ทำผิดกฎหมายไทย "ผ่านอินเทอร์เน็ตจากนอกประเทศ" เอาผิดได้หรือไม่?


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ
 

นักกฎหมายเทคโนโลยีและวุฒิวิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร


แม้รัฐแต่ละรัฐมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน (Territory) ของตน แต่หลายคนอาจจะไม่แน่ใจว่าบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตไม่มีพรมแดน (border less) แล้วถ้าใครเขาทำความผิดสร้างความเสียหายให้คนในชาติเราผ่านอินเทอร์เน็ตมาจากนอกประเทศ เราจะเอาผิดเขาได้หรือไม่นะ?


 

สิ่งแรกที่ผมอยากให้ท่านผู้อ่านรู้จักภาษากฎหมายก่อน คือ คำว่า “หลักดินแดน


 

หลักดินแดนนั้นเป็นภาษากฎหมายที่จะเจอตอนเรียนกฎหมายอาญาบทแรกๆเลยครับ หลักดินแดนนั้นเป็นหลักที่ใช้เหมือนๆ กันในสากล หลักดินแดน หมายถึง 

      “รัฐย่อมมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของตนโดยสมบูรณ์ ดังนั้นภายในกรอบปริมณฑลแห่งดินแดนของรัฐใด รัฐนั้นย่อมมีอำนาจเหนือทั้งบุคคล ทรัพย์สิน การกระทำ เหตุการณ์ใดๆทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคนชาติ หรือคนต่างด้าว เว้นแต่กฎหมายระหว่างประเทศได้ให้ข้อยกเว้นไว้ เช่น เรื่องเอกสิทธิ และความคุ้มกันทางการทูต เป็นต้น”


 

ดังนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญา การกระทำผิดใดๆ ไม่ว่าโดยผู้ใดไม่จำกัดว่าคนชาติหรือคนต่างด้าว ที่กระทำภายในราชอาณาจักรนั้น ย่อมอยู่ภายในเขตอำนาจรัฐนั้น


 

สำหรับกฎหมายไทยได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 เรื่องเขตอำนาจรัฐกับการบังคับใช้กฎหมายอาญา ซึ่งท่านได้วางหลักไว้ว่า


 

“การกระทำความผิดใดๆในราชอาณาจักร ไม่ว่าผู้กระทำจะเป็นคนไทย หรือคนต่างด้าวก็ตาม ศาลไทยย่อมมีอำนาจบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย” โดยเชื่อมโยงกับหลักสัญชาติ ให้รวมถึง การกระทำความผิดบนเรือไทย หรืออากาศยานไทยด้วย ไม่ว่าอยู่ที่ใด ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร ย่อมต้องขึ้นศาลไทยและอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายไทยทั้งสิ้น


 

นอกจากการกระทำความผิดไม่ว่าแห่งหนตำบลใดก็ตามหรือลัดเลาะไปตามตะเข็บชายแดนที่ยังอยู่ในอาณาเขตราชอาณาจักรไทยก็ต้องขึ้นศาลไทยแน่นอนครับ และยังรวมถึงการกระทำความผิด บนเรือสัญชาติไทย และอากาศยานไทย ไม่ว่าเรือหรืออากาศยานนั้นจะไปอยู่ในประเทศใดก็ตามก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรไทยด้วยเช่นกันครับ ก็ย่อมขึ้นศาลไทย


 

ทีนี้ พอเรารู้เรื่องทฤษฎี “หลักดินแดน” ตามประมวลกฎหมายอาญาบ้านเราแล้ว แต่ว่าโลกอินเทอร์เน็ตที่เราสงสัยกันนั้นเล่า เขตอำนาจศาลเหนือดินแดนแห่งรัฐอยู่ที่ใด? หากด้วยความเป็นวิศวกรโทรคมนาคมของผมฟากหนึ่งคงตอบตัวเองทันทีว่า "ก็มี อินเทอร์เน็ตเกตเวย์ (Internet Gateway) ที่ชายแดนนั่นไงเป็นเขตราชอาณาจักรไทย" แต่คำตอบนี้ยังไม่ถูกเสียทีเดียวครับ


 

อินเทอร์เน็ตเกตเวย์ ท่านผู้อ่านก็นึกง่ายๆ ว่า การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบ้านเรามันต้องลากสายออกนอกประเทศไปเชื่อมต่อกับต่างชาติ และจุดเชื่อมต่อตรงชายแดนนั้นนั่นเองที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นเขตอำนาจศาลไทย

 

 

 

ภาพการเชื่อมต่อ Internet gateway


 

ซึ่งจะเล่าให้ฟังว่าตอนแรกผมก็คิดว่า น่าจะแก้ไขกฎหมายอาญาบอกว่า ข้อมูลที่ผ่านอินเทอร์เน็ตเกตเวย์มาในเขตราชอาณาจักรไทยแล้วอยู่ในเขตอำนาจศาลไทยนะ น่าจะรีบบัญญัตินะ เป็นเรื่องที่พิสูจน์กันได้ด้วย ต่อมาก็คิดว่า แล้วถ้าข้อมูลที่ผ่านอินเทอร์เน็ตเกตเวย์เข้ามาเป็นข้อมูลที่เลวร้ายมาจากประเทศอื่น เราคงทำได้เพียงบล็อคการเข้าถึงเว็บไซต์ภายในราชอาณาจักรเท่านั้นหรือ? เลยค้นคว้าเพิ่มเติมพบว่า


 

อันที่จริงแล้วนักกฎหมายท่านไม่ยอมให้เป็นแค่เช่นนั้นหรอกครับ ท่านได้วางหลักกฎหมายไว้แล้วไม่ว่าคนทำผิดกฎหมายอาญาอยู่นอกประเทศ แต่ความผิดมาเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือแม้แต่การเริ่มต้นก่อความผิดในประเทศ แต่ความผิดไปสำเร็จนอกประเทศนั้น ก็หนีไม่รอดเงื้อมมือกฎหมายไทยเช่นกัน


 

โดยได้แบ่งเป็นเขตอำนาจรัฐ ตามหลักอัตวิสัย (Subjective territoriality) โดยพิจารณาจุดเริ่มต้นในการกระทำความผิดในเขตแดนของรัฐ แม้ว่าเป็นบางส่วนของการกระทำ หรือผลสำเร็จเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรก็ตาม เช่น ส่งไวรัสจากในไทย แต่ไปทำลายระบบคอมพิวเตอร์ที่กัมพูชา


 

และเขตอำนาจรัฐ ตามหลักภววิสัย (Objective territoriality) พิจารณาจุดกำเนิดการกระทำนอกราชอาณาจักร แต่ผลสำเร็จเกิดขึ้นในราชอาณาจักร หรือทฤษฎีผลการกระทำ (Effect Doctrine) กล่าวคือแม้การกระทำเกิดนอกเขตแดน แต่หากผลเกิดสำเร็จในเขตแดนรัฐใดก็ตาม รัฐนั้นย่อมมีเขตอำนาจรัฐเหนือคดีนั้นตามหลักดินแดนนี้เช่นกัน เป็นหลักสากล



กฎหมายไทยได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

     "ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักรโดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำ ผลที่เกิดขึ้นนั้นควรเกิดในราชอาณาจักรหรือ ย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร
       ในกรณีการตระเตรียมการ หรือพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่า การตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร"

 

           ในวรรคแรกนั้น การกระทำความผิดเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ขึ้นศาลไทยแล้วครับ หากเจ้าหน้าที่สืบสวนเรื่องความผิดทางอินเทอร์เน็ตให้นึกเปรียบเทียบคดีพรากผู้เยาว์ไปข่มขืนที่ญี่ปุ่นดัง ฎีกาที่ 1645/2531 แม้การข่มขืนเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นแต่ล่อลวงไปจากไทยครับ
 


    แม้ปัจจุบันรัฐไทยได้พัฒนากฎหมายการปิดกั้นเว็บไซต์ให้รวดเร็วได้ทันทีโดยไม่ต้องขออำนาจศาลแล้วก็ตาม เมื่อก่อนผมไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสาร จึงไม่ค่อยได้ยินข่าวการติดตามดำเนินคดีเจ้าของเว็บไซต์หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นเว็บหมิ่นหรือแม้แต่คาสิโนออนไลน์ แต่ที่เห็นข่าวผ่านๆ เร็วๆ นี้ในการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอยู่นอกประเทศผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนำมาขึ้นศาลไทยก็อย่างคดีแก๊งค์คอลเซนเตอร์ที่ท่านผู้การโจ๊กลุยปราบปราม
 


     ผมเชื่อว่าการดำเนินคดีตามหลักภววิสัยและหลักอัตวิสัยในยุคโลกาภิวัฒน์กับผู้กระทำความผิดอยู่นอกประเทศเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเจ้าหน้าที่ตำรวจและคงไม่ใช่แค่ตำรวจไทยที่งานหนักแต่คงปวดหัวกันทั่วโลก น่าเห็นใจท่านจริงๆครับ

หมายเลขบันทึก: 621891เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2017 01:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2021 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เท่าที่ยังพอจำได้ หลักการที่น่าจะนำมาใช้ได้ คือ arm's length doctrine ลองสืบค้นดูครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท