จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๕: พิธีรับเสื้อกาวน์


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๘๕: พิธีรับเสื้อกาวน์

การเรียนแพทย์ใช้เวลา ๖ ปีสำหรับปริญญาตรีแพทยศาสตร์บัณฑิต ปีต้นๆจะเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานทางการแพทย์ เราเรียกว่า "ชั้นปรีคลินิก (pre-clinic)" เป็นการเรียนแบบที่ยังไม่ได้เจอะเจอคนไข้จริงในโรงพยาบาล หลังจากนั้นอีกประมาณครึ่งหนึ่งก็จะเป็น "ชั้นคลินิก (clinical years)" คือปีที่ ๔-๖ ที่นักศึกษาจะเรียนโดยปฏิบัติงานส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดในโรงพยาบาล

การขึ้นชั้นคลินิกนี่เองที่เป็น "จุดเปลี่ยน" ใหญ่ของการเรียนในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต และอาจจะเป็นอะไรที่แตกต่างจากวิชาสาขาอื่นๆทีเดียวก็ว่าได้ จุดเปลี่ยนนี้เป็นความจำเป็นของหลักสูตรที่จะผลิต หล่อหลอม แพทย์คนหนึ่งให้เกิดขึ้นมาได้

การเป็นแพทย์นั้น นอกเหนือจากความรู้ในตำรา (รวมทั้ง resource ต่างๆมากมายในยุค IT) งานของแพทย์ทำงานกับผู้คน โดยเฉพาะผู้ป่วย ที่มาด้วยความทุกข์ต่างๆนานาประการ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยก็มีผลอย่างสำคัญต่อผลลัพธ์ในการดูแลรักษา เป็นทักษะที่สำคัญอย่างมาก และว่าที่บัณฑิตแพทย์จะต้องบูรณาการความรู้ (ท่วมศีรษะ) เข้ากับทักษะในการทำงานกับผู้คนนี้ให้ได้มากที่สุดในระยะเวลาสามปีของชั้นคลินิก

นี่คือ "นัยยะ" ของการขึ้นชั้นคลินิก

และเป็นนัยยะที่ผมคิดว่าควรจะอยู่ในพิธีรับเสื้อกาวน์

เสื้อกาวน์ก็คือเสื้อที่นักศึกษาใช้ใส่ปฎิบัติงานในโรงพยาบาล เป็นเครื่องแบบประเภทหนึ่ง สมัยก่อนมี "หน้าที่หลัก" เป็นเสื้อคลุมปกป้องด้านใน แต่เดี๋ยวนี้น่าจะทำหน้าที่ "identify" คือบอกว่าใครเป็นใครมากกว่าหน้าที่ปกป้องแบบสมัยก่อน

ผมเห็นด้วยว่านักศึกษาที่กำลังเปลี่ยนชั้นจากปรีคลินิก มาขึ้นชั้นคลินิกนั้น ควรจะสำเนียกในนัยยะสำคัญนี้ให้มาก เป็นช่วงเวลา coming-of-age คือก้าวกระโดดของการเติบโตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ และสำเนียกตลอดเวลาที่อยู่ในชั้นคลินิก เนื่องจาก cinical skill นั้น ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ในสามปีของชั้นคลินิก นักศึกษาจะได้เรียนใน "สิ่งแวดล้อมควบคุม ดูแล" คือมีคนแนะนำ สั่งสอน สะท้อน ความรู้และสิ่งจำเป็นต่างๆ เลยสามปีนี้ไป เมื่อนักศึกษาหมดสภาวะนักเรียน ก็ต้อง "เรียนเอง" และรับผลกระทบจากการกระทำหรือการไม่กระทำด้วยตนเอง

ชุดเสื้อกาวน์ จึงมีความหมายของอภิสิทธิ์บางประการที่กำลังจะได้มา

สิทธิที่นักศึกษาจะได้สัมภาษณ์ผู้ป่วยและครอบครัว ได้รับทราบความทุกข์ ตระหนักถึงความหวัง/ความผิดหวัง ความกังวล ความเครียด ความกลัว และในเวลาเดียวกัน จะได้เรียนรู้พลังของความรักและเมตตาในการเยียวยาผู้คน ในการทำงานเพื่อบรรเทาทุกข์ของผู้คน ในการเสียสละความสุขส่วนตนในการปฏิบัติงานเพื่อคลายทุกข์ของคนอื่น เป็นเครื่องแบบที่จะใส่โดย "ผู้ที่ปวารณาตนเอง จะดำเนินชีวิตแบบหนึ่ง" (Professional มาจากคำว่า profiteri แปลว่า การประกาศตนในที่สาธารณะว่าจะยึดวิถีนี้เป็นสรณะในการดำเนินชีวิต)

พิธีรับเสื้อกาวน์ในความคิดคำนึงของผม จึงเป็นพิธีที่น่าจะทำออกมาในลักษณะที่สื่อถึง "นัยยะ" เหล่านี้ก็น่าจะดีและเหมาะสม ไม่ได้เน้นการถ่ายรูป รับดอกไม้ หรือแสดงความยินดีปรีดา แต่น่าจะเน้นที่ความเคร่งขรึม หน้าที่ และความสำนึกในความสำคัญที่กำลังต้องเพิ่มความรับผิดชอบของชีวิตตนเอง ที่จะต้องมีต่อสุขภาวะ และทุกข์ภาวะ ของชีวิตคนอื่นๆ

ก็จะเป็น "จุดเริ่มต้น" ชีวิตในชั้นคลินิกที่งดงาม เข้มแข็ง และมีแรงบันดาลใจ

น.พ.สกล สิงหะ (mode ชราภาพ รำพึงรำพัน)
หน่วยชีวันตาภิบาล คณะแพทยศาสตร์ ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพุธที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เวลา ๙ นาฬิกา ๑๙ นาที
วันขึ้น ๑๒ คำ่ เดือน ๓ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 622841เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2017 09:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2017 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท