ปรัชญาตะวันออก : แก่นแนวคิดปรัชญาอินเดีย


ปรัชญาตะวันออก : แก่นแนวคิดปรัชญาอินเดีย

4 กุมภาพันธ์ 2560

ในแนวคิดปรัชญาอินเดียที่มีอิทธิพลต่ออารยธรรมอินเดีย ที่ประเทศในแถบเอเชียได้รับมาเป็นแนวทางผสมผสานกับแนวคิดของตน จนเกิดเป็น “วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์” ของตนเองขึ้นก็ตาม หากสืบสาวราวเรื่องไป ก็จะพบว่าได้รับอิทธิพลแนวคิดหลักปรัชญามาจาก “วัฒนธรรมอินเดียทั้งสิ้น” ได้แก่ วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมอุษาคเนย์ (South East Asia) ไทย ลาว กัมพูชา และ พม่า (เมียนมา) และ บางส่วนนั้นอาจรวมไปถึง วัฒนธรรมวิถีชีวิตของ สิงคโปร์ มาเลเซีย และ อินโดนีเซียบางส่วน เพราะ ได้รับอิทธิพลมาจากชาวอินเดีย ที่มิใช่วัฒนธรรมอิสลาม ทั้งนี้ รวมถึงประเทศในแถบอนุทวีปอินเดีย (Indian subcontinent) อื่น ๆ ได้แก่ เนปาล ภูฏาน สิกขิม บังกลาเทศ‎ ปากีสถาน‎ มัลดีฟส์‎ ศรีลังกา (ที่ยกเว้นวัฒนธรรมอิสลาม) นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง อาณาเขตทิเบต และ มองโกเลีย รวมไปถึง มองโกเลียในเขตของรัสเซีย เป็นต้น ซึ่งจะเห็นขอบเขตของวัฒนธรรมอินเดียที่กว้างขวาง ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและแนวคิด ปรัชญา ของผู้คนในแถบนี้มาก อย่างที่เรียกได้ว่า “แทบแยกกันไม่ออกจากปรัชญาอินเดีย”

ลองมาดูแนวคิดของปรัชญาอินเดียเหล่านี้กัน ซึ่ง สมมติฐานมีว่า วัฒนธรรมหลัก หรือ ปรัชญาหลักของอินเดีย ก็คือ “ปรัชญาพราหมณ์ หรือ ฮินดู” (Brahman-Hinduism) [1] ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 4000 ปี ต่อมาศาสนาพราหมณ์ได้วิวัฒนาการมาเป็นศาสนาฮินดู ที่ยึดถือ “คัมภีร์พระเวท” (the four Vedas) ซึ่งชาวอารยัน (Aryan) ใช้ภาษาสันสกฤต (Sanskrit word) เป็นผู้สร้างขึ้นมา แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ (1) ส่วนที่เป็นศรุติ (Shruti) ได้แก่ คัมภีร์พระเวททั้ง 4 คือ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท (Rig-Veda, Yajur-Veda, Sama-Veda, Atharva-Veda) (2) ส่วนที่เป็นสมฤติ (Smriti) ได้แก่ คัมภีร์ที่ปราชญ์ทางศาสนาได้แต่งขึ้นเพื่ออธิบายเนื้อหาและสนับสนุนให้การศึกษาคัมภีร์พระเวทเป็นไปโดยถูกต้อง เช่น คัมภีร์อุปนิษัท (Upanishads) คัมภีร์มนูศาสตร์ (Manusatra) คัมภีร์ปุราณะ คัมภีร์ภควัทคีตา (Bhagavad Cita) มหากาพย์มหาภารตะ (Mahabharat) และมหากาพย์รามายณะ (Ramayana) เป็นต้น ซึ่ง “ปรัชญาและศาสนา” ของอินเดียนั้นแยกกันไม่ออก กล่าวคือผูกติดกันและกันนั่นเอง

ปรมาตมัน หรือ พรหมัน เป็นหัวใจของพราหมณ์- ฮินดู

หลักธรรม หลักธรรมคำสอนสำคัญของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู มีอยู่ 3 ข้อ [2] คือ (1) อาศรม หมายถึง ขั้นตอนการดำเนินชีวิตของชาวฮินดู เฉพาะที่เป็นพราหมณ์วัยต่างๆ โดยกำหนดเกณฑ์อายุคนไว้ ๑๐๐ ปี แบ่งช่วงของการใช้ชีวิตไว้ 4 ตอน ตอนละ 25 ปี (2) ปรมาตมัน หมายถึง สิ่งที่ยิ่งใหญ่ อันเป็นที่รวมของทุกสิ่งทุกอย่างในสากลโลก ได้แก่ “พรหม” ปรมาตมันกับพรหมจึงเป็นสิ่งเดียวกันซึ่งมีลักษณะดังนี้ วิญญาณทั้งหมดเป็นส่วนที่แยกออกมาจากปรมาตมัน วิญญาณย่อยเหล่านี้เมื่อแยกออกมาแล้ว ก็เข้าจุติในชีวิตรูปแบบต่างๆ เช่น เทวดา มนุษย์ สัตว์ และพืช มีสภาพดีบ้าง เลวบ้าง ตามแต่พรหมจะลิขิต (3) โมกษะ ถือว่าเป็นหลักความดีสูงสุด ดังคำสอนของศาสนาฮินดูสอนว่า “ผู้ใดรู้แจ้งในอาตมันของตนว่าเป็นหลักอาตมันของโลกพรหมแล้ว ผู้นั้นย่อมพ้นจากลังสาระการเวียนว่าย ตาย เกิด และจะไม่ปฏิสนธิอีก

หลักปรมาตมัน – อาตมัน และ โมกษะ ถือเป็นหลักธรรมชั้นสูงของศาสนาพราหมณ์ฮินดู “โมกษะ” (moksha) หรือ ความหลุดพ้น (liberation) นั้นเป็นสิ่งสำคัญของภาพนำทางของชาวอินเดีย ดังที่นักปรัชญาชาวอินเดียได้ยืนยันอยู่เสมอว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ก็คือการหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการทางโลก ซึ่ง “โมกษะ” เป็นเป้าหมายชีวิตของศาสนาฮินดู (Yoga is that which impels and grants spiritual liberation.) [3]

พราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่า “ปรมาตมัน” (Paramatman) บางครั้งเรียกว่า “พรหมัน” (Bhroman) ปรมาตมันกับพรหมเป็นสิ่งเดียวกัน ส่วน “ชีวาตมัน” (Jeevatman) หรือบางครั้งเรียกว่า “อัตมัน” (Atman) เป็นตัวตนย่อย วิญญาณของมนุษย์ และสรรพสัตว์ย่อมเกิดมาจาก วิญญาณสากล คือ ปรมาตมัน หรือ พรหมัน [4]

ในศาสนาฮินดูนั้น อุดมคติสูงสุดที่บุคคลต่างดิ้นรนจะไปให้ถึงนั่นคือ “ปรมาตมัน” อาตมันก็คือพรหมัน ผู้ที่รู้จักและเข้าใจอาตมันจึงเท่ากับรู้จักและเข้าใจพรหมมัน ผู้ที่รู้จักพรหมมันผู้นั้นจะเข้าถึงโมกษะ คือ ภาวะแห่งความหลุดพ้น คืออยู่ร่วมกับพรหมันหรือปรมาตมัน อันเป็นวิญญาณสากลได้ ทัศนะของชาวอินเดียหรือพราหมณ์-ฮินดูนั้นมีความเชื่อว่า อาตมัน หรือ ชีวาตมัน คือ ตัวตนของเรา กล่าวว่า ถ้ามองจากแง่ของ ชีวาตมัน แล้ว มายา (Illusions) จะมีชื่อเรียกใหม่ว่า อวิทยา (อวิชชา) ซึ่งแปลว่า ความไม่รู้ อวิทยาเป็นสิ่งที่เหมือนม่านปิดบัง ทำให้ชีวาตมันไม่รู้ความเป็นจริงว่า ตนเองกับสิ่งสัมบูรณ์คือพรหมันนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความไม่รู้หรืออวิทยานี้เป็นสาเหตุให้ชีวาตมันต้องเวียนว่ายตายเกิด ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ [5]

สรุปว่า ปรมาตมัน (Paramatman) คือ วิญญาณสูงสุดหรือพระเจ้าสูงสุด ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชีวิต อาตมัน (Atman) คือ วิญญาณย่อย อันเป็นอมตะไม่มีวันแตกดับ อยู่ในร่างกายมนุษย์ทั้งหลาย เวลามนุษย์ตาย จะตายแต่เพียงร่างกาย แต่อาตมัน จะเป็นอมตะไม่มีวันแตกดับ ซึ่งอาตมัน จะเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะบรรลุโมกษะ (moksha) คือ สภาวะแห่งการหลุดพ้น อาตมันของมนุษย์แต่ละคน จะได้กลับไปรวมกับปรมาตมันและไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกเลย[6]

แต่หลักพระพุทธศาสนา (Buddhism) ไม่เชื่อในความมีอยู่ของวิญญาณว่ามีกำเนิดมาจากพระเจ้า แต่พราหมณ์-ฮินดูมีความเชื่อในความมีอยู่ของ “อาตมัน” คือเชื่อว่ามีวิญญาณของบุคคลและพระพรหมซึ่งเป็นพระผู้สร้างสูงสุด (ปรมาตมัน) และ ที่ใกล้เคียงเหมือนกันอีกอย่างคือ พระพุทธศาสนาดั้งเดิมที่สอนโดยพระพุทธเจ้านั้น เรียกว่า พระพุทธศาสนาแบบ “เถรวาท” (Theravada Buddhism) หรือ พระพุทธศาสนาแบบ “หีนยาน” (Hinayana = the “Lesser Vehicle”) ผู้นับถือพระพุทธศาสนานิกายนี้ เดิมจะไม่บูชาพระพุทธรูป และไม่มีความเชื่อใน “พระโพธิสัตว์” (Bhodisathawa) ส่วนพระพุทธศาสนานิกาย “มหายาน” (Mahayana Buddhism) เห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นวิญญาณสูงสุด หรือเป็นมนุษย์สูงสุด คล้ายคลึงกับพระพรหมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และทำการบูชาพระพุทธเจ้าในรูปแบบของพระปฏิมาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ [7]

ความเชื่อในพระเจ้า (Gods) ของศาสนาต่าง ๆ [8]

ในเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของ “พระเจ้า” นี้ มีแนวคิดของศาสนาต่าง ๆ มากมายที่นับถือพระเจ้า รวมทั้งศาสนาฮินดูด้วย ได้แก่ (1) พระเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู คือ พระพรหม (Brahma) ถือว่า ปรมาตมันกับพรหมเป็นสิ่งเดียวกัน, (2) พระเจ้าอาหุระ มาซดะ พระเจ้าในศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroaster, Zarathustra, Ahura Mazda) ถือว่า พระองค์จึงเป็นผู้สร้างทุกสิ่ง ผู้รู้ทุกสิ่ง และทรงความดีงามอย่างบริสุทธ์ถาวรโลกและสรรพสิ่งล้วนเป็นผลงานที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมา แต่ไม่มีใครสามารถสร้างพระองค์ได้ พระองค์จึงมีอยู่เป็นอยู่ด้วยพระองค์เอง ทรงเป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลา ไม่มีใครที่จะรู้หรือเข้าใจในตัวพระองค์ได้โดยตรง, (3) พระเจ้าของศาสนาคริสต์คือ พระเยโฮวาห์ (Jehovah) ทรงมี 3 ภาคที่เรียกว่า ตรีเอกานุภาพ (The Triune God or The Trinity) คือพระบิดา (God the Father ) พระบุตร (God the Son) และพระวิญญาณ (God the Spirit) (4) พระอัลเลาะห์ (Allah) พระเจ้าศาสนาอิสลาม (Islam) (5) พระเจ้าของศาสนาสิกข์ (Sikhism)

ข้อถกเถียง เรื่อง “ปรมาตมัน” หรือ “พรหมัน” “ชีวาตมัน” หรือ “อัตมัน” ขอยกตัวอย่างมาดังนี้ [9]

(1) “ปรมาตมัน” เทียบได้กับคำว่า พระเจ้า หรือ นิพพาน “ชีวาตมัน” เทียบได้กับคำว่า จิต วิญญาณ ของมนุษย์แต่ละคน ซึ่งชีวาตมันต้องเวียนเกิดเวียนตายในสังสารวัฏตลอดไป เมื่อชีวาตมันถึงซึ่งความหลุดพ้นจึงกลับเข้ารวมกับพรหมัน จึงเป็นการพ้นจากทุกข์ ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป ฟังดูก็คล้ายกับในศาสนาพุทธนะ คือจิตวิญญาณจะต้องเวียนเกิดเวียนตาย ในสังสารวัฏไม่มีวันจบสิ้น จนกว่าจะบรรลุอรหันต์จึงไม่ต้องเวียนมาเกิดอีก คือ “จิตเข้าสู่นิพพาน”

(2) ในพุทธศาสนาทุกสิ่งเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุปัจจัย เพราะมีสังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับตาม วิญญาณหรือจิตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น “นิพพานในพุทธศาสนาไม่ใช่ปรมาตมัน”

(3) สิ่งๆหนึ่งไปรวมกับสิ่งอีกสิ่งหนึ่งก็กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งไม่เห็นเกี่ยวข้องกันตรงไหนเลย

(4) พุทธสอนว่าจิตเกิดดับตลอดเวลาครับ ทุกๆเสี้ยววินาที ดังนั้นจิตไม่ได้มีดวงเดียวที่เวียนว่ายตายเกิด แม้ร่างกายเราก็เกิดดับตลอดเวลาครับ เพียงแต่มันเร็วมากจนเรามองเห็นเป็นกายเดียว เหมือนกับมองหลอดไฟฟ้า เหมือนกับมองภาพในจอโทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์ ดังนั้นทุกสิ่งมีเกิดขึ้น ต้องมีดับไปเป็นธรรมดาครับ ไม่ควรยึดมั่นถือมันเป็นตัวตน ฉะนั้น จึงไม่ใช่ และไม่เหมือนกัน

(5) วิญญาณที่มาจากสังขาร เป็นวิญญาณขันธ์ หรือวิญญาณธาตุ จะสลายเมื่อเราตาย แต่วิญญาณทิพย์ นี้เก็บเอากรรมติดไปเวียนว่ายตายเกิดในภพชาติ ถ้าไม่มีวิญญาณไปท่องเที่ยวใช้กรรมในภพชาติต่างๆแล้ว นั่นคือตายแล้วสูญแล้ว ทำไมคนในโลกจึงเพิ่มขึ้น โลกนี้จะต้องไม่มีมนุษย์นานแล้ว ที่คนเพิ่มขึ้นเพราะ วิญญาณจากภพภูมิอื่นๆ เวียนมาเกิด ที่เรียกว่า เวียนว่ายตายเกิด

(6) แนวคิดเวียนว่ายเปลี่ยนภพชาติ แฝงเข้ามาในพุทธ คติพราหมณ์ เข้ามาเพราะ มีพราหมณ์ที่แพ้การโต้วาที กับพระ เลยมาบวชเป็นพระสงฆ์ แต่ยังติดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด การที่ฮินดูสร้าง ปรมาตมัน เพราะพุทธไม่ได้บอกที่มา แต่บอกได้ว่า เมื่อมีสิ่งที่สืบเนื่องเกิดมาแล้ว แต่ไม่มีเหตุของกรรมแรก ซึ่งแนวคิดพุทธและเชน ก็มีส่วนในการปรับมุมความคิดของฮินดูด้วยเช่นกัน พรหมเลยถูกอัพเดทจากเทพ มาสู่สภาวะบางอย่าง ก็เรียกชื่อเป็น ปรมาตมันไป พุทธที่มีสร้างแดนนิพพาน ก็คือถูกแนวคิดอัตตา เข้าแทรก ถ้าเรามองให้สุด ปรมาตมัน กลับไปหาจุดที่เป็นเหตุ ส่วนนิพพาน กลับไปหาจุดที่ไม่มีเหตุ (เพราะอนัตตา ไม่มีเหตุของมัน)

(7) การแสวงหาสิ่งสูงสุด จุดสุดท้ายของทุกสิ่ง มีมานานแล้ว แต่ ไม่มีใครมีมรรค 8 ไม่จำเป็นต้องวุ่นวายว่านิพพานดีหรือไม่ เหมือนหรือไม่กับใคร แต่ เหตุแห่งนิพพานคือมรรค 8 เขาไม่มีกัน ก็เป็นอันจบว่า พุทธจะไปสู่จุดเดียวกับชาวบ้านหรือไม่

(8) อวิชชา สงเคราะห์กับตัณหา ( สังขาร ) จึงเกิดเป็น วิญญาณ และ นามรูป และ อายตนะ

(9) หากเหมือนกันแล้ว จะเป็นอย่างไร สิ่งที่ถูกเปิดเผยเคยมีมาก่อนแล้ว ที่เรียกว่าเป็นปัจเจกนั้น เพราะมิได้มีใครมาสั่งสอนในภพสุดท้าย แต่ไม่ใช่ไม่เคยรู้มาก่อนในภพที่ผ่านมา เพียงแต่สั่งสมประสบการณ์ทั้งดีและร้ายมาจนสามารถระลึกเองได้จนถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ มันคือการค้นพบอีกครั้ง และนำมาอธิบายโดยขอบเขตการสื่อสารของยุคนั้นๆ ถ้ายุคนั้นคนสื่อสารกันทางใจคัมภีร์คงไม่มีความหมายอันใด ก้าวข้ามไป เปิดใจให้กว้าง จะเดินอยู่บนไม้กระดานแคบๆที่วางไว้บนพื้นโลกทำไมกัน เดินไปและแสดงอาการประดุจถ้าก้าวพลาดพ้นไม้กระดานไปจะตกลงไปสู่หุบเหวลึกไม่มีก้นกัน มันน่าตลก เพราะพื้นปฐพีอาจไม่ราบเรียบเสมอกัน แต่มันมีหนทางให้ได้ไปถึงจุดหมายของเราเสมอถ้าไม่หยุดเดิน กรอบมันแคบเราก็ต้องอึดอัดมากหน่อย แต่จะไม่พลาดถึงปลายทางตามพิมพ์แน่ๆ เดินไปข้างๆไม้กระดาน เดินได้อย่างปลอดโปร่ง สะดุดหินบ้าง หกล้มบ้าง แต่ไม่อึดอัด ถ้าไม่เผลอไปชมดอกไม้ข้างทาง คอยมองกระดานที่คนมาวางไว้ รับรองไม่มีหลง



[1] ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, 12 มกราคม 2556, http://forum.02dual.com/index.php?topic=5873.0 & ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, OKnation, Posted by ครูรัง , 12 กรกฎาคม 2552, http://oknation.nationtv.tv/blog/korung/2009/07/12/entry-1 & สาระความจริงของชีวิตตามแนวศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, ชีวิต – หน้าบ้านจอมยุทธ, สิงหาคม 2543, http://www.baanjomyut.com/library_2/chivit/11.html & บทที่ 2 ศาสนาพราหมณ์- ฮินดู ขอบเขตเนื้อหา, http://hselearning.kku.ac.th/UserFiles/chapter2.pdf

[2] พราหมณ์-ฮินดู, http://www.buddhism.rilc.ku.ac.th/chachawarn/coursesyllabus/388111/Doc/1.%20พราหมณ์-ฮินดู.doc

[3] ดู สาส์นวันโยคะสากล (21 มิถุนายน) จากท่านสวามี เวทะ, Articles by Swami Veda Bharati, Message for International Yoga Day, June 21, Published: 24 May 2015, http://ahymsin.org/main/swami-veda-bharati/message-for-international-yoga-day-june-21.html

[4] ปรมาตมัน หรือ พรหมัน และ ชีวาตมัน, 9 ธันวาคม 2555, http://2g.pantip.com/cafe/religious/topic/Y13042771/Y13042771.html & ความหมายของพรหมัน และ อาตมัน/อัตตา Sucinand Saensirimongol, 16 กันยายน 2555, https://www.gotoknow.org/posts/502432 & ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู หลักปฏิบัติในศาสนาฮินดูว่าด้วยภาพนำทาง 8, www.siamganesh.com/guidetobrahman.html

[5] ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู หลักปฏิบัติในศาสนาฮินดูว่าด้วยภาพนำทาง 8, www.siamganesh.com/guidetobrahman.html

[6] ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, 12 มกราคม 2556, http://forum.02dual.com/index.php?topic=5873.0

[7] ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูรากฐานของพระพุทธศาสนา : ข้อเหมือนกัน และข้อแตกต่างกัน, 15 มิถุนายน 2554, http://historyofbuddhism-mbu-watkomet.blogspot.com/2011/06/blog-post_15.html

[8] God in Religious Perspective, http://www.crs.mahidol.ac.th/crsblog/wp-content/uploads/2012/07/God-in-Religious-Perspective.ppt

[9] ปรมาตมัน หรือ พรหมัน และ ชีวาตมัน, 9 ธันวาคม 2555, http://2g.pantip.com/cafe/religious/topic/Y13042771/Y13042771.html

หมายเลขบันทึก: 622659เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2017 19:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2017 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท