กฏหมาย ระเบียบ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรี ที่ข้าราชการครูควรทราบ


1. ข้าราชการผู้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะอ้างว่าไม่รู้กฏหมายหรือระเบียบแบบแผนข้อบังคับอันตนจำต้องปฏิบัติและอยู่ในหน้าที่ของตนมิได้ (มติคณะรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ น.ว. 89/2497 ลงวันที่ 1 เมษายน 2497)

2. ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในสถานศึกษา จะต้องมาถึงสถานศึกษา ก่อนเวลาทำงานปกติอย่างน้อย 15 นาที และกลับหลังเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า 15 นาที (ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยเวลาทำงานและวันหยุดราชการของสถานศึกษา พ.ศ. 2502 ข้อ 8)

3. ข้าราชการซึ่งปฏิบัติราชการอยู่ในโรงเรียนถ้าลาปีหนึ่งเกินกว่า 12 ครั้ง ถือว่าลาบ่อยครั้ง ไม่มีสิทธิ์ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนในปีนั้น ในกรณีข้าราชการลาปีหนึ่งเกิน 12 ครั้ง แต่ลาไม่เกิน 30 วัน และมีผลการปฏิบัติงานดีกรมอาจพิจารณาผ่อนผันให้เลื่อนขั้นเงินเดือนได้ ข้าราชการซึ่งปฏิบัติราชการอยู่ในโรงเรียน ถ้ามาทำงานสายปีหนึ่งเกิน 15 ครั้ง ถือว่ามาทำงานสายอยู่เนือง ๆ ไม่มีสิทธิ์ได้เลื่อนขั้นเงินเดือนในปีนั้น (หนังสือกระทรวงศึกษาธิการที่ ศธ 0204/31100 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2525)

4. วันปิดภาคเรียนถือว่าเป็นวันพักผ่อนของนักเรียน ซึ่งสถานศึกษาอาจอนุญาตให้หยุดพักผ่อนได้ แต่ถ้ามีราชการจำเป็น ครูต้องมาปฏิบัติราชการตามคำสั่งของทางราชการ (ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการของ สถานศึกษา พ.ศ. 2520 ข้อ 9)

5. ข้าราชการที่หนีหรือขาดราชการในวันใด ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินสำหรับวันที่ขาดหรือหนี ราชการนั้น (มาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2522)

6. ถ้าปรากฏว่าเวรทิ้งหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นผิดอย่างร้ายแรง และให้พิจารณาโทษอย่างน้อยให้ออกจากราชการ (มติคณะรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี น.ว. 101/2495 ลงวันที่ 18 เมษายน 2495)

7. ข้าราชการเสพสุรามึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้ ซึ่งอาจทำให้เสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการจะต้องถูกลงโทษตามควรแล้วแต่กรณี - ข้าราชการผู้ใดเสพสุราในขณะปฏิบัติราขการ เมาสุราเสียราชการ หรือเมาสุราในที่ประชุมจนเกิดเรื่องเสียหาย หรือเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ อาจถูกลงโทษสถานหนักถึงให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ - ข้าราชการครูเล่นการพนันอาจได้รับโทษสถานหนักถึงให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการ

8. การที่ข้าราชการไปร่วมเล่นแชร์ย่อมก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นได้ เพราะได้ใช้เงินเดือนไปเล่นและเมื่อประมูลดอกเบี้ยสูง เพื่อให้ได้รับเงินไปใช้สอยแล้วในเดือนต่อไป ก็ย่อมจะขาดแคลนเงินสำหรับใช้สอย อันก่อให้เกิดคอรัปชั่นได้ง่าย จึงห้ามข้าราชการเล่นแชร์ (มติคณะรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร ที่ น.ว. 12/2498 ลงวันที่ 14 มกราคม 2498

9. ข้าราชการเป็นเจ้ามือ เดินขาย หรือเล่นสลากกินรวบต้องถูกลงโทษอย่างน้อยให้ออกจากราชการ (มติคณะรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหารที่ น.ว. 280/2498 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2498)

10. ห้ามข้าราชการสมรสหรือหรืออยู่กินอย่างสามีภรรยากับผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัย ซึ่ง เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฏหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง (มติคณะรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สร. 0202/ว.31 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2524)

11. ผู้ใดลาป่วยต่อเนื่องกันตั้งแต่ 10 วันขึ้นไป ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายไปสอบสวนให้ได้ความจริงว่าป่วยจริงหรือไม่อย่างไร - การลากิจ ควรอนุญาตเฉพาะกรณีจำเป็นจริง ๆ ไม่ใช่ลากิจ เพื่อไปรับจ้างหารายได้พิเศษอย่างอื่น - ผู้บังคับบัญชาคนใดรู้เห็นเป็นใจอนุญาตให้ข้าราชการลาเท็จ ให้ถือว่ามีความผิดทางวินัยด้วย (คำสั่งนายกรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารที่ น.ว. 128/2497 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2497)

12. ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือละทิ้งหน้าที่ราชการไปเลยเกินกว่า 15 วันโดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นความผิดร้ายแรงซึ่งควร ไล่ออกจากราชการ จะปราณีลดหย่อนผ่อนโทษลงได้ก็เพียงปลดออกจากราชการ การนำเงินที่ทุจริตยักยอกไปแล้วมาคืนก็ดี การที่เป็นผู้ที่ไม่กระทำความผิดมาก่อนก็ดี หรือมีเหตุอันควรปราณีอื่นใด ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะลดหย่อนโทษลงเป็นให้ออกจากราชการได้ (มติคณะรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ น.ว. 125/2503 ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2503)

13. ข้าราชการที่ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาวิชาต่างประเทศ เมื่อครบกำหนดวันลาแล้วไม่ยอมเดินทางกลับมาปฏิบัติราชการเป็นเวลานาน ถ้าปรากฏว่ามีเจตนาละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันควร ให้นำมติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือที่ น.ว. 125/2503 ลงวันที่ 5 ตุลาคม2503 มาประกอบการพิจารณาในการสั่งลงโทษทางวินัย (มติคณะรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการรัฐมนตรี ส.ร. 0401/ว.50 ลงวันที่22 พฤษภาคม 2510)

14. บัตรสนเทห์ไม่รับพิจารณา เว้นแต่รายที่ระบุหลักฐานกรณีแวดล้อม ปรากฏชัดแจ้งตลอดจนชี้พยานบุคคลแน่นอน (มติคณะรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี น.ว. 148/2502 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2502)

15. กระทรวงศึกษาธิการไม่มีความประสงค์ที่จะให้ครูลงโทษนักเรียนรุนแรง หรือแบบวิตถาร เช่น ตบหน้า เขกศรีษะ ทุบหลัง ตบกกหู หรือใช้แปรงลบกระดานทุบ ตี ขว้างปาหรือให้เขกโต๊ะจนมือเลือดออกเป็นต้น ครูคนใดฝ่าฝืนถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง (หนังสือกระทรวงศึกษาธิการที่ ศธ. 7754/2506 ลงวันที่ 16 เมษายน 2506)

16. กระทรวงศึกษาธิการไม่อนุญาตให้ครูสตรีเข้าประกวดนางงาม ตลอดจนการประกวดหรือแสดงแบบเครื่องแต่งกายสตรี ไม่ว่าการประกวดนั้นจะเรียกชื่ออย่างไร และผู้ใดเป็นผู้จัด หาก ฝ่าฝืนอาจได้รับการพิจารณาลงโทษถึงให้ออกจากราชการ (หนังสือกระทรวงศึกษาธิการที่ ศธ. 1422/2504 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2504)

17. การประพฤติผิดประเวณีต่อบุคคลอื่น หรือคู่สมรสของผู้อื่น เป็นความประพฤติไม่เหมาะสม และเข้าลักษณะเป็นความประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง
18. กระทรวงศึกษาธิการรังเกียจและจำต้องห้ามความประพฤติผิดประเวณีในระหว่าง ข้าราชการชายหญิงในกระทรวงศึกษาธิการ หรือครูกับนักเรียนเว้นไว้แต่ผู้เป็นโสดต่างตั้งใจเลี้ยงดูกันฐานสามีภรรยาและสู่ขอสมรสกันตามประเพณี ถ้าเกิดความรังเกียจขึ้นในส่วนความประพฤติของเขาต่อนักเรียนหญิง(ครูสตรีต่อนักเรียนชาย) เขาจะมีความผิดและเป็นครูไม่ได้ ต้องออกจากหน้าที่ครูทันที (ข้อบังคับของกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องครูชายกับนักเรียนหญิง)

19. ถ้าปรากฏว่า การร้องเรียนไม่มีมูลความจริงหรือเป็นการกลั่นแกล้งกัน ผู้ร้องเรียนจะต้องได้รับการพิจารณาลงโทษ หากปรากฏว่าครู อาจารย์มีส่วนช่วยวางแผน ยั่วยุ ชี้หรือสนับสนุน หรือดำเนินการในลักษณะวิธีใดก็ตามที่จะทำให้เกิดความไม่สงบในโรงเรียน ให้ถือว่ามีความผิดทางวินัยสถานหนัก (มาตรการป้องกันและแก้ไขการก่อความไม่สงบในสถานศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษาตามหนังสือที่ ศธ 0807/13117 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2525)

20. เรียกและรับเงินจากผู้สมัครสอบ โดยอ้างว่าจะช่วยเหลือให้สอบได้ เป็นความผิดฐานประพฤติชั่วร้ายแรง ให้ลงโทษระดับเดียวกับความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ (มติ ก.พ. แจ้งตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ ส.ร. 1006/ว.15 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2516)

21. ข้าราชการยื่นใบลาออกจากราชการแล้วหยุดราชการไปเลย โดยทั้งที่ผู้บังคับบัญชายังมิได้อนุญาต ถ้าสืบสวนได้ความว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรถือเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามกฏ ก.พ. (มติ ก.พ. แจ้งตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ ศธ 6140/2498 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2498)

22. ผู้ใดมาทำงานสายกว่ากำหนดเวลาเป็นนิจ อันเป็นการแสดงว่ามิได้ตั้งใจปฏิบัติ หน้าที่ราชการโดยเต็มที่ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษทางวินัย (มติคณะรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ น.ว. 108/2502 ลงวันที่ 18 กันยายน 2502)

23. ข้าราชการเลิกงานออกจากสถานที่ราชการก่อนกำหนดเวลา เป็นการไม่ร่วมมือและปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล ให้พิจารณาลงโทษสถานหนัก (มติคณะรัฐมนตรี แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ น.ว. 108/2502 ลงวันที่ 18 กันยายน 2502)

24. ข้าราชการที่สังกัดส่วนกลางแต่ปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาค และอธิบดีเจ้าสังกัดเดิมมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปกครองบังคับบัญชาแทน เมื่อมีความจำเป็นจะต้องออกนอกเขตจังหวัดที่ตนอยู่ จะต้องขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

(หนังสือกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 0204/4432 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2526)


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://www.kroobannok.com/7478

คำสำคัญ (Tags): #ครูควรรู้
หมายเลขบันทึก: 624351เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2017 01:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2017 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท