นิวรณ์ ๕ และกรรมฐานที่เหมาะสมแก่นิวรณ์ ๕


ธรรมะรับอรุณ ณ “บ้านเย็นยิ้ม”
วันอังคารที่ 25 ตุลาคม 2559

นิวรณ์ แปลว่า เครื่องกั้น ใช้หมายถึงธรรมที่เป็นเครื่องปิดกั้น หรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี ไม่เปิดโอกาสให้ทำความดี และเป็นเครื่องกั้นความดีไว้ ไม่ให้เข้าถึงจิต เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ ผู้ปฏิบัติบรรลุธรรมไม่ได้ หรือทำให้เลิกล้มความตั้งใจปฏิบัติไป

นิวรณ์มี ๕ อย่าง คือ
๑. กามฉันทะ ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง ดุจคนหลับอยู่
๒. พยาบาท ความไม่พอใจ จากความไม่ได้สมดังปรารถนา ในโลกียะสมบัติทั้งปวง ดุจคนถูกทัณท์ทรมานอยู่
๓. ถีนมิทธะ ความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม
๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความคิดซัดส่ายตลอดเวลา ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใดๆ
๕. วิจิกิจฉา ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้าๆ กลัวๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ

กรรมฐานที่เหมาะสมแก่นิวรณ์ ๕ คือ

๑. กามฉันทะ ให้ภาวนากายคตาสติ อสุภะ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา เพื่อทำลายความอยากในกามเสีย
๒. พยาบาท ให้ภาวนาอัปมัญญาหรือพรหมวิหาร ๔ วรรณกสิน ๔ เพื่อเพิ่มความเมตตา
๓. ถีนมิทธะ ให้ภาวนาอนุสสติ ๗ คือพุทธานุสสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ อุปสมานุสสติ และอาโลกสัญญา (แสงสว่างเป็นอารมณ์) เพื่อเสริมสร้างศรัทธา และความเพียร
๔. อุทธัจจะกุกกุจจะ ให้ภาวนากสิน ๖ คือ ปฐวีกสิน อาโปกสิน วาโยกสิน เตโชกสิน อากาสกสิน อาโลกกสิน เพื่อเพิ่มกำลังสมาธิ (อานาปานสติ เอามาเพิ่มทีหลังไม่เกี่ยวกับที่อ้างอิง แต่เป็นตัวระงับความฟุ้งซ่าน)
๕. วิจิกิจฉา ให้ภาวนาจตุตธาตุววัตถาน (พิจารณาธาตุ ๔) อานาปานสติ มรณานุสสติ เพื่อละความสงสัย

พละ ๕ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนิวรณ์

๑. ศรัทธา แก้วิจิกิจฉา
๒. วิริยะ แก้ถีนมิทธะ
๓. สติ แก้พยาบาท
๔. สมาธิ แก้อุทธัจจะกุกกุจจะ
๕. ปัญญา แก้กามฉันทะพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ มหาอัสสปุรสูตร
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พุทธธรรม และพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์.

ธรรมะรักษา วิปัสสนาคุ้มครองค่ะ
อจ.พิณจ์ทอง แมนสุมิตร์ชัย (ฉัตรนะรัชต์)


ขอน้อมอุทิศถวายบุญกุศล เป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

...
พละห้าอินทรีย์ห้าคือธรรมะ
ฝ่ายโพธิปักขิยะอานิสงส์
มีผลให้โยคีจิตมั่นคง
ศรัทธาส่งปัญญาเจิดบังเกิดญาณ

วิริยะสมาธิที่เหมาะสม
สติบ่มอบรมจิตไม่ผิดฐาน
กำหนดรู้ กายยืนเดิน-นั่งนอนนาน
รู้อาการเคลื่อนไหวกายในปัจจุบั

เวทนานุปัสสนา มาตื่นรู้
เฝ้าเพ่งดู ความรู้สึก ที่ผกผัน
สุข-ทุกข์-เฉย ทางกายใจ ให้รู้ทัน
จิตคิดพลัน..รู้คิดหนอ ให้พอดี

รู้ธัมมานุปัสสนา..นิวรณ์ห้า
เจตสิกา..มาปรุงแต่งตัวคิดนี้
เป็นกุศลอกุศล รู้ทันที
สติมี สัมปชัญญะ พละธรรม

หากโยคีโยคินี มีพละ
อินทรียะทั้งห้า มีค่าล้ำ
จักกำจัดนิวรณ์ห้าฝ่ายอธรรม
จิตเลิศล้ำสว่างใส...ไกลทุกข์เอย ฯ
(at) ธรรมานุสารี

หมายเลขบันทึก: 618581เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2016 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2016 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท