พระตรีกาย และคติเรื่องตรีกายโดยสังเขป


พระตรีกาย และคติเรื่องตรีกายโดยสังเขป

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (1/2/2560)


คติความเชื่อสภาวะของพระพุทธเจ้าแตกต่างกันไปตามนิกาย คติพุทธมหายานกล่าวถึงความมีตัวตนของพระพุทธเจ้าเป็นทิพย์ภาวะ กล่าวคือการปรินิพพานไม่ได้ดับสูญ มีความเป็นนิรันดร ในคัมภีร์มหายาน "กายตรยสูตร" กล่าวถึงกายหรือสภาวะของพระพุทธเจ้าว่า พระศากยมุนีมีพุทธดำรัสกับพระอานนท์ว่า ทรงไม่ได้มีกายเดียว แต่มีสามกาย คือ นิรมาณกาย สัมโภคกาย และ ธรรมกาย เรียกกันว่า "ตรีกาย"

นิรมาณกาย (กายเนื้อ หรือกายที่บิดเบือนได้) คือพระกายที่ธรรมกายนิรมิตขึ้นมา มีเลือดมีเนื้อมีการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีความเป็นนิรันดร์ คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ กายนี้เพื่อใช้สั่งสอนมนุษย์ถึงความไม่จีรัง ประกอบด้วยพระพุทธเจ้าในภัทรกัป กกุสันธะ โกนาคมนะ กัสสปะ โคตมะ ศรีอริยเมตไตรย

สัมโภคกาย (กายทิพย์ หรือกายที่ตรัสรู้แล้ว) คือพระกายที่เป็นทิพยภาวะ เป็นร่างที่ธรรมกายเนรมิตขึ้นมา เพื่อสั่งสอนพระโพธิสัตว์และเทวดาเท่านั้น เห็นได้ในลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ และ อสีตยานุพยัญชนะ หรือ อนุพยัญชนะ 80 ประการ (คติสำคัญในการสร้างพระพุทธรูป) เป็นนิรันดร์ พ้นจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดำรงอยู่ระหว่างธรรมกายและนิรมาณกาย ประกอบด้วย พระพุทธเจ้าไวโรจนะ อักโษโ๋ภยะ รัตนสัมภาวะ อมิตาภะ อโมฆสิทธิ หรือเรียกว่า พระชินนะทั้ง 5

ธรรมกาย (กายธรรม หรือ พระธรรม) เป็นกายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า เป็นแก่นแท้ เป็นสัจจธรรม ไม่มีจุดเริ่มต้น ดำรงอยู่ไม่มีวันดับสลาย จะเนรมิตกายเป็นสัมโภคกาย และ นิรมาณกาย เรียกว่า ธยานิพุทธ

แม้คติความเชื่อเรื่องสภาวะของพระพุทธเจ้าเรื่องตรีกายตามคติพุทธศาสนานิกายมหายานเป็นเรื่องที่ยากจะเข้าใจ แต่ช่างก็สามารถสร้างรูปเคารพให้สามารถมองเห็นและสามารถเข้าใจได้ง่ายว่า "นี่คือพระตรีกาย" คือสร้างให้พระพุทธองค์นั่งเรียงกันสามองค์ในลักษณะที่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปตรีกายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ลักษณะเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง 3 องค์เรียงกัน แสดงปางสัมผัสธรณี (ปางมารวิชัย) องค์กลางมีขนาดใหญ่กว่าสององค์ซ้ายขวาเล็กน้อย แต่ละองค์อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย กำหนดอยู่ในรูปแบบศิลปะเขมรที่พบในประเทศไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 - 19 สร้างด้วยสัมฤทธิ์ สูง 35 เซ็นติเมตร พบที่ตำบลดอนขวาง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี นับว่าเป็นงานปฎิมากรรมเนื่องในคติตรีกาย พุทธมหายานที่มีความสมบูรณ์สวยงามยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีการพบงานปฎิมากรรมพระตรีกายที่มีลักษณะนั่งเรียงกันสามองค์ในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งองค์กลางมักจะมีขนาดใหญ่กว่า พบจำนวนมาก สร้างจากสัมฤทธิ์ เนื้อโลหะต่าง ๆ เนื้อดินเผาก็มี มีหลายขนาดนับตั้งแต่ตั้งบูชา หรือห้อยคอเป็นพระเครื่องได้ มีการสร้างสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน พระตรีกายจึงนับว่าเป็นหนึ่งในรูปแบบของงานปฎิมากรรมสำหรับการบูชาที่ได้รับความนิยมในสังคมไทยมาช้านาน

ภาพโดย วาทิน ศานติ์ สันติ จาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถ่ายเมื่อ 5 พฤษภาคม 2559

ข้อมูลประกอบการเขียน

พิชญา สุ่มจินดา. (2559). " พระจอมเกล้า กับ พระธรรมกาย ในจิตรกรรมวัดปทุมวนาราม" ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 37 ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2559.

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล. (2546). ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 12.

มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยศาสนศึกษา. (ม.ป.ป.). ทฤษฎีเรื่องตรีกายคืออะไร. จาก http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/mahayana13.htm. ค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2560.

หมายเลขบันทึก: 622658เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2017 19:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2017 19:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท