​วันนี้ต้นไม้ที่พ่อปลูกผลิดอกออกผลพอจะก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้แล้ว


​วันนี้ต้นไม้ที่พ่อปลูกผลิดอกออกผลพอจะก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้แล้ว

12 มกราคม 2560

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

มาต่อเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสู่สังคมโลกกันหน่อย “วันนี้ต้นไม้ที่พ่อปลูกกำลังผลิดอกออกผลต้นไม้คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ผลิดอกออกผลพอจะก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้แล้ว” เพราะประเทศไทยจะเข้าสู่ประเทศสังคมอาเซียนอันดับที่สอง รองจากสิงคโปร์ วันนี้เรามาดูเรื่องการทำให้เศรษฐกิจที่ถดถอยให้ฟื้นกลับมาได้อย่างไรหรือว่าไทยจะสามารถยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตระยะปานกลางถึงระยะยาวได้อย่างไร

ข้อเสนอจากสถาบัน TDRI

เนื่องจากอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทย 11 ปีย้อนหลัง (moving average) ลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 9 ในปี 2533 (1990) เหลือเพียงร้อยละ 3 ในปี 2545 (2002) [2]

TDRI - The Thailand Development Research Institute หรือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เป็นมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไรก่อตั้งปี 2527 ได้เสนอ แนวทาง ในการพัฒนาประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยได้ก้าวผ่านกับดักประเทศกำลังพัฒนามีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) เพื่อไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง สรุปใน 2 แนวทางหลัก คือ (1) ประเทศไทยต้องพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมการผลิต และการส่งออกยานยนต์ [3] และ (2) การพัฒนาประเทศไทย คือ การเป็นประเทศพัฒนาการเกษตรอุตสาหกรรม และ การท่องเที่ยว และบริการ โดยเสนอให้รัฐบาลนำสู่แนวทางการพัฒนาดังกล่าวในทั้ง 2 แนวทางนี้ไปปรับปรุงพัฒนาตามศักยภาพ [4]

“กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) คืออะไร

คือ สภาพของประเทศกำลังพัฒนาที่เริ่มถีบตัวจากความยากจน สร้างรายได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งออก จนทำให้ประชาชนในประเทศมีความกินดีอยู่ดีในระดับหนึ่ง แต่กลับไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีฐานะร่ำรวย (high income countries) ได้ เหตุเพราะไม่สามารถสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิผลในการผลิต เพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ [5]

สรุปว่า หมายถึง สภาวะที่ประเทศหนึ่ง สามารถยกระดับจาก “ประเทศยากจน” ไปเป็น “ประเทศรายได้ปานกลาง” สำเร็จได้อย่างรวดเร็วแต่แล้วก็หยุดชะงัก ไม่สามารถยกระดับต่อไปเป็น “ประเทศรายได้สูง” ได้โดยตัวชี้วัดที่นำมาใช้ คือ รายได้ประชาชาติต่อหัว (GDP) กลุ่มรายได้สูงจะมีรายได้ประชาชาติต่อหัวมากกว่า 12500 USD ประเทศไทยถูกยกระดับจาก “ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง” เป็น “ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง” ในปี 2554 โดยการเจริญเติบโตของประเทศไทย เริ่มหยุดชะงักมาหลายปี ไม่สามารถยกระดับต่อไปได้ นั่นคือ ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางซึ่งมีนักวิชาการเสนอ วิธีการเพิ่ม GDP 3 แบบ คือ (1) การใช้นวัตกรรม (2) การปรับโครงสร้างภาคเกษตร/อุตสาหกรรม/บริการ และ (3) KM & Value Chain [6]

อันดับโลกการเกษตรไทย

ข้อมูลปี 2550 ประเทศไทยเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของโลก สามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 27 ล้านตัน จัดเป็นอันดับ 6 ของโลก มีการส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก มูลค่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นข้าวสารร้อยละ 97 และผลิตภัณฑ์จากข้าวร้อยละ 7 แต่ถึงแม้ประเทศไทยจะส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาข้าวในตลาดโลก [7] มูลค่าการส่งอออกสินค้าเกษตรของไทยกับอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2554 มีอัตราการเจริญเติบโตสูงถึง 13.79 เปอร์เซ็นต์ [8]

ปัจจุบันอาเซียนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญอันดับหนึ่งของไทย ข้อมูลกรมศุลกากรว่า ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรกับอาเซียนร้อยละ 19 ของสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรของประเทศ ซึ่งนับว่าสูงกว่าการค้ากับประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างเช่น ญี่ปุ่น (ร้อยละ 14) ยุโรป (ร้อยละ 11) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 11) [9]

การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร

ณ วันนี้ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ แนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจชุมชน” ที่อยู่ในความคิดและประชาชนได้ลงมือทำกัน ได้เริ่มเห็นผลเป็นที่ประจักษ์แล้ว เรียกว่า “ต้นไม้ที่พ่อปลูกผลิดอกออกผลแล้ว” คนไทยและแผ่นดินไทยจะสุขสมบูรณ์ หากทุกฝ่ายได้เริ่มร่วมกัน “พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร” [10] ได้อย่างไม่ยากนักขอเพียงรัฐบาลมีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนมุ่งมั่นนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้สานต่อ “นำผลจากต้นไม้ที่พ่อปลูก” มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นำเสนอสู่สังคมโลกในอนาคตอันใกล้นี้

ข่าวการซื้อหุ้นของบริษัท CPF

ในการเตรียมการพัฒนาการเกษตรของไทย มีข่าวที่น่ายินดียิ่งคือ ตามข่าวเมื่อ พฤศจิกายน 2559 บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ได้ซื้อกิจการ พร้อมเข้าถือหุ้น 100% กิจการ “บริษัทเบลลิซิโอฟู้ดอิ้งค์” (Bellisio)ธุรกิจอาหารแช่แข็งที่เติบโตเร็วที่สุดของสหรัฐฯ มูลค่า 1.075 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 3.8หมื่นล้านบาท ทำให้ CPFได้ก้าวผ่านขึ้นมาเป็นผู้นำที่ใหญ่ที่สุดในการตลาดอาหารของโลกซึ่ง CPFตั้งเป้าหมายปี 2560 มูลค่า 5แสนล้านบาทเพื่อต่อยอดซื้อ 'เบลลิซิโอ' ในการรุกธุรกิจเอเชีย อันถือเป็นนิมิตรหมาย “ธุรกิจอาหารไทย” หรือ “ครัวของโลก” ที่ดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ [11]

ทางรอดของเกษตรกรไทยยุค AEC

ผู้เขียนเคยทำนายว่าเมื่อล่วงพ้นปี 2558 ไปแล้ว ประเทศไทยจะสามารถโลดแล่นในสังคมเสรีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) มีศักยภาพที่ทัดเทียมกับเพื่อนบ้านได้ [12]

ปัจจัยแรก คือประเทศไทยมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการเกษตรที่อยู่ติดทะเลทั้งสองฝั่งคือฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค และฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ประเทศไทยมีลมมรสุม มีฝนตกอย่างเหมาะสม และมี “ป่าฝนเขตร้อน” (Tropical Rain Forest) ที่มีการปลูกผลไม้ และยางพาราได้นอกจากนี้ ประเทศไทยมีแหล่งต้นน้ำมากมายหลายสายเช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน แม่กลอง ป่าสัก สะแกกรัง ชี มูล เกิดที่ราบลุ่ม หรือ “ลุ่มน้ำต่างๆ” (Watershed) มากมาย เกิดตะกอนแม่น้ำที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ส่วนทางภาคเหนือ ก็มีอากาศเย็นสบายไม่หนาวเย็นมาก ผลไม้ก็เจริญเติบโต ได้ผลผลิตดี คนไทย จึงมีผักผลไม้ทาน ตั้งแต่ภาคเหนือจรดถึงภาคใต้ และสามารถปลูกผลไม้ได้ตลอดปี คนไทยจึงไม่เคยขาดแคลนอาหาร อีกทั้งยังสามารถ ส่งออกพืชผักและผลผลิตการเกษตร สูงเป็นอันดับต้นของโลก

ปัจจัยที่สอง เกษตรกรไทยควรหันมาทำการเกษตรทางเลือกให้มากขึ้นเนื่องจากเกษตรกรไทยที่ผ่านมาได้ถึงทางตัน เกิดหนี้สิน ยิ่งทำยิ่งจน จึงได้เกิด “เกษตรทางเลือก” ขึ้นเป็น “ระบบการเกษตรทางเลือก” (Alternative Agriculture) ที่มิใช่ “ระบบการเกษตรแผนปัจจุบันหรือเกษตรเคมี” ที่มีต้นทุนที่สูง ทำลายธรรมชาติ“เกษตรทางเลือก” เป็นการทำการเกษตรที่เน้นการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และวัสดุคลุมดิน การผสมผสานการปลูกพืชและสัตว์ ลดการไถพรวนและงดเว้นหรือลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ และสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้น้อยลงจนถึงขั้นไม่ใช้เลย ได้แก่ (1) เกษตรธรรมชาติ (Natural Farming) (2) เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) (3) เกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture) (4) เกษตรผสมผสาน (Integrated Farming) (5) เกษตรทฤษฎีใหม่ (New Theory Agriculture) (6) วนเกษตร (Agro Forestry)

โดยมีเป้าหมายคือ เปลี่ยนเกษตรกรจากเดิมที่เป็น “ผู้ผลิต” อย่างเดียวให้เป็น “ผู้ขาย” ผลผลิตด้วย และเปลี่ยนจาก “ผู้ขายสินค้าเกษตร” เป็น “ต้นแบบของเกษตรกร” หรือเป็น “วิทยากรการเกษตร” และเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานของเกษตรกรทางเลือกของทุกที่ทุกชุมชนที่มีความสนใจและเข้ามาศึกษาดูงานที่เพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็น “ต้นแบบของการศึกษาดูงานด้านการเกษตรทางเลือก” ในที่สุด

การหันหลังให้การเกษตรแผนใหม่ที่พึ่งพาสารเคมี ที่ราคาสินค้าถูกกำหนดโดย “กลไกตลาดโลก” ให้หันมาดำเนินการผลิตแบบ “เกษตรทางเลือก” ให้มีจำนวนเกษตรกรทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เกษตรกรไทยมีความสุข มีสุขภาพดีขึ้น (Healthy Society) เพราะพืชผักสีเขียว ปลอดสารพิษ อาหารสะอาดปลอดภัย ที่เรียกว่า “Green & Clean”

โอกาสสู่ประเทศไทย Thailand 4.0

ถือเป็นโอกาสดีของประเทศไทยในการพัฒนาไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” โดยอาศัยความได้เปรียบ “เชิงการเกษตร” ดังกล่าว เพื่อการก้าวเข้าสู่สังคมโลกต่อไป ดังพระราชดำรัสของพระองค์ว่า “เราไม่จำเป็นต้องเป็นเสือ แต่เราจำเป็นต้องให้ประชาชน มีอยู่มีกิน เพราะถ้าประชาชนมีอยู่มีกิน ก็จะมีการศึกษา มีรายได้...” [13]

พอจะเห็นโอกาสทางรอดของเกษตรกรไทยกันบ้างหรือยัง? แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าเพิ่งหลงระเริงตนเอง เกษตรกรไทยต้องหันมามองข้อจำกัด หรือปัญหาอุปสรรคของตนเอง และหาทางแก้ไขปรับปรุงด้วย



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม2560 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23271 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 16 วันศุกร์ที่ 13 – วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม 2560, หน้า 66

[2] สมชัย จิตสุชน , ปรับทัศนคติภาครัฐเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ, รายงาน TDRI ฉบับที่ 111 มกราคม 2558, http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2015/04/TDRI-...

[3] สุเนตรตรา จันทบุรี, อุตสาหกรรมยานยนต์ : ไทยมีศักยภาพสูงสุดในอาเซียน, ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอาเซียน, http://www.aseanthai.net/mobile_detail.php?cid=4&n...

ในปี 2558 การผลิตรถยนต์ของอาเซียนมีจำนวน 3.89 ล้านคัน ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 15 โดยมีประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน 1.9 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 2 เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 7.6 แสนคัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 1.15 ล้านคัน รองลงมาคืออินโดนีเซีย 1.1 ล้านคัน และมาเลเซีย 6.14 แสนคัน

[4] ไขรหัส “ประเทศไทย 4.0” สร้างเศรษฐกิจใหม่ ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง, ไทยรัฐฉบับพิมพ์, 2 พฤษภาคม 2559,

http://www.thairath.co.th/content/613903

& ประเทศไทย 4.0 Thailand 4.0 คือ, 24 กันยายน 2559, http://www.admissionpremium.com/news/1377& บทสรุป รหัสประเทศไทย 4.0 คืออะไร, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, Manager Online, 25 สิงหาคม 2559, http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx...

ทั้ง 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย จะเป็นแพลทฟอร์มในการสร้าง “New Startups” ต่างๆมากมาย อาทิ เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) เทคโนโลยีอาหาร (Foodtech) ในกลุ่มที่ 1 เทคโนโลยีสุขภาพ (Healthtech) เทคโนโลยีการแพทย์ (Meditech) สปา ในกลุ่มที่ 2 เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotech) ในกลุ่มที่ 3 เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) อุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์โดยไม่ต้องใช้คน (IoT) เทคโนโลยีการศึกษา (Edtech) อี–มาร์เก็ตเพลส (E–Marketplace) อี–คอมเมิร์ซ (E–Commerce) ในกลุ่มที่ 4 เทคโนโลยีการออกแบบ (Designtech) ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Business) เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (Traveltech) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ (Service Enhancing) ในกลุ่มที่ 5 เป็นต้น

[5] กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap), Siam Intelligence Unit, 24 พฤศจิกายน 2554, http://www.siamintelligence.com/middle-income-trap...

[6] วิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์, การแบ่งปันแหล่งข้อมูลของสถิติ (Sharing Information), ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ, 3 สิงหาคม 2558, http://www.stabundamrong.go.th/web/download/colleg...

[7] อันดับประเทศไทย...ในอันดับโลก!!, 28 สิงหาคม 2553, http://unigang.com/Article/3554

[8] วริทธิ์นันท์ ชมประเสริฐ, แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยกับอาเซียนหลังมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2555, http://library.cmu.ac.th/faculty/econ/Exer751409/2...

[9] วริทธิ์นันท์ ชมประเสริฐ, 2555, อ้างแล้ว

[10] ประเทศไทย 4.0 Thailand 4.0 คือ, 24 กันยายน 2559, อ้างแล้ว

การเปลี่ยนผ่านทั้งระบบ ได้แก่ การเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur)

[11] ซีพีเอฟ เข้าซื้อกิจการเบลลิซิโอ มูลค่า 1.075 พันล้านเหรียญสหรัฐ, MGR Online, 23 ธันวาคม 2559, http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx...

& ซีพีเอฟทุ่ม3.8หมื่นล้านซื้อ'Bellisio'ธุรกิจอาหารแช่แข็งสหรัฐ, กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 17 พฤศจิกายน 2559,

http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/727913

& 'ซีพีเอฟ'ปีไก่เป้า5แสนล้าน ต่อยอดซื้อ'เบลลิซิโอ'รุกเอเชีย,ฐานเศรษฐกิจที่ 36 ฉบับที่ 3,222 วันที่ 29 – 31 ธันวาคม 2559, thansettakijonline, 30 ธันวาคม2559, http://www.thansettakij.com/2016/12/30/122247

& CPF ทุ่มเงินฮุบเบลลิซิโอ เดินหน้าบุกอเมริกาเหนือ - หนังสือพิมพ์รายวัน ทันหุ้น, 26 ธันวาคม 2559, https://www.thunhoon.com/cpf-69/

[12] ทางรอดของเกษตรกรไทยยุค AEC, 19 พฤศจิกายน 2558, http://www.gotoknow.org/posts/597459

[13] พระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง”, 25 กรกฎาคม 2555, http://mediathailand.blogspot.com/2012/07/blog-pos...

“ ...การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง......”

— พระราชดำรัส “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” พระราชทานเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2540 --



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท