"กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์"


"กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์"

ขอนอบน้อมด้วยเศียรเกล้า แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

...พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองในพระสูตรหนึ่ง มีพุทธพจน์ว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายอาศัยเราผู้เป็น กัลยาณมิตร"...

...แต่สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องรู้เข้าใจขอบเขตของการเป็นกัลยาณมิตรว่า ที่พระพุทธเจ้าตลอดครูอาจารย์ทั้งหลายมาช่วยเรานี้ ท่านช่วยได้แค่ไหนเพียงไร อะไรช่วยได้ อะไรช่วยไม่ได้ หมายความว่า ส่วนใดท่านช่วยเราได้ ส่วนใดเราทำเอง อันนี้จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง มิฉะนั้นก็หวังพึ่งกัลยาณมิตรเรื่อยไป อะไรๆ ก็ให้ท่านทำให้ ตัวเองไม่ต้องทำ ไม่ต้องเพียรพยายาม พระพุทธเจ้าทรงป้องกันความเข้าใจผิดนี้ จึงได้ตรัสพุทธพจน์ไว้หลายแห่ง...

(จาก ธรรมเทศนา แก่ คณะผู้เข้าร่วมงานพระราชทานเพลิงศพพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) ณ วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 16 มกราคม 2536)


ข้างบนคือคำที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ ซึ่งคำว่า “พรหมจรรย์” หมายถึง การประพฤติธรรมอันประเสริฐ หรือ การครองชีวิตประเสริฐ ส่วน “กัลยาณมิตร” หมายถึง เพื่อนที่ดีมีคุณธรรม

เหตุที่ทรงตรัสเช่นนั้นก็เพราะ การคบหาคลุกคลีกับผู้ใด ย่อมส่งผลต่อเราอย่างมาก อย่างบางคนที่เคยมีความประพฤติดี แต่เมื่อไปคบหากับคนพาล นิสัยใจคอก็ค่อยเปลี่ยนไปในทางไม่ดีโดยไม่รู้ตัว เช่น จากที่ไม่เคยดูถูกคน ก็กลายเป็นคนเย่อหยิ่งถือตัว จากไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ก็เริ่มดื่มเหล้า เล่นการพนัน หรือเที่ยวกลางคืนเป็นต้น นอกจากนี้การคบคนพาลยังนำมาซึ่งความฉิบหาย ไม่ว่าจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง เสียทรัพย์เพราะมั่วอบายมุข และที่สำคัญคือ ทำให้เรามีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ซึ่งล้วนเป็นทางแห่งความเสื่อมทั้งสิ้น

ด้วยหนทางในสังสารวัฏนั้นยาวไกลนัก การมีเพื่อนที่ดีนอกจากจะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลเราได้แล้ว ยังสามารถช่วยตักเตือน ให้กำลังใจ ชักนำหรือแนะนำเราได้เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นอีกด้วย

ดังนั้นการคบเพื่อนที่ดี มีคุณธรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต หน้าที่การงาน และที่สำคัญสุดคือการประพฤติธรรม เพราะจะช่วยทำให้เรามีความเห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนกระทั่งสามารถบรรลุมรรคผลได้

ทุกวันนี้กัลยาณมิตรอาจหาได้ยาก แต่ด้วยกุศลที่ได้ทำแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้เราพบมิตรแบบนี้ได้เมื่อถึงเวลา หากไม่สามารถหากัลยาณมิตรได้ ก็ไม่ควรไปคบคนพาล ไม่มีเพื่อนเสียเลยยังดีกว่า แต่ควรให้พระธรรมเป็นกัลยาณมิตรแทน เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ถือเป็นกัลยาณมิตรได้เช่นกัน

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

กัลยาณมิตรสมัยพุทธกาล

กัลยาณมิตร มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ดังเช่นในอดีตที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเกิดมาแล้วเป็นผู้มีความเห็นผิด จนเกือบจะไม่ได้พบกับหนทางของพระนิพพาน แต่เนื่องจากพระองค์ได้คบหากับบุคคลอันเป็นกัลยาณมิตร พระองค์จึงได้ก้าวเข้ามาสู่หนทางของการสร้างบารมี จนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้

พระองค์ทรงระลึกชาติในหนหลัง ตรัสเล่าให้พระอานนท์ฟังว่า ในสมัยนั้นเป็นสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ณ ตำบล บ้านเวภฬิคะ มีชายหนุ่ม ๒ คนเป็นเพื่อนรักกัน คนหนึ่ง ชื่อ ฆฏิการะ อีกคนหนึ่ง ชื่อ โชติปาละ ทั้งสองคนนี้แม้จะเป็นเพื่อนที่รักกันมาก แต่กลับมีอุปนิสัยในทางธรรมที่แตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

ฆฏิการะนั้นเป็นผู้ที่มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก เขาได้ชื่อว่าเป็นอุปัฏฐากที่ดีเลิศของพระพุทธเจ้ากัสสปะ แต่โชติปาละเป็นผู้ที่ไม่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเลย เขาไม่เคยไปฟังธรรม ไม่เคยแม้แต่จะไปกราบพระพุทธเจ้า ฆฏิการะก็พยายามชักชวนอยู่เสมอ แม้ว่าความปรารถนาดีของเขาจะถูกปฏิเสธเสียทุกครั้งไป

จนกระทั่งวันหนึ่ง ฆฏิการะจึงออกอุบายชวนโชติปาละไปอาบน้ำยังท่าน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้กับพระอารามของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พออาบน้ำชำระกายเป็นที่เย็นกายเย็นใจแล้ว ฆฏิการะก็กล่าวชวนโชติปาละว่า "โชติปาละไปเถอะ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากัน พระอารามของพระองค์ท่านอยู่ที่ตรงนี้เอง" โชติปาละกล่าวตอบว่า "อย่าเลย เราไม่เห็นประโยชน์อะไรกับการที่จะได้เห็นสมณะโล้น สู้ไปเที่ยวยังจะสนุกเสียกว่า" ฆฏิการะก็บอกว่า "มีประโยชน์สิ เพราะการเห็นสมณะนั้นเป็นมงคล ไปกันเถอะ" โชติปาละก็ปฏิเสธอีก ฆฏิการะจึงเดินเข้าไปจับมือของโชติปาละ โชติปาละสะบัดมือออก ฆฏิการะเปลี่ยนมาจับชายพกของโชติปาละ โชติปาละก็ดึงมือออกอีก ฆฏิการะไม่ละความพยายามหันมาดึงมวยผม พร้อมกับกล่าวชวนซ้ำอีก คราวนี้โชติปาละรู้สึกขัดใจขึ้นมาทันที "เอ๊ะ! ทำไมต้องมาดึงมวยผมกันด้วยละ สมณะโล้นน่ะ มีดีอย่างไรหรือ ท่านจึงอยากให้ข้าพเจ้าไปเฝ้านัก"

และ ด้วยอานุภาพแห่งกัลยาณมิตร โชติปาละก็รำลึกได้ว่า โดยปกติแล้ว ฆฏิการะเป็นเพื่อนที่หวังดีกับเขาเสมอมา ไม่เคยเลยที่จะชักนำไปในทางที่เสียหาย เขาเริ่มคิดได้ว่า การที่ฆฏิการะชวนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอนี้ ก็คงจะเป็นการชักนำไปในทางที่ดีอีกเช่นเคย ดังนั้นโชติปาละจึงยอมไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

เมื่อไปถึงพระอาราม ทั้งสองกราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็นั่งในที่อันควรข้างหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงปฏิสันถารด้วยพระทัยที่เปี่ยมด้วยความเมตตา แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาด้วยกระแสเสียงอันไพเราะ แสดงธรรมที่ไพเราะทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย หลั่งธรรมธาราให้รินไหลเข้าสู่กระแสใจของโชติปาละ โชติปาละได้ฟังธรรมแล้ว ใจของเขาก็ผ่องใส เหมือนคนที่เดินหลงทางอยู่ในทะเลทรายมาเป็นเวลานาน แล้วได้พบกับบ่อน้ำที่ให้ทั้งความเย็นกายเย็นใจ ใจของเขาดื่มด่ำในรสแห่งอมตธรรมยิ่งนัก แล้วด้วยใจที่ศรัทธาตั้งมั่นไม่คลอนแคลน โชติปาละจึงขอออกบวชอุทิศตนเป็นพุทธบูชาตลอดชีวิต

แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงกล่าวกับพระอานนท์สืบไปว่า ดูก่อนอานนท์ เธออย่าได้พึงคิดเลยว่าเราคือ ฆฏิการะ บุรุษผู้มีความเห็นถูก แต่แท้ที่จริงแล้วเราคือ โชติปาละ บุรุษผู้มีความเห็นผิดคนนั้น แต่เนื่องจากเราได้คบหากับบุคคลอันเป็นยอดกัลยาณมิตร คือ ฆฏิการะ เราจึงได้กลับมาเป็นผู้มีความเห็นถูก ก้าวเข้ามาสู่หนทางแห่งการสร้างความดี มาสร้างบารมี จนกระทั่งบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ในที่สุด

อานนท์ แม้เราตถาคตก็ยังต้องการกัลยาณมิตร เป็นผู้ชี้หนทางแห่งความดีให้ ดังนั้น เราจึงได้กล่าวกับเธอว่า "กัลยาณมิตรนั้นเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์"

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -


หมายเหตุ

ฆฏิการะในกาลนั้น ซึ่งเป็นพระอนาคามี ได้ไปบังเกิดในสุทธาวาสภูมิชั้นที่ 5 อกนิฏฐภูมิ

เมื่อครั้นพระมหาโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงเปลื้องฉลองพระองค์และผ้าโพกพระเศียร โยนขึ้นไปในอากาศ ท้าวฆฏิการพรหมก็ได้รับไว้ แล้วนำพระอัฏฐบริขาร มีบาตรและจีวรเป็นต้น มาถวายแด่พระโพธิสัตว์ และรับฉลองพระองค์และผ้าโพกพระเศียรไปประดิษฐานไว้ในทุสสะเจดีย์ ที่เนรมิตสร้างไว้ในชั้นอกนิฏฐภพนี้เอง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิด แห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘ จักทำให้มากซึ่งอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ ๘"

ภิกษุใดผู้มีมิตรดี มีความยำเกรง มีความเคารพ กระทำตามคำของมิตรดีทั้งหลาย มีสติสัมปชัญญะ ภิกษุนั้นพึงบรรลุธรรม อันเป็นที่สิ้นไป แห่งสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ ฯ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สํ.ม. ๑๙/๕/๒/; ๑๒๙/๓๖; องฺ.เอก. ๒๐/๗๒/๑๖, ๑๒๘/๒๕; ขุ.อิติ. ๒๕/๑๙๕/๒๓๗.

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม

Cr. รูปภาพจาก etoons.in.th

...

ธรรมะรักษา วิปัสสนาคุ้มครองค่ะ
อจ.พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย (ฉัตรนะรัชต์)

ขอน้อมอุทิศถวายบุญกุศล เป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

หมายเลขบันทึก: 619390เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2016 07:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2016 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท