โครงการติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนแบบยั่งยืน ในหน่วยงานที่เข้าร่วมเครือข่ายพัฒนาระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work) จังหวัดสมุทรสาคร ปีงบประมาณ 2560


ชื่อโครงการ โครงการติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนแบบยั่งยืน ในหน่วยงานที่เข้าร่วมเครือข่ายพัฒนาระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work) จังหวัดสมุทรสาคร ปี 2560

หน่วยงานรับผิดชอบ กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร

แผนสุขภาพ งานประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน,การเฝ้าระวังภัยสุขภาพ,การส่งเสริมป้องกันควบคุมโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ

ผู้รับผิดชอบโครงการ : นางวัลย์ลดา เลาหกุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานอาชีวเวชกรรม

โทรศัพท์ 034-427099 ต่อ5205-6 หรือ 0867531290

E-mail : [email protected]

หลักการและเหตุผล

ในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งบริการด้านสาธารณสุข เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและการเจ็บป่วย เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข มีระบบสุขภาพที่ยั่งยืน เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขด้านการรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพอย่างเท่าเทียม อีกทั้งระบบบริการสาธารณสุขต้องมีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องตามแผนนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งบริการด้านสาธารณสุข ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลง มีระบบบริหารจัดการที่โปร่งใส มีระบบตอบสนองต่อภัยสุขภาพต่างๆ มีระบบการส่งต่อคุณภาพ มีการเฝ้าระวังภัยสุขภาพ มีระบบบริการที่คลอบคลุมทั่วถึง

จังหวัดสมุทรสาคร ปัจจุบันมีกลุ่มวัยแรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 843,913 คน เป็นผู้อยู่ในวัยกำลังแรงงาน 698,895 คน ในกลุ่มนี้เป็นผู้มีงานทําทั้งหมด 694,426 คน โดยแบ่งเป็นงานภาคอุตสาหกรรม 672,891 คน และภาคเกษตร 21,535 คน ซึ่งในจังหวัดสมุทรสาครภาคอุตสาหกรรมมีกลุ่มผู้ทํางานมากที่สุด ทั้งแรงงานคนไทย และแรงงานคนต่างด้าวล้วนเป็นกำลังแรงงานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย หากกลุ่มวัยแรงงานขาดความรู้ในการดูแลสุขภาพ ขาดการป้องกันเฝ้าระวังภัยสุขภาพต่างๆ ก็จะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพเจ็บป่วย/บาดเจ็บเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการเฝ้าระวังสุขภาพ การเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ รวมทั้งการดูแลประเมินสุขภาพก่อนกลับเข้าทำงานล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในปี 2557 ถึงปัจจุบัน ทางกลุ่มงานอาชีวเวชกรรม โรงพยาบาลสมุทรสาครได้ดำเนินการพัฒนาระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงานอย่างต่อเนื่อง และมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการให้ประชาชนมีสุขภาพดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

ข้อมูลในปี 2558 โรงพยาบาลสมุทรสาคร ได้มีการพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานในหน่วยงานนำร่องของโรงพยาบาล จำนวน 5 หน่วยงาน ปี 2558 มีผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน โดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ จำนวน 78 ราย ประเมินโดยแพทย์เจ้าของไข้ 171 ราย สามารถกลับเข้าทำงานได้เหมาะสม มีความปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้ป่วยได้รับการดูแลตามมาตรฐาน เข้าถึงบริการสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น และในปี 2559 ได้พัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ในจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 10 แห่ง มียอดผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินก่อนกลับเข้าทำงานที่ได้รับการประเมินโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ จำนวน 123 ราย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาระบบ การดูแลสุขภาพพนักงานที่เจ็บป่วย/บาดเจ็บ ให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น สามารถทำงานได้เหมาะสม มีความปลอดภัย ทางทีมงานจึงพัฒนาระบบการติดตามผู้ป่วยหลังได้รับการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน โดยมีการเยี่ยมติดตามเจ้าหน้าที่ป่วยของโรงพยาบาล และพนักงานในสถานประกอบการแบบต่อเนื่อง จำนวน 116 ราย พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกันตนที่มารับบริการรักษาในโรงพยาบาล มีทั้งเจ็บป่วยทั่วไป บาดเจ็บจากการทำงาน จากการศึกษาผลการติดตามผู้ป่วยหลังกลับเข้าทำงาน ทำให้ทราบว่าบางหน่วยงานยังขาดความรู้ในการดูแลสุขภาพ การส่งต่อ การเข้าถึงบริการรักษา ส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพ การเฝ้าระวังสุขภาพ การป้องกันและการควบคุมโรค ทำให้ปัจจุบันยังพบปัญหาสุขภาพและภัยสุขภาพต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

จากการติดตามผลการดำเนินงานการพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานปี 2558 และปี 2559 ทำให้ทีมงานพบว่าหากไม่มีการติดตามเฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บหลังกลับเข้าทำงานในหน่วยงาน จะส่งผลกระทบต่อการทำงานในหน่วยงานนั้น มากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ติดตามเฝ้าระวังสุขภาพหลังกลับเข้าทำงาน ดังนั้นการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพผู้ป่วยหลังกลับเข้าทำงานจึงมีความสำคัญ ทางทีมงานจึงพัฒนาระบบประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน และจัดทำโครงการติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนแบบยั่งยืน ในหน่วยงานที่เข้าร่วมเครือข่ายพัฒนาระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work) จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อช่วยให้ผู้ป่วย/พนักงานมีสุขภาพดี มีความปลอดภัยในการทำงาน มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพ ปฏิบัติตามคำแนะนำได้อย่างถูกต้อง สามารถกลับเข้าทำงานได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย อีกทั้งช่วยให้หน่วยงานทั้งในโรงพยาบาลและสถานประกอบการเกิดความตระหนักในการเฝ้าระวังสุขภาพแบบองค์รวม มีระบบความปลอดภัยในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้หน่วยงานสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพผู้ประกันตน พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น หน่วยงานไม่ขาดพนักงานในการทำงาน พนักงานไม่เกิดความเครียด ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ มีความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเอง รู้จักป้องกัน เฝ้าระวังภัยสุขภาพได้ถูกต้อง ดังนั้นหากมีโครงการติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนแบบยั่งยืน ในหน่วยงานที่เข้าร่วมเครือข่ายพัฒนาระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work)จังหวัดสมุทรสาคร จะช่วยให้หน่วยงานและผู้ประกันตนมีความรู้สามารถในการดูแลเฝ้าระวังสุขภาพทั้งในกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วยได้อย่างคลอบคลุม เข้าถึงบริการสาธารณสุข มีสุขภาพที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเท่าเทียม ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลงและยั่งยืน ช่วยให้ประชาชนกลุ่มวัยแรงงาน ผู้ประกันตนที่มีการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย สามารถกลับเข้าทำงานได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกิดความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษา ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูสุขภาพ การส่งต่อรักษาที่ถูกต้อง เกิดระบบการดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพแบบยั่งยืน

วัตถุประสงค์

1. เพื่อติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนที่เจ็บป่วย/บาดเจ็บ ในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้ได้รับการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน(Return to work) แบบยั่งยืน

2. เพื่อสร้างระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน ให้มีรูปแบบการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน

3. เพื่อพัฒนาระบบ สร้างแนวทางการเฝ้าระวังภัยสุขภาพ การป้องกัน การส่งต่อฟื้นฟูสุขภาพ การติดตามดูแลเฝ้าระวังสุขภาพ และมีการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานอย่างเป็นรูปธรรม

4. เพื่อช่วยให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกันตนที่ได้รับการติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพมีความรู้ความเข้าใจในระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน และการติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพที่ถูกต้อง

กลุ่มเป้าหมาย

หน่วยงานที่มีผู้ประกันตนเจ็บป่วย/บาดเจ็บ ที่มารับบริการรักษาในโรงพยาบาลสมุทรสาคร สมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน ๑๐ หน่วยงาน (ได้แก่ หน่วยงานภายในโรงพยาบาล /หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เช่น รพ.ทั่วไป/รพ.สต./สถานประกอบการ เป็นต้น)

ผู้ประกันตนกลุ่มปกติ/กลุ่มเสี่ยง/กลุ่มป่วย ที่ได้รับการติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพ จำนวน 100 คน

กลยุทธ์/กลวิธี /ขั้นตอนการดำเนินงาน

  • ประชุม เพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติ ขั้นตอนการดำเนินงานระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้างาน และการติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกัน โดยให้ตัวแทนของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน การติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนที่เจ็บป่วย/บาดเจ็บ ในหน่วยงาน
  • ประสานหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อวางแผนดำเนินงาน สร้างแนวทางการพัฒนาระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาและการติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนในหน่วยงาน ให้ตรงกับบริบทของแต่ละหน่วยงาเช่น หน่วยงานนี้มีผู้ประกันตนเจ็บป่วยด้วยโรคปวดหลัง มีการติดตามประเมินก่อน และ/หรือหลังกลับเข้าทำงาน มีขั้นตอนการตรวจหาสาเหตุ เพื่อวิเคราะห์ประเมินหาความเสี่ยงภัยสุขภาพ เพื่อกำหนดแนวทางการดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพในหน่วยงาน มีการดำเนินการกิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อป้องกันเฝ้าระวังปัญหาภัยสุขภาพที่พบในหน่วยงาน
  • สนับสนุน เข้าเยี่ยมหน่วยงานที่ทำการดำเนินงานตามแนวทางการดูแลติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนที่ได้รับการดูแลประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน
  • ปรับปรุงระบบ ขั้นตอนการดำเนินงาน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่พบจากการติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพแบบบูรณาการ ให้มีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และสะดวกในการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพผู้ประกันตนที่ได้รับการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน
  • ให้คำปรึกษา แนะนำในการดำเนินงานการติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตน ในหน่วยงานที่มีระบบการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน โดยให้ดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพทั้งในกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย ตามปัญหาที่พบและต้องการทำกิจกรรม
  • ติดตามการดำเนินงาน ประเมินมาตรฐานการดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพของหน่วยงานตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และประเมินความพึงพอใจภาพรวม ในหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนแบบยั่งยืน ในหน่วยงานที่เข้าร่วมเครือข่ายพัฒนาระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work) จังหวัดสมุทรสาคร
  • สรุปผลการดำเนินงานติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนแบบยั่งยืน ในหน่วยงานที่เข้าร่วมเครือข่ายพัฒนาระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work) จังหวัดสมุทรสาคร โดยเข้าเยี่ยมติดตามในหน่วยงาน อย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง

สรุปกิจกรรมมีดังนี้

1. ประชุมกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ

2. ประสานหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ จัดประชุมเพื่อวางแผนดำเนินงาน ให้ตรงกับบริบทของแต่ละหน่วยงาน ครั้งต่อ ๑ หน่วยงาน และมีจำนวนผู้ประกันตนที่ได้รับการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพอย่างน้อย 10 คนขึ้นไปต่อ 1 หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ

3. จัดทำคู่มือ เอกสารประกอบการดำเนินงาน โปสเตอร์ บอร์ดให้ความรู้ สนับสนุนหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ

4. มีการให้คำปรึกษา และติดตามการดำเนินงาน กิจกรรมการเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการอย่างน้อย1-2ครั้งต่อปี

5. สรุปและประเมินผลลการดำเนินงานการติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนแบบยั่งยืน ในหน่วยงานที่เข้าร่วมเครือข่ายพัฒนาระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work) จังหวัดสมุทรสาคร

ระยะเวลาดำเนินงาน

ระหว่าง 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560

งบประมาณ

จากเงินคลินิกโรคจากการทำงานโรงพยาบาลสมุทรสาคร เป็นเงินทั้งสิ้น 70,000 บาท (เจ็ดหมื่นบาทถ้วน)

หมายเหตุ : ค่าใช้จ่ายในหมวดจ่ายเดียวกันอาจจะเฉลี่ยจ่ายกันได้ตามความเหมาะสม

การติดตามประเมินผล/ตัวชี้วัด

  • ระดับความรู้ความใจของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น หน่วยงานในโรงพยาบาล/สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 10 หน่วยงาน ทราบแนวทางปฏิบัติ วัตถุประสงค์การติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนแบบยั่งยืน ในหน่วยงานที่เข้าร่วมเครือข่ายพัฒนาระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work) และผ่านตามเกณฑ์การประเมินมาตรฐานการดูแลเฝ้าระวังสุขภาพผู้ประกันตนที่กำหนดไว้ในโครงการ อย่างน้อย ร้อยละ 80 (ใช้แบบประเมินเกณฑ์มาตรฐานการดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนของโครงการ ซึ่งมีมาตรฐานกำหนดไว้ 20 คะแนน ต้องผ่านอย่างน้อย 16 คะแนน)
  • ผู้ประกันตนกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย มีกิจกรรม หรือการติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพ ในหน่วยงาน อย่างน้อย 1 กิจกรรมต่อ 1 หน่วยงานที่ตรงกับปัญหาสุขภาพที่พบในหน่วยงาน
  • ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วย/บาดเจ็บ ได้รับการติดตามการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้างาน สามารถทำตามคำแนะนำได้ถูกต้อง ทำงานได้เหมาะสม มีความปลอดภัย มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 80
  • หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ และผู้ประกันตนที่ได้รับการติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพ มีความพึงพอใจ มากกว่าร้อยละ 80

วิธีการวัดความสำเร็จของงาน

  • จำนวนหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 80 ให้ความร่วมมือ และนำแนวทางการติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตน
  • หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนแบบยั่งยืน มีความพึงพอใจ มากกว่าร้อยละ 80
  • หน่วยงาน/ผู้ประกันตน ได้รับการดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพ และได้รับประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงาน สามารถทำงานได้เหมาะสม ปลอดภัย ตามที่แพทย์แนะนำ มากกว่าร้อยละ 80

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • เกิดการพัฒนาระบบการติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนแบบยั่งยืน ในหน่วยงานที่เข้าร่วมเครือข่ายพัฒนาระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work) จังหวัดสมุทรสาคร

๒. มีการสร้างแนวทางการติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนแบบยั่งยืน ในหน่วยงานที่เข้าร่วมเครือข่ายพัฒนาระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work) ในรูปแบบเครือข่าย

3. เกิดการพัฒนากระบวนการ แนวทางการติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพ การป้องกัน ส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพ การส่งต่อผู้ป่วยทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลให้มีการดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตน และมีการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

๔. หน่วยงานเครือข่ายภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการตามแนวทางการติดตามดูแลเฝ้าระวังภัยสุขภาพผู้ประกันตนแบบยั่งยืน ที่ตรงตามบริบทของหน่วยงานที่เข้าร่วมเครือข่ายพัฒนาระบบการประเมินก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to work)

๕. ผู้ประกันตนสามารถทำงานที่เหมาะสม และมีความปลอดภัยในการทำงาน สามารถช่วยเหลือตนเองให้ได้มากที่สุด ไม่เป็นภาระแก่บุคคลในครอบครัว หรือในที่ทำงาน

๖. เกิดการพัฒนางานการติดตามเฝ้าระวังภัยสุขภาพ และการประเมินผู้ป่วยก่อนกลับเข้าทำงานแบบครบวงจร ทำให้เกิดความเข้มแข็งการบริการด้านสาธารณสุข ประชาชนมีสุขภาพดี มีความสุข หน่วยงานมีระบการดูแลสุขภาพที่ดี ปลอดภัย คลอมคลุมเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และได้รับการดูแลรักษาแบบเท่าเทียม

ผู้เขียนโครงการ

นางวัลย์ลดา เลาหกุล

พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

หมายเลขบันทึก: 622485เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2017 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2017 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท