ครูในศตวรรษที่ 21


ครู คือ ผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ตลอดจนเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง และดำรงชีวิตอย่างมีความสุข บทบาทหน้าที่ของ ครูย่อมมีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะในปัจจุบันเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย มีความก้าวหน้า สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆได้มากและรวดเร็วยิ่งขึ้นดังนั้น ครูจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ อีกทั้งต้องมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาด้านทักษะวิทยาการให้ทันสมัยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เทคนิค วิธีการเรียน การสอนแบบใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ

ในศตวรรษที่ 21 ครูต้องไม่ใช่แค่มีใจ หรือเอาใจใส่นักเรียนเท่านั้น แต่จะต้องมีทักษะการกระตุ้นหรือจูงใจให้เด็กรักการเรียนรู้ มีวิธีการสอนที่ใหม่และมีความหลากหลายให้เด็กได้สนุกกับการเรียนรู้ และครูจะต้องเปลี่ยนเป้าหมายจากการให้ความรู้เป็นการให้ทักษะ เปลี่ยนจากครูเป็นหลักให้เป็นนักเรียนเป็นหลัก ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง โดยครูต้องยึดหลัก “ สอนน้อย เรียนมาก ” คือ สอนเท่าที่จำเป็น ครูต้องรู้ว่า ตรงไหนควรสอน ตรงไหนไม่ควรสอน เพราะเด็กเรียนได้เอง ครูควรออกแบบการจัดกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้เกิดเรียนรู้จากการทำกิจกรรมนั้น แล้วชวนเด็กทบทวนไตร่ตรองว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง และอีกหนึ่งสิ่งที่ครูควรปรับเปลี่ยน คือ เปลี่ยนบทบาทจากผู้ถ่ายทอดความรู้เป็นผู้อำนวยความรู้ กล่าวคือ ครูต้องหาทางให้เด็กเรียนรู้ได้เอง รู้วิธีเรียน และรักที่จะเรียนรู้ ครูเป็นผู้จัดระบบการเรียนการสอน จัดบรรยากาศสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียน ชี้นำหรือแนะแนวทางเพื่อให้เด็กได้รู้จักการแสวงหาความรู้ และค้นพบคำตอบด้วยตนเองให้มากที่สุด สังเกตพฤติกรรมของเด็กเพื่อช่วยเหลือ หรือสนับสนุนให้เรียนรู้ได้อย่างราบรื่น ซึ่งวิธีการเรียนการสอนแบบนี้เรียกว่า Project-Based Learning หรือ PBL เป็นการเรียนที่ฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านการทำงานจริงหรือโปรเจคต่างๆ โดยที่ครูเป็นเพียงผู้ช่วยเหลืออยู่ข้างๆ การเรียนแบบนี้จะช่วยให้เด็กได้ฝึกใช้ทักษะต่างๆ เช่น การตีโจทย์ การค้นคว้าหาข้อมูล การตรวจสอบและประเมินข้อมูลเพื่อนำสิ่งที่เหมาะสมมาใช้ เพิ่มทักษะในการสื่อสาร การนำเสนออย่างสร้างสรรค์ และที่สำคัญที่สุดยังได้ฝึกให้เด็กได้ทำงานเป็นทีม แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน เพื่อเป็นการต่อยอดไปสร้างเป็นองค์ความรู้ของตนเอง การเรียนรู้แบบนี้ถือเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีกรอบ เพราะการเรียนรู้แบบนี้ไม่ได้สนใจที่คำตอบ แต่ให้ความสนใจในเรื่องของกระบวนการให้คำตอบ นอกจากนี้ในเรื่องของเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องที่ครูต้องให้ความสนใจ เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเรา และในด้านการศึกษาก็ได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นการบูรณาการนวัตกรรมเทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง ที่จะสนับสนุนให้ครูเกิดความเชี่ยวชาญในการใช้ เทคโนโลยีในการศึกษา ครูส่วนมากยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่เก่งจึงต้องมีคนช่วยเหลือ ดังนั้น ครูจึงควรติดตาม ศึกษา และทำความเข้าใจแนวทางและพัฒนาการที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม

หมายเลขบันทึก: 619445เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2016 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2016 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท