​ถนนผู้สร้างสายที่ 11


ชมรมในสังกัดคณะจะเป็นทางเลือกให้นิสิตได้นำความรู้ในชั้นเรียนไปประยุกต์ใช้จริงๆ กับชุมชน กระบวนการเช่นนี้คือการเรียนนอกชั้นเรียนที่จะช่วยให้การเรียนในหลักสูตรคมชัดและมีพลัง

จุดเด่นอันเป็นมนต์เสน่ห์ของชมรมในสังกัดคณะที่ดูเหมือนจะคล้ายคลึงกันก็คือการนำเอาความรู้ในวิชาชีพไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อบริการสังคมในวิถีของค่ายอาสาพัฒนา –

เกือบยี่สิบปีที่แล้ว ผมเคยถูกสั่งการให้แก้ระเบียบโดยการยกเลิกชมรมในสังกัดคณะ แต่ผมไม่ได้ยกเลิกตามนโยบาย ตรงกันข้ามกลับยืนหยัดที่จะชี้แจงทั้งโดยวาจาและเอกสารเพื่อปกป้องให้องค์กรเหล่านี้ยังคงอยู่ ถึงแม้ในชมรมในแต่ละคณะจะไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนงบประมาณมากนักจากต้นสังกัดรวมถึงในบางคณะจะยังไม่มีชมรมในสังกัดก็เถอะ กระนั้นผมก็ไม่เคยสูญเสียความศรัทธาต่อแนวคิดของตนเอง พร้อมๆ กับการอธิบายเชิงตรรกะประมาณว่า “ชมรมในสังกัดคณะจะเป็นทางเลือกให้นิสิตได้นำความรู้ในชั้นเรียนไปประยุกต์ใช้จริงๆ กับชุมชน กระบวนการเช่นนี้คือการเรียนนอกชั้นเรียนที่จะช่วยให้การเรียนในหลักสูตรคมชัดและมีพลัง”





1

ชมรมถนนผู้สร้าง สังกัดสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของชมรมในฐานวิชาชีพที่ตอบโจทย์เรื่องข้างต้นอย่างชัดแจ้ง ซึ่งครั้งหนึ่งในห้วงยามที่กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาในส่วนกลางดูอ่อนแรงลงอย่างน่าใจหาย ผมถึงขั้นเคยนั่งหารือกับบุคลากรในสังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์เพื่อขอให้ชมรมนี้มาสังกัดส่วนกลางเลยด้วยซ้ำ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ของการเรียนรู้คู่บริการต่อนิสิตทั่วทั้งมหาวิทยาลัยฯ -

ส่วนกรณีว่าด้วยการจะยุบชมรมในสังกัดคณะนั้น ประเด็นดังกล่าวนี้ผมพูดไว้นานแล้วจริงๆ พูดไว้ก่อนที่จะมี “ชมรมถนนผู้สร้าง” ด้วยซ้ำไป รวมถึงการเขียนบทความเล็กๆ ยืนยันแนวคิดอันบ้าบิ่นของตนเองลงเผยแพร่ในวารสาร “ละลาน” –

ผมเชื่อและศรัทธาเช่นนั้น เป็นความเชื่อและความศรัทธาก่อนที่จะคิดวาทกรรมว่า “เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน” รวมถึงเป็นวิถีแห่งศรัทธาก่อนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามจะประกาศนโยบายเชิงรุกการบริการสังคมในชื่อ “โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” หรือกระทั่งการประกาศเอกลักษณ์ว่าด้วยการ “เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน” และอัตลักษณ์นิสิตที่ว่าด้วยการ “ช่วยเหลือสังคมและชุมชน” เลยด้วยซ้ำไป





2

ล่าสุดปีการศึกษา 2558 ชมรมถนนผู้สร้างได้จัดค่ายชื่อ “ค่ายถนนผู้สร้าง” ขึ้นเมื่อวันที่ 18-27 พฤษภาคม 2559 ณ โรงเรียนบ้านหนองขอนแก่น ตำบลนาดี อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยค่ายครั้งนี้คือ “ถนนสายที่ 11” แต่ในมิติการก่อเกิดองค์กรและค่ายอาสาพัฒนาขององค์กร คือ 12 ปี 12 ค่าย

ค่ายครั้งนี้ภารกิจหลักคือการสร้างอาคารอเนกประสงค์พื้นคอนกรีตหลังคายกสูง กล่าวคือ พื้นที่ในตัวอาคารมีขนาด 54 ตารางเมตรและพื้นที่โดยรอบอาคารมีขนาด 70 ตารางเมตร นอกจากนั้นก็เป็นกิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้ในมิติต่างๆ เช่น ซ่อมแซมท่อประปา ซ่อมแซมและติดตั้งประตูรถบัสประจำโรงเรียน ซ่อมแซมโต๊ะเรียนและกิจกรรมอื่นๆ ในครรลองของค่ายอาสาพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ กิจกรรมรอบกองไฟ ปรับภูมิทัศน์รายรอบโรงเรียน




ก่อนการปลงใจปักหมุดทำค่ายกันที่โรงเรียนบ้านหนองขอนแก่น ชมรมถนนผู้สร้างได้เสาะสำรวจพื้นที่การออกค่ายในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่เน้นโรงเรียนขยายโอกาสที่ขาดแคลนในโซนจังหวัดอุดร กาฬสินธุ์ ยโสธร ร้อยเอ็ดและมหาสารคาม จนในที่สุดก็ลงมติเลือก “ออกค่าย” ที่โรงเรียนบ้านขอนแก่นบนเหตุผลสำคัญคือความต้องการของโรงเรียนสัมพันธ์กับความรู้และงบประมาณที่ชมรมพึงจะหนุนเสริมขึ้นมาได้ รวมถึงอยู่ใกล้ๆ กับ “ค่ายเก่า” ที่เคยจัดขึ้น ซึ่งทุกคนเห็นพ้องตรงกันว่าหากไปออกค่ายในที่แห่งใหม่ก็สามารถเพิ่มกิจกรรมการกลับไป “เยี่ยมค่ายเก่า” ได้ด้วยเช่นกัน





คำว่า “ค่ายเก่า” ในที่นี้หมายถึงค่ายอาสาพัฒนาที่ชมรมถนนผู้สร้างได้ออกค่ายเมื่อปีที่แล้วที่โรงเรียนบ้านคำนาดี ซึ่งเป็นตำบลเดียวกันกับค่ายครั้งใหม่ เป็นค่ายสร้างอาคารอเนกประสงค์เหมือนกัน ทั้งสองแห่งห่างกันในราวๆ 15 กิโลเมตร ดังนั้นเมื่อถึงห้วงของการออกค่าย ชมรมถนนผู้สร้างจึงได้จัดกิจกรรมไปเยี่ยมค่ายขึ้นพร้อมกัน เช่น การเยี่ยมเยียนพ่อฮักแม่ฮักรวมถึงคณะครูและนักเรียน การประเมินผลการใช้งานของอาคารที่สร้างไว้ รวมถึงกิจกรรมนันทนาการกับน้องๆ นักเรียน






3

ดังที่กล่าวถึงข้างต้นว่าจุดเด่นของชมรมในสังกัดคณะคือการได้ใช้วิชาชีพไปสู่การบริการสังคม ค่ายครั้งนี้ก็เป็นไปในทำนองนั้น เพราะอาคารอเนกประสงค์ การซ่อมท่อประปา หรือกระทั่งการซ่อมประตูรถบัส ทั้งปวงล้วนเกี่ยวโยงและเป็นหนึ่งเดียวอยู่กับวิชาชีพของชาววิศวกรรมศาสตร์ทั้งสิ้น ยิ่งพอได้รู้ถึงกระบวนการทำงานเชิงลึกยิ่งน่าประทับใจ เพราะค่ายครั้งนี้ใช้เวลาการตระเตรียมงานร่วมๆ จะ 1 ปีการศึกษาเลยทีเดียว

ในที่นี่คำว่า “เกือบๆ จะ 1 ปีการศึกษา” รวมความตั้งแต่การ “ทบทวนความรู้จากถนนสายที่ผ่านมา สู่การสำรวจค่าย-เลือกค่าย-เตรียมค่าย-และทำค่าย” ซึ่งคณะทำงานจะต้องลุยงานกันอย่างยกใหญ่ เป็นการระดมสรรพกำลังทั้งที่เป็นขุนพลจากชมรมและทีมทำงานจากคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “เขียนแบบ” ที่ต้องทำกันอย่างจริงจัง เพราะนี่คือความรู้ นี่คือวิชาชีพ นี่คือต้นน้ำของคุณภาพสู่การใช้ประโยชน์ของชุมชน




ด้วยเหตุนี้เฉพาะประเด็นการเขียนแบบอาคารอเนกประสงค์จึงกลายเป็น “งานใหญ่” ที่ต้องควักเอา “ต้นทุนทางปัญญา” และ “ต้นทุนขององค์กร” ทั้งจากนิสิตและครูบาอาจารย์ของคณะมาเป็นส่วนหนึ่งร่วมกัน ก่อเกิดเป็นภาพการขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกันระหว่างนิสิตกับอาจารย์ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการและคณะผู้บริหาร หรือเจ้าหน้าที่ในฝ่ายพัฒนานิสิตของคณะ


สิ่งเหล่านี้คือ “ระบบและกลไก” ด้านการพัฒนานิสิตที่บูรณาการระหว่างกิจกรรมในหลักสูตรกับกิจกรรมนอกหลักสูตรอย่างน่าสนใจ แถมยังเป็นกรณีศึกษาไม่แพ้กรณีอื่นๆ เพราะเป็นการงานที่ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้นิสิตชาวค่ายต้อง “แบกรับ” หรือ “เดินทางอยู่บนถนนสายนี้อย่างเดียวดาย” ...





4

กระบวนการทำงานของค่ายถนนผู้สร้าง มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการ “เขียนแบบ-รับรองแบบ” เท่านั้น หากแต่ทางคณะยังได้จัดสรรงบประมาณเชิงรุกแก่นิสิตในวงเงิน 80,000 บาท ขณะที่สโมสรนิสิตที่เป็น “องค์กรแม่” ของชมรมถนนผู้สร้างก็จัดสรรงบหนุนงานค่ายครั้งนี้จำนวน 30,837 บาท ที่เหลือคือภารกิจของขุนพลชมรมฯ ที่จะต้องลงหยาดเหงื่อแรงงานเสาะแสวงหาทุนเพิ่มเติมกันเอง

นี่คือกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะสะท้อนให้เห็นภาพการทำงานในแบบสหวิชาชีพของทุกสาขาในคณะ หรือเรียกอีกอย่างคือการทำงานในแบบบูรณาการศาสตร์องค์กรในคณะไปในตัว ผูกโยงการบูรณาการการทำงานระหว่างนิสิตกับอาจารย์ ซึ่งเป็นกระบวนการทุบทำลายกำแพงที่กั้นระหว่างกิจกรรมในหลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตรลงอย่างสิ้นเชิง ยิ่งในระบบการหนุนเสริมเช่นนี้ ต้องยอมรับว่าทางคณะได้ให้ความสำคัญกับงานค่ายครั้งนี้เป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากมีการบรรจุเป็นแผนเชิงรุกประจำปี รวมถึงการมอบหมายบุคลากรเข้าๆ ออกๆ ค่ายแทบทุกวัน เพื่อทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” อย่างใกล้ชิด ซึ่งเมื่อเทียบกับองค์กรในบางคณะกลับได้รับการดูแลอย่างผิวเผิน



ประเด็นการทำงานแบบมีบูรณาการศาสตร์และทรัพยากรภายในคณะเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งก่อตัวขึ้นในค่ายถนนผู้สร้างสายที่ 11 หากมองย้อนกลับไปสองถึงสามปีให้หลังจะพบว่าค่ายอาสาพัฒนาของชมรมถนนผู้สร้างเคยบูรณาการการทำงานร่วมกับงานบริการวิชาการแก่สังคม (โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) มาแล้วอย่างสง่า ด้วยการสร้างอาคารดิน (บ้านดิน) ณ พุทธสถานสวนธรรมโชติปัญญาราม บ้านหนองกุง ตำบลเขาพระนอน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์

ค่ายครั้งนั้นถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์แห่งการเรียนรู้คู่บริการในแบบ 5 In 1 ที่ผสมผสานระหว่างภารกิจหลัก 4 ด้านของมหาวิทยาลัยเข้ากับกิจกรรมนอกหลักสูตรของนิสิต ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้งานบริการสังคมในสไตล์ค่ายอาสาพัฒนาไปพร้อมๆ กับงานบริการวิชาการ งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม งานวิจัยและการเรียนการสอนอย่างน่าทึ่ง เพราะไม่ใช่ว่าใครๆ ก็สามารถเสกสร้างขึ้นได้โดยง่าย เนื่องจากเกี่ยวโยงกับนโยบาย ความรู้ หรือกระทั่งการหลอมรวมทัศนคติของอาจารย์ นิสิตและผู้บริหารเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ





5

ถึงแม้ค่ายถนนผู้สร้างสายที่ 11 จะปักหมุดการบริการสังคมผ่านการสร้างอาคารอเนกประสงค์เป็นหัวใจหลัก แต่ก็มิได้ละเลยที่จะขับเคลื่อนการเรียนรู้คู่บริการในแบบสหกิจกรรม ดังจะเห็นได้จากมีการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนผ่านงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่เป็น “เสื่อพับ” ที่ทำจากต้นกกจนขึ้นชื่อเป็นผลิตภัณฑ์ประจำชุมชน (OTOP) ซึ่งนิสิตจะลงไปเรียนรู้กระบวนการทอและแปรรูปเสื่อกกโดยตรงกับพ่อฮักและแม่ฮักของตนเอง มีทั้งการสังเกต สัมภาษณ์ที่มาที่ไปของลวดลายเสื่อพับและปฏิบัติการจริงร่วมกับชุมชน

ในทำนองเดียวกันนี้ยังรวมถึงการเรียนรู้ภูมิปัญญาการก่อสร้างบ้านเรือนจากคณะครูและ “พ่อช่าง” ที่เป็นช่างประจำหมู่บ้านที่ก้าวเข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่ช่วยพานิสิตสร้างอาคารอเนกประสงค์ สะท้อนให้เห็นการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและเป็นการเรียนรู้จริงจากปราชญ์ชาวบ้านไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ




นั่นยังไม่รวมถึงกิจกรรมในวิถีค่ายอาสาพัฒนาอื่นๆ ที่ถูกนำมาหนุนเสริมการเรียนรู้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เป็นต้นว่า การปรับภูมิทัศน์รอบๆ โรงเรียนด้วยฐานคิด “อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย” กิจกรรมรอบกองไฟที่มีทั้งเรื่องบันเทิงเริงรมย์ทั่วๆ ไปและการนำเรื่องราวชีวิตของนิสิตในมหาวิทยาลัยฯ มาเป็นโจทย์ การเล่นกีฬาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างชาวค่ายกับชาวบ้าน การเข้าร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญอันเป็น “ฮีตฮอย” ประเพณีและวัฒนธรรมชุมชนตามครรลอง “ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” หรือแม้แต่ “ท่านมาเราดีไป ท่านจากไปเราคิดถึง”

หรือกระทั่งกิจกรรมอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น การจับบัดดี้บัดเดอร์ชาวค่าย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ต่อกันและกัน ฝึกทักษะการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาอาทรต่อกัน ทั้งเพื่อประโยชน์ต่อการงานในระหว่างทำค่ายและการผูกโจทย์ขยายผลสู่การใช้ชีวิตหลังงานค่ายในครรลองอันดีงาม ไม่ใช่แค่ว่า “ค่ายเสร็จ” และประสบความสำเร็จเพียงเพราะสามารถสร้างอาคารได้ตามแบบและทันเวลา แต่กลับไม่เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างคนในค่าย เหมือน “ได้งาน แต่ไม่ได้คน” รวมถึงการไม่สามารถยกระดับความรู้ในวิชาชีพและวิถีค่ายอาสาพัฒนาขึ้นมาได้ ผมถือว่านั่นเป็นเพียงแค่ Output ที่ยังไม่เกิดมรรคผลถึงขั้น Outcome คล้ายๆ “เก่ง ดี” แต่ยัง “ไม่มีความสุข” นั่นแหละ





6

ย้อนเวลากลับไปยังร่องรอยถนนสายต่างๆ ของชาวถนนผู้สร้าง จะพบว่าในวิถีค่ายอาสาพัฒนาพวกเขามีอัตลักษณ์ตัวเองอย่างชัดเจน งานที่รังสรรค์จะเกี่ยวโยงกับฐานความรู้ในวิชาชีพล้วนๆ เช่น สร้างอาคารอเนกประสงค์ ห้องสมุด ห้องสุขา อาคารดิน (บ้านดิน) ขณะที่บางปีก็หนุนเสริมกิจกรรมย่อยเติมเต็มเข้าไปเพื่อให้ถนนแต่ละสายได้มีสีสันและพลังแห่งการบริการสังคมมากขึ้น เช่น ทาสีตีเส้นสนามกีฬา

เช่นเดียวกับพัฒนาการของการเลือกค่ายก็มีทั้งที่ลงพื้นที่กันเอง เหมือนสะพายกระเป๋าเป็นนักแสวงหาตามใจฝัน บ้างก็เริ่มจากข้อมูลเดิมๆ ในองค์กร บ้างก็หยิบจับข้อมูลชุมชนตัวเองมาหารือร่วมกัน หรือไม่ก็เปิดรับข้อเสนอโครงการจากโรงเรียนและชุมชนแล้วนำเข้าสู่ที่ประชุม แต่ทั้งปวงนั้นก็ยึดมั่นในมติของนิสิตเป็นหลัก อาจารย์ที่ปรึกษาและผู้บริหารคณะ ตลอดจนเจ้าหน้าที่จะไม่เข้าไปก้าวก่าย หรือชี้นำจนเสียกระบวนท่า เว้นเสียแต่ในบางปีที่ปักหมุดบูรณาการร่วมกับภารกิจของทางคณะเท่านั้นที่จำต้องสร้างเวทีร่วมคิดร่วมตัดสินใจด้วยกันอย่างเข้มข้น




โดยสรุปแล้วกรณีดังกล่าวนี้คือตัวอย่างอันเป็นเสมือนต้นแบบของมนต์เสน่ห์ในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ก่อเกิดและมีลมหายใจอยู่ในระดับคณะที่มีคุณค่าเกินกว่าการมองข้าม ทั้งในมิติของการนำวิชีชีพไปสู่การรับใช้สังคม และวัฒนธรรมการหนุนเสริมภายใต้ระบบและกลไกของคณะที่ไม่ได้เฉยชาต่อวิถีความฝันของนิสิต ตรงกันข้ามกลับหนุนเสริมและร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับนิสิตอย่างน่าประทับใจ

และนี่คือส่วนหนึ่งจากสมาชิกคนค่ายถนนผู้สร้าง สายที่ 11 ที่สะท้อนในเวทีการเรียนรู้ที่ผมทำหน้าที่ถอดบทเรียนร่วมกับพวกเขา เช่น

  • ได้ทบทวนความรู้เรื่องวิชาช่างได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
  • ได้ความรู้เรื่องการก่อสร้างเพิ่มขึ้น
  • ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกับคนอื่น
  • ได้ฝึกการวางแผนอย่างเป็นระบบ
  • ได้ฝึกการประชุมเพื่อหาข้อผิดพลาดร่วมกันและแก้ไขร่วมกัน
  • ได้ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  • ได้ฝึกการใช้ชีวิตกับคนอื่น
  • ได้รู้จักรุ่นพี่มากขึ้น
  • ได้ของฝากจากพ่อฮัก แม่ฮัก
  • ได้มิตรภาพจากชุมชน




ค่ายครั้งนี้พี่ๆ ศิษย์เก่าก็มาเยี่ยมเเละให้คำเเนะนำกันหลายคน แต่ละคนจะมีของติดไม้ติดมือมาฝากน้องๆ ด้วย ขณะที่ทางวัดจะช่วยเรื่องอุปกรณ์เครื่องครัว โรงเรียนจะรับผิดชอบเรื่องน้ำดื่มน้ำเเข็ง แต่ก็ยอมรับครับว่าค่ายครั้งนี้เรามีปัญหาด้านการก่อสร้างอยู่มาก เนื่องจากนิสิตที่ไปค่ายยังไม่เชี่ยวชาญเรื่องการก่อสร้างมากเท่าไหร่ เพราะที่ไปส่วนใหญ่จะเป็นปี 2 กับปี 1 ส่วนปี 3-4 จะติดฝึกงาน ก็ได้พ่อช่างในชุมชนนั่นแหละครับคอยแนะนำ ช่วยเหลือและพานิสิตทำค่ายจนเสร็จ

สิทธิพล ศรีวิเศษ
นายกสโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2559
(1 ในคณะทำงานค่ายถนนผู้สร้าง สายที่ 11)





ต้นเรื่อง/ภาพ : ชมรมถนนผู้สร้างและอรสา ละผิว / ผกามาศ มิ่งขวัญ / อภวัฒน์ เขียวอยู่ / สิทธิพล ศรีวิเศษ / อนุสรณ์ ปัญญาบุตร

เรียบเรียง : พนัส ปรีวาสนา (1 กรกฎาคม 2559)

หมายเลขบันทึก: 619093เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2016 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2016 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบใจชมรมที่อยู่กับคณะ

สมัยอยู่กำแพงแสน มีชมรมครูอาสาอยู่กับศึกษาศาสตร์

นิสิตหลายคนเก่งมากตอนไปทำงาน

ชื่นชมน้องวิศวกรรมศาสตร์ชุดนี้ครับ

ขอบคุณมากๆครับ

-สวัสดีครับ

-ค่ายสร้างคนนะครับ

-แต่ละกิจกรรมล้วนแล้วช่วยสร้างสรรชุมชน

-ขอบคุณครับ


เช่นกันครับ

ดร.ขจิต ฝอยทอง


  • ที่ มมส ก็มีชมรมครูอาสา แต่เก่าแก่กว่าคือ ชมรมครูบ้านนอก
  • ชมรมในสังกัดคณะ ก็เหมือนฝึกให้นิสิตได้ใช้ความรู้เฉพาะทางในการบริการสังคม เหมือนเตรียมความพร้อมในการเติบโตเป็นนักวิชาการที่จะต้องบริการวิชาการแก่สังคม
  • บางทีค่ายเช่นนี้ เสมือนฝึกประสบการณ์วิชาชีพโดยตรงในอีกช่องทางหนึ่ง แต่เป็นในแบบจิตอาสา-บันเทิงเริงปัญญา
  • ที่ มมส มีบางองค์กร ที่ยกระดับขึ้นเป็นกลไกในงานวิจัย และบริการวิชาการของอาจารย์ด้วยเหมือนกัน....

สวัสดีครับ

อ.เพชรน้ำหนึ่ง

เป็นจริงตามนั้นครับ ค่ายสร้างคน - คนสร้างค่าย เดิมผมไม่รู้ลึกในกระบวนการค่ายของชมรมถนนผู้สร้าง แต่พอได้ทำเวทีเรียนรู้ร่วมกับนิสิตและถอดบทเรียนเล็กๆ เห็นเลยครับว่าเตรียมค่ายกันเป็นปีๆ และบูรณาการร่วมระหว่างนิสิตกับอาจารย์ โดยเฉพาะอาจารย์นั้นมีทั้งที่อยู่ในสายองค์กรนิสิต อยู่ในระบบบริหาร และอาจารย์จิตอาสาที่มาช่วย เลยพลอกให้งานครั้งนี้มีตัวตนในทางวิชาชีพค่อนข้างชัด

กลายเป็นทั้ง Hard skills & Soft skills ไปอย่างเสร็จสรรพเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท