แนวพระราชดำริโครงการแกล้งดิน


แนวพระราชดำริโครงการแกล้งดิน

17 พฤศจิกายน 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

มีแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ “โครงการแกล้งดิน” [2] ซึ่งมีความหมายไม่อ้อมค้อม ในความหมายหรือภารกิจที่ทรงใช้วิธีแก้ไข “ดินที่เปรี้ยวจัด” ให้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ด้วย “วิธีแกล้งดิน” ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างง่าย

เป็นการแก้ปัญหาดินเปรี้ยว หรือดินเป็นกรด โดยมีการขังน้ำไว้ในพื้นที่จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัด จนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออกและปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาว จนกระทั่งดินมีสภาพดีพอที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้

พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการพัฒนาทรัพยากรดินและการพัฒนาการเกษตร ทรงมีพระอัจฉริยภาพ ในการพัฒนา “ดิน” พระองค์ท่านทรงเป็น “พระบิดาแห่งดิน” ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน ส่งผลให้ องค์การสหประชาชาติปี 2012 (พ.ศ. 2555) มีมติประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันดินโลก” (World Soil Day) และในปี 2558 กำหนดให้เป็น “ปีแห่งดินสากล” [3] วันนี้เรามาดูแนวพระราชดำริของพระองค์ท่าน

ความเป็นมา

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2524 ทรงพบว่า ดินในพื้นที่พรุที่มีการชักน้ำออก เพื่อจะนำที่ดินมาใช้ทำการเกษตรนั้น แปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด ทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงมีพระราชดำริให้ส่วนราชการต่าง ๆ พิจารณาหาแนวทางในการปรับปรุงพื้นที่พรุที่มีน้ำแช่ขังตลอดปีให้เกิด ประโยชน์ในทางการเกษตรมากที่สุด และให้คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ด้วย การแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากดินมีลักษณะเป็นเศษอินทรียวัตถุ หรือซากพืชเน่าเปื่อยอยู่ข้างบน และมีระดับความลึก 1 - 2 เมตร เป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ซึ่งมีสารประกอบกำมะถัน ที่เรียกว่า สารประกอบไพไรท์ (Pyrite : FeS2) อยู่มาก เมื่อดินแห้ง สารไพไรท์จะทำปฏิกิริยากับอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินแปรสภาพเป็นดินกรดจัดหรือเปรี้ยวจัด ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการ “ แกล้งดิน “ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดของดิน เริ่มจากวิธีการ “ แกล้งดินให้เปรี้ยว “ คือทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น “ แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด “ จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ คือควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์

3 วิธีการปรับปรุงดิน

ตามสภาพของดินและความเหมาะสม คือ

(1) ใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด เมื่อล้างดินเปรี้ยวให้คลายลงแล้วดินจะมีค่า pH เพิ่มขึ้นอีกทั้งสารละลายเหล็กและอลูมินั่มที่เป็นพิษเจือจางลงจนทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดีโดยเฉพาะถ้าหากใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและฟอสเฟตก็สามารถให้ผลผลิตได้

(2) การใช้ปูนผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน เช่น ปูนมาร์ล ปูนฝุ่นซึ่งปริมาณของปูนที่ใช้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความเป็นกรดของดิน

(3) การใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้างและควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เป็นวิธีการที่สมบูรณ์ที่สุดและใช้ได้ผลมากในพื้นที่ซึ่งดินเป็นกรดจัดรุนแรงและถูกปล่อยทิ้งเป็นเวลานาน

วิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดเพื่อการเกษตร

(1) เพื่อใช้ปลูกข้าว เขตชลประทาน (1.1) ดินที่มีค่า pH น้อยกว่า 4.0 ใช้ปูนอัตรา 1.5 ตัน/ไร่ (1.2) ดินที่มีค่า pH ระหว่าง 4.0-4.5 ใช้ในอัตรา 1 ตัน/ไร่ เขตเกษตรน้ำฝน (1.3) ดินที่มีค่า pH น้อยกว่า 4.0 ใช้ปูนในอัตรา 2.5 ตัน/ไร่ (1.4) ดินที่มีค่า pH ระหว่าง 4.0-4.5 ใช้ปูนอัตรา 1.5 ตัน/ไร่ สำหรับขั้นตอนการปรับปรุงดินเปรี้ยว โดยหลังจากหว่านปูนให้ทำการไถแปร และปล่อยน้ำให้แช่ขังในนาประมาณ 10 วัน จากนั้นระบายน้ำออกเพื่อชะล้างสารพิษ และขังน้ำใหม่เพื่อรอปักดำ

(2) เพื่อใช้ปลูกพืชล้มลุก โดยการปลูกพืชผัก มีวิธีการ คือ ยกร่อง กว้าง 6-7 เมตร คูระบายน้ำกว้าง 1.5 เมตร และลึก 50 ซม. ไถพรวนดินและตากดินทิ้งไว้ 3-5 วัน ทำแปลงย่อยบนสันร่อง ยกแปลงให้สูง 25-30 ซม. กว้าง 1-2 เมตร เพื่อระบายน้ำบนสันร่องและเพื่อป้องกันไม่ให้แปลงย่อยแฉะ เมื่อรดน้ำหรือเมื่อมีฝนตก ใส่หินปูนฝุ่นหรือดินมาร์ล 2-3 ตัน/ไร่ คลุกเคล้าให้เข้ากับดิน ทิ้งไว้ 15 วัน ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ 5 ตัน/ไร่ ก่อนปลูก 1 วัน เพื่อปรับปรุงดิน การปลูกพืชไร่บางชนิด กระทำได้ 2 วิธี คือ แบบยกร่องสวนและแบบปลูกเป็นพืชครั้งที่ 2 หลังจากการทำนา การปลูกพืชไร่แบบยกร่องสวนมีวิธีเตรียมพื้นที่เช่นเดียว กับการปลูกพืชผัก การปลูกพืชไร่หลังฤดูทำนา ซึ่งอยู่ในช่วงปลายฤดูฝน การเตรียมพื้นที่ต้องยกแนวร่องให้สูงกว่าการปลูกบนพื้นที่ดอน 10-20 ซม. เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำแช่ขังถ้ามีฝนตกผิดฤดู ถ้าพื้นที่นั้นได้รับการปรับปรุงโดยการใช้ปูนมาแล้ว คาดว่าคงไม่จำเป็นต้องใช้ปูนอีก

(3) เพื่อปลูกไม้ผล โดยสร้างคันดินกั้นน้ำล้อมรอบแปลงเพื่อป้องกันน้ำขัง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกตามต้องการ ยกร่องปลูกพืชตามวิธีการปรับปรุงพื้นที่ที่มีดินเปรี้ยวจัดเพื่อปลูกไม้ผล น้ำในคูระบายน้ำจะเป็นน้ำเปรี้ยว ต้องระบายออกเมื่อเปรี้ยวจัดและสูบน้ำจืดมาแทน ช่วงเวลาถ่ายน้ำ 3-4 เดือนต่อครั้ง ควบคุมระดับน้ำในคูระบายน้ำ ไม่ให้ต่ำกว่าชั้นดินเลนที่มีสารประกอบไพไรท์ เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาที่จะทำให้ดินมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น ใส่ปูน อาจเป็นปูนขาว ปูนมาร์ล หรือหินปูนฝุ่น โดยหว่านทั่วทั้งร่องที่ปลูกอัตรา 1-2 ตัน/ไร่ กำหนดระยะปลูกตามความเหมาะสมของแต่ละพืช ขุดหลุม กว้าง ยาว และลึก 50-100 ซม. แยกดินชั้นบนและดินชั้นล่าง ทิ้งไว้ 1-2 เดือน เพื่อฆ่าเชื้อโรค เอาส่วนที่เป็นหน้าดินผสมปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก หรือบางส่วนของดินชั้นล่างแล้วกลบลงไปในหลุมให้เต็ม ใส่ปุ๋ยหมัก 1 กก./ต้น โดยผสมคลุกเคล้าให้เข้ากับปูนในอัตรา 15 กก./หลุม ดูแลปราบวัชพืช โรค แมลง และให้น้ำตามปกติ สำหรับการใช้ปุ๋ยบำรุงดินขึ้นกับความต้องการและชนิดของพืชที่จะปลูก

2 วิธีการปรับสภาพพื้นที่มีอยู่

(1) การปรับระดับผิวหน้าดิน ด้วยวิธีการ คือ (1.1) ปรับระดับผิวหน้าดินให้มีความลาดเอียง เพื่อให้น้ำไหลไปสู่คลองระบายน้ำ (1.2) ตกแต่งแปลงนาและคันนาใหม่ เพื่อให้เก็บกักน้ำและระบายน้ำออกไปได้

(2) การยกร่องปลูกพืช สำหรับพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล หรือไม้ยืนต้นที่ให้ผลตอบแทนสูง ถ้าให้ได้ผลต้องมีแหล่งน้ำชลประทานเพื่อขังและถ่ายเทน้ำได้ เมื่อน้ำในร่องเป็นกรดจัด การยกร่องปลูกพืชยืนต้นหรือไม้ผล ต้องคำนึงถึงการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่นั้น หากมีโอกาสเสี่ยงสูงก็ไม่ควรทำ หรืออาจยกร่องแบบเตี้ย ๆ พืชที่ปลูกเปลี่ยนเป็นพืชล้มลุกหรือพืชผัก และควรปลูกเป็นพืชหมุนเวียนกับข้าวได้

ผลสำเร็จของโครงการ [4]

โครงการแกล้งดิน ได้นำไปใช้ในการปรับปรุงพื้นที่พรุ ในภาคใต้ พรุใหญ่ 2 แห่ง คือ พรุบาเจาะ และพรุโต๊ะแดง ที่เป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมขัง ดินส่วนใหญ่เป็นดินอินทรีย์ซึ่งเกิดจากการสลายตัวผุพังของซากพืชที่เน่าเปื่อยทับถมเป็นชั้นหนาถัดจากชั้นดินอินทรีย์ลงไปเป็นชั้นดินเลน ตะกอนทะเลที่มีสารไพไรต์สะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อการปลูกข้าว เพื่อการปลูกปาล์มน้ำมัน ได้

นอกจากนี้ ในโครงการเกษตรทฤษฏีใหม่ภายในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ได้ดัดแปลงสัดส่วนการใช้ที่ดินของที่อยู่อาศัย - แหล่งน้ำนาข้าว -พืชไร่ พืชสวน จากสูตร 10-30-30-30 เป็น 120-20-30-40 40 โดยลดขนาดพื้นที่แหล่งน้ำลง เพิ่มพื้นที่ปลูกไม้ผลตามความถนัดของเกษตรกร มีการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด

กิจกรรมวางแผนพัฒนาที่ดิน และก่อสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยการก่อสร้างแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง การก่อสร้างแบบคันดินแบบน้ำ อาคารชะลอความเร็วของน้ำโครงการทุ่งกุลาร้องไห้โครงการพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งราษฎรประสบปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ดินเค็ม การเกิดน้ำท่วมที่รุนแรง การขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูเพาะปลูกการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจสังคม และปัญหาสิทธิการถือครองที่ดินทำกิน ตลอดจนปัญหาขาดการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร ทำให้ราษฎรกว่า 600,000 คน ใน 1,048 หมู่บ้าน ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ได้มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่าตัวในแต่ละปีและสามารถทำการผลิตในระดับนี้ได้ทุก 4 ใน 5 ปีจากเดิมที่จะผลิตได้ทุก ๆ 1 ใน 5 ปี

จากพระปรีชาญาณดังกล่าว ทำให้เราได้ทราบว่าวิธีแกล้งดินนั้นเป็นอย่างไร เป็นเทคนิคทางวิทยาศาสตร์พื้น ๆ ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัดสามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูและแก้ไขดินในพื้นที่ของตนได้ เพราะโครงการนี้ผ่านการทดลองปฏิบัติอย่างได้ผลมาแล้ว



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2559 ปีที่ 67 ฉบับที่ 23215 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น : บทความพิเศษ & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 8 วันศุกร์ที่ 18 – วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2559, หน้า 66

[2] โครงการแกล้งดิน, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/แกล้งดิน & โครงการแกล้งดิน, มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, http://dit.dru.ac.th/ka/a33.php & โครงการ “แกล้งดิน”, มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, http://km.rdpb.go.th/Content/uploads/files/แกล้งดิน(1).pdf

[3] 5 ธันวา “วันดินโลก” เทิดพระเกียรติมหาราชา, ศูนย์ข่าวกระทรวงการต่างประเทศ, 2 ธันวาคม 2557, http://www.qlf.or.th/Home/Contents/972 & วันดินโลก, https://th.wikipedia.org/wiki/วันดินโลก

[4] โครงการ “แกล้งดิน”, มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, อ้างแล้ว, http://km.rdpb.go.th/Content/uploads/files/แกล้งดิน(1).pdf

หมายเลขบันทึก: 618635เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2016 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2016 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

-สวัสดีครับ

-ขอร่วมเดินตามรอยเท้าของพ่อครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท