เรื่องน่ารู้ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ใน พรบ. คอมพ์ฯ คืออะไรกันแน่


ปรเมศวร์ กุมารบุญ

นักกฎหมายเทคโนโลยีและวุฒิวิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร


ดังที่ได้กล่าวในบทความก่อนๆ แล้วว่าอันที่จริง พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ได้กำหนดความผิดเกี่ยวกับการกระทำกับคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นให้เสียหาย โดยมีหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ (Computer System) และข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Computer Data) อีกทั้งให้ความสำคัญในการรักษาความลับ (Confidentiality) ความถูกต้องสมบูรณ์ (Integrity) และความพร้อมในการทำงาน (Availability) ของระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นยังเอาผิดกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมในระบบคอมพิวเตอร์ รวมทั้งกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามร่างพระราชบัญญัตินี้

ผมเชื่อว่ายังมีหลายคนยังติดใจในนิยามในมาตรา 3 ซึ่งให้นิยาม “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” บางทีหลายท่านอาจจะรู้สึกว่าเข้าใจไม่ตรงกัน ซึ่งในมาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ท่านบัญญัติไว้ดังนี้ครับ

“ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หมายความว่า ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด บรรดาที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย


คำอธิบาย “ข้อมูลคอมพิวเตอร์”

ในการตีความตามกฎหมายบางครั้งเราต้องพิจารณาย้อนกลับไปหาเจตนารมณ์ในชั้นการร่างกฎหมาย หากเราพิจารณาหาความหมายของคำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะเอาความมาจากคำว่า “Computer Data” ใน Convention on Cybercrime บูดาเปสต์ 2001 ซึ่งเขาได้นิยามไว้ว่า

"Computer data" means any representation of facts, information or concepts in a form suitable for processing in a computer system, including a program suitable to cause a computer system to perform a function;


ผมถือว่าผู้อ่านพอจะมีความรู้เรื่อง ICT อยู่แล้วคงเข้าใจความหมายของคำว่า Facts Data และ Information นะครับ

ดังนั้นผมสรุปว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” หรือ “Computer Data” ที่ในมาตรา 3 ท่านหมายความไว้ว่า คือ “ข้อมูล ข้อความ คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรืออะไรที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์และทำให้มันประมวลผลได้” ซึ่งในการใช้งานในชีวิตประจำวันเรามักเรียกว่า “โปรแกรม” (Program) และ “ไฟล์” (Files) นั่นเองครับ

“โปรแกรม” ก็แน่นอนล่ะครับ คือชุดคำสั่งที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลได้ ส่วนการประมวลผลนั้นโปรแกรมจะหยิบจับ “ไฟล์” อะไรมาประมวลผล เช่น ไฟล์ตาราง ไฟล์ภาพ ไฟล์ตัวหนังสือ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ครับ

บทความก่อนผมสรุปว่า “ระบบคอมพิวเตอร์” หมายความว่าอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์แล้วสามารถประมวลผลได้โดยอัตโนมัติ ซึ่ง “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ก็คือ ข้อความ ข้อมูล ชุดคำสั่ง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลโดยอัตโนมัตินั่นเองครับ

ในวรรคท้ายของนิยาม “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ในพระราชบัญญัตินี้ได้ให้ความหมายเพิ่มเติมว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ รวมถึง “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ซึ่งท่านเขียนไว้ว่า

“ …และให้หมายความรวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย”

พระราชบัญญัติ ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ในมาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า

“ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า “ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือ ประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ หรือโทรสาร


ขอบคุณภาพจาก http://all-free-download.com/free-vector/download


คำอธิบาย “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์”

เมื่อพิจารณาประโยคที่ว่า “ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา” ซึ่งเรามองในมุมของวิศวกรนั้นมันก็คงเป็นสิ่งที่เรียกว่า “Text File” (ไฟล์อักษร) นั่นล่ะ ขยายความเพิ่มเติม เป็นข้อความที่ไม่ว่าจะเก็บไว้ หรือส่งให้ผู้อื่นหรือรับจากผู้อื่น ซึ่งแน่นอนจะต้องมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่สองตัวขึ้นไปครับ

พิจารณาตรงนี้ ตอนนี้ผมยังไม่เห็นว่า ไฟล์ภาพ ไฟล์เสียง เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในประโยคนี้ครับ เข้าใจว่าเจตนารมณ์ในการร่างกฎหมายถ้อยคำดังกล่าวคงมุ่งเน้นเรื่อง อีเมลล์ แต่ที่น่าแปลกใจบทนิยามดังกล่าวมิได้กล่าวถึงคอมพิวเตอร์ทำให้ตีความไปได้ว่าครอบคลุมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ด้วย

ส่วนประโยคถัดมาท่านให้ความเพิ่มเติมว่า “...หรือ ประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” พูดเป็นภาษาวิศวกรมันก็คือ ชุดคำสั่ง หรือ “โปรแกรม” นั่นเองครับ

ส่วนประโยคสุดท้ายนี่ล่ะครับใจความสำคัญท่านบัญญัติไว้ว่า “...เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ หรือโทรสาร

ประโยคนี้ทำให้เห็นความแตกต่างกันอย่างชัดเจนครับ ลำพัง “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ตามนิยามใน มาตรา 3 พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ ท่านหมายถึง “โปรแกรม” (Program) และ “ไฟล์” (Files) ในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งระบบคอมพิวเตอร์นั้นหมายถึง คอมพิวเตอร์ตัวเดียวหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตัวเดียวก็ได้ ที่มีโปรแกรมภายในสามารถทำให้มันประมวลผลเองได้โดยอัตโนมัติ

ซึ่ง “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ใน พรบ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ เน้น “Text File” ที่สื่อสารระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยกันตั้งแต่สองเครื่องขึ้นไปจนเป็นโครงข่าย และยังครอบคลุมถึงอึปกรณ์สื่อสารชนิดอื่นๆ นอกจากจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แล้วยังมี โทรเลข โทรพิมพ์หรือโทรสาร ซึ่งปัจจุบันโทรเลขได้เลิกใช้ไปแล้วภายหลังมี พรบ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ฉบับนี้เมื่อเกือบสิบปีหลังจากประกาศใช้ ส่วนโทรพิมพ์และโทรสารปัจจุบันลักษณะการทำงานดังกล่าวกลายเป็นเครื่อง Printer ตัวเดียวเรียบร้อยแล้วครับ

อย่างไรก็ตาม “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ก็ถือว่ายังอยู่ในความหมายที่ถูกครอบคลุมไว้แล้วในนิยาม “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ตามมาตรา 3 พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ

ถ้าเช่นนั้นผมขอสรุปความหมายขอคำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ตามนิยามใน มาตรา 3 พรบ. คอมพิวเตอร์ฯ เป็นภาษาชาวบ้านให้ฟังง่านขึ้นว่า คือ “โปรแกรม และไฟล์ต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ตัวเดียวหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตัวเดียวที่มีโปรแกรมภายในสามารถทำให้มันประมวลผลเองได้โดยอัตโนมัติ และรวมถึงการเก็บรักษาข้อความและการรับส่งข้อความในโครงข่ายสื่อสาร”

Ref.

คำสำคัญ (Tags): #พรบ.คอมพ์
หมายเลขบันทึก: 621890เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2017 00:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2017 00:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท