​ชีวิตที่พอเพียง : 2849. สมองกับความยากจน



บทความใน Scientific American Mind ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๐ เรื่อง The Stamp of Poverty ซึ่งอ่านบทคัดย่อได้ ที่นี่บอกว่าในช่วงที่เป็นเด็กเล็ก เด็กจากครอบครัวยากจน มีสมองส่วนนอก (cortex) บางกว่าเด็กจากครอบครัวฐานะดี


รู้กันดี ว่าตัวการคือ สุขภาพไม่ดี ครอบครัวไม่มั่นคง ความเครียดเรื้อรัง ที่อยู่กับชีวิตประจำวันของคนจน แต่ก็มีปัจจัยร่วมอีกมากมาย เช่น โภชนาการไม่ดี บริการสุขภาพมีจำกัด ได้รับการกระตุ้นด้านภาษาและสติปัญญาจำกัดที่บ้าน โรงเรียนคุณภาพต่ำ และความคาดหวังทางสังคมต่ำ


ห้าสิบปีมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองแห่งมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด Marian Diamond ได้ทดลองเลี้ยงลูกหนูในสภาพ “ยากจน” ไม่มีของเล่น ไม่มีเพื่อนเล่น พบว่าสภาพดังกล่าวทำให้สมองพัฒนาได้ไม่ดี และขีดความสามารถของการเรียนรู้ต่ำ


บทความบอกว่า ในสหรัฐอเมริกา มีความพยายามแก้ปัญหาช่องว่างในโอกาสเติบโตทางปัญญาของเด็กครอบครัวยากจน กับเด็กครอบครัวฐานะดี มากว่าครึ่งศตวรรษ และใจชื้น ที่ในช่วงหลังๆ พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นช้าๆ แต่หากยังคงแนวโน้มปัจจุบัน จะต้องใช้เววลา ๖๐ - ๑๑๐ ปี จึงจะถึงฝั่ง


การเรียนรู้ เกิดจากธรรมชาติของสมอง สมองเป็นอวัยวะที่มี “ความยืดหยุ่น” (plasticity) ซึ่งหมายถึงความสามารถในการเปลี่ยนแปลง สูงสุด การเปลี่ยนแปลงของสมอง เกิดจากการกระตุ้นโดยสภาวะแวดล้อม การเรียนรู้จึงเกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมองกับสภาพแวดล้อมและกิจกรรมรอบตัวเด็ก ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง


เมื่อแรกเกิด สมองทารกมีสมองส่วนขาว (มีเซลล์สมอง ๖ ชั้น) และสมองส่วนเทา (มีใยประสาทเชื่อมต่อเซลล์สมอง และเชื่อมเซลล์สมองกับส่วนอื่นของร่างกาย) มากเกินความต้องการ แล้วสมองก็จะได้รับการตกแต่งจากธรรมชาติและสภาพสังคมรอบตัว ให้เป็นสมองที่ทำงานได้ดียิ่งขึ้นๆ โดยสมองส่วนเทาบางลง และสมองส่วนขาวหนาขึ้น ในช่วงชีวิตเด็กเล็ก ถึงช่วงเป็นผู้ใหญ่วัยต้น


สมองส่วนเทาบางลง เพราะมีกระบวนการตัดแต่ง (pruning) ให้ลดความรกลง เก็บไว้เฉพาะส่วนที่มีคุณค่าจริงๆ สมองจะได้ว่องไวเฉียบแหลม สมองส่วนขาวหนาขึ้น เพราะเกิดการเชื่อมต่อใยประสาทมากขึ้น และถูกที่ถูกทางยิ่งขึ้นด้วย โดยที่จริงๆ แล้ว ทั้งสมองส่วนขาว และสมองส่วนเทา ก็มีการตัดแต่งอยู่เสมอ เพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการวิจัยถ่ายภาพสมองเด็กโดยใช้เครื่องมือถ่ายภาพสมองด้วยกระแสแม่เหล็ก (MRI) เปรียบเทียบตามระดับรายได้ของพ่อแม่ พบว่าสมองส่วนที่แตกต่างกันมากที่สุดคือส่วนเปลือกสมอง (cortex - สมองส่วนสีขาว) คือเด็ก (ม. ๒) จากครอบครัวฐานะดี มีเปลือกสมองบางกว่า ผลการวิจัยนี้รายงานออกมาในปี ค.ศ. 2015 ศึกษาเด็ก ๕๘ คน


ในปีเดียวกัน มีการวิจัยถ่ายภาพสมองด้วยกระแสแม่เหล็กเช่นกัน ในเด็กอายุ ๓ - ๒๐ ปี จำนวน ๑,๐๙๙ คน พบว่าพื้นที่ผิวสมองส่วนนอกใหญ่กว่าในเด็กจากครอบครัวรายได้สูง และเมื่อเอารายได้ของครอบครัว ๕๐,๐๐๐ เหรียญต่อปีเป็นตัวแบ่งกลุ่ม พบว่าในกลุ่มที่รายได้ต่ำกว่า ๕๐,๐๐๐ รายได้ที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย พื้นที่ผิวสมองจะแตดต่างกันมาก ตรงกันข้ามในกลุ่มที่รายได้เกิน ๕๐,๐๐๐ ความแตกต่างของรายได้ไม่ก่อผลต่อพื้นที่ผิวสมอง


ในปี 2015 เช่นเดียวกัน มีรายงานการศึกษาสมองด้วยกระแสแม่เหล็ก เทียบกับผลการทดสอบสมอง และเศรษฐฐานะของครอบครัว ในคนอายุ ๔ - ๒๒ ปี จำนวน ๓๘๙ คน พบว่าคนที่ผลการทดสอบสูงกว่า มีปริมาตรสมองส่วนนอกกลีบด้านหน้าและกลีบด้านข้างมากกว่า และเด็กยากจนกว่ามีเปลือกสมองส่วนสีเทาน้อยกว่า

ผลในทั้งสามรายงานไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ และเป็นการสึกษาความสัมพันธ์ จึงยังสรุปความเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ และยังพบว่ามีเด็กจากครอบครัวยากจนที่ผลการเรียนดีมาก


การแปลความหมายของข้อค้นพบเหล่านี้ยังต้องระมัดระวัง ที่สรุปได้แน่ๆ คือเด็กยากจนสมองเล็กกว่า และเด็กเรียนเก่งเปลือกสมองบางกว่า แต่ก็ยังจำกัดที่เด็กที่มาอาสาให้ทดลองเป็นกลุ่มเด็กจากครอบครัวฐานะดี


คำถามที่ยังตอบไม่ได้ชัดเจนคือ สมองเด็กยากจนแตกต่างจากสมองเด็กฐานะดีตั้งแต่เมื่อไร เริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาหรือไม่ และผลการวิจัยที่ขัดกัน ในเรื่องความบางของเปลือกสมอง ที่พบในเด็กยากจน และในขณะเดียวกันความบางของเปลือกสมองเชื่อมโยงกับเด็กที่พัฒนาการดี ผลการเรียนดี ทำให้มีคนตั้งสมมติฐานว่า เด็กยากจนเปลือกสมองบางเร็วผิดปกติ ซึ่งอาจมีผลให้กระบวนการเรียนรู้ส่งผลต่อสมองน้อย หรือในทางตรงกันข้าม อาจช่วยให้ปัจจัยลบต่างๆ ส่งผลทำลายสมองได้ยากกว่า


มีโครงการหลายโครงการที่หาวิธีช่วยกระตุ้นสมองของเด็กยากจนให้พัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนา executive functionsเช่นเครื่องมือ Tools of the Mind หวังกันว่า ด้วยคุณสมบัติยืดหยุ่นของสมอง จะช่วยให้การดำเนินการเยียวยาเด็กยากจน ให้ฟื้นคุณภาพสมอง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพสูงได้ ดังมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดตั้ง Center on the Developing Child มหาวิทยาลัยโอเรกอนตั้ง Oregon Social Learning Center ซึ่งริเริ่ม KITS (Kids in Transition to School) Program เป็นต้น


ผมไตร่ตรองสะท้อนคิดว่า ความยากจนในสหรัฐอเมริกามีสาเหตุมาจากความล้มเหลวของระบบตลาดและประชาธิปไตยแบบใครมือยาวสาวได้สาวเอา มาตรการต่างๆ เพื่อช่วยให้เด็กยากจนมีพัฒนาการดีนั้น ในเชิงมหภาค เป็นเสมือนมาตรการวัวหายแล้วล้อมคอก ในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และประเทศญี่ปุ่น ที่ช่องว่างทางสังคมต่ำ ไม่จำเป็นต้องลงทุนแก้ปัญหาเด็กยากจนมากมายอย่างในสหรัฐอเมริกา



วิจารณ์ พานิช

๒๐ ม.ค. ๖๐


หมายเลขบันทึก: 622829เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2017 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2017 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท