สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

​ปลูกฝัง “เด็ก” รักต้นไม้


“อยากให้เลิกเล่นเกมมากจนเกินไป ไม่ใช่ว่าเลิกเล่นไปเลย แต่เล่นได้บ้างเพื่อผ่อนคลายก็พอ แล้วเอาเวลาว่างมาทำกิจกรรมกัน ที่โรงเรียน "

ปลูกฝัง “เด็ก” รักต้นไม้

แดดเริ่มออก เด็กอนุบาลจนถึงรุ่นพี่นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนหนองกุฏิ ต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เข้าแถวเรียงกันเป็นระเบียบหน้าเสาธงเพื่อรอรับต้นหูกระจงจากคุณครู มีนักเรียนรุ่นพี่ที่แข็งแรงช่วยกันขุดดินเตรียมหลุมไว้ให้น้องๆ พร้อมปลูกในบริเวณโรงเรียนรอบสนามกีฬา มีศิษย์เก่าและคุณครูช่วยกันพาเด็กๆ ไปปลูกต้นหนึ่งรับผิดชอบสองคน การฝึกฝนให้เด็กรักธรรมชาติและมีจิตอาสาเกิดขึ้นที่นี่เป็นเวลามานานกว่า 10 ปี

ด.ช.กิตติชัย คำภูแสน - ด.ญ.ปริยาภรณ์ ประทุมวี - ด.ช.พัฒนพล พุ่มสิงห์


เสียงสะท้อนจากนักเรียนที่ร่วมปลูกป่าในวันนี้ ... “ซัน” หรือ ด.ช.พัฒนพล พุ่มสิงห์โต อายุ 12ปี ชั้น ป.6 เล่าว่าวันนี้มาปลูกต้นไม้ ปลูกต้นหูกระจง “ชอบการปลูกต้นไม้ เพราะทำให้เราได้ความรู้เรื่องการปลูก ดีใจที่ได้ปลูก เพราะว่าปลูกต้นไม้ทำให้เราสดชื่น” เช่นเดียวกับ ด.ญ.ปริยาภรณ์ ประทุมวี หรือน้องออม อายุ 12ปี ชั้น ป.6 สะท้อนการเรียนรู้ว่ากิจกรรมนี้ ทำให้ได้เรียนรู้การปลูกต้นไม้ ขุดดิน ใส่ปุ๋ย เราสามารถนำไปใช้ในชีวิตได้ “จะเอาไปปลูกที่บ้าน เพราะที่บ้านมีที่ว่างเหลือ” หรือแม้แต่ศิษย์เก่า ด.ช.กิตติชัย คำภูแสน (โฟกัส) อายุ 12 ปี ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้น ม.1 โรงเรียนอู่ทอง เล่าว่ามาช่วยกิจกรรมปลูกต้นไม้ที่โรงเรียนเพราะมีความผูกพัน พอรร.มีกิจกรรมและตนเองว่างก็จะมาช่วยงานทุกครั้ง “วันนี้ผมมีหน้าที่ขุดหลุมและยกปุ๋ยมาใส่ในหลุมครับ วันนี้วันหยุด ผมก็อยากมาช่วย อยู่บ้านไม่มีอะไรทำสนุกดี ได้ออกกำลังกายด้วย” นี่เป็นเพียงหนี่งในกิจกรรมที่รร.เสริมให้กับนักเรียนตนเองก็เห็นการสะท้อนความคิดที่น่าสนใจยิ่ง

นายโสภณ สุพรรณพิทักษ์


นายโสภณ สุพรรณพิทักษ์ อดีตครูเกษียณอายุราชการปี 2559 อายุ 61 ปี ได้มาช่วยดูแลการปลูกต้นไม้ครั้งนี้ได้ร่วมให้ข้อมูลว่าแนวคิดการปลูกต้นไม้ในโรงเรียนก็เพื่อความร่มรื่น ทางผอ.ณัฐพร แสงภู่ ได้มีนโยบายสนับสนุนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและเต็มที่ ซึ่งทางรร.ได้ร่วมกับทางอบต.พลับพลาไชย พาเด็กๆ ไปร่วมปลูกป่าในชุมชนในโครงการปลูกป่าจิตอาสาอีกด้วย (ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 2 : หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินงานโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย) “เราก็ปลูกฝังเด็กๆ ว่า ต้นไม้ช่วยทำให้โลกเราสดใส และช่วยให้มีก๊าซออกซิเจนด้วย เราก็ควรปลูกต้นไม้กัน ด้านหลังโรงเรียนเราก็จะมีกิจกรรมพาเด็กๆ ไปปลูกต้นไม้กันบ่อยๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้ซึมซับ เด็กๆ เขาก็ชอบ มีความสนุก ผมว่าส่วนหนึ่งคืออย่างน้อยเขาได้ลงมือทำ และเขาก็มาเห็น ซึ่งตอนนี้เขายังเด็กอาจจะยังไม่รู้อะไรมาก รู้เท่าที่เราบอก แต่เมื่อเขาโตขึ้น เขาน่าจะจำได้ว่าต้นไม้พวกนี้เราปลูกนะ”


โรงเรียนสนับสนุนให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาโดยตลอด เพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ทั้งยังช่วยสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้กับเด็กอีกทางหนึ่งด้วย ”ตอนนี้มีอบต.พลับพลาไชยเข้ามาร่วมสนับสนุนด้วย พาเด็กนักเรียนไปทำกิจกรรมเสริม เช่น ทำไข่เค็ม กับโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นฐานเรียนรู้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำไข่เค็มซึ่งโรงเรียนเคยมีชื่อเสียงการทำไข่เค็มมาก่อนแต่เลิกราไปเพราะครูมีอายุมากขึ้น ตอนนี้อบต.ก็มาช่วยฟื้นฟู” สิ่งที่เห็นเด็กๆที่เข้าร่วมกิจกรรมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองมากขึ้นมีความขยันและมีความรับผิดชอบมากขึ้น “การที่เด็กได้มาทำกิจกรรมแบบนี้ ช่วยในด้านทำให้เขาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากขึ้น แทนที่เขาจะวิ่งเล่น เที่ยวเตร่ พอเขามาตรงนี้ได้เรียนรู้ชีวิต ได้ลงมือปฏิบัติ แม้ได้ไม่มาก แต่เราดูแล้วเด็กเขาก็ได้ เราเห็นว่าเขามีความรับผิดชอบมากขึ้น เขาทำได้ บางคนอวดว่าหนูทำไข่เค็มกินเองที่บ้านได้แล้วนะ หรือเรื่องต้นไม้ เขาปลูกต้นอะไรที่บ้านเขาก็เอาอวด คือเขาทำที่โรงเรียนแล้วก็เอาไปทำที่บ้านด้วย ผู้ปกครองเห็นก็ชอบก็สนับสนุนช่วยเหลือเต็มที่เวลาโรงเรียนมีงาน มีอาหารมา วันเด็กก็มาช่วยงาน”

ซึ่ง “น้องออม” ได้สะท้อนตัวเองชัดว่า การที่โรงเรียนมีกิจกรรมให้ทำเยอะๆ รู้สึกชอบทำให้ตนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เมื่อก่อนอยู่บ้านก็จะเล่นเกม เล่นโทรศัพท์ แต่ตอนนี้ช่วงเสาร์อาทิตย์มีกิจกรรมก็ทำให้ห่างจากโทรศัพท์มากเพราะเอาเวลามาทำกิจกรรม “พ่อแม่ก็สนับสนุนให้มาเพราะจะได้นำไปใช้ในชีวิต นำไปใช้เป็นอาชีพของเรา อย่างไข่เค็ม กับน้ำยาล้างจาน ก็ได้ลองเอากลับไปทำที่บ้านค่ะ ทำไข่เค็มทานเองบ้าง ทำขายบ้าง ขายได้เดือนละ 500 บาท คือไม่ค่อยได้เน้นขายค่ะ ส่วนน้ำยาล้างจานทำใช้เอง ทำพอใช้ในบ้าน ไม่ได้ทำขายค่ะ แม่ก็เอาไปใช้ แต่ก็ไม่ได้ทำตลอดเพราะวัสดุอุปกรณ์การทำมันหายาก”



ส่วน “ซัน” สะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงของตัวเองแต่ก่อนชอบแกล้งเพื่อน ตอนนี้ก็เป็นคนดีขึ้น ครูสอนให้อยู่ในระเบียบวินัย เคยทำกิจกรรมกับ อบต.คือทำไข่เค็ม เลี้ยงไก่ ปลูกผัก “ชอบที่พี่ๆ ให้ทำกิจกรรมครับ สนุกเพราะได้เจอเพื่อนเยอะ เพื่อนมาเล่นด้วยกัน ดีกว่านั่งเล่นเกมที่บ้าน ตอนนี้อยู่บ้านก็ยังเล่นเกมอยู่แต่เล่นไม่ค่อยเยอะแล้วครับ ตอนอยู่บ้านผมช่วยพ่อแม่ล้างจาน พอวันหยุดถ้าไม่ได้มาเรียนเสาร์อาทิตย์ก็จะช่วยพ่อแม่ขายของ (ก๋วยเตี๋ยว)”



สุดท้าย “น้องออม” อยากบอกเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันที่ติดเกมว่า “อยากให้เลิกเล่นเกมมากจนเกินไป ไม่ใช่ว่าเลิกเล่นไปเลย แต่เล่นได้บ้างเพื่อผ่อนคลายก็พอ แล้วเอาเวลาว่างมาทำกิจกรรมกัน ที่โรงเรียน จะเป็นกีฬาก็ได้ จะทำให้เราได้เข้าสังคมได้ง่าย ได้มาอยู่กับเพื่อนๆ ได้สนุกกับเพื่อนๆ ไม่ใช่เอาแต่อยู่ในบ้านไปนอนเล่นโทรศัพท์อยู่คนเดียว” เสียงสะท้อนของเด็กๆ ทำให้เห็นการเติบโตทางความคิดของเด็กเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน แสดงให้เห็นถึงการที่โรงเรียนหนองกุฏิและอบต.หนองอียอได้ “เปิดโอกาส” ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นการปูพื้นฐานทางความคิด ทำให้เด็กการรักธรรมชาติและเกิดจิตอาสาในใจเด็กๆ โดยไม่รู้ตัวอีกทั้งยังเป็นการฝึกระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ ความเอื้อเฟื้อให้เกิดขึ้นด้วย ซึ่งนี่คือหน้าที่หนึ่งของโรงเรียนและอบต.ที่จะเป็นผู้บ่มเพาะให้เด็กได้เป็นคนดีและเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศนั่นเอง.


#scbfoundation

ติดตามความเคลื่อนไหวของอบต.พลับพลาไชยได้ที่นี่

หมายเลขบันทึก: 623353เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2017 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2017 11:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท