ผลการศึกษาการพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานแบบครบวงจร รพ.สมุทรสาคร


ผลการศึกษาการพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานแบบครบวงจร รพ.สมุทรสาคร

วัลย์ลดา เลาหกุล นิศาชล พฤกษ์ภาคภูมิ นารา กุลวรรณวิจิตร โรงพยาบาลสมุทรสาคร

บทคัดย่อ

การพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานแบบครบวงจร เป็นการให้บริการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการประเมิน และสามารถกลับเข้าทำงานได้อย่างเหมาะสม มีความปลอดภัย

การศึกษาการพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานแบบครบวงจร โรงพยาบาลสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบการบริหารจัดการพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน ให้มีรูปแบบ แนวทาง และวิธีการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานที่เหมาะสมกับผู้ป่วยคนไทยและคนต่างด้าว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน และสามารถปฏิบัติตนได้ถูกต้องเหมาะสม ปลอดภัย เพื่อสร้างเครือข่ายการพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานแบบบูรณาการโดยศึกษาผลการติดตามผู้ป่วยหลังประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน ในผู้ป่วยจำนวน 120 ราย โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างจากผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินก่อนกลับเข้าทำงานโดยแพทย์ พร้อมมีการติดตามผลการประเมินแบบต่อเนื่อง โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึง เดือนกันยายน 2558

เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วยแบบสอบถาม แบบบันทึกการเยี่ยมประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน แบบประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน แบบประเมินความพึงพอใจ แบบติดตามผลหลังการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน การสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างจำนวน 120 ราย ที่มีแนวโน้มต้องกลับเข้าทำงาน ได้รับการประเมินก่อนกลับเข้าทำงานโดยแพทย์ โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึง เดือนกันยายน 2558 สรุปได้ว่า ผู้ป่วยคนไทยที่ได้รับการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน มีจำนวน 81 คน (ร้อยละ 67.5) ผู้ป่วยต่างด้าวที่ได้รับการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน มีจำนวน 39 คน(ร้อยละ 32.5) ผู้ป่วยทั้งหมดที่ได้รับการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน ส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่ง อยู่ช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง สามารถกลับเข้าทำงานเดิมได้ 64 ราย(ร้อยละ 53.3) ไม่สามารถกลับเข้าทำงาน 36 ราย(ร้อยละ 30) ปรับลักษณะงาน 18 ราย (15) ส่งฟื้นฟู 2 ราย (ร้อยละ 1.67) หลังพัฒนารูปแบบการประเมิน มีการติดตามหลังการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานอย่างต่อเนื่องเมื่อออกจากโรงพยาบาล พบว่าผู้ป่วยที่สามารถกลับเข้าทำงานได้ จำนวน 64 คน และผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ จำนวน 56 คน เมื่อให้คำแนะนำปรึกษา มีการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง พบว่าสามารถกลับเข้าทำงานเพิ่มอีก 43 คน รวมผู้ป่วยที่สามารถกลับเข้าทำงานได้ รวมเป็น 107 คน (ร้อยละ 89.17) เพิ่มขึ้น 1.67 เท่า จึงทำให้ทีมงานทราบว่าการพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน(return to work) ที่สำคัญควรมีการพัฒนาระบบการติดตามประเมินผู้ป่วยกลับเข้าทำงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมพัฒนาระบบการส่งประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานของสถานประกอบการ กับโรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน ทั้งบุคลากรที่ให้คำแนะนำต้องมีความรู้ รู้จักบูรณาการ การให้คำแนะนำปรึกษาที่สอดคล้องกับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย จึงจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลสุขภาพ จนสามารถกลับเข้าทำงานได้อย่างปลอดภัย

ดังนั้นจึงควรมีการร่วมมือกันพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานระหว่างทีมสหวิชาชีพ และเครือข่ายภาครัฐภาคเอกชนแบบบูรณาการ ให้สามารถนำรูปแบบไปใช้ดูแลสุขภาพได้ทุกหน่วยงาน ทุกเชื้อชาติ อย่างมีมาตรฐาน มีความปลอดภัยแบบสากล ที่เป็นรูปธรรม เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่ายพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานในระดับจังหวัด ระดับเขต ระดับประเทศ ที่สามารถดูแลสุขภาพ เพื่อนำสู่การมีสุขภาพที่ดี มีปลอดภัยในการทำงานแบบยั่งยืน

คำสำคัญ การประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานการพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน การติดตามประเมินผู้ป่วยกลับเข้าทำงาน

หมายเลขบันทึก: 622490เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2017 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2017 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นงานวิจัยที่ดี เพราะคนส่วนใหญ่หลังป่วย มักเลิกทำงานค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท