รอยต่อในกระบวนการอันเป็นนิวรณ์


เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงสภาวธรรมหรือหลักธรรม ที่ประกอบด้วยองค์ธรรมหลายๆองค์ธรรมเข้าด้วยกัน มักทรงทรงแสดงองค์ธรรมเหล่านั้น โดยเรียงตามการเกิดก่อนหลัง หรือ ตามลำดับความสำคัญ ซึ่งมักเริ่มจากน้อยไปหามาก หรือ ตามการปฏิบัติจากง่ายไปหายาก เสมอ

ก่อนหน้าที่จะทราบความนี้ ดิฉันมักนำองค์ธรรมในแต่ละหลักธรรมมาเรียงสลับกันไปมาเพื่อความง่ายในการจดจำ แต่เมื่อทราบ ก็ไม่กล้าทำอย่างนั้นอีก

อันที่จริง ถ้าเข้าใจกระบวนการ ตั้งสติคอยติดตาม และนำวิธีการแก้ไขมาใช้บ่อยๆ ก็ไม่มีความยากในการจำเลยนะคะ เพราะเมื่อเข้าใจก็จำตามความเข้าใจ ยิ่งนำมาใช้ ยิ่งไม่ลืมหลง

ดังเช่น นิวรณ์ 5 อันแปลว่า “ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี สิ่งที่ขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในทางคุณธรรม” ที่ประกอบด้วยองค์ธรรมทั้ง 5 คือ

กามฉันท์ (พอใจในกามคุณ)

พยาบาท (ความคิดร้าย)

ถีนมิทธะ (ความหดหู่เคลิบเคลิ้ม)

อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ)

และ

วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)

ที่เรามักทรงจำกันมาว่าเป็นธรรมที่ปิดกั้นจิต ทำให้จิตไม่สามารถเป็นสมาธิ ไม่สามารถตั้งมั่นได้ โดยมักเน้นไปที่สมาธิที่เกิดจากการฝึกอย่างเป็นรูปแบบในขณะใดขณะหนึ่ง เช่น ในขณะเดินจงกรม ในขณะนั่งฝึกสมาธิ

ซึ่งหากเข้าใจความหมายที่กว้างขวางของสมาธิว่าครอบคลุมทุกขณะของชีวิตแล้ว นิวรณ์ ก็คือสิ่งที่ปิดกั้นเราจากความสงบ ความไม่หวั่นไหว ความเรียบเสมอของจิต ซึ่งเกิดจากการที่เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ได้รับรู้อะไรๆแล้วไม่สามารถรักษาความสงบ ความราบเรียบสม่ำเสมอของจิตเอาไว้ได้ ต้องมีอันโลดแล่นไปตามความพอใจ ไม่พอใจ หรือไม่ ก็ไม่สามารถริเริ่ม รักษา สิ่งดีๆที่ทำให้มีขึ้นแล้วและทำให้เจริญขึ้นได้นั่นเอง

นิวรณ์ จึงเกิดขึ้นได้ในแทบจะทุกขณะจิต ไม่ใช่ในขณะเร้นกายเพื่อตั้งใจฝึกสมาธิเท่านั้น

ซึ่งการหักใจไม่ทำความไม่ดี (สพฺพปาปสฺส อกรณํ) ก็ถือเป็นสิ่งดีๆหรือกุศลธรรมอย่าง ”หย่อน” ที่ได้ริเริ่มขึ้นแล้ว การพยายามรักษาการหักใจในครั้งต่อๆไปที่พบเหตุการณ์เดียวกันอีก จึงเป็นการทำกุศลธรรมที่ริเริ่มขึ้นแล้วให้ก้าวหน้าหรือทำให้ “ยิ่ง” ขึ้นไป (กุสลสฺสูปสมฺปทา) จนในที่สุด ถึงกับไม่ยึดมั่นในสิ่งใดๆได้ จิตผ่องใสด้วยการเห็นตรงภาวะ (สจิตฺตปริโยทปนํ)


ดิฉันเคยเข้าใจองค์ธรรมในนิวรณ์แบบไม่เป็นกระบวนการ คือเข้าใจว่าเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งใจเราจึงไม่สงบ เช่น เพราะสงสัย จิตเลยไม่เป็นสมาธิ เพราะฟุ้งซ่าน เลยเข้าสมาธิไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น แต่ในเวลาต่อมา ก็เข้าใจว่า นิวรณ์ทั้ง 5 คือกระบวนการที่สืบเนื่องกัน จนได้ผลคือความหวั่นไหวไม่ตั้งมั่นของจิต กระบวนการนี้เกิดเพราะความไม่รู้ ความรู้ไม่ทั่ว ความรู้ผิด หรือก็คือ อวิชชา เป็นจุดตั้งต้น บันทึกนี้จึงเป็นบันทึกที่เกิดจากความเข้าใจส่วนบุคคล ถ้าผิดพลาดอย่างไร ก็พร้อมน้อมรับคำตำหนิ

นั่นคือ เข้าใจว่าเพราะอวิชชา จึงความเป็นเราเข้าผูกพันกับสิ่งต่างๆ และเพราะมีความผูกพัน จึงมีเจตนากระทำทางใจไปในทางใดๆกับสิ่งต่างๆเหล่านั้น จนยึดมั่น กระทั่งเป็นเหตุให้เกิดความกระวนกระวาย หาความสงบไม่ได้ เมื่อใจเป็นไปในทางผูกพันกับสิ่งใดๆมากๆเข้า นอกจากจะอยู่สงบไม่ได้ ก็อาจทำให้ต้องก้าวล่วงออกมาทางกาย วาจา อันอาจถึงเป็นกายทุจริต วจีทุจริต ไปได้ในที่สุด

เช่น เพราะเรารู้ไม่ทั่วว่าขณะนั้นไม่มีสติอยู่ จึงระลึกไม่ได้ ว่ากำลังยึดสภาพเกิดดับว่าเป็นตน จึงมีสัตว์บุคคลต่างๆ มีภาวะต่างๆที่เป็นของสัตว์บุคคลนั้นๆ และยึดสภาพน่าพอใจ ไม่น่าพอใจที่ตาเห็นแล้วและจบไปแล้ว มาคิดถึงและปรุงแต่งไปตามความชอบหรือไม่ชอบของใจ ตามความที่ใจอยากให้หรือไม่อยากให้เป็น สิ่งที่จบไปจึงเป็นราวตน ตั้งโลดแล่นอยู่ในใจตลอดเวลาที่เราได้รับรู้ หรือเวลาที่ใจเรานึกถึง

ซึ่งความพอใจเหล่านั้น ก็คือกามฉันท์ อันเป็นความพอใจที่ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง จึงทำให้เมื่อตา หู เป็นต้นได้รับรู้เรื่องราวที่น่าพอใจทีไร ใจจึงไม่สงบไปเสียทุกที ทำให้ใจไหวเคลิ้มไปตั้งแต่การไหลไปอย่างอ่อนๆบ้าง อย่างรุนแรงบ้าง

ใจจึงไม่เป็นสมาธิเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ถูกกระทบ

และเมื่อได้รับรู้ หรือได้นึกถึงสิ่งใดด้วยกามฉันท์ หากสิ่งนั้นไม่ถูกธรรม หรือ ไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของปัจจุบันธรรม ใจก็ย่อมเกิดความระคาย พยาบาทก็ย่อมตามมา พยาบาทนี้ ไม่ได้แปลว่าความพยาบาท อาฆาต แค้น จนคิดจะเอาคืน อย่างที่คนไทยเราเข้าใจเท่านั้นนะคะ แต่หมายรวมถึง “เจตสิกธรรมที่ทำให้ประโยชน์เกื้อกูลและความสุขพินาศ, ความขึ้งเคียด” อีกด้วย ดังนั้น แม้เราจะไม่ปองร้ายใครๆ แต่กระวนกระวายใจ เสียใจ ขัดใจ เกิดความกระทบกระทั่งในใจที่ไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้ ก็ได้ชื่อว่าจิตถูกครอบงำด้วยพยาบาทได้เช่นกัน

เมื่อจิตถูกครอบงำด้วยพยาบาท ก็ไม่อาจสงบราบเรียบ เป็นสมาธิอยู่ได้

ทั้งใจที่อยากเสพด้วยกามฉันท์อันเป็นตัณหา และความระคายเมื่อใจไม่ได้ในสิ่งที่อยากอันเป็นพยาบาท แม้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างอ่อนๆก็สามารถนำจิตให้หดหู่ได้

เมื่อหดหู่ก็จึงไม่สงบ ไม่เป็นสมาธิ

ดิฉันมองว่า ถีนมิทธะ คือรอยต่อของกระบวนการที่จะนำไปสู่ความที่จิตเป็นสมาธิหรือไม่ก็ได้ค่ะ ถ้าจบกระบวนการตั้งแต่จุดนี้ได้ จิตก็ยังคงเป็นกลับมาสงบต่อไป ไม่มีการกระทำใดๆที่นำความทุกข์มาให้ตามมา เพราะมีคำตรัสอยู่ว่า หากสามารถละถีนมิทธะ ก็สามารถละทุคติได้ทั้งหมด ดังที่ปรากฏในพระคาถาอันเป็นพุทธอุทานในอุทธตสูตรนี้

ภิกษุผู้ไม่รักษากาย มีความเห็นผิด

ถูกถีนมิทธะครอบงำ ย่อมไปสู่อำนาจมาร

เพราะฉะนั้น ภิกษุควรรักษาจิต

มุ่งเห็นความดำริชอบเป็นอารมณ์

มุ่งเห็นความถูกต้องเป็นสำคัญ

รู้ความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปของเบญจขันธ์

ครอบงำถีนมิทธะได้

ก็สามารถละทุคติได้ทั้งหมด

ขุ.อุ.(แปล) ๒๕ / ๓๒ / ๒๓๗

ซึ่ง “ผู้ไม่รักษากาย” ในที่นี้หมายถึงผู้ไม่ใช้สติ คุ้มครองป้องกันกายวิญญาณ ๖ (ขุ.อุ.อ. ๓๒ / ๒๕๕)


อันหมายถึง เมื่อเกิดความพอใจ สุขใจ อันเกิดจากกามฉันท์ หากสติมีอยู่ ก็ระลึกได้ว่าความพอใจนี้เกิดเพราะเรายังมีกิเลส มีตัณหาอยู่ เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อหมดเหตุปัจจัย สุขก็ดับ

และเพราะสุขเกิดแล้วดับไปแล้ว สุขที่เกิดจากสภาพเกิดดับจึงไม่ใช่สิ่งที่ยึดไว้ได้

จึงทำให้มีการปฏิบัติต่อสุขและสิ่งที่ทำให้เกิดความสุขคือ รู้ว่าสุขเป็นอาหารจิต เพราะยังหาสุขที่เลิศกว่ากามสุขไม่ได้ หรือ ไม่ได้สุขที่เลิศกว่ากามสุขอยู่ตลอดเวลา จึงเสพสุขจากกามอันชอบธรรมนี้อยู่ และเพราะรู้ว่าสุขจากกามคือสุขที่ได้จากการพึ่งพิงปัจจัยภายนอก ดังนั้นจึงแปรปรวนได้ และสุขจากการพึ่งพิงสิ่งเสพจากภายนอกมีโทษแฝงมาอยู่ด้วย เพราะมักทำให้ยิ่งยึดมั่น หวงกั้น ระแวง จนประพฤติทุจริตไปต่างๆ จึงเพียรพยายามฝึกตนให้ได้สุขจากภายในตนเป็นอาหารจิต อันเป็นสุขอันเลิศยิ่งขึ้น เช่นสุขจากการเพิ่งนิ่งจนจิตเป็นสมาธิ (นิรามิสสุข) หรือสุขจากการพิจารณาจนสามารถดับตัณหา และพยายามหาทางไม่ให้ตัณหาเกิดขึ้นได้อีก (สุขที่เลิศยิ่งกว่านิรามิสสุข) เพื่อลดการพึ่งพิงสิ่งเสพจากภายนอกลงเรื่อยๆ

อันทำให้มีการปฏิบัติต่อกามสุขอันเป็นอาหารจิต ตามคำตรัสใว้อีกที่หนึ่งคือ ไม่เอาทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ ไม่ทิ้งสุขอันชอบธรรม แม้แต่สุขอันชอบธรรม ก็ไม่เมามัวยอมสยบ แต่เพียรเพื่อให้ได้สุขอันเลิศยิ่งขึ้น

จิตจึงไม่หดหู่ที่ตนยังเสพกามอยู่ และเสพด้วยสติที่คอยควบคุมไว้

มีคำอธิบายในพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์ ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นผู้รวบรวมไว้ ว่า กามสุขที่ควบคุมได้นี้ ก็คือทิฏฐธัมมิกตถะ หรือ ประโยชน์ปัจจุบันนั่นเองค่ะ

หากเราปฏิบัติได้ดังกล่าว จิตจึงปราศจากความเคลิบเคลิ้มและหดหู่จากกามฉันท์ได้

หรือหากกามฉันท์ถูกขัดจนพยาบาทครอบงำใจ เมื่อสติมีอยู่ ก็รู้ว่าพยาบาทเกิดเพราะสภาพเป็นจริงขัดกับสิ่งที่จิตยึดมั่นในบางอย่างอยู่ จึงเพียรหาความยึดมั่นและสิ่งที่จิตยึดมั่นอยู่นั้น และพิจารณาให้เห็นตรงตามสภาพ ว่าแม้สภาพที่ไม่น่าพอใจก็เกิดดับเช่นกัน การยึดสภาพเกิดดับนั้นให้ตั้งอยู่และบงการใจไปในทางต่างๆ เป็นการทำให้ใจทุกข์โดยใช่เหตุ ก็เท่ากับปฏิบัติขัดกับที่ตรัสว่า ไม่นำทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์

ขณะเดียวกัน ก็ไม่กังวลว่าตัณหาและความทุกข์เพราะตัณหาที่ดับไปแล้วนั้น ว่าจะจรมาสู่ใจอีก เพราะรู้ว่า ตนมีศีล สมธิ ปัญญาเท่าใด ก็ดับทุกข์ได้เท่านั้น ตนดับทุกข์ หรือพบความดับชั่วคราว (สันทิษฐิกนิพพาน) ก็เพราะความเชื่อในทางที่ถูก มีสติ มีความเพียร แต่เพราะความที่ยังมีกิเลสอยู่ พยาบาทที่ดับลงได้ในครั้งนี้จึงสามารถจรมาอีกได้ ดังนั้น แม้พยาบาทจะสามารถจรมาสู่ใจได้อีก แต่ระดับและอาการของพยาบาทก็จะค่อยๆลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ขอเพียงพยายามฝึกตนให้มีสติอยู่เสมอก็จะพบความดับได้เป็นครั้งๆไป พบความดับชั่วคราวบ่อยๆได้ ความดับที่ถาวรก็จะตามมาเอง

จิตจึงเพียรกำจัดพยาบาทโดยไม่หดหู่กับความเป็นจริง กับความเป็นไปของใจในปัจจุบัน

เมื่อละทั้งความเคลิบเคลิ้มและหดหู่ได้ จิตก็ไม่ปรุงแต่ง จากจุดกำเนิดเล็กๆให้ขยายใหญ่โตไปตามกามฉันท์และพยาบาทได้ เมื่อไม่ปรุงแต่งไปในทางต่างๆ ก็ละทุคติได้ทั้งหมดตามคำตรัส


แต่….

หากสติเราไม่มีอยู่ จนไม่สามารถระลึกรู้ตามที่เป็นจริง จนเกิดถีนมิทธะขึ้นแล้ว และเพราะธรรมชาติของตัณหาจะดับได้ก็ต่อเมื่อได้เสพ เพราะสติไม่มีอยู่ จิตก็จะดิ้นรนกวัดแกว่งเพื่อการได้เสพ เมื่อเสพในความเป็นจริงไม่ได้ ก็เสพในความคิดฝัน จึงทำให้ใจคิดไปด้วยความฟุ้งซ่าน อันเป็น อุทธัจจะ หรือรำคาญ อันเป็น กุกกุจจะ

กุกกุจจะนี้ มีคำแปลว่า คะนอง ด้วยค่ะ ความหมายของคะนองคือ เห็นในสิ่งที่ควรว่าไม่ควร เห็นในสิ่งที่ไม่ควรว่าควร เห็นในสิ่งที่เป็นโทษว่าไม่เป็นโทษ และ เห็นในสิ่งที่ไม่เป็นโทษว่าเป็นโทษ อุทธัจจกุกกุจจะ จึงหมายความว่าคิดฟุ้งไปด้วยความเห็นผิดเหล่านี้ได้ด้วย

การคิดว่า ขอแค่คิดนิดเดียวคงไม่เป็นไร หรือ ขอยอมใจให้ไหลตามความผูกพันแค่สักครั้งคงไม่เป็นไร ก็จัดเป็นกุกกุจจะค่ะ คือเห็นสิ่งที่ไม่มีโทษว่ามีโทษ จนมีการกระทำที่ไม่สมควรด้วยเห็นผิดไปว่าสมควรอยู่ในใจ

ความคิดฟุ้งแม้จะมีความสุขในขณะคิด แต่เมื่อออกจากความคิดมาอยู่กับความเป็นจริง เราย่อมทุกข์ใจค่ะ เพราะเราจะค่อยๆยอมรับความเป็นจริงที่เหมือนในฝันไม่ได้ อยากอยู่แต่ในความฝัน หรืออยากให้ความเป็นจริงเป็นอย่างที่คิดฝัน และไม่ว่าจะคิดฟุ้งด้วยอะไร ในขณะนั้นจิตก็หวั่นไหว ไม่เป็นสมาธิ

เมื่อคิดฟุ้งซ่านด้วยความคะนองแล้ว ก็มักเกิดความลังเลสงสัย หรือ วิจิกิจฉา ตามมา

วิจิกิจฉานั้น แปลว่า ธรรมชาติเป็นเครื่องลำบากแห่งชนผู้ค้นอยู่ ความเคลือบแคลง ความลังเล ความไม่แน่ใจ ดังนั้นไม่ว่าเรากำลังค้นหาอะไรด้วยความไม่แน่ใจ สงสัย ก็จัดเข้าใจวิจิกิจฉาได้ทั้งนั้น เช่น ไม่แน่ใจในสิ่งที่ตนเป็นอยู่ มีอยู่ ปฏิบัติอยู่นั้น ว่าเพื่ออะไร หรือสงสัยว่าตนจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากความทุกข์นี้ได้ หรือสงสัยว่าทำอย่างไรฝันจึงจะเป็นจริงได้ หรือสงสัยว่า ทำอย่างไรจึงจะตัดความผูกพันอันทำให้จนคิดไปต่างๆ จนได้ทุกข์อย่างนี้ได้ ผู้พ้นไปแล้วมีจริงหรือไม่ การจะพ้นจากทุกข์ด้วยการปฏิบัติงานทางใจมีได้จริงๆหรือ ถ้าผู้พ้นไปแล้วมีจริงและสั่งสอนการหลุดพ้นจริง มีผู้เคยนำวิธีการที่ผู้พ้นไปแล้วมาใช้แล้วพ้นจากความทุกข์ตามได้จริงหรือ

เมื่อลังเลสงสัย จิตก็สงบไม่ได้

ภรรยาท่านหนึ่ง แม้จะทราบว่าสามีรักเธอ เป็นคนซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อครอบครัว และมักเก็บความรู้สึก ไม่ค่อยแสดงความในใจให้ใครรับรู้ จึงไม่ค่อยแสดงออกถึงความรักที่มีต่อเธอ แต่เพราะเธอเห็นสามีภรรยาคู่อื่นเดินจูงมือกันไป พูดคุยกันด้วยความรักใคร่ และพอใจการแสดงออกซึ่งความรักอย่างนั้น จึงอยากให้สามีแสดงออกอย่างนั้นบ้าง ครั้นสามีไม่ทำอย่างนั้นด้วยความที่เป็นคนเก็บอาการ ความอยากเมื่อถูกขัด ใจก็ย่อมหดหู่ใจ เวลาเห็นที่สามีภรรยาคู่อื่นเดินจูงมือกันไปก็ยิ่งหดหู่ไปใหญ่ ว่าตนไม่เคยได้รับความรู้สึกอย่างนั้นเลย จึงพลอยทำให้คิดฟุ้งซ่านไปว่า สามีจะรักเธอจริงหรือเปล่า ถ้ารักจริง ทั้งๆที่เห็นว่าคู่สามีภรรยาอื่นๆปฏิบัติต่อกันอย่างไร ทำไมจึงไม่ปฏิบัติต่อเธออย่างนั้นบ้าง สามีมีใครแอบซ่อนในใจหรือเปล่า

เมื่อรักษาความสงสัยนั้นไว้นานๆเข้า ก็เกิดเป็นความระแวง

ครั้นระแวง ก็คอยแต่สังเกตสามีว่าจะมีอะไรผิดปกติไปหรือไม่ กลับบ้านช้าไปหรือไม่ เวลาที่เขาคุยโทรศัพท์ เขาคุยกับใคร จิตจึงถูกครอบงำด้วย อภิชฌา (เพ่งเฉพาะ) จนเกิดเป็นปัญหาครอบครัว

จึงเป็นการนำทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ เพราะความพอใจ ในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันนั่นเองค่ะ

ดังที่เรียนไว้แล้วว่า กระบวนการอันทำให้จิตไม่สงบจากความต้องการหรือตัณหา ที่กีดขวางการกระทำอันประเสริฐนี้ มีรอยต่อที่ถีนมิทธะ อันเป็นจุดที่อยู่กลางกระบวนการ เราจึงสามารถตัดกระบวนการนี้ให้ขาดได้ที่ถีนมิทธะนี้นี่เอง ตัณหานั้นแม้จะดับได้ด้วยการเสพ แต่การปฏิบัติตามวิธีที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน ก็สามารถพบความดับโดยไม่ต้องเสพตามตัณหาได้ แต่เสพการดับตัณหาขึ้นมาแทนที่

ซึ่งในชั้นแรกนั้น คือ เสพการคบหา การสนทนาธรรม เพื่อให้ได้ความรู้เกี่ยวกับธรรมอันเป็นคำสอนในเบื้องต้น เสพการอบรมเมตตาเพื่อนอกจากจะเป็นกำลังแก่ตน ยังทำให้การอบรมธรรมที่ดีทั้งหลายตามที่ได้ฟังมาให้เกิดขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นว่า เมตตาตนไม่อยากให้ตนตกต่ำ ตนจึงได้เพียรอบรมสติสัมปชัญญะ เพื่อให้สามารถระลึกรู้สภาวะให้ทันท่วงที เพียรอบรมสันโดษ เพื่อให้ไม่พอใจในสิ่งที่ไม่สมควรแก่ตน เป็นต้น (พิจารณาแล้วเสพ)

เมื่อระลึกได้ทัน แต่เพราะยังไม่ทราบความเป็นไปที่แท้จริง หรือรู้ว่าเป็นสิ่งที่ตนต้องการนั้นผิด จึงให้ข่มใจไว้ด้วยขันติ เพื่อไม่แสดงความปกติออกมาทางกายวาจา และไม่ปล่อยใจให้ยอมรับสิ่งที่ไม่สมควร (พิจารณาแล้วข่ม)

และเพราะใจยังไม่มั่นคงพอ จึงให้เว้นการไปสู่สถานที่ หรือเว้นการคบค้ากับบุคคล จะทำให้ใจตนไหลไปตามความต้องการที่ผิด (พิจารณาแล้วเว้น)

และเพียรบรรเทาอกุศลธรรมที่จรเข้ามา ด้วยการพิจารณาให้เห็นโทษของสิ่งที่จรเข้ามาเหล่านั้นบ้าง (เช่นการพิจารณาด้วยข้อเปรียบอันเป็นโทษของกาม) ด้วยการพิจารณาต่างๆที่ทำให้ความต้องการลดลง บรรเทาความหลงใหล หรือขัดเคือง จนจิตสงบลงบ้าง (เช่น การพิจารณาด้วยอสุภะ การพิจารณาด้วยความเป็นของปฏิกูล ฯลฯ) อันทำให้นอกจากจะรักษาสิ่งดีๆที่เริ่มต้นให้ยิ่งเจริญขึ้นแล้ว ยังช่วยทำให้ใจหายอึดอัดจากการข่ม กลับมาสู่ความเป็นปกติดังเดิม บรรเทาการเสพสุขอันชอบด้วยธรรม เพื่อเข้าถึงความว่าง เพื่อจิตที่ขาวรอบ อันเป็นการมุ่งตรงต่อพระนิพพานบ้าง (พิจารณาแล้วบรรเทา)


เมื่อปฏิบัติอย่างนี้เนืองๆ ก็จะอยู่เป็นสุข ละสิ่งกีดขวางไม่ให้กระทำความดีต่างๆได้

การปฏิบัติในเรื่องเหล่านี้ก็คือการอบรมศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นองค์มรรคนั่นเอง และเพราะการอบรม ใจจึงค่อยๆเห็นคล้อยตามภาวะที่เป็นจริง กระทั่งเกิดผลของการปฏิบัติขึ้นเอง คือเห็นตรงตามภาวะจนละอกุศลธรรมต่างๆได้เป็นลำดับชั้นไปโดยไม่ต้องข่ม แต่เป็นการตัดขาดโดยปราศจากเจตนาด้วยองค์ของมรรค

มรรคมีองค์ ๘ จึงเป็นสิ่งที่เราควรตระหนักถึงความสำคัญ และทำให้เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน เมื่อมีการปฏิบัติตามองค์มรรคอยู่เนืองๆ จิตจึงสะดุ้งเมื่อตาหู จมูก ลิ้น กาย กระทบอะไรๆน้อยลงเรื่อยๆ โอกาสที่จะสงบจากนิวรณ์อยู่จึงมากขึ้นเรื่อยๆ

องค์มรรคจึงหมุนวนเหมือนลวดสปริง ที่หมุนวนจากปลายข้างหนึ่งไปสู่อีกข้างหนึ่ง และหากวางสปริงนี้ให้ตั้งขึ้น องค์มรรคก็เหมือนเส้นลวดในขดที่หมุนวนจากเบื้องล่างขึ้นสู่เบื้องบน ค่อยๆหมุนวนไปจนสุดปลาย

เมื่อจิตสงบได้ จึงมีโอกาสได้รับรู้ความจริงของชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ สมดังที่ตรัสว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิ จะรู้เห็นตามที่เป็นจริง ชีวิตก็เป็นอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันได้มากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสพบปัญญาอันเป็นเลิศในพุทธศาสนาจึงย่อมมีได้

แม้ว่าการมาถึงของโอกาสนั้นอาจจะยาวไกล จนเลยตาเห็น จบเลยการสิ้นสุดของชีวิตนี้ไปก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 620803เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2016 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2016 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณ ธรรมบรรยาย เป็นธรรมทาน

นิวรณ์5 ชัดขึ้นไปอีก

ขอให้องค์ธรรมใดที่คุณณัฐรดาประสงค์บรรลุ จงแจ่มแจ้งแทงตลอด


สาธุๆ

เห็นภาพเรื่องนิวรณ์ 5 ชัดเจน

อธิบายได้ดีมากๆเลยครับพี่

ขอบคุณครับ

เรียนคุณหมอประวิทย์ค่ะ

ขอบพระคุณสำหรับความเห็นมากค่ะ

ถือโอกาสสวัสดีปีใหม่ด้วยเลยนะคะ

เรียน อาจารย์ขจิตค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับความเห็น

สวัสดีปีใหม่เลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท