ศาสตร์สุดยอดของพระราชา คือเศรษฐกิจพอเพียงต้านกระแสทุนนิยมโลก


ศาสตร์สุดยอดของพระราชา คือเศรษฐกิจพอเพียงต้านกระแสทุนนิยมโลก

9 กุมภาพันธ์ 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

“...ความรับผิดชอบนี้คือการรับผิดในสิ่งที่ทำผิด รับชอบในสิ่งที่ทำชอบ ปฏิบัติด้วยความดี ด้วยความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์...” พระบรมราโชวาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวิชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร 26 เมษายน 2559

ในความรับผิดชอบของคน ต้องแฝงด้วยการน้อมนำการปฏิบัติด้วย จึงจะเป็นผล ใน “ศาสตร์ของพระราชา” ที่เรากำลังจะกล่าวถึง เป็น “ระดับสังคมโลก” ไปแล้ว

ศาสตร์พระราชาเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมโลก

เมื่อมีการกล่าวถึงแนวทางตามระราชดำริของพระองค์ท่านพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อนักวิชาการต่างประเทศได้น้อมนำแนวทางของพระองค์ท่านไปกล่าวเขียนไว้เป็นหนังสือวิชาการระดับโลกชื่อ “แนวคิดของความพอเพียง : ของขวัญจากประเทศไทยแด่โลกที่ไม่ยั่งยืน (Sufficiency Thinking: Thailand’s gift to an unsustainable world)” [2] แปลว่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : ของขวัญจากไทยแด่โลกอันไม่ยั่งยืน” หรือ “ความคิดคำนึงเรื่องความพอเพียง.. ของขวัญประเทศไทยแด่โลกอันไม่ยั่งยืน” โดย ศ.ดร.แกลย์ ซี เอเวอรี่ (Gayle C. Avery) และ ศ.ดร.ฮาราลด์ เบิร์กสไตเนอร์ เป็นบรรณาธิการ ซึ่ง ศ.ดร.เอเวอรี ได้เกริ่นไว้อย่างน่าสนใจว่า “Thailand : An unexpected role model” หมายถึง “ประเทศไทย : แบบอย่างที่เหนือความคาดหมาย” ดร.เอเวอรี ถือเป็นนักบุกเบิกในแวดวงวิชาการด้านภาวะผู้นำแบบพอเพียงเป็นที่ยอมรับทั้งในเอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือและออสเตรีย

จึงถือเป็นการเผยแพร่ “ศาสตร์พระราชา.. เศรษฐกิจพอเพียง” ไปยังสังคมโลก เป็นการเปิดตัวในการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 11 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2559 เป็นหนังสือเล่มเดียวที่จัดทำเป็นหนังสือเรื่อง “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นภาษาอังกฤษ โดยได้รวบรวมข้อมูลของผลที่เป็นรูปธรรมของการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาในทุกสาขา ไม่เฉพาะในภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ ในหัวข้อเรื่อง “ภาวะผู้นำที่ยั่งยืน” มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นแนวทางในการนำพาประเทศไทยให้ข้ามผ่านวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของทวีปเอเชียที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 (1997) และหลายภาคส่วนในสังคมไทยได้น้อมนำหลักปรัชญานี้ไปเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ยังมีมุมมองจากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญชาวไทยจำนวน 20 ท่านเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้แนวคิดของความพอเพียงเพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และองค์กรขนาดต่างๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเปรียบเทียบ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”เหมือน “เสาเข็ม”

“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอก รองรับ บ้านเรือน ตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมาก มองไม่เห็นเสาเข็ม และลืมเสาเข็ม เสียด้วยซ้ำไป” (พระราชดำรัสจากวารสารชัยพัฒนา)

“เศรษฐกิจพอเพียง แปลว่า Sufficiency Economy คำว่า Sufficiency Economy นี้ ไม่มีในตำราเศรษฐกิจ จะมีได้อย่างไร เพราะว่า เป็นทฤษฎีใหม่ Sufficiency Economy นั้น ไม่มีในตำรา เพราะหมายความว่า เรามีความคิดใหม่... และโดยที่ ท่านผู้เชี่ยวชาญสนใจ ก็หมายความว่า เราก็สามารถที่จะไปปรับปรุง หรือไปใช้หลักการ เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจ ของประเทศ และของโลกพัฒนาดีขึ้น” (พระราชดำรัส 5 ธันวาคม 2542) [3]

ความหมายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนา และบริหารประเทศ ให้ดำเนินไป ในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง อย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจ ในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี [4]

ความหมายในทางปฏิบัติ

“เศรษฐกิจพอเพียง” ได้รับการขานรับจากสังคมเป็นอย่างดีมากว่า 10 ปีแล้ว แม้แต่สหประชาชาติ ก็ให้ความสนใจ หลายภาคส่วนยังงงๆกับการปฏิบัติ ไม่รู้จะเริ่มกันอย่างไร นักธุรกิจ นักวิชาการ และชนชั้นนำที่คุ้นชินกับระบบทุนนิยม จำนวนไม่น้อย ที่ไม่เห็นด้วย แต่ไม่ได้ส่งเสียง ต้านกระแสอะไรออกมา ในวงกว้าง ประเด็น สำคัญที่ค้านก็คือ แม้จะเป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ดี แต่เป็นไปไม่ได้โลกทุกวันนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจโลกโยงถึงกันหมด หากไม่กระตุ้นการแข่งขันและการลงทุน ประเทศจะล้าหลังไปไม่รอดชนชั้นนำ นักวิชาการ และนักธุรกิจส่วนใหญ่ที่ออกมาขานรับ พยายามจะอธิบายกับสังคมให้เข้าใจเพื่อจะได้นำไปปฏิบัติ แต่ปัญหาก็คือ ต่างอธิบายกันไปตามภูมิของแต่ละท่าน “เศรษฐกิจพอเพียง” ก็เป็นไปในหลายทิศทางหลายระดับชั้น ผู้ใดมีความเป็นอยู่อย่างไร ก็อธิบายเศรษฐกิจพอเพียงให้สอดคล้องกับความเป็นความมีของตัวเอง จึงปรากฏมีเจ้าสัว หมื่นล้านแสนล้าน ออกมากล่าวถึงตนเองว่า ก็ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีรัฐมนตรีในรัฐบาลไทยรักไทยออกมาแนะนำชาวบ้านถึงการเลี้ยงไก่ชนให้ได้ราคาตัวหนึ่งเป็นแสนเป็นล้านว่านี่ก็คือ การดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ...มันอะไรกันแน่ ?! [5]

แม้ว่าคนไทยจะรู้จัก “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้วตั้งแต่ปี 2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ก็ตาม รศ.ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา [6] เลขาธิการพระราชวัง กล่าวว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมี 3 ข้อ หัวใจของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากไม่โลภ ต้องมีความรู้คู่คุณธรรม มีผู้นำที่ดีเป็นโรลโมเดล (Role Model) และเอา 3 หลักไปใช้คือ (1) พอประมาณ (2) ไม่สุดโต่ง มีเหตุมีผล และ (3) มีภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่ง “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”ทรงเป็น “แบบอย่างที่ดี” ในเรื่องนี้

จึงเป็นที่มาของหนังสือ “แนวคิดของความพอเพียง : ของขวัญจากประเทศไทยแด่โลกที่ไม่ยั่งยืน” เข้าสู่สังคม จะต้านกระแสสังคมไหวไหม ก็เป็นความพยายามที่ต้องทำกันต่อไป จวบจนวันนี้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้รับการนำไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในภาคเกษตรกรรม ธุรกิจ การจัดการทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และสถานศึกษา จนประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม “สิ่งที่จะมาลดความเสี่ยง ทำให้รากฐานมั่นคง ไม่ล้มลงง่าย คือ การมีความคิดแบบพอเพียง ไม่โลภ และมีความรู้คู่คุณธรรม ความรู้แบ่งได้เป็น 3 อย่างคือ (1) ความรู้ของชาวบ้าน หรือปราชญ์ชาวบ้าน (2) ความรู้จากศาสตร์พระราชา ตามโครงการพระราชดำริต่างๆ หรือตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (3) ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งเราไม่ปฏิเสธที่จะใฝ่รู้ และอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ผู้นำที่มีคุณธรรม ถ้ามีครบทั้งหมดนี้จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ในท่ามกลางระยะเปลี่ยนผ่าน

ในระยะเปลี่ยนผ่านระหว่างการต่อสู้ในกระแสของสังคมนิยมและทุนนิยมโลก ซึ่งในกระแสทุนนิยม จะวัดว่าเงินรวยขึ้นปีละเท่าไหร่ อันเป็นแนวคิดที่ครอบงำไปทั้งโลก [7] จึงมีกระแส “แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” เท่านั้น ที่จะฟันฝ่าและต้านทานกระแสทั้งสอง โดยเฉพาะกระแสทุนนิยมปัจจุบันที่กำลังอ่อนล้าลงอย่างเห็นได้ชัด

ท่านผู้รู้ท่านหนึ่งได้ให้ทัศนะเรื่องนี้ไว้เมื่อประมาณเกือบ 10 ปีอย่างน่าสนใจ จึงขอยกมา ดังนี้ [8]

พระราชดำรัสของพระองค์ท่านใช้ได้จริงในสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในปัจจุบัน อย่างน้อยที่สุดเราก็สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางเสือสิงกระทิงแรด การยกอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจมาถกสู้กันด้วยเหตุผลก็เป็นเรื่องทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์สังคมนิยม

“แต่เศรษฐกิจพอเพียงยังอยู่เพียงแต่ในความคิดของสังคมบางส่วนเท่านั้น มิใช่กระแสหลักในการพัฒนาแต่อย่างใด ถามว่ามันช่วยเหลือพวกเราในแง่การดำรงชีวิตหรือไม่ ผมเชื่อว่าได้ แต่ถ้าจะนำมันไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศขนานใหญ่ ผมเชื่อว่าลึกๆแล้วรัฐบาลไม่เอาด้วยแน่นอน และก็จะมี “ผู้ทรงอิทธิพลในสถาบันสูงสุดของประเทศ” ไม่เอาด้วยอีกแน่นอนเช่นกัน ...”

ตัวอย่างในแนวคิด “การเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมสมัยใหม่” ที่พยายามต่อสู้กับการครอบงำของจักรวรรดินิยมใหม่ ขบวนการ ซาปาติสต้า ในเม็กซิโก ได้รับการยอมรับและเป็นไอดอลสำหรับขบวนการอื่นทั่วโลก ขบวนการนี้มิได้มีแนวทางเคลื่อนไหวเพื่อยึดอำนาจรัฐเหมือนขบวนปฏิวัติในอดีต แต่เคลื่อนไหวเพื่อ “ปฏิรูปที่ดิน” และ “ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมือง” ให้มีความสมดุลกัน ที่สำคัญ พวกเขาทำเพื่อคนจน

บทสรุปปัจจุบันในความหมายของ “เศรษฐกิจพอเพียง”

ท่านผู้รู้คนเดียวกันให้ทัศนะ “ตีความ” ความหมายของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ไว้ ใน 4 แนวทาง [9] ความหมายอย่างน่าสนใจ ดังนี้ (1) ตีความว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือ การหวนกลับไปสู่ความดั้งเดิมตามธรรมชาติ อยู่อย่างเรียบง่าย พอใช้พอกิน ไม่ทำอะไรเกินตัว ความนี้ เห็นได้บ่อยที่สุด ตามหน้า นสพ. โทรทัศน์ ในโรงหนัง ป้ายรณรงค์ต่างๆ และคำพูดต่างๆของคนดัง และนักวิชาการบางท่าน (2) ตีความว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือ การอยู่ร่วมกับทุนนิยมให้ได้ ไม่ว่าทุนนิยมจะไปทางไหน เราก็สามารถปรับตัวได้ เป็นการตีความที่ไม่ปฏิเสธทุนนิยม (3) ตีความว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือ การปฏิเสธทุนนิยม และกลับไปอยู่ภายในชุมชนโดยใช้เศรษฐกิจพึ่งพาตามวิถีธรรมชาติ เป็นชุมชนนิยม คนที่ตีความแบบนี้ผมเจอมากในหมู่ NGO หรือพวกนักเคลื่อนไหวทางสังคม สามารถหาอ่านได้ในวารสารเฉพาะทางหรือพวกนิตยสารทางเลือกเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง และ (4) อื่นๆ

สรุปว่าเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยองค์ภูมิพลอดุลยเดชล้นเกล้าของชาวไทยได้กลายเป็น “ประเด็นแห่งโลก” (World Issue) ไปแล้ว ฉะนั้น การอธิบายเศรษฐกิจพอเพียงในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ หากยึดหลักความรับผิดชอบ กับผลทางรูปธรรมที่เป็นจริงเป็นจัง ต้องเน้นที่ “การปฏิบัติที่เป็นจริง” (practical) กันให้มากที่สุดในทุกๆ ภาคส่วน การเพียงคิดแต่ไม่นำไปปฏิบัติ หรือการปฏิบัติเพื่อไม่เกิดผลที่เป็นรูปธรรม จึงเหมือนกับ “ทฤษฎีที่ขาดการปฏิบัติ” เราพสกนิกรชาวไทยทั้งหลายต่างรู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์ล้นเกล้าชาวไทยกันดีทุกคน คงไม่สับสนในการเอามาเป็นนโยบายแห่งรัฐ เพียงใส่ไว้ในคำแถลงนโยบายเฉยๆ ซึ่งก็จะไร้ผลโดยสิ้นเชิง


[1]PhachernThammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23299 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 22 วันศุกร์ที่ 10 – วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560, หน้า 66

[2]เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิถีโลก “ของขวัญจากประเทศไทยแด่โลกที่ไม่ยั่งยืน”, มติชนรายวัน, 17 มิถุนายน 2559, http://www.matichon.co.th/tag/ศ-ดร-แกลย์-ซี-เอเวอรี่ & http://www.matichon.co.th/news/177521 & ภาณุมาศ ทักษณา, สุทธิชัย หยุ่น เขียนถึง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง(ศาสตร์พระราชา) ของขวัญจากไทยแด่โลกอันไม่ยั่งยืน (1), 15 สิงหาคม 2559, http://chaoprayanews.com/blog/thaiflag/2016/08/15/...

[3]เว็บไซต์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง, http://www.sufficiencyeconomy.org/

[4]เว็บไซต์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง, อ้างแล้ว 

[5]หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 หัวข้อข่าว นักธุรกิจไทย กับปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง โดยคัดลอก บางส่วนมาจากหนังสือ “เศรษฐกิจ พอเพียง ปรัชญาใหม่ ในยุคโลกาภิวัตน์” ที่หอการค้าไทย จัดทำขึ้น ได้รวบรวม บทสัมภาษณ์ 100 นักธุรกิจไทยที่ดำ เนินธุรกิจสอดคล้อง กับปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง

[6]ศาสตร์พระราชา 'เศรษฐกิจพอเพียง' พัฒนา'ปท.-โลก' อย่างยั่งยืน,มูลนิธิมั่นพัฒนา, มติชนรายวัน, 9 มิถุนายน 2559, http://www.tsdf.or.th/th/news/10541-ศาสตร์พระราชา-... & http://www.matichon.co.th/news/166427

ณ วันนี้ นายจิรายุบอกว่า ความรู้จักกับคำว่า “พอเพียง”ของคนไทยยังอยู่ในระดับสมอง แต่ยังไม่เข้า “สายเลือด”หรือ “ดีเอ็นเอ”

[7]ศาสตร์ พระราชา, ไทยโพสต์, 30 ตุลาคม 2559, http://www.thaipost.net/?q=ศาสตร์-พระราชา

[8]นายอึเหม็น(นามแฝง), 6 ตุลาคม 2551 ใน คอมมิวนิสต์ก็ล่มสลาย ทุนนิยมก็มาถึงทางตัน ได้เวลาของพอเพียง, กระทู้เวบพันทิพ โดย KongMing(นามแฝง), 4 ตุลาคม 2551, http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/20... & ดูเพิ่มเติมใน ปัญหาแก้ได้ ตามรอยบาทพ่อ, โดย เปลว สีเงิน, วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560, http://www.thaipost.net/?q=ปัญหาแก้ได้-ตามรอยบาทพ่อ

[9]นายอึเหม็น(นามแฝง), 6 ตุลาคม 2551, อ้างแล้ว

หมายเลขบันทึก: 622834เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2017 00:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2020 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท