​จากการบริหารงานวิจัย สู่การบริหารงานนวัตกรรมในมหาวิทยาลัย


โดยการจัดการแบบนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีการพัฒนาความเข้มแข็งของสาขาวิชาการอย่างมี เป้าหมายและจุดเน้น การรับคนเข้ามาเป็นอาจารย์ก็จะมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ มีการลงทุนสร้างความ เข้มแข็งของการวิจัยอย่างมียุทธศาสตร์ ทั้งในเชิงใช้งานในปัจจุบัน และในเชิงของความก้าวหน้าในอนาคต ของ embryonic areas

จากการบริหารงานวิจัย สู่การบริหารงานนวัตกรรมในมหาวิทยาลัย

บ่ายวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ในหลักสูตรพัฒนาผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่ความเป็นเลิศ ผมโชคดี ได้ฟังการบรรยายเรื่อง ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานวิจัย และความร่วมมือกับ ภาคเศรษฐกิจและสังคม โดย ศ. ดร. ศันสนีย์ ไชยโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ฟังแล้วผมเกิดความเข้าใจใหม่ เรื่องการบริหารงานวิจัยในมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุคนี้ รวมทั้งได้ภาพ ที่เพิ่มขึ้นของ University Engagement ในยุค Thailand 4.0 เกิดความชื่นใจ และใจชื้น ในการขับเคลื่อนประเทศสู่ Thailand 4.0 โดยใช้มหาวิทยาลัยชั้นนำเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อน โดยที่ทางรัฐบาลเปิดช่องให้รอง อธิการบดีฝ่ายวิจัยของมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีส่วนร่วมคิดระบบและยุทธศาสตร์สร้าง innovative economy system ให้แก่ประเทศ และรับการบ้านมาดำเนินการ

ศ. ดร. ศันสนีย์ กล่าวชัดเจนว่า การบริหารงานวิจัยในมหาวิทยาลัยต้องเลยการบริหารการวิจัย สู่การ บริหารเทคโนโลยี และการบริหารนวัตกรรม คือต้องบริหารระบบความรู้ตลอดเส้นทาง จากการสร้าง ไปสู่ การใช้ประโยชน์ โดยต้องทำงานเป็นภาคีของฝ่ายต่างๆ ในตอนต้นทาง เป็นภาคีกับแหล่งทุน และฝ่ายยุทธ ศาสตร์ของประเทศ ในตอนกลางทางและปลายทางเป็นภาคีกับฝ่ายใช้ความรู้สู่การผลิตและบริการ

ภายในมหาวิทยาลัย ก็ต้องมีการจัดการโจทย์และจัดทีมวิจัย โดยเอาความต้องการเป็นตัวตั้ง ท่านบอกว่าหมดยุคของการสนับสนุนการวิจัยแก่นักวิจัยรายบุคคลแล้ว

ส่วนหนึ่งของการบริหารงานวิจัย คือการบริหารสินทรัพย์ทางปัญญา ท่านบอกว่าจำนวนสิทธิบัตร ไม่ได้สะท้อนสินทรัพย์ทางปัญญา แต่เป็นหนี้สินทางปัญญามากกว่า เพราะต้องจ่ายค่าจดและรักษาสิทธิบัตร สิ่งที่สะท้อนสินทรัพย์ทางปัญญาคือรายได้จากผู้นำความรู้หรือวิธีการที่ค้นพบ ไปใช้ประโยชน์ ที่เรียกว่า royalty ดังนั้นการจัดการให้สิ่งค้นพบไปเข้าตาเตะใจของฝ่ายผู้ต้องการ (demand side) จึงสำคัญกว่าการจดสิทธิบัตร การจัดการแบบนี้ต้องการทักษะจำเพาะ ซึ่งต้องสร้างคนขึ้นมาทำหน้าที่

ที่น่าชื่นชมยิ่งคือ มีการร่วมมือกันจัดตั้ง RUN – Research University Network เพื่อร่วมมือกัน คิดงานวิจัยที่จะขับเคลื่อนและตอบสนองการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฯ และตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 การบริหารเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย เพื่อไปร่วมมือกันเจรจากับแหล่งทุน และเจรจากับ ผู้บริหารประเทศ จึงเป็นนวัตกรรมของการบริหารงานวิจัยในมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่มาก ทำให้มหาวิทยาลัย สมาชิกก้าวสู่ยุคการบริหารมหาวิทยาลัยอย่างมียุทธศาสตร์ ทำงานวิจัยเป็นโปรแกรมระยะยาว ไม่หยุดอยู่แค่โปรเจ็กปลีกย่อย ถือเป็นกิจกรรม University Engagement ที่เป็นรูปธรรมมาก และเป็น University Engagement แนวใหม่

การจัดการข้ามมหาวิทยาลัยอีกอย่างหนึ่ง คือการจัดตั้ง Center of Excellence ร่วมกัน มีมหาวิทยาลัย ผู้นำเครือข่าย (Hub) และมหาวิทยาลัยผู้เป็นสมาชิกของเครือข่าย (Spoke) แบ่งกันนำในด้านที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ มีความเข้มแข็ง ทำให้สามารถคิดงานวิจัยตามความต้องการของผู้ต้องการใช้ได้ และเจรจากับภาครัฐ และภาคธุรกิจ เพื่อให้มีทุนสนับสนุนการวิจัย

โดยนำ ๖ วาระของชาติเป็นตัวตั้ง พิจารณาว่าการสนองแต่ละวาระของชาติต้องการความเข้มแข็งของ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านใดบ้าง แล้วจึงตกลงกันว่าในวาระของชาตินั้นๆ มหาวิทยาลัยใดเป็น Hub มหาวิทยาลัยใดบ้าง เป็น Spoke

วาระของชาติทั้ง ๖ คือ

  • Agriculture & Food
  • Energy
  • Aging
  • Smart City
  • Water Management
  • Climate Change

โดยการจัดการแบบนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีการพัฒนาความเข้มแข็งของสาขาวิชาการอย่างมี เป้าหมายและจุดเน้น การรับคนเข้ามาเป็นอาจารย์ก็จะมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ มีการลงทุนสร้างความ เข้มแข็งของการวิจัยอย่างมียุทธศาสตร์ ทั้งในเชิงใช้งานในปัจจุบัน และในเชิงของความก้าวหน้าในอนาคต ของ embryonic areas

ผมตื่นตาตื่นใจกับวิธีวัด “สุขภาพ” ด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยดูจากรายการจดสิทธิบัตร ที่ไม่ใช่แค่การนับจำนวน แล้วเอามาเป็นสารสนเทศในการตัดสินใจดำเนินการ พัฒนาความเข้มแข็งและผลงาน

ศ. ดร. ศันสนีย์ ให้ความเห็นว่านักบริหารงานวิจัยมืออาชีพมี ๔ กลุ่ม ที่ต้องการความรู้และทักษะต่างกัน คือ (๑) นักบริหารระบบวิจัยและพัฒนาระดับชาติ (๒) นักบริหารในหน่วยงานจัดสรรทุนวิจัย (๓) นักบริหารในหน่วยวิจัย (๔) นักบริหารโครงการของกลุ่มหรือเครือข่ายวิจัย

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า การบริหารวิชาการในมหาวิทยาลัยต้องไม่ประนีประนอมยอมความกับการฉ้อโกง ทางวิชาการทั้งปวง

และเห็นด้วยว่าการบริหารงานวิชาการแบบแยกส่วน งานวิจัย งานการเรียนการสอน และงานบริการ วิชาการ เป็นข้อด้อยหรือจุดอ่อนที่ทำให้มหาวิทยาลัยไม่เข้มแข็งทางวิชาการ และเห็นได้ชัดเจน ว่าการบริหาร มหาวิทยาลัยวิจัย ต้องการรูปแบบใหม่ ที่ผู้บริหารและทีมงานมีความรู้และทักษะในการเจรจา และประสานงาน กับฝ่ายผู้ต้องการ ต้องเป็นการบริหารแบบยื่นมือ และยื่นใจ ออกไปภายนอก หาภาคีความร่วมมือที่เข้มแข็ง

วิธีการวัดความเข้มแข็งของการวิจัย สำหรับมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำ ก็ต้องการวิธีที่ซับซ้อน และวัดที่หลายมิติ มหาวิทยาลัยต้องหาทางวัดเพื่อสำรวจตรวจตราตนเองอย่างแท้จริง สำหรับนำมาใช้ปรับปรุงตนเอง

วิจารณ์ พานิช

๑๗ พ.ย. ๕๙

หมายเลขบันทึก: 620448เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2016 05:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2016 05:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท