"ตโมตมสูตร" ว่าด้วยผู้มืดมาและมืดไป


"ตโมตมสูตร ว่าด้วยผู้มืดมาและมืดไป"
ขอนอบน้อมด้วยเศียรเกล้าแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมะรับอรุณ ณ บ้านเย็นยิ้ม
วันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2559

- - - - - - - - - - - - - - -
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวก [๑] ไหนบ้าง คือ
๑. ตโม ตมปรายโน คือ บุคคลผู้มืดมาและมืดไป
๒. ตโม โชติปรายโน คือ บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป
๓. โชติ ตมปรายโน คือ บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป
๔. โชติ โชติปรายโน คือ บุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป


Displaying 1480974265219.jpg


"บุคคลผู้มืดมาและมืดไป เป็นอย่างไร"

คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูลช่างสาน ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างร๔ หรือตระกูลคนเทขยะ เป็นตระกูลยากจน มีข้าว น้ำ และสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของกิน และเครื่องนุ่งห่มได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความเจ็บป่วยมาก ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป และเขายังประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลผู้มืดมาและมืดไป เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
[๑] ดู อภิ.ปุ. (แปล) ๓๖/๑๖๘/๒๐๑-๒๐๒; ที.ปา. ๑๑/๓๑๔/๒๐๗.
- - - - - - - - - - - - - - -
"บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป เป็นอย่างไร"

คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลต่ำ คือ ตระกูลจัณฑาล ตระกูลช่างสาน ตระกูลนายพราน ตระกูลช่างรถ หรือตระกูลคนเทขยะ เป็นตระกูลยากจน มีข้าว น้ำ และสิ่งของเครื่องใช้น้อย เป็นไปอย่างฝืดเคือง เป็นแหล่งที่หาของกิน และเครื่องนุ่งห่มได้ยาก และเขามีผิวพรรณหม่นหมอง ไม่น่าดู ต่ำเตี้ย มีความเจ็บป่วยมาก ตาบอด เป็นง่อย เป็นคนกระจอก หรือเป็นโรคอัมพาต มักไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แต่เขาประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ บุคคลผู้มืดมาแต่สว่างไป เป็นอย่างนี้แล
- - - - - - - - - - - - - - -
"บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป เป็นอย่างไร"

คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูลพราหมณมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล [๑] เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป แต่เขาประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุคคลผู้สว่างมาแต่มืดไป เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
[๑] มหาศาล หมายถึงผู้มีทรัพย์มาก ขัตติยมหาศาลมีพระราชทรัพย์ ๑๐๐-๑,๐๐๐ โกฏิ พราหมณมหาศาลมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ (ที.ม.อ. ๒๑๐/๑๙๓).
- - - - - - - - - - - - - - -
"บุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป เป็นอย่างไร"

คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เกิดในตระกูลสูง คือ ตระกูลขัตติยมหาศาล ตระกูลพราหมณมหาศาล หรือตระกูลคหบดีมหาศาล เป็นตระกูลมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีเครื่องใช้ที่น่าปลื้มใจมากมาย มีทรัพย์และธัญชาติมากมาย และเขามีรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีผิวพรรณผุดผ่องยิ่งนัก ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก และเครื่องประทีป และเขาก็ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต หลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ บุคคลผู้สว่างมาและสว่างไป เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แลมีปรากฏอยู่ในโลก
- - - - - - - - - - - - - - -
"ธรรมที่ควรปฏิบัติสำหรับคน ๔ จำพวก"

๑. "ตโม ตมปรายโน" มืดมาแล้วก็มืดไป
บางคนเกิดมาไม่รู้เดียงสาอะไรเลย เหมือนกับมดกับปลวก มืดตื้อไปหมด พูดอะไรก็ไม่รู้เรื่องรู้ราว เรื่องศีลเรื่องธรรมแล้วไม่ต้องกล่าว เข้าใจว่าตัวเองโง่เง่าเต่าตุ่นไม่มีสติปัญญา แล้วก็เลยไม่ทำความดีต่อไป เห็นว่าหมดวิสัยของตัวแล้ว ซ้ำเติมให้โง่ให้ทึบให้ตื้อเข้าไปอีกเรียกว่ามืดมาแต่ต้น แล้วก็มืดต่อไปอีก เราเป็นคนทุกข์ คนจนไม่มีสติปัญญา เลยไม่คิดจะทำสมาธิภาวนา คุณงามความดีอะไรทั้งหมด เลยหมดหนทางที่จะทำคุณงามความดีต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทางที่ถูกคือ ควรจะหัดสมาธิภาวนาทำสมาธิ แล้วไม่มีทางอื่นใด ทีจะช่วยแก้ได้ ขอให้มีความอดทนพยายามอย่างเต็มที่ก็จะสำเร็จตามความประสงค์

๒. "ตโม โชติปรายโน" มืดมาแล้วกลับสว่างไป
คนเราเกิดมาทุกคนต้องมืดมนด้วยกันทั้งนั้น ไม่ใช่สว่างมาแต่เบื้องต้น ใครเกิดมาจะรู้จักดี ชั่ว ฉลาดเฉลียวมาแต่เบื้องต้น ไม่มีหรอก ถึงชาติก่อนจะเรียนรู้มาแล้วก็ตาม กลับมาเกิดใหม่ก็ต้องมาเรียนใหม่ แต่นิสัยเป็นเหตุให้เรียนได้ดีกว่าคนไม่มีนิสัย แต่คนมืดนั้นพยายามตั้งใจพยายามทำดี ความพยายามทำให้ได้รับผลสำเร็จ ศาสนานี้สอนให้ทำไม่ใช่ให้อยู่เฉย พระพุทธเจ้าสอนให้ทำทั้งนั้น ต้องพยายามทำจริงจัง จึงจะดีต่อไป จะไปอ้างกาลเวลา อ้างธุรกิจการงานนั้นไม่ได้ นั่นมันเป็นเพียงเครื่องประกอบอาชีพของเราเท่านั้น มันไม่ใช่ของเรา ของเราแท้ก็คือ การกระทำคุณงามความดี หัดสมาธิภาวนาตั้งสติกำหนดจิต นี่แหละเป็นของเราแท้ทีเดียว คนอื่นมาแย่งเราไม่ได้ การหาเงินหาทองข้าวของสมบัติ มันเป็นของภายนอก ไม่ใช่ของเรา เราใช้เมื่อยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ตายไปแล้วไม่เห็นเอาไปได้สักคนเดียว ให้คิดเสียอย่างนั้น ให้ทำสมาธิภาวนาทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน

๓. "โชติ ตมปรายโน" สว่างมาแล้วกลับมืดไป
เรื่องพรรค์นี้มีมากทีเดียว เมื่อหัดสมาธิภาวนาก็เกิดความรู้ความฉลาด พูดจาพาทีคล่องแคล่ว เพราะเป็นของเกิดขึ้นมาในใจของตนเอง ต่อมาเกิดความประมาทในกิจวัตรและข้อวัตรต่างๆ ในการทำสมาธิ สมาธิภาวนาเลยเสื่อม เสื่อมแล้วคราวนี้ทำไม่ถูก ทำอย่างไรก็ทำไม่ได้ เลยเบื่อหน่ายขี้เกียจในวัตรเสีย เลยไปหากินตามปกติธรรมดา เลยกลับเสื่อมเสียแทนที่จะเจริญต่อไป อันนี้แหละน่าเสียดายด้วย น่าสงสารด้วย ของดีทำมาแล้วกลับทิ้งทอดธุระเสีย มิหนำซ้ำบางคนยังพูดหยาบหยามดูถูกอีกว่า ศาสนานี้ทำเท่าไหร่ก็ทำเถิด ข้าพเจ้าทำมากแล้ว ถึงขนาดนั้นยังไม่เป็นไป ยังเสื่อมเสียได้จึงเป็นที่น่าเสียดายมากที่มาเหยียดหยาม ดูถูกการบวชการเรียน การเข้าวัดฟังธรรม และศาสนา

๔. "โชติ โชติปรายโน" สว่างมาแล้วก็สว่างไป
อันนั้นดีมาก เราเกิดมาในตระกูลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ มีเกียรติยศชื่อเสียง เงินทองมากมาย มาคิดถึงตัวเราว่าอุดมสมบูรณ์เพราะบุญวาสนาบารมีแต่เก่า อันนั้นเห็นได้ชัด คนที่มีเมตตาปรานีเอ็นดูสงเคราะห์คนอื่น ตัวเองก็อยู่ในศีลในธรรม แล้วก็แนะนำคนอื่นให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม ให้ประพฤติดีประพฤติชอบ ประกอบแต่การกุศล เจริญรุ่งเรืองด้วยตนเอง แล้วสอนให้คนอื่นเจริญรุ่งเรืองไปด้วย ตัวของเราก็ยิ่งได้รับความเจริญ ยิ่งขึ้นไปอีกกว่าปกติธรรมดา เขาได้รับคุณงามความดี เขาก็นิยมยกย่องสรรเสริญผู้ที่สอนเขา

สรุปรวมใจความแล้วว่า ศาสนานี้สอนให้กระทำ ได้น้อยได้มากก็ทำ ถึงจะได้น้อยก็ยินดีพอใจกับการกระทำของตน เรามีมือน้อยก็รับเอาแต่น้อย ๆ รับเอามากเกินไปก็ไม่ได้ ความยินดีตามมีตามได้ อะไรทั้งหมดก็เหมือนกัน ไม่ว่าธรรม ไม่ว่าของภายนอก มีน้อยแล้วไม่พอใจมักจะเสียหาย
- - - - - - - - - - - - - - -
พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า : ๑๒๙-๑๓๐.
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ : องฺ.จตุกฺก. (ตมสูตร).
จากหนังสือ "ธรรมลีลา" ปีที่ 6 ฉบับ 66 พฤษภาคม 2549 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
Cr. รูปภาพจากอินเทอร์เน็ต
...
ธรรมะรักษา วิปัสสนาคุ้มครองค่ะ
อจ.พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย (ฉัตรนะรัชต์)

ขอน้อมอุทิศถวายบุญกุศล เป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท