Takemi สมาชิกสภาผู้แทนญี่ปุ่น อดีต รมช. สาธารณสุข นำเสนอโดยใช้ PowerPoint ที่มีพลังมาก สะท้อนการคิดระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้าอย่างรอบคอบ และดำเนินการต่อเนื่องยาวนาน โดยใช้ ๒ แนวทางประกอบกันคือ (๑) แนวทางสิทธิ (๒) แนวทางอุดมการณ์และการเมือง โดยเริ่มหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และได้อิทธิพลจากสังคมนิยมจีนคอมมิวนิสต์


วิธีการที่ใช้มี ๒ วิธีประกอบกัน คือ (๑) ขยายฐานคนชั้นกลางให้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ (โดยเก็บภาษีคนรวยสูงมาก) (๒) มีสวัสดิการช่วยคนยากลำบากโดยตรง รวมมี ๔ มาตรการใหญ่ๆ ได้แก่ (๑) ยุทธศาสตร์เพิ่มรายได้ประชากรเป็นสองเท่า (๒) ปฏิรูประบบภาษีเงินได้ ในอัตราก้าวหน้า (๓) มาตรการคุ้มครองทางสังคม (เช่นเงินบำนาญแก่ประชาชน ระบบประกันคนตกงาน เป็นต้น) (๔) ระบบประกันสุขภาพทั่วหน้า


จริงๆ แล้วระบบคุ้มครองสุขภาพในญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 ค่อยๆ ขยายตัวจนครอบคลุมคนทุกคนในปี 1961 โดยมีระบบประกันสุขภาพ ๔ ระบบ ในปัจจุบันระบบที่ใหญ่ที่สุดคือระบบ community-based health insurance คือประชาชนจัดกันเอง รองลงมาคือระบบของรัฐบาล


คนที่พูดดีมากอีกคนหนึ่งคืออดีตประธานาธิบดีเม็กซิโก และเป็นอดีต รมต. ศึกษาธิการด้วย ท่านเน้นการให้เงินช่วยเหลือ (financial incentive) ฝ่ายผู้ใช้บริการ (demand-side) ให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพ เรียกว่า CCT – Conditional Cash Transfer


เรื่อง Demand – Side Management โดย CCT นี้มีการยกตัวอย่างกันมากในห้องย่อย PS 3.4 ที่ผมไปเข้าตอนเย็น และมีวิธี Integrated Non-cash Transfer ด้วย เรื่องที่น่าประทับใจมากคือเรื่องราวความสำเร็จของหน่วยงาน เอ็นจีโอ ที่บังคลาเทศ ชื่อ WaterAid ทำ Community-Led Total Sanitation ในชุมชนยากจน โดยสร้าง demand ให้คนในชุมชนอยากสร้างส้วม ก่อผลดีอย่างอื่นตามมามากมาย ที่น่าสนใจคือเขาทำวิจัยควบคู่ไปว่าความช่วยเหลือนั้นไปสู่คนจนเป็นหลัก ไม่ใช่ไปสู่คนรวย


ที่ผมนึกเถียงอยู่ในใจว่าเป็นมาตรการที่ผิด คือการนำเสนอของคนจากกระทรวง พม. ของอินโดนีเซีย ที่ตั้งงบประมาณทำ CCT ให้คนจนที่สุดในสังคม และคนกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ได้เข้าใช้บริการ UHC ซึ่งไม่ใช่ UHC แท้ และน่าจะต้องใช้เงินเพื่อการบริหารโครงการมากมาย


ระหว่างพักรับประทานอาหารเที่ยง มีงานเปิดตัวรายงาน The Journey of Universal Access to Antiretroviral Treatment in Thailand เพื่อเป็นตัวอย่างของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศที่ระดับการพัฒนาไม่สูงมาก ในการเอาใจใส่ดูแลคนกลุ่มเปราะบาง หรือมีแนวโน้มจะถูกรังเกียจ มีผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเซียแปซิฟิกที่ไม่มีอุบัติการของการถ่ายทอดไวรัสเอ็ชไอวีจากแม่สู่ลูก งานนี้ใช้เวลาเพียง ๑๐ นาที นำเสนอโดย UNDP, สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขของไทย เคล็ดลับของความสำเร็จคือนโยบาย pro-poor และ equity



วิจารณ์ พานิช

ก.พ. ๖๐

ห้อง ๔๔๑๔ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ แอท เซนทรัลเวิร์ล


หมายเลขบันทึก: 624933เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2017 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2017 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท