เมื่อเกิดภัยพิบัติ Family Communication นั้นสำคัญที่สุด


ปรเมศวร์ กุมารบุญ

นักกฎหมายเทคโนโลยี และวุฒิวิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร

เมื่อหลายเดือนก่อนผมไปออกทีวีมารายการหนึ่ง เป็นการสนทนาเรื่องการพัฒนาระบบสื่อสารรับมือภัยพิบัติ นักวิชาการท่านอื่นอาจจะอยากพูดอะไรดูยากๆ อยากพูดถึงเทคโนโลยีไฮเทคสุดๆ ถ้าพูดเรื่องพื้นๆ เข้าใจง่ายๆ พวกเขาอาจจะเกรงว่าชื่อเสียงทางปัญญาท่านจะตกอยู่ในอันตราย แต่ผมเลือกที่จะพูดเรื่อง Low-tech ที่สุด ผมไม่จำเป็นต้องเกรงว่าคนจะมองว่าผมความรู้น้อยเพราะผมความรู้น้อยจริงๆ 555 แต่เมื่อผมพิจารณามาแล้วเรื่องที่ผมเลือกมาพูดมันเป็นประโยชน์ที่สุดกับสังคม เพียงแต่คนอื่นไม่เคยมีใครพูดเรื่องนี้ บทบาทด้อยราคาผมเลยต้องอาสารับหน้าที่ไป


ทุกคนอยากได้ยินเรื่องเทคโนโลยีไฮเทคเวลาเกิดภัยพิบัติ แต่ผมจะบอกว่าเวลามีภัยพิบัติ "ไม่ได้ใช้หรอกครับ" ไฟฟ้าดับ อินเทอร์เน็ตไม่มี รวมทั้งระบบสื่อสารพังหมด ไม่มีหรอกครับเทคโนโลยีไฮเทค เลิกฝันไปก่อนนะครับ 


ผมได้ศึกษาเรื่องเทคโนโลยีโทรคมนาคมเมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมทั้งกรณีศึกษามาเกือบทั่วโลกแล้วเห็นว่า ความจริงของโลกเราเทคโนโลยีโทรคมนาคมพื้นฐานอย่าง SMS เป็นเรื่องสำคัญที่สุดต่อมนุษยชาติ และต่อคนไทยหมู่มากจริงๆ ใช่ครับ SMS การส่งข้อความแบบโบราณนั่นล่ะครับ


The first thing that you have to do is a “Family Communication Plan”


Family Communication Plan หรือ “แผนการสื่อสารในครอบครัว” คือสิ่งสำคัญที่สุด Federal Emergency Management Agency หรือที่เรียกย่อว่า FEMA เป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งโดยอดีตประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ ทำหน้าที่ วางแผน เตรียมการ ช่วยเหลือ และฟื้นฟู ผู้ประสบภัยพิบัติของสหรัฐอเมริกา เขาได้ให้คำแนะนำแก่ประชาชนสหรัฐว่า ทุกคนควรจะมีแผนการในการปฏิบัติตนเพื่อรับมือภัยพิบัติตั้งแต่ ก่อนเหตุ (Before) ควรวางแผนอย่างไร ระหว่างประสบภัย (During) ควรปฏิบัติตนอย่างไร และหลังเกิดภัยพิบัติจะฟื้นฟู (Recovery) อย่างไร

ผมเลยขอหยิบยกเรื่องที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดมาพูดก่อนเลยนั่นคือ “การวางแผนการสื่อสารของครอบครัว”



หาโอกาสเหมาะๆ ที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัวหรือระหว่างรับประทานอาหารหรือเรียกครอบครัวมาประชุม หัวหน้าครอบครัวควรกำหนดใครสักคนในบ้านเป็น “ผู้นำไอที” ขึ้นมาหนึ่งคน อาจจะเป็นลูกคนโต หรือน้องคนเล็ก หรือคุณน้ายังสาวก็ว่าไป มีหน้าที่สอนทุกคนส่ง “SMS” ให้เป็นก่อน!!!

ลองเปิดไปดูตัวอย่างตาม Link ในภาพครับ 

https://www.fema.gov/media-library/assets/documents/34330


ฟังให้ดีนะครับ Family Communication Plan คือ แผนการสื่อสารกันของคนในครอบครัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ สมาชิกในครอบครัวต้องเริ่มคุยกันก่อนว่า หากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายขึ้นจะต้องทำอย่างไรบ้าง


ภัยพิบัตินั้นมีรูปแบบที่ค่อยๆเกิด เช่น น้ำท่วม ไฟดับ และเกิดแบบฉับพลัน เช่น แผ่นดินไหว ไฟป่า น้ำหลาก เป็นต้น และเหตุการณ์ร้ายๆ เช่น ก่อการร้าย อาจจะมีอะไรบ้าง เราต้องรู้เท่าทันก่อนจึงจะรับมือและแก้ปัญหาได้


ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ สิ่งแรกเมื่อเกิดแผ่นไหวทุกคนในบริเวณนั้นหรือในจังหวัดนั้น จะโทรศัพท์ไปสอบถามคนใกล้ชิดและสมาชิกในครอบครัวว่าปลอดภัยหรือไม่? 


แผ่นดินไหวอาจจะทำให้ระบบโทรคมนาคมล่มหรืออาจจะเสียหายบางส่วน แต่หากระบบโทรคมนาคมยังปกติ "ทุกคนในบริเวณต่างก็ยกหูโทรศัพท์โทรหากันจนช่องสัญญาณมีการจราจรหนาแน่นไปจนใช้งานไม่ได้" 


นอกจากคนในพื้นที่แล้ว บางทีญาติพี่น้องเพื่อนพ้องที่อยู่คนละจังหวัด ก็เป็นห่วงเราพยายามติดต่อเข้ามาในโครงข่ายโทรคมนาคมในพื้นที่เกิดภัยพิบัติ ทำให้การจราจรในช่องทางสื่อสารยิ่งคับคั่งหนักขึ้นไปอีก ไม่ต้องพูดถึง Apps แสนวิเศษมากมายที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตหรอกครับ โทรติดก็บุญแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดช่องสัญญาณโทรคมนาคมนั้นคือความเป็นความตายของผู้ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือหรือรอการค้นหาอยู่ และช่องทางการสื่อสารนั้นคือสิ่งสำคัญที่สุดของเจ้าหน้าที่ซึ่งเร่งกู้ภัยช่วยชีวิตคนที่กำลังบาดเจ็บ และประสานงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย


สื่อสารทันทีหลังมีภัย

หากเรามี “แผนการสื่อสารของคนในครอบครัว” ทุกคนรู้แล้วว่า ระบบโทรคมนาคมจะต้องมีปัญหาแน่นอน และไม่ควรรบกวนช่องทางการสื่อสารในช่วงโกลาหลมากนัก เพื่อให้เจ้าหน้าได้เร่งช่วยเหลือผู้ที่กำลังลำบาก ทุกคนตกลงกันว่าเมื่อมีภัยพิบัติควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร และเมื่อภัยสงบลงแล้ว ทุกคนจะส่ง SMS หากันว่า “ปลอดภัย” หรือส่งให้แค่ ผู้นำไอที ในบ้าน และผู้นำไอที ค่อยกระจายแจ้งทุกคนให้ทราบว่าใครปลอดภัยมั่ง ใครบาดเจ็บอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งถ้าหากสมาชิกในครอบครัวคนใดไม่แจ้งความปลอดภัยให้ทราบ ผู้นำไอทีในครอบครัวจะเป็นผู้พยายามติดต่อสมาชิกคนที่สูญหายนั้น และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ออกตามค้นหา


แน่นอนเมื่อเกิดภัยพิบัติ เจ้าหน้าที่ไม่ทราบหรอกว่ามีใครบ้างประสบภัย ใครต้องการความช่วยเหลือหรือใครสูญหาย แต่เมื่อในระดับครอบครัวมีแผนการสื่อสารแล้ว จะทำให้เจ้าหน้าที่ทราบได้รวดเร็วยิ่งขึ้นว่ามีผู้ใดสูญหายและความช่วยเหลืออาจจะไปได้ทันท่วงที


SMS จะใช้ช่องทางการจราจรน้อยที่สุด และแม้ระบบโทรคมนาคมล่มการส่ง SMS ไม่สามารถใช้งานได้ แต่เมื่อมีการกู้ระบบโทรศัพท์กลับมาอีกครั้ง SMS ที่ถูกส่งไปไม่ได้ก่อนหน้านี้ จะส่งใหม่ทันทีถึงสมาชิกในครอบครัวทุกคน ดังนั้น SMS จึงสำคัญที่สุดเมื่อเกิดภัยพิบัติ อย่าไปหวังใช้ไลน์หรือการส่งข้อความแบบอื่นครับ อินเทอร์เน็ต ยังไม่มา


แผนการสื่อสารของคนในครอบครัว ดังที่ FEMA ได้ทำตัวอย่างไว้ให้ เขาจะแยกย่อยลงมาอีกเป็น “แผนสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่เป็นเด็ก” และ “แผนสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุ” ในแผนนั้น สิ่งสำคัญคือ “ข้อมูลส่วนบุคคล” เขาจะจดใส่กระดาษเล็กๆ ใส่ไว้ในกระเป๋าสตางค์ก็ดีครับ จะมีตั้งแต่ข้อมูลชื่อที่อยู่ ไปจนประวัติการแพ้ยาหรือเลขกรมธรรม์ประกันชีวิต 


ที่สำคัญทุกครอบครัวควรมี “จุดนัดพบ” ในกรณีเลวร้ายที่สุดระบบการสื่อสารใช้การไม่ได้จริงๆ  เด็กๆ อยู่โรงเรียน พ่อแม่อยู่ที่ทำงาน จะวางแผนสื่อสารกันอย่างไร หรือมีจุดนัดพบกันตรงไหน อยู่ระหว่าง บ้าน พ่อ(แม่)อยู่ที่ทำงาน จะเดินทางไปโรงเรียนลูกได้ง่ายหลังเกิดภัยพิบัติหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็นัดเจอกันที่โรงพยาบาลจะปลอดภัยที่สุด ครอบครัวเห็นว่าข้อมูลใดสำคัญก็ใส่เพิ่มเติมไว้ครับ



Second is Telecommunications Emergency Kit

FEMA แนะนำว่า ทุกครัวเรือนควรจะมี ชุดคิท สำหรับรับมือภัยพิบัติ (Emergency Kit) ที่มี น้ำดื่ม อาหาร และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ สำหรับการดำรงชีพให้ถึง 72 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

ผมแนะนำเพิ่มเติมว่าควรมีกระเป๋าที่กันน้ำได้และควรเป็นเป้ที่ขนาดไม่ใหญ่มาก สามารถแบกได้ถนัด เก็บไว้ใต้เตียงในบ้านหรือท้ายรถก็ว่าไปตามความเหมาะสม ในกระเป๋าชุดคิทการสื่อสารรับมือภัยพิบัติที่ว่านี้ ผมแนะนำว่าทุกครัวเรือนควรจะมีอย่างน้อยดังนี้

  • โทรศัพท์สำรอง ราคาถูกที่ทนทานและมีแบตเตอรี่ยาวนานในการสนทนาบรรจุในกระเป๋าดังกล่าว เช่น Nokia T100 หรือ ซุมซุงฮีโร่ เป็นต้น การขอความช่วยเหลือผมยังเชื่อว่าเรามักจะใช้การโทรศัพท์สนทนามากกว่าการใช้ Apps ไฮเทค และที่สำคัญบรรดา Smartphone ที่รอ 4G เปิดให้บริการหลังภัยพิบัตินั้น ส่วนใหญ่มักจะมีระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของแบตเตอรี่ค่อนข้างน้อย แบตหมดเร็วว่างั้น แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมี Power Bank โทรศัพท์บางรุ่นมีแบตเตอรี่สำรองก็ยิ่งดี เก็บไว้ด้วยหรือเครื่องชาร์จแบตเตอรี่จากถ่านไฟฉายจะเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่าจากประสบการณ์กู้ภัยของผม ก็เพราะถ้าไฟฟ้าดับยาวนาน Power Bank และโทรศัพท์เราก็ไม่รู้จะไปชาร์จกับใครอยู่ดี และถ่านไฟฉายค่อนข้างเก็บได้นานแม้ถูกน้ำชื้นบ้างก็ไม่เป็นไร
  • พลังงาน ไฟแช็ค ไฟฉาย และถ่านไฟสำรอง ถ้ามันมืดก็ได้ใช้ แต่ถ้าไม่มืดถ่านไฟฉายก็เอาไปใช้ชาร์จมือถือได้ FEMA เขาแนะนำน้ำมัน เบนซินหรือเชื้อเพลิงด้วยนะครับ นอกจากใช้สำรองเติมรถเพื่อเดินทางแล้ว อาจใช้หุงหาอาหาร น้ำมันไฟแช็คก็ดีนะครับติดไฟง่าย แต่ถ้าบ้านรวยซื้อเครื่องปั่นไฟเลยคงดีครับ
  • อุปกรณ์สื่อสารทางเลือกอื่น ถ้าเป็นไปได้ควรจะวิทยุสื่อสารสมัครเล่น ย่านความถี่ 144-146 MHz ไปสอบเอาใบอนุญาตกับ กสทช. ซะ สอบไม่ยาก นักวิทยุสมัครเล่นนั้นเป็นชุมชนของสุภาพชนเขาพูดกันเพราะให้เกียรติกันมากที่สำคัญ พวกเขาส่วนใหญ่มีจิตอาสา ชอบช่วยเหลือคนเดือดร้อน บ้านเรามีนักวิทยุสมัครเล่นอยู่ทั่วประเทศน่าจะห้าแสนคนได้กระมัง และที่สำคัญวิทยุสมัครเล่นเป็นเครือข่ายโทรคมนาคมที่ความช่วยเหลือจะเข้ามาถึงก่อนทุกที่ เพราะวิทยุสื่อสารสามารถสื่อสารระหว่างกันได้เป็นอิสระในระยะทางไม่เกิน 5 กิโลเมตร แต่ถ้ามีสถานีทวนสัญญาณก็จะครอบคลุมพื้นที่ได้ไกลมากขึ้น ถ้าคุณประสบภัยแล้วใช้วิทยุสมัครเล่นผมว่ามีคนตอบรับให้ความช่วยเหลือคุณแน่นอน ส่วนอีกอุปกรณ์สื่อสารที่ดีที่สุดก็คือโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านดาวเทียม ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลกหรือระบบโทรคมนาคมบนโลกล่มก็ยังสื่อสารได้ บ้านเรามีของบริษัท เอเซียส เจ้าเดียวให้บริการ แต่ถ้าไม่มีภัยพิบัติก็ไม่รู้จะเอาไปทำอะไรเพราะแพงมาก
  • อุปโภคบริโภค อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ผ้าขนหนู เสื้อผ้า เสื้อกันฝน นมกล่องสำหรับเด็ก ที่เหลือก็แล้วแต่คุณอยากเตรียมอะไร อาหารและน้ำดื่มควรจะมีการเปลี่ยนของใหม่ทุกหกเดือนก็ยังดีครับ
  • อุปกรณ์ดำรงชีพ ถุงมือหนา รองเท้าพื้นหนา มีด คีมปลอกสายไฟ ไขควง กุญแจบ้านกุญแจรถสำรอง อาวุธ
  • เครื่องรับวิทยุกระจายเสียง วิทยุ AM/FM นั่นแหละครับ เดี๋ยวนี้ตัวเล็กๆ เท่าบัตรเครดิต ตัวละสองร้อยบาท หรือจะเอาวิทยุ ธานินทร์ก็ได้ครับ ไว้ฟังข่าวสารหรือความช่วยเหลือต่างๆ รับฟังได้ไกล ทุกรัฐจะใช้ระบบนี้สื่อสารกับประชาชน
  • เงิน ใส่เงินติดกระเป๋าไว้หน่อยก็ดีครับ สมัยโบราณคนไทยนิยมใส่สร้อยคอทองคำเพราะ ยามมีสงครามลำบากยากจนได้ถอดทีละข้อไปขายกินได้ครับ




ภัยพิบัตินอกจากสองประเภทที่กล่าวมา คือ แบบฉับพลัน กับ แบบค่อยเป็นค่อยไปแล้ว ยังต้องมีการวางแผนอีกด้วยว่าขณะนั้น เราอยู่สถานที่ใด เช่น เราอยู่นอกบ้านหรืออยู่ในบ้าน อยู่บนยานหนะหรือตึกใหญ่ ควรปฏิบัติอย่างไร



ฝรั่งเขามีภัยจากธรรมชาติและภัยจากเทคโนโลยีด้วยครับ เช่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด สารเคมีรั่ว ไฟฟ้าดับ (Blackout) อเมริกาเองเคยไฟฟ้าดับจนคนหลายสิบล้านไม่มีไฟฟ้าใช้หลายวันเลย ประเทศไทยก็เคยนะครับนานมากแล้ว นอกจากนั้นยังมีภัยจากการก่อการร้ายหรือภาวะสงครามอีก


เอาล่ะ เรารู้จักการวางแผนล่วงหน้า (Before) ไปแล้ว รู้จักการดำรงชีพและขอความช่วยเหลือไปแล้ว (During) สุดท้ายก็คือช่วงการฟื้นฟู (Recovery) ช่วงฟื้นฟูบ้านเมืองนี่ล่ะครับ ที่ระบบการสื่อสารความเร็วสูงอาจจะกลับมาดีเหมือนเดิมแล้ว อยากใช้ Apps อะไรหรูๆ ไฟฟ้าเพียงพอก็เชิญครับ จริงๆ แล้วโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมบ้านเราก็มีให้บริการครับ แต่ราคาแพงคนทั่วไปไม่ได้ใช้ แต่เขียนแตะไว้เผื่อเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน


รู้ว่าคนไทยไม่ค่อยสนใจเลยเรื่องการวางแผนการป้องกัน แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมันลำบากยากแค้นมากกว่าการรู้จักป้องกันหรือวางแผนรับมือ ที่ผมเขียนเรื่องนี้มาเชื่อว่าจะทำให้จำง่ายกว่าการพูดและทบทวนง่าย กลับมาอ่านเมื่อใดก็ได้ ก็เผื่อว่าบทความนี้อาจจะสามารถช่วยใครสักคนเมื่อเกิดภัยพิบัติให้รอดชีวิตได้ ผมก็ถือว่าคุ้มแล้วครับ ช่วยกันแชร์นะครับ

หมายเลขบันทึก: 621897เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2017 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2019 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท