​ชีวิตที่พอเพียง : 2829. อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม กับสังคมไทยในค่อนศตวรรษต่อมา



หนังสือ The End of Absolute Monarchy in Siam แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม น่าอ่านมาก แถมยังอ่านได้ฟรี ที่นี่


นี่คือหนังสือประวัติศาสตร์สยามช่วงรัตนโกสินทร์ที่มองจากมุมของนักประวัติศาสตร์ไทย ที่เป็นคนตะวันตก (อเมริกัน) จึงมุมมองต่อประวัติศาสตร์สยามในท่ามกลางสภาพการเปลี่ยนแปลงของโลกมากกว่าที่เราคุ้นเคย แค่อ่านไปถึงหน้า ๖ ผมก็จับประเด็นได้ว่า การค้าในประเทศตะวันตก กับการค้าในประเทศตะวันออกยึดถือหลักการแตกต่างกันอย่างขั้วตรงกันข้าม คือในประเทศตะวันออกของเรา ถือหลักการค้าผูกขาดหรือเอื้อประโยชน์ ในขณะที่โลกตะวันตกถือหลักการค้าแบบแข่งขันเสรีเท่าเทียมกัน ตามหลักการของ อดัม สมิธ แต่เขาก็ไม่ได้ยึดหลักการค้าเสรีแบบมีคุณธรรมนะครับ หนังสือเล่าว่า ปธน. จอห์น ควินซี่ อดัมส์ ของสหรัฐฯ บอกว่าอังกฤษมีสิทธิทำสงครามฝิ่นกับจีน เพราะจีนไม่ยอมให้อังกฤษค้าฝิ่นอย่างเสรีในจีน


ต่อมาในหน้า ๑๔ - ๑๕ ผมก็ได้เห็นความแตกต่างของวิธีคิดระหว่างตะวันตกตะวันออกอีกอย่างหนึ่ง คือเรื่องอำนาจรัฐ ทางตะวันตกเน้นการครอบครองดินแดน ในขณะที่ทางตะวันออกเน้นการครอบครองกำลังคน ต่อมาก็ได้เรียนรู้ว่าชาตินิยมของไทย ต่างจากชาตินิยมในประเทศอื่นๆ ซึ่งเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะประเทศอื่นๆ งอกงามชาตินิยมจากการตกเป็นเมืองขึ้น ของเราชาตินิยมเติบโตขึ้นมารับใช้ความแข็งแกร่งของอนุรักษ์นิยม ที่ในหน้า ๒๕ ใช้คำว่า “ชาตินิยมศักดินา”


อ่านหนังสือเล่มนี้ได้เพียงไม่กี่หน้า ผมก็ตระหนักว่า หนังสือประวัติศาสตร์ที่มีคุณภาพสูง เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เชิงบริบทอย่างกว้างขวางครบด้าน ช่วยให้เราเข้าใจว่าเหตุการณ์หรือการตัดสินใจในเหตุการณ์นั้นๆ มีที่มาที่ไป และมีสภาพแวดล้อมอย่างไร ซึ่งหากพิจารณาเช่นนี้ การอ้างหลักการค้าเสรี ในสภาพที่ฝรั่งเป็นฝ่ายเดินทางมาค้าขาย เป็นฝ่ายเอาสินค้ามาขาย ประเทศสยามเป็นฝ่ายตั้งรับ หลักการค้าเสรีย่อมเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ เหมือนอย่างหารนำฝิ่นไปขายแก่ประเทศจีน เป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศจีนอย่างชัดเจน


ผมได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์โครงสร้างใหญ่ หรือมองภาพใหญ่ ต่างจากที่ผมเคยอ่าน ที่มักมองภาพเล็ก หรือเฉพาะเรื่อง ผมได้เรียนรู้ว่าหลังสนธิสัญญาเปิดประเทศกับเซอร์จอห์น บาวริง ในปี ค.ศ. 1855 แล้ว เศรษฐกิจสยามเติบโตก้าวกระโดด โดยดุลการค้าเกินดุลตลอดจนถึงศตวรรษที่ ๒๐


แล้วในหน้า ๒๔ ก็ปรากฎสาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจในปีสุดท้ายของ ร. ๖ ต้องอ่านเองนะครับ จึงจะเห็นตัวเลขที่แสดงความเลวร้าย


หน้า ๗๑ เล่าเรื่องตลกที่ขันไม่ออก ๒ เรื่อง ที่สะท้อนระบบราชการที่อ่อนแอ และในหน้า ๗๙ - ๘๑ เล่าเรื่องเอกสารและงานที่มากล้นของรัชกาลที่ ๗ ที่สอนเราว่า บุคคลสำคัญย่อมมีงานล้นเสมอ จึงต้องจัดลำดับความสำคัญของงาน หรือจัดระบบงานนั่นเอง งานมโนสาเร่ไม่ควรเข้าไปกวนใจผู้ใหญ่


ยิ่งบทต่อๆ มายิ่งเป็นประวัติศาสตร์เชิงระบบ ที่กล่าวถึงระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ระบบแรงงาน ที่น่าแปลกใจคือใน ๕ ปีแรกของ ร. ๗ ระบบการเงินการคลังของสยามอยู่ในฐานะที่ไม่ติดลบ ในปีงบประมาณ 1928/9 ถึงกับมีเงินเหลือ เกือบ ๑๕ ล้านบาทและพระเจ้าอยู่หัวกับเซอร์ เอ็ดเวิร์ด คุก ที่ปรึกษาการคลัง เห็นพ้องกันว่า การที่ไม่รู้สถานการณ์นี้ล่วงหน้า และนำไปใช้ในกิจการที่สร้าง “ผลผลิตใหม่ๆ” เป็นการเสียโอกาส


ที่น่าสนใจคือมุมมองของเจ้านายและเสนาบดีต่อชาวนาในชนบทแตกต่างกันมาก กรมพระกำแพงเพชร เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม บันทึกไว้หลังไปตรวจราชการภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่าชาวนา “เป็นปัญญาชน เหนือกว่าชนชั้นแรงงานในกรุงเทพ” แต่กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยกล่าวหลังตรวจเยี่ยมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่าชาวนา “ถอยหลังเข้าคลองและทึบ” โดยเราต้องไม่ลืมว่าในช่วงนั้นสินค้าออกอันดับหนึ่งของสยามคือข้าว


อ่านไปเรื่อยๆ จะพบเรื่องราวความคิดดีๆ ในสมัยเกือบร้อยปีมาแล้ว แต่ก็ยังคงไม่เข้าไปอยู่ในการบริหารบ้านเมืองกระแสหลัก เช่นเรื่องพระเจ้าอยู่หัวต้องการส่งเสริม “ความคิดใหม่ๆ” ดังกรณีทรงยกเว้นภาษีที่ดินแก่นายลั่น เกษตรกรที่สงขลาเป็นกรณีพิเศษ (น. ๑๔๘) เรื่องการขับเคลื่อนการเกษตรผสมผสานของ มจ. สิทธิพร กฤดากร ที่ลาออกจากราชการในปี 1921 ไปทำเกษตรกรรมที่ชุมพร (ไร่บางเบิด) เพื่อทดลองวิธีการเกษตรกรรมแบบใหม่ๆ และออกนิตยสาร กสิกร เผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชน ทำให้ผมคิดว่า นั่นคือจุดเริ่มต้นของภาคประชาสังคม หรือ third sector ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนความเจริญของประเทศ

หนังสือเล่มนี้ให้ภาพมหภาค (macro) และภาพซับซ้อนที่ดีมาก ในขณะที่ยุคนั้นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งหมายถึงระบบสู่งส่งโดยชาติกำเนิด สั่นคลอน แต่เราก็ได้เห็นอัจฉริยภาพของเจ้านายหลายพระองค์ และได้เห็นภาพเชิงซ้อนว่า บางพระองค์ก็มีจุดอ่อนที่สาธารณชนประจักษ์ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ เช่นทรงสุรุ่ยสุร่าย ซึ่งเรื่องนี้ผู้ถูกตำหนิมากที่สุดคือพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อน และเมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่า บางพระองค์ที่ถือว่าเป็นปราชญ์ในบางด้านนั้น ก็เป็นอนุรักษ์สุดขั้ว และอาจมีส่วนในการทำให้การเมืองสยามในช่วงนั้นปรับตัวน้อยไป ผมฝันว่า จะมีนักประวัติศาสตร์ที่เก่งขนาด เบนจามิน เอ. บัตสัน เกิดขึ้น และเขียนประวัติศาสต์ไทยในศตวรรษต่อมา ในแบบเดียวกันกับหนังสือเล่มนี้ ชี้ให้เห็นปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ของไทย


ในหน้า ๑๙๘ มีการกล่าวถึง ประชาธิปไตยจากเบื้องล่าง ทำให้ผมคิดย้อนไปเปรียบเทียบกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่า ประชาธิปไตยจากเบื้องล่างของเขามีจุดเริ่มต้นและพัฒนาการเป็นผลสำเร็จอย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไร มีข้อเรียนรู้ให้แก่สังคมไทยในปัจจุบันอย่างไร คำถามนี้นำผมไปสู่บทความเรื่อง ประชาธิปไตยและความสุขของประชาชน : บทเรียนจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ซึ่งอ่านได้ ที่นี่


ในภาพรวมทั้งหมด ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ชวนให้ผมสะท้อนคิดกับตัวเองว่า ความเจริญมั่นคงของบ้านเมืองขึ้นอยู่กับ สมดุลระหว่างพลังสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลง กับพลังอนุรักษ์นำสิ่งดีๆ มีคุณค่าที่สั่งสมมายาวนานมาต่อยอดสร้างประโยชน์อวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดจาก พลังอนุรักษ์วางจุดยืนแบบ “ปักหมุด” มีความยืดหยุ่นไม่เพียงพอ เพราะมีกระบวนทัศน์ที่แคบ ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ของโลก เวลาผ่านมาเกือบหนึ่งศตวรรษ สถานะของสมดุลดังกล่าวของประเทศไทยอยู่ตรงไหน


ข้อสะท้อนคิดข้อที่สอง ผมอ่านบทที่ ๕ ว่าด้วยเรื่องการเมืองในช่วงใกล้เปลี่ยนแปลงการปกครอง แล้วหันมาตั้งคำถามว่าสภาพในปัจจุบัน เกือบ ๙ ทศวรรษให้หลัง มีความเหมือนและความต่างอย่างไร เป็นคำถามที่ผมไม่มีความเข้าใจเพียงพอที่จะตอบ อยากให้ผู้รู้ช่วยตอบด้วย


ข้อสะท้อนคิดประการที่สาม คือแนวความคิดในการวางระบอบที่มีความสมบูรณ์ในตัวของมันเอง โดยระบุปัจจัยหลักปัจจัยเเดียวที่สนับสนุนหรือคัดค้านระบอบนั้น เช่นอ้างความไร้วิจารณญาณของประชาชน ในการปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่า เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง

ข้อสะท้อนคิดประการที่สี่ ประเทศไทยในปัจจุบันจะมีกลไกเพื่อการเรียนรู้เชิงระบบของบ้านเมืองอย่างไร ที่เป็นการเรียนรู้ระบบที่ซับซ้อน สำหรับนำมาเป็นบทเรียน ใช้ในการวิวัฒนาการระบบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบการเมือง ไม่ต้องใช้วิธีล้มกระดานเป็นระยะๆ อย่างที่ผ่านมาเกือบศตวรรษ


ข้อสะท้อนคิดประการที่ห้า เป็นคำถาม ว่าหากผู้บริหารประเทศในช่วงรัชกาลที่ ๗ มุ่งใช้มาตรการป้องกันการโค่นอำนาจอย่างเด็ดขาด สภาพบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร คำตอบของผมคือ หากจะใช้วิธีนั้น ก็ต้องใช้ต่อทั้งกลุ่มอำนาจภายนอก และกลุ่มอำนาจภายใน ของผู้ครองอำนาจในขณะนั้น ดังนั้น คำถามของผมจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง คือความแตกแยกของผู้ครองอำนาจในบ้านเมืองในขณะนั้น


วิจารณ์ พานิช

๑๖ ธ.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 621262เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2017 01:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2017 01:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท