จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๗๘ : Coaching and Mentoring for medical professionalism Part IV


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๗๘ : Coaching and Mentoring for medical professionalism Part IV

และแล้วก็มาถึงกิจกรรม highlight ของงาน (จริงๆก็ highlight หมด แต่ชอบสองอันนี้มาก) คือ "ขวัญกับเรียม" และ "12 angry men"

ตามที่เขียนมาไว้เบื้องต้น professionalism เป็นเรื่องผสมระหว่าง technical part คือ how to build an expert และ affection, attitude part คือ how to nurture values ในส่วนหลังนี่เองที่ค่อนข้างจะท้าทาย ไม่เพียงเพราะความหลากหลายของ theme ของ values เหล่านั้น แต่การที่ทั้งหมดเป็นนามธรรม และอาจจะแสดงออกออกมาในเชิงพฤติกรรมให้เราสังเกตเห็นได้ แต่สุดท้ายเรื่องของ validity จะแม่นยำแค่ไหน ก็ยังเป็นเรื่องที่ยังกำกวม เพราะพฤติกรรมหนึ่งอย่าง สามารถมีแรงผลักดันบันดาลใจได้มากมาย วิธีหนึ่งที่อาจจะใช้ในการจัดการเรียนการสอน หรือการประเมินในเรื่องเหล่านี้ก็คือ การดันบริบทลงไปในพื้นที่เสี่ยง และวิเคราะห์จากพฤติกรรม ก็คงจะคล้ายๆกับภูมิคุ้มกัน ในภาวะปกติ เราไม่รู้หรอกว่าภูมิคุ้มกันเราดี/ไม่ดีอย่างไร ต้องไปเจอภาวะ stress และเมื่อนั้นเราถึงรู้ว่าที่ว่าดี/ไม่ดี มันเป็นอย่างไรกันแน่

Power of suggestion and judgmental attitudes

ทั้งๆที่เรารู้ว่า "เหตุปัจจัย" มีมากมาย แต่เราก็ยังคงสามารถทำ decision-making ตัดสินใจกระทำหรือไม่กระทำกันทุกวัน เพราะชีวิต "ต้องดำเนินต่อไป" ถ้าขืนจะรออะไรให้ "ชัวร์ ๑๐๐%" อาจจะไม่มีวันนั้นมาถึงได้เลย (หรือต้องหลอกตัวเองว่า sure ๑๐๐ %) ก็คงไม่แปลกใจในการที่วงการแพทย์จะสร้าง safe zone ขึ้นมาในการวินิจฉัยโรคต่างๆ อาศัยข้อบ่งชี้ที่จะทำให้ความชัวร์นั้นมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในเรื่องที่ตรงไปตรงมา ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่ในเรื่องที่ซับซ้อน เราก็จะพยายามเพิ่ม criteria หรืออำนาจในการวินิจฉัยโดยบีบบริบทแวดล้อมให้จำเพาะกับโรคมากขึ้นๆจนถึงระดับพึงพอใจที่จะวินิจฉัยั
สมการที่ชัดเจนเหล่านี้ก็มักจะเป็น linear equation คือ ถ้ามี A B หรือ C ก็จะเกิด/เรียกว่า "ภาวะ D" ซึ่งต้องให้ยาตัวนี้ รักษาแบบนี้ ช่วยแบบนี้

นี่คืองานที่แพทย์ทำทุกวัน วันละหลายๆสิบครั้ง

แต่ถ้าไปใช้ในบริบทอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องทางวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยตรง เราจะพบว่า "บริบทที่จะบีบ" นั้น ทำไม่ได้ง่ายๆ และจะค่อนไปทางบานปลาย คือมีปัจจัยมากจนไม่สามารถจะพยาการณ์ได้อย่างแม่นยำอีกต่อไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราก็จะใช้ "ประสบการณ์อดีต" ของเรามาเป็นตัวกำหนด และช่วยเราพยากรณ์ว่า "มันน่าจะ....." อย่างนี้ อย่างนั้นแทน แม้กระทั่งเป็นเรื่องของ values

"ขวัญกับเรียม"

อาจารย์ชัชวาลย์ให้โจทย์สถานการณ์สั้นๆมาหนึ่งย่อหน้า ทำนองนี้
"ขวัญกับเรียมเป็นคู่หมั้นกัน รักกันมานาน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน กั้นเพียงแค่คลองโดยมีสะพานเชื่อม ขวัญเคยเลียบเคียงจะขอยกระดับความสัมพันธ์ไปอีกขั้น แต่เรียมก็ยังรักนวลสงวนตัว ตอบปฏิเสธไป อยู่มาวันหนึ่ง มีพายุเข้า น้ำท่วมรุนแรงและพัดเอาสะพานขาดไป ทั้งสองคนจึงไม่สามารถจะไปมาหาสู่กันได้ ทั้งสองต่างก็คิดถึงกันมาก เรียมได้ไปขอความช่วยเหลือจากแผนซึ่งมีเรือข้ามฟากได้ แผนก็บอกเรียมว่า จะพาไปก็ได้ แต่ต้องยอมพำนักค้างคืนกับแผน ไม่งั้นไม่ยอม เรียมได้ฟังก็ทุกข์มาก ไปปรึกษาพริ้ง ซึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุเรื่องการแก้ปัญหาชีวิต แต่พริ้งก็ปฏิเสธที่จะแนะนำ ด้วยความคิดถึง เรียมจึงตกลงตามข้อเสนอของแผน ได้ข้ามฟากไปหาขวัญ พอเล่าเรื่องให้ขวัญฟัง ขวัญก็โกรธมาก ตัดความสัมพันธ์กับเรียมทันที นายเรืองได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดก็บันดาลโทสะ ไปหาขวัญและแผน และชกต่อยจนได้รับบาดเจ็บทั้งคู่"
คำถาม:
๑) ใครน่าสงสารที่สุด
๒) ใครน่ารังเกียจที่สุด
๓) ใครน่าเห็นใจที่สุด

ให้แต่ละคนเขียนโน็ตลงไป แล้วจัดกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณ ๗-๙ คน ให้แต่ละกลุ่มลองหา consensus ว่าตกลงกลุ่มจะตอบว่าอย่างไรในแต่ละข้อ
เวลาผ่านไปพอสมควรก็ถามคำตอบจากแต่ละกลุ่ม เปรียบเทียบกัน และอภิปรายกันระหว่างกลุ่มอีกครั้งหนึ่ง

ผลที่ได้ก็คือ มีการอภิปรายกันอย่างออกรส เพราะทุกคนสามารถ identify situation ได้จากประสบการณ์เก่า แต่ที่น่าสนใจมากก็คือ เมื่อคำตอบไม่เหมือนกัน!! และบางครั้งไม่เหมือนขนาดขัดความรู้สึกก็มีด้วย อันที่จริงทุกคนก็ทราบว่าคนเราไม่เหมือนกัน แต่นั่นเป็น perception ในเชิงทฤษฎี พอมาเจอทางปฏิบัติ ก็จะเกิดความ IN ในบริบท ในเรื่องราวนั้นๆ และถ้าเห็นต่าง แต่ใกล้เคียงกันก็ยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเห็นต่าง แต่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกัน หากตั้งสติดี จะพบ "คลื่นอารมณ์" ผุดปุดๆขึ้นมาในใจ อาจจะทำให้เสียงเริ่มดัง พูดเริ่มเร็ว body-language ในการ engage เปลี่ยนไป

ในที่นี้เนื่องจากความ "รู้ตัว" ว่าเราอยู่ในสถานการณ์จำลองค่อนข้างสูง ก็จะยังคงมี NORM ของสังคมกำกับ แต่เนื้อหาก็เพียงพอที่จะกระตุ้นส่วนของอารมณ์ได้ชัดและจับได้ดีทีเดียว วิธีในการหา consensus ในแต่ละกลุ่มก็หลากหลาย มีทั้งอภิปราย มีทั้ง vote มีทั้งตาม มีทั้งนำ มีการประนีประนอม มีดัน ฯลฯ

=======

ที่น่าสนใจอีกประการก็คือ เมื่อเราถูกกำหนดมาให้ "ต้องตอบคำถาม" เราดูเหมือนจะเผลอเติมข้อมูลบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ได้อยู่ใน "ข้อมูลตั้งต้น" ไปเองโดยอัตโนมัติไปไม่น้อย ยิ่งมีเวลาจำกัด ยิ่งต้องให้คำตอบออกมาสักอย่าง เราจะถูกอิทธิพลของ past experiences มาใช้กำหนดการตัดสินใจ วิธีคิด และอารมณ์ตอบสนองของเรามากขึ้นเท่านั้น และแม้แต่เมื่อมีความขัดแย้งในกลุ่ม ก็เพราะประเด็นที่ "ต่างคนต่างเติมเอง" เราก็ยังสามารถ defend artificial factors เหล่านั้นอย่างมีอรรถรสด้วยซ้ำ

พอเราได้ข้อมูล "อีกด้าน" เพิ่มเติม เช่น นางพริ้งนั้นรู้จักนางเรียมมานาน เคยให้คำปรึกษามากมายในอดีต แต่ไม่มีสักหนเดียวที่นางเรียมจะฟังหรือปฏิบัติตาม ครั้งนี้ก็เกิดความเบื่อหน่าย ไม่ได้ให้คำปรึกษาไป หรือนายเรืองนั้นเป็นพี่ชายของนางเรียม และนายแผนก็ขอให้เดินทางกลางคืน ก็เพราะกลางวันมีลูกค้าเยอะมาก ไปกลางคืนจะไม่รบกวนการทำมาหากิน และข้อสำคัญคือ นายแผนก็เคยเป็นคนรักเก่านางเรียม อยากจะพูดคุยเรื่องราวเก่าๆด้วยความคิดถึง แต่ก็ไม่ได้ล่วงละเมิดอะไรนางเรียมเลย

ข้อมูลใหม่ ก็เปลี่ยน "คำพิพากษา" ใหม่ไปอีกรูปแบบหนึ่ง

Skill ที่สำคัญก็คือ "การห้อยแขวนคำตัดสิน" suspension of assumption ที่จะชะลอเราจากการด่วนตัดสิน กิจกรรมนี้จงใจ "ให้ด่วน" และกลไกนั้นทุกคนมีอยู่แล้ว คือการ narrative ตามประสบการณ์เก่าที่เราจะนำมาทำให้เรื่องราวข้อมูลเบื้องหน้าสมบูรณ์พอที่จะตัดสินใจอะไรได้โดยอัตโนมัติ ยิ่งข้อมูลเก่ามีสายเชื่อมกับ emotion mode หรือ value-mode ของเราเองอยู่ก่อน ยิ่งจุดอารมณ์ จุดพลังงานในการตัดสิน ในการนำเสนอ ในการโต้แย้ง ในการ debate ในการจะเอาชนะ หรือไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ไปด้วย Power of suggestion นี้รุนแรง ไม่เพียงเฉพาะต่อตนเอง แต่บางคนจะมีวาทศิลป์ มีความสามารถในการสื่อสาร จนกระทั่งแพร่ระบาด power of suggestion นั้นไปให้คนอื่นได้ด้วย (ซึ่งจะจริง/ไม่จริงนั้น ไม่เกี่ยวกันเลย แต่เกี่ยวกับคนสื่อว่าคนๆนั้นเชื่อมากแค่ไหน อยากจะชวนคนอื่นให้เชื่อด้วยมากแค่ไหน)

ในกระบวนการกลุ่มย่อย เราก็ได้เห็นวิธีหลากหลายที่แต่ละคนใช้ บางคนก็ออก passive พอเห็นว่าอีกฝ่ายแรง ก็ถอยดีกว่า บางคนก็ aggressive เพื่อเอาชนะ หรือเพราะเห็นว่าของตนเองนั้นถูกต้องที่สุด บางก็เริ่มใช้ social rule มาเอาชนะ conflict เช่นการตัดสินด้วย votes (ซึ่งบางทีก็ bypass stories ไปอย่างสิ้นเชิง) ด้วยคนที่ strong หรือ aggressive มากที่สุด

ประเด็นสุดท้ายที่สำคัญคือ ไม่ว่าผลลัพธ์ในชีวิตจริงจะออกมาเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราพูด และสิ่งที่เรากระทำลงไปนั้น ก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการ "เล่าชีวิตของตัวเราเอง" นั่นเอง เรากำลังใ้ช้ชีวิตตามเรื่องเล่าของเรา ด้วยพลังเรื่องเล่าของเรา และแบบเรื่องเล่าของเรา พวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของ values ทั้งสิ้น

สำหรับน้องนักเรียนแพทย์ ถ้าเรามองย้อนกลับไป เราเห็น "กระบวนการ" ของเรื่องเล่าในชีวิตของพวกเขาอย่างไร? พวกเขาถูก "ด่วนตัดสิน" ไปบ้างไหม หรือว่าถูก "เห็นอกเห็นใจ" ? เรื่องเล่าของนักเรียนถูก "ให้คุณค่า" หรือไม่ และมากน้อยเพียงไร และเมื่อเปรียบเทียบกับเรื่องเล่าของอาจารย์ เรื่องเล่าของคณะฯ เรื่องเล่าของคนไข้และญาติ ทั้งหมดมีน้ำหนัก หรือมีปฏิสัมพันธ์ทีจะเอื้อต่อการเจริญเติบโตของนักเรียนหรือไม่?

หมายเลขบันทึก: 620472เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2016 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2016 16:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท