ครูผู้ให้


ครูคือผู้เป็นที่พึ่งในตำบลหมู่บ้านในชนบท เมื่อชาวบ้านมีปัญหาอะไร ก็มักจะไปหาครู ไปถาม ไปขอให้ ช่วยตัดสิน ว่าอะไรผิดอะไรถูก เพราะเขามีความมั่นใจว่า ครูเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ พร้อมด้วย ความเมตตากรุณา ยินดีที่จะช่วยเหลือแนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นที่พึ่ง ซึ่งจะให้คำปรึกษาหารือ แก่เขาได้ นี่เป็นเกียรติของครูที่ควรแก่การภาคภูมิใจ

ครูคือผู้ฝึกนอกจากนั้นท่านยังเห็นว่า ครูคือผู้ฝึก เป็นดังสารถีผู้ฝึกสัตว์ให้เชื่อง เหมือนอย่างนายสารถี ผู้ขับรถม้าหรือเกวียน ครูจึงต้องเป็นผู้มี ความเมตตาปรานี ไม่ใช้อำนาจดึงดันเอาแต่ใจของตัว เพราะการฝึกโดยการฟาดฟันลงไปด้วยแส้ ด้วยไม้ ด้วยตะขอสับนั้น ก็แน่นอนที่สุดว่า ย่อมจะไม่ได้รับ ความรัก ความจงรักภักดีจากสัตว์ที่ตนฝึก มันยอมให้ก็เพราะกลัว สบโอกาสเมื่อใดก็ต่อต้าน

ครูคือผู้ให้แสงสว่างให้ความรู้แก่ศิษย์อย่างทั่วถึง ทั้งวิชาการทางโลก และวิชชาอันเป็นปัญญาด้านใน ครูจึงต้องศึกษาฝึกฝน อบรมตนเองให้พร้อมทั้งวิชาและวิชชา วิชานั้นเรียนรู้จาก ตำรา ครูอาจารย์ และ ประสบการณ์ได้ แต่วิชชาจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการศึกษาด้านใน ด้วยการหมั่นมองดู ใคร่ครวญ ถึงสิ่งอันเป็นสัจธรรม กฎธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนควรรู้คือ "ประกอบเหตุอย่างใด ผลอย่างนั้น" ถ้าเห็นความจริงข้อนี้ เมื่อมีปัญหา เกิดขึ้นก็จะมีปัญญาพิจารณา รู้ว่าควรแก้ไขอย่างไร จึงจะเป็นการกระทำที่ถูกต้อง และเมื่อได้ประกอบเหตุปัจจัยในส่วนของเรา อย่างเต็มความสามารถ แล้วก็สบายใจ ภาคภูมิใจได้ ส่วนผล จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องยอมรับว่ายังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ เป็นส่วนประกอบอีก

หากสามารถรักษาความเป็นปกติของจิตไว้ได้อย่างนี้ พอมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็จะไม่ไปเที่ยวโทษคนนั้น คนนี้ สิ่งโน้นสิ่งนี้ เกิดสัมมาทิฏฐิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ครูคือผู้นำทางจิตวิญญาณที่จะนำพาศิษย์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วยการพัฒนาจิตให้เกิดสัมมาทิฏฐิ มีความคิด ความเห็นที่ถูกตรง อันจะนำไปสู่การคิด พูด และทำในสิ่งที่ถูกต้อง

ดิฉันประทับใจในคำพูดของท่านอาจารย์ สวนโมกข์ ท่านกล่าวว่าคนมีบุญคือคนที่เกิดในตระกูลที่มี สัมมาทิฏฐิในสายตาของคนทั่วไป คนมีบุญ คือคนมีหน้ามีตา มีทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ พร้อมมูลในเรื่องของวัตถุ แต่สิ่งเหล่านี้คงทนถาวรอยู่ได้ตลอดไปไหม? เราก็คงเคยเห็น หลายครอบครัว หลายตระกูล ที่ดูเหมือนว่าทรัพย์สินที่มี กินใช้ไปเป็นร้อยปีก็ไม่หมด แต่แล้วก็ต้องสูญสิ้น ล้มละลายไป นั่นเพราะเหตุใด? ก็เพราะ ไม่รู้จักใช้ ไม่รู้จักรักษา ไม่รู้จักกำจัดสิ่งที่จะมาบ่อนทำลาย แต่ครอบครัว ที่มีสัมมาทิฏฐินั้น แม้บ้านช่อง อาจจะไม่โอ่โถงใหญ่โต พ่อแม่ไม่ได้มี อำนาจวาสนาอะไรมากมาย แต่เป็นผู้ประพฤติตนอยู่ในหนทางที่ถูกต้อง เลี้ยงดูครอบครัว ให้ลูกได้มีการศึกษาเล่าเรียน ตามควรแก่ฐานะ อบรมสั่งสอน ให้ลูกเป็นคนดี ครอบครัวก็อยู่เป็นสุข

ฉะนั้น ความเป็นครูจึงเป็นของหนัก ครูที่แท้จริงจึงเป็นผู้ควรแก่การเคารพสักการะ ควรแก่การบูชา เป็น ปูชนียบุคคล ผู้เป็นที่พึ่ง และผู้นำ ทางจิตวิญญาณแก่สังคม

ปัจจุบันนี้ โลกของเราถือเป็นยุคของโลกไร้พรมแดน ที่ถูกครอบงำด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ทำให้ประเทศเกิดความเจริญ รุดหน้าอย่างรวดเร็วในทุกด้าน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา จากความทันสมัยนั้น ก็คือคนในสังคมขาดคุณธรรมจริยธรรม มีแต่ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม และด้วยการเปิดรับการไหลบ่า ของวัฒนธรรมต่างชาติที่เข้ามา ทางข้อมูลข่าวสาร ทำให้เด็กและเยาวชน มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เกิดการเลียนแบบวัฒนธรรมต่างชาติ โดยไม่มีการคัดกรองว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี เนื่องจากไม่มีการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ในเบื้องต้นให้แก่เด็ก

จากสภาพการณ์ดังกล่าว ครูู จึงถือว่ามีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง ในฐานะเป็นผู้ที่สั่งสอน หรือถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์ รวมทั้งเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ ภูมิปัญญา เพื่อให้เด็กและเยาวชน สามารถตระหนักได้ว่า ควรจะเลือกรับวัฒนธรรมต่างชาติที่ดี ที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสม กับพฤติกรรมของตนเอง แต่ทั้งนี้ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ครู จะต้องทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี และเหมาะสมให้แก่ลูกศิษย์ด้วยเช่นกัน ดังนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเสนอบทบาทหน้าที่ของครู จรรยามรรยาท และวินัยตามระเบียบประเพณีของครู หน้าที่ของครูอาจารย์ที่พึงมีต่อศิษย์

1. แนะนำดี คือ การให้คำแนะนำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่ดีๆ ให้แก่ ลูกศิษย์

2. ให้เรียนดี คือ การแนะนำส่งเสริม สนับสนุน ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ ลูกศิษย์ ให้มีผลการเรียนที่ดี

3. บอกศิลปะให้สิ้นเชิง ไม่ปิดบังอำพราง โดยการถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งหมด ที่ตนเองมีอยู่ให้แก่ลูกศิษย์

4. ยกย่องให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ให้การสนับสนุน และยกย่องลูกศิษย์ที่มีความประพฤติดี ให้ปรากฏแก่เด็กคนอื่นๆ เพื่อนำไปเป็นแบบอย่าง

5. ทำความป้องกันในทิศทั้งหลาย ปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ลูกศิษย์ จากสิ่งแวดล้อมและสิ่งยั่วยุที่ไม่ดีทั้งหลาย

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น คงจะทำให้เห็นว่า ครู ถือเป็นบุคลากรที่สำคัญอย่างมาก ในการเป็นผู้ที่อบรมสั่งสอน ถ่ายทอดวิชาความรู้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน เพราะในชีวิตของคนเรานั้น ถือว่าบิดา มารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะเป็นผู้ที่ให้กำเนิด ให้ความรัก ความเมตตา ความห่วงใยและเสียสละเพื่อลูก ครูก็ถือเป็นผู้ที่เสียสละเช่นกัน เพราะหากครูสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตน และมีจรรยามรรยาทอย่างเคร่งครัดแล้ว เด็กก็จะนำไปเป็นแบบอย่าง ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ เด็กก็จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป

แม้ว่าในปัจจุบันนี้ จะมีครูที่กระทำตนเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีเกิดขึ้น จะเห็นได้จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อย เพราะยังมีครูอีกเป็นจำนวนมาก ที่มีจิตสำนึกของความเป็นครูอย่างแท้จริง พร้อมที่จะเสียสละและอุทิศตน ดูแลเอาใจใส่สั่งสอนอบรม ให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทาง ในการประกอบอาชีพ เลี้ยงดูตนเองได้ต่อไปในอนาคต และในโอกาสที่ วันครู ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มกราคม ของทุกปีที่จะเวียนมาถึงนี้ ลูกศิษย์ทั้งหลาย จึงสมควรน้อมจิตรำลึกถึงพระคุณ และแสดงความเคารพสักการะ ต่อครูผู้มีพระคุณ ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ให้จนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

คำสำคัญ (Tags): #ครูผู้ให้
หมายเลขบันทึก: 619398เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2016 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2016 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท