นู๋นาย
นาง นภาพร นู๋นาย มหายศนันท์

ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะผู้สูงอายุตำบลท่าวังผา


“สูงวัยอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีศักดิ์ศรี”

ตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

นางนภาพร มหายศนันท์ นางประภัสสร จงจิตร นางศรีวรรณ โนศรี นายอุทัยห่านตระกูล

ªความเป็นมา

จากรายงานการสำรวจสุขภาพผู้สูงอายุไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2547 พบว่าโครงสร้างของประชากรในสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปคือ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและปัจจุบันพบว่าสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเท่ากับร้อยละ 15 ขแงประชากรทั้งหมดซึ่งในจำนวนนี้พบปัญหาที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ(มากกว่า60ปี)ร้อยละ 40-60 มีปัญหาข้อเสื่อม ส่วนในเรื่องการเจ็บป่วยพบว่ามีความชุกโรคความดันโลหิตสูงถึงร้อยละ 14 ความชุกเบาหวานร้อยละ 7.9 ด้านภาวะทุพพลภาพและการพึ่งพาพบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 25 ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในทำกิจวัตรประจำวัน จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงอนาคตอันใกล้ที่ชุมชนจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น จะเป็นเรื่องที่สำคัญของชุมชน การใช้มาตรการในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชากรก่อนวัยสูงอายุและวัยสูงอายุทุกคนจะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี ช่วยลดความทุพพลภาพซ้ำซ้อน และลดการพึ่งพิงได้

ตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่หนึ่งที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน ปัจจุบันปี 2558 ตำบลท่าวังผามีประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดร้อยละ 15.36 ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุมีทั้ง ทางกาย และทางจิต ปัญหาทางกายส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ8.70 โรคเบาหวาน ร้อยละ2.74 และมีผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องพึ่งพิงร้อยละ 8.69 ปัญหาทางจิตก็เกิดจากความเครียดจากโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ การที่ต้องอยู่เพียงลำพังไม่มีคนดูแล เพราะลูกหลานไปทำงานนอกบ้าน หรือต่างจังหวัด ดังเช่น ปี 2556 พบว่ามีผู้สูงอายุฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 2 คน จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ชมรมผู้สูงอายุตำบลท่าวังผาซึ่งมีแกนนำที่สำคัญมาจาก ข้าราชการเกษียณ อดีตผู้นำชุมชน ผู้นำด้านศาสนาของชุมชน ได้มีการรวมกลุ่มขึ้นเพื่อรวมกลุ่มจัดกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพกายและใจ มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2535 ต่อมาปี 2545 มีสภาสาขาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยจังหวัดน่านเข้าชวนเป็นเครือข่ายของจังหวัดน่าน ปี 2542 มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาชวนออกกำลังกาย และบริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษ ปี2553เป็นการเปลี่ยนแปลงการทำงานของชมรมผู้สูงอายุตำบลท่าวังผา เนื่องจากได้มีผู้บริหารของเทศบาลตำบลท่าวังผา สภาวัฒนธรรมตำบลท่าวังผา โรงพยาบาลท่าวังผา กรมพัฒนาชุมชน ได้มีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุจึงเริ่มมีการวางแผนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบคณะกรรมการชมรม และสมาชิกชมรมผู้สูงอายุมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และกิจกรรมการดำเนินงานที่สอดคล้องกัยบริบทของชุมชน จนทำให้มีนโยบายสาธารณะที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง และยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน

จากสถานการณ์การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสุขภาพผู้สูงอายุตำบลท่าวังผาที่เป็นรูปธรรม ต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของทีมถอดบทเรียนมีความสนใจที่จะมาติดตามประเมินผล และถอดบทเรียนกระบวนการการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เพื่อนำไปพัฒนาการจัดการสุขภาพประชาชนผู้สูงอายุตำบลท่าวังผา และสรุปเป็นบทเรียนให้พื้นที่อื่นได้เข้ามาศึกษา

ª วัตถุประสงค์

  • เพื่อติดตามผล และถอดบทเรียน การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะประเด็น “ผู้สูงอายุ” ของชมรมผู้สูงอายุตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
  • เพื่อนำผลการประเมิน และการถอดบทเรียนไปปรับปรุงกระบวนการดูแลผู้สูงอายุแบบมีส่วนร่วมของตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน
  • เพื่อนำผลการประเมินและการถอดบทเรียนไปขยายผลและเผยแพร่ไปสู่พื้นที่อื่นๆที่ต้องการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะประเด็นผู้สูงอายุ

ª กรอบการถอดบทเรียน

เพื่อศึกษาถึงกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ ของผู้สูงอายุตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน รวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ว่ามีพัฒนาการดำเนินงานมาอย่างไร มีบุคคล หรือเหตุการณ์อะไรที่เป็นปัจจัยความสำเร็ของการขับเคลื่อนฯ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ ผลการดำเนินงานเพื่อนำไปพัฒนาการจัดการสุขภาพผู้สูงอายุตำบลท่าวังผา และขยายผล เผยแพร่ไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยมีกรอบการถอดบทเรียนตามกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบมีส่วนร่วม 5 ขั้นตอน ดังนี้

  • การก่อตัวของประเด็นเชิงนโยบาย
  • การก่อรูปนโยบาย (การ กำหนดทางเลือกนโยบาย)
  • การตัดสินใจทางนโยบาย
  • การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
  • การติดตามและประเมินผลนโยบาย
    • การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีการรวมกลุ่มเพื่อการส่งเสริมสุขภาพที่ครอบคลุม 4 มิติ กาย จิต สังคม ปัญญา
    • การส่งเสริมสนับสนุนให้ดำเนินกิจกรรมที่แสดงถึงการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี และด้านศาสนา
    • การจัดสวัสดิการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ
    • การจัดสวัสดิการด้านเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุ ตามภาวการณ์พึงพาของผู้สูงอายุ
    • การส่งเสริมอาชีพเพื่อให้คุณค่าแก่ผู้สูงอายุและเพิ่มรายได้

ª วิธีการดำเนินงาน

เป็นการศึกษาเชิงพัฒนา(developmental study) โดยศึกษาจากข้อมูลย้อนหลัง(Retrospective) ข้อมูลบริบทชุมชน สถานะสุขภาพของผู้สูงอายุ เอกสารข้อมูลสถิติต่างๆ จากการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต และจากการเล่าเรื่องของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานประกอบด้วยตัวแทนคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน จำนวน 5 คน , ตัวแทนชมรมผู้สูงอายุระดับหมู่บ้านๆละ 2 คน , ตัวแทนจากสภาวัฒนธรรมตำบลท่าวังผา จำนวน 1คน, ผู้แทนจากเทศบาลตำบลท่าวังผาจำนวน 2 คน, นักวิชาการจาก รพ.ท่าวังผา จำนวน 2คน และผู้นำชุมชน หมู่บ้านละ 1 คน ถึงกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุแบบมีส่วนร่วม พื้นที่ตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ซึ่งดำเนินการในช่วงเวลา กุมภาพันธ์ 2559 - พฤษภาคม 2559 และวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเรื่องเล่าเร้าพลัง และโดยใช้สถิติเชิง พรรณนา และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ

ª ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

บทเรียนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมผู้สูงอายุผู้สูงอายุ ตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ตามกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม 5 ขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1. การก่อตัวของประเด็นเชิงนโยบาย

การก่อตัวเชิงนโยบายเริ่มเกิดขึ้นหลังจากปี พ.ศ.2554 ที่ เทศบาลตำบลท่าวังผา สภาวัฒนธรรมตำบลท่าวังผา และโรงพยาบาลท่าวังผาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของชมรมผู้สูงอายุตำบลท่าวังผา โดยมีการจัดตั้งกลไกการดำเนินงานของชมรมผู้สูงอายุทั้งระดับหมู่บ้านและตำบล จึงได้จัดเวทีทบทวนผลการดำเนินงานของชมรมผู้สูงอายุที่ผ่านมา วิเคราะห์สถานการณ์ภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุตำบลท่าวังผา วิเคราะห์การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานชมรมผู้สูงอายุ พบว่า

ชมรมผู้สูงอายุตำบลท่าวังผามีการดำเนินงานที่ยาวนาน มีกิจกรรมการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกผู้สูงอายุ ในการทำกิจกรรมทางกาย ใจ อารมณ์ สังคม การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณ๊ และการจัดสวัสดิการเมื่อเสียชีวิต ภายใต้ความเข้มแข็งของกลไกที่มาจากปราชญ์ชุมชน เช่น ข้าราชการเกษียณ ผู้นำทางด้านศาสนา อดีตผู้นำชุมชน จึงทำให้กระบวนการทำงานของชมรมผู้สูงอายุเป็นระบบที่ค่อยๆพัฒนาขึ้นและได้รับการยอมรับของสมาชิก ชุมชน และภาคีภาคส่วนต่างๆ

ข้อมูลสถานะสุขภาพของประชาชนตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มีประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดร้อยละ 15.36 มีผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องพึ่งพิงร้อยละ 8.69 และมีภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ8.70 โรคเบาหวาน ร้อยละ2.74 และเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้ตำบลท่าวังผาอยู่แบบสังคมเมืองมากขึ้น ขาดการดูแลเอาใจใส่จากญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เมื่อปี 2556 พบว่ามีผู้สูงอายุที่อยู่บ้านครเดียวมีโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ต้องไปรับการรักษาต่อเนื่องเกิดความเครียด คิดฆ่าตัวเองสำเร็จจำนวน 2 ราย จึงเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้สูงอายุและภาคี เครือข่ายชุมชนได้มาร่วมกันคิดวิเคราะห์สาเหตุ และแนวทางป้องกันร่วมกันอีกครั้ง

การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย พบว่ามีเป้าหมายร่วมกันจากทุกภาคส่วนคือ “การทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี” โดยแต่ละภาคส่วนมีแนวทางการดำเนินงานดังนี้ ชมรมผู้สูงอายุต้องการรวมกลุ่มเพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ และมีการช่วยเหลือกันกรณีเสียชีวิต เทศบาลตำบลท่าวังผา มีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อต้องการให้ผู้สูงอายุได้รับสวัสดิการด้านเบี้ยยังชีพที่เหมาะสม มีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย จัดสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลท่าวังผา มีเป้าหมายให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการด้านสุขภาพครอบคลุมทั้ง 4 ด้านคือการป้องกัน รักษา ส่งเสริม และฟื้นฟูสภาพ สภาวัฒนธรรมตำบลท่าวังผาให้การสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชน กรมพัฒนาชุมชน มีแนวทางการส่งเสริมอาชีพให้ผู้สูงอายุเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

ขั้นตอนที่ 2. การก่อรูปนโยบาย (การ กำหนดทางเลือกนโยบาย)

หลังจากมีการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ต่างๆ ร่วมกันของ ชมรมผู้สูงอายุตำบลท่าวังผา ร่วมกับภาคี เครือข่าย ชุมชน จึงได้กำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพของผู้สูงอายุตำบลท่าวังผา เพื่อนำไปเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันในการจัดการสุขภาวะผู้สูงอายุตำบลท่าวังผาให้ดีขึ้น(สุขภาวะ หมายถึง ภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ กำหนดโดยปัจจัยด้านบุคคล สิ่งแวดล้อมและสังคม) ภายใต้คำขวัญที่ว่า “ สูงวัยอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีศักดิ์ศรี ” ดังนี้

ขั้นตอนที่ 3. การตัดสินใจทางนโยบาย

หลังจากมีการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุตำบลท่าวังผาดังกล่าวแล้ว ชมรมผู้สูงอายุ ภาคีเครือข่าย ท้องถิ่น ชุมชน ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้นโยบายดังกล่าวสำเร็จ หลังจากนั้นได้นำนโยบายและแนวทางการดำเนินงานไปสอบถามเพื่อลงประชามติร่วมกันในเวทีประชาคมผู้สูงอายุในแต่ละหมู่บ้าน

ขั้นตอนที่ 4. การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ

แนวทางการดำเนินงานตามนโยบายเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุแบบมีส่วนร่วมได้ถูกกำหนดขึ้นในหน่วยงานภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลท่าวังผา เทศบาลตำบลท่าวังผา งานพัฒนาชุมชนอำเภอท่าวังผา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน เพื่อจัดทำแผนงานโครงการในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และมีกลไกในการประสานงานและขับเคลื่อนกิจกรรมผ่านชมรมผู้สูงอายุตำบลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน รวมถึงการสื่อสารให้สมาชิกชมรมผู้สูงอายุทุกคนทราบผ่านกลไกระดับหมู่บ้านเพื่อสร้างความเข้าใจและรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรมที่สนองต่อนโยบายหลักอย่างไรบ้าง

ขั้นตอนที่ 5. การติดตามและประเมินผลนโยบาย

ชมรมผู้สูงอายุตำบลท่าวังผามีกลไกการทำงานที่ชัดเจน มีคณะกรรมการที่มาจากตัวแทนของทุกชุมชน มีแผนการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงาน ทุก 2 เดือน มีวาระและบันทึกการประชุมที่เป็นลายลักษณ์อักษร และมีแผนการออกติดตามในชุมชน ปีละ1ครั้ง/หมู่บ้าน(ผู้สูงอายุสัญจร) เป็นการติดตามเพื่อเสริมพลังในการดำเนินงานตามกิจกรรมที่สนองต่อนโยบายที่กำหนดไว้ให้ต่อเนื่องและยั่งยืน และมีแนวคิดมนการพัฒนาการจัดการผู้สูงอายุให้ดีขึ้น มีชีวิตไม่ใช่แนวทางที่กำหนดไว้เฉยๆ

การขยายผลการดำเนินงานพบว่าผู้สูงอายุมีแนวคิดในการจัดหาพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการรวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมสุขภาพกาย ใจ ของผู้สูงระดับตำบลโดยการจัดหาสถานที่ และงบประมาณจากภายนอกมาเพื่อพัฒนาการดำเนินงานต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ª ปัจจัยความสำเร็จ

  • เป็นการขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคมที่มองเห็นปัญหาของตัวเองและวางแผนการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง มีการลองผิด ลองถูกมาเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของคนในพื้นที่
  • แกนนำของกลไกระดับตำบล และระดับชุมชน ที่มาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาก่อนจึงทำให้กระบวนการคิด การวางแผนค่อนข้างจะเป็นระบบ เป็นรูปธรรม และได้รับการยอมรับจากสมาชิกของชมรม พร้อมที่จะร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จ
  • กระบวนการทำงานที่มีการวางแผนการปฏิบัติงานที่ครอบคลุมทุกด้าน รวมถึงการสรุปผลการดำเนินงาน และการวางแผนที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน รวมถึงการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ
  • ภาคี เครือข่าย ในชุมชน เข้ามาให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน

ª ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา

ข้อเสนอเชิงนโยบาย

  • นโยบายสาธารณะที่ถูกกำหนดขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ตามกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นข้อกำหนดของแต่ละหน่วยงาน และมีการทำพันธะสัญญาร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ชุมชน และชมรมผู้สูงอายุ
  • พัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชนในการใช้เครื่องมือ ตาม พรบ.สุขภาพปี 2550 ในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เช่น สมัชชาสุขภาพ ธรรมนูญตำบล และการประเมินผลกระทบของชุมชนต่อสุขภาพ
  • สนับสนุนและส่งเสริม ทีมวิชาการ ให้นำข้อมูลทางวิชาการมาช่วยในการตัดสินใจเชิงนโยบาย และแนวทางปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน
  • เชื่อมโยงภาคีภาคส่วนในชุมชนให้เข้ามามีบทบาทในการจัดการร่วมกันได้อย่างเหมาะสม

ข้อเสนอเชิงปฏิบัติการ

แกนนำกลไกระดับตำบล และหมู่บ้าน มุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดให้สมาชิกผู้สูงอายุเข้ามาร่วมกิจกรรมให้มากยิ่งขึ้น และการกำหนดกิจกรรมที่หลากหลาย สอดคล้องกับบริบท วิถีดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน รวมถึงการวางแผนกิจกรรมเชิงรุกไปในกลุ่มที่ติดบ้าน หรือติดเตียง ให้เขาได้มีโอกาสได้รับประโยชน์จากนโยบายสาธารณะที่กำหนดขึ้นมา

ª บทเรียนจากการดำเนินงาน

  • กลไกการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในพื้นที่ ควรเป็นบุคคลที่เคยเป็นผู้นำ หรือเป็นบุคคลที่มีพื้นฐานด้านการบริหารจัดการองค์กร ชุมชน เช่นข้าราชการที่เกษียณ อดีตผู้นำชุมน จะทำให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่อง ยั่งยืน ขยายผลได้เรื่อยๆ
  • การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ชุมชน โดยมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายและผลลัพธ์ร่วมกันทำให้เกิดความร่วมมือและเห็นผลการดำเนินงานงานที่เป็นรูปธรรม
  • การใช้ข้อมูลทางวิชาการที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว และเห็นผลเป็นรูปธรรม

ª เอกสารอ้างอิง

สำนักคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช) (ปี2555). แนวทางการมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่ายในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ. สำนักคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช) : สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซด์

นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ (ปี2556) การสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม : มิติใหม่ของการสร้างเสริมสุขภาพ. สำนักคณะกรรมการสุขภาพรแห่งชาติ(สช) : บริษัทพิมพ์ดี จำกัด.

ª สนับสนุนโดย

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

โรงพยาบาลท่าวังผา อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน

************************************

คำสำคัญ (Tags): #ผู้สูงอายุ
หมายเลขบันทึก: 618796เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2016 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2016 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ต้องการทราบรายละเอียดค่ะ จะต้องทำรายงานส่งครูค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท