บทเรียนยักษ์ล้ม ENRON 15 ปีแล้ว - ปรับการรับรู้ความเสี่ยงแค่ไหน (ตอนที่ 1)


อาจารย์ จิรพร สุเมธีประสิทธิ์

[email protected]


การรวบรวมเกี่ยวกับกิจการที่เป็นยักษ์ล้มที่ใหญ่ที่สุดของโลก 5 อันดับแรก และ 9 ใน 10 อันดับของกิจการล้มละลายที่สั่นสะเทือนโลกในสหรัฐล้วนแต่เกิดขึ้นในระยะ 15 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย และตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรง

เฉพาะในส่วนของการทุจริตผ่านการบันทึกรายการอันเป็นเท็จ และสร้างรายการทางบัญชีโดยเจตนาก็มี 2 บริษัทที่ยังคงมีชื่อติดปากนักธุรกิจและนักการเงินมาถึงวันนี้คือ World Com และ Enron ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 2000- 2009 คือ Lehman Brothers และ General Motors

บทเรียนที่โลกต้องบันทึกไว้เพื่อการเรียนรู้จากกรณีของ Enron และ Sub-prime สำหรับนักบริหารเงินในยุคปัจจุบันและในอนาคตมีหลายประการด้วยกัน

ประการที่ 1

การก่อหนี้และมีภาระผูกพันสูงอาจจะมาจากกลยุทธ์กล้าเสี่ยงเกินไป

การพึ่งพาแหล่งเงินจากการก่อหนี้ เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่เรียกว่า Financial Leverage เป็นกลยุทธ์ที่ต้องระวังอย่างมาก เพราะเป็นเสมือนดาบ 2 คม เพราะโลกของการลงทุนเป็นโลกที่มีความเสี่ยง หากมูลค่าของสินทรัพย์ ไม่ได้ให้ผลตอบแทนตามคาดหมาย ผลขาดทุนจากการลงทุนจะรุนแรง จนไม่อาจจะคืนหนี้สินแก่แหล่งเงินได้

กรณีของวิกฤติ Sub-prime ก็เกิดมาจากการส่งเสริมให้มีการก่อหนี้ในภาคครัวเรือนเพื่อใช้ซื้อบ้านจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมทางการเงิน ตั้งแต่ปี 2007 และกระตุ้นให้มีการกู้ยืมไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มาจากกระบวนการ Securitization

Lehman Brothers กู้ยืมเงินไปลงทุนเป็นผู้ประกันการจำหน่าย (Underwriter) ในตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อเคหะเป็นหลักประกัน และประมาทเมื่อการลงทุนสร้างกำไรมหาศาลระหว่างปี 2005-2007 ก่อนที่สถานการณ์จะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ในปี 2007 เมื่ออัตราส่วนของสินทรัพย์ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงถึง 31 หรือแต่ละดอลลาร์ของสินทรัพย์มีส่วนของผู้ถือหุ้นหนุนหลังน้อยมาก

กลยุทธ์การลงทุนแบบเก็งกำไร ทำให้สถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรปคาดหวังว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนจะอยู่ในระดับสูง และเป็นไปแบบไร้เหตุผลและไร้สติ จนแบกรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

การบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุด คือ การลงทุนทุกครั้งและทุกโครงการควรจะมีกองทุนหมุนหลังจากเหมะสม และค่อนข้างสูง แม้ว่ากิจการจะมีความมั่นใจในโครงการลงทุนนั้นอย่างมากก็ตาม

ประการที่ 2

การมีระดับสภาพคล่องเพียงพอเป็นประโยชน์ต่อกิจการ

เมื่อเริ่มมีสัญญาณบางอย่างในตลาดที่ไม่ดี แหล่งเงินกู้และเจ้าหนี้ทางการค้าจะเริ่มเพิ่มความระมัดระวัง และเข้มงวดการให้เครดิต บางรายอาจจะเรียกวงเงินที่คงเหลือ (Available)

สภาพคล่องโดยเฉพาะเงินสดจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ภาวะแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย และบางกรณีสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และกิจการอาจจะติดตามภาวะความเคลื่อนไหวไม่ทัน

ด้วยเหตุนี้ การมีสภาพคล่องและเงินสดสำรองไว้ตลอดเวลา เพื่อที่จะทำให้กิจการพร้อมที่จะรับมือกับภาวะฉุกเฉินได้ตลอดเวลาอาจจะมีความสำคัญต่อความยั่งยืนของกิจการระยะยาว

หากมีความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกระแสเงินไหลเข้าในกิจการ จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการให้อยู่ไม่ได้โดยทันทีทันใด เช่น รายรับล่าช้าเพียง 1 สัปดาห์ก็เกิดภาวะขาดสภาพคล่องแล้ว ความพอเพียงของสภาพคล่องจะมากหรือน้อยขึ้นกับรูปแบบของกระแสเงินสดของแต่ละกิจการ แต่ไม่ควรจะน้อยกว่า 1 เดือน ถึง 3 เดือน

ประการที่ 3

การทุจริตเกิดขึ้นเมื่อใดมักจะพลิกฟื้นความเสียหายได้ยาก

กรณีของ Enron และ WorldCom มีความชัดเจนว่าเกิดจากการทุจริตด้วยความตั้งใจของผู้บริหารและพนักงานและผู้ที่เกี่ยวข้องภายในกิจการ ในการสร้างรายการทางบัญชีและออกรายงานทางการเงินที่เป็นเท็จ เพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนบุคคล

การทุจริตในกิจการยังมีอีกหลากหลายกรณี นอกเหนือจากการตกแต่งรายการทางบัญชีอย่างเช่น

  • การใช้ประโยชน์จากข้อมูล Inside Trading
  • การให้ข้อมูลเพื่อปั่นราคาหุ้น
  • การปลอมแปลงวุฒิทางการศึกษา ประสบการณ์การผ่านงาน
  • การหลีกเลี่ยงภาษีด้วยการสร้างเอกสารหลักฐาน ใบเสร็จรับเงินปลอม

ประการที่ 4

การให้ความสำคัญกับการปรับปรุง ผลิตภัณฑ์/บริการ/ทักษะให้มีสถานภาพการแข่งขันตลอดเวลาไม่ต้องรอให้สถานการณ์เลวร้ายลง

ศักยภาพความพร้อมของกิจการในปัจจุบันจะต้องคำนึงถึงสภาพทางการตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจด้วย ไม่ใช่พิจารณาเฉพาะช่วงที่สภาพทางการตลาดดีหรือเป็น Good Year เท่านั้น

ความพร้อมดังกล่าวทำให้กิจการมีความรวดเร็วและฉับไวในการปรับตัวได้เร็วกว่ากิจการอื่น และคงความได้เปรียบด้านการแข่งขันสูงสุดตลอดเวลา ไม่มีการหย่อนยานเป็นช่วงๆ จนกลับมาคืนตัวไม่ทัน

ประการที่ 5

หากยังไม่มั่นใจ ไม่เข้าใจเท่าที่ควร อย่าเสี่ยงลงทุนในธุรกิจนั้น

การพัฒนาธุรกิจในด้านใดก็ตาม จะต้องมาจากความมั่นใจและความเข้าใจอย่างเพียงพอ ซึ่งประสบการณ์นี้เกิดขึ้นกับนักลงทุนที่กล้าลงทุนในกิจการ Enron ทั้งที่ขาดความเข้าใจในธุรกิจของ Enron อย่างเพียงพอ โดย Enron สามารถระดมทุนจากนักลงทุนสถาบัน และกองทุนรวมติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี

ธุรกิจของ Enron เป็นธุรกิจที่มีความซับซ้อนมาก งบการเงินที่เปิดเผยต่อสาธารณชนเข้าใจได้ยาก เพราะความซับซ้อนของโครงสร้างทางการเงิน ที่มีการตั้งบริษัทข้อกลาง (Special Purpose Entities) ช่วยบริหารจัดการ และกิจการที่อยู่นอกงบการเงินเป็นร้อยรายการ จนเป็นช่องว่างในการสร้างรายการทางบัญชี ที่ไม่ได้สะท้อนสถานะทางการเงินและธุรกรรมทางค้าปกติของกิจการ

หากกิจการไม่มีเวลา และการลงทุนค้นหาข้อมูลของกิจการที่ซับซ้อนเหล่านี้ไม่คุ้มค่าก็ควรจะเลือกในการลงทุนอย่างอื่นแทนจะดีกว่า

หมายเลขบันทึก: 621148เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2017 17:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2017 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท