Learning Through Playing ตอน 2


แบ่งปันความรู้ และความคิด จากการไปเรียนเรื่อง
Learning Through Playing ^____^
เรียนรู้กิจกรรมการเล่นต่างๆ ที่ส่งเสริมพัฒนาการช่วงอายุ
3-18 ปี (ตอนที่ 2)
+++
แนบลิ้งค์พัฒนาการของเด็กมาให้นะคะ จะได้อ่านประกอบกันเพื่อจะได้เข้าใจเห็นภาพมากขึ้น และอย่ายึดแน่น อ่านเอาแนวก็พอ ใช้สัญชาติญาณของเรานำทาง ดูพัฒนาการลูกเราตามความเป็นจริงที่เห็น มิใช่สิ่งที่เห็นในจอหรือกระดาษ หรือตำรา อ่านเพื่อเรียนรู้ มิใช่อ่านเพื่อยึดถือตามแบบความรู้เนอะ เช่นลูกแม่ดาวนั้นก็มีหลายเรื่องที่เขาพัฒนาเกินวัยในตอนเล็กๆ และมีบางเรื่องที่ยังไม่สมวัย(ช้ากว่า) ไม่ดราม่านะคะ...หายใจเข้าลึก ๆ ออกยาว ๆ มองลูกตามความเป็นจริง555
+++
การเล่นตามพัฒนาการแต่ละวัยนั้น หาอ่านกันได้ง่ายและเยอะเนอะ ขอผ่านการลงรายละเอียดปลีกย่อยนะคะ มาพวกเรื่องที่แนะนำ หรือข้อควรระวังบางอย่าง
+++
เด็กในวัย 0-7 ปีนั้นเล่นโดยเน้น 4 Sence (ย้อนกลับไปดูเอกสารที่ถ่ายโพสต์ไว้ในตอนที่ 1 นะคะ) และไม่ควรให้เด็กเกิดภาวะเครียดในวัยนี้ (จ๊าก!!! ลูกเครียดบ่อยมากตั้งแต่ไปโรงเรียน) อ่านแล้วกรุณาเจริญสติด่วน ๆ ครูเอ่แนะนำว่า การเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูก ให้ดูที่ครูของลูกเป็นสำคัญ มิใช่ชื่อเสียงของโรงเรียน
+++
ข้อแนะนำ

- ต่ำกว่า 4 ขวบให้เด็กได้ดูหนังสือภาพ เป็นสิ่งที่ควรมีไว้ คือมีแต่ภาพ ไม่มีตัวอักษรใด ๆ และพ่อแม่ก็ไม่ต้องพากบทใด ๆ ให้ลูกได้ฝึกดูและจินตนาการกันเอง จดจ่อมีสมาธิกับหนังสือ การพากเช่น ลูกนับซิ หน้านี้มีกระต่ายกี่ตัวเอ่ย เห็นดอกไม้สีแดงไหม อยู่ตรงไหนน้า ซึ่งในชีวิตแม่ดาวยังไม่เคยเห็นหนังสือภาพล้วน ๆ เลยค่ะและที่ผ่านมาก็เป็นคุณแม่ยอดนักพากมาตลอดๆ5555 แต่คาดว่าน่าจะมีขายแหละ หรือไม่พ่อแม่ท่านใดมีความรัก ปรารถนาดี มีความขยันก็วาดเอง หรือทำสมุดภาพเองเลยก็คงจะได้ (อันนี้คิดเองนะคะ ครูเอ๋ไม่ได้บอกฮ่าๆๆ) ในกรณีลูกชวนแม่อ่านด้วยกัน เช่นลูกชี้แมว อาจทำเสียงแมวร้อง "เหมียวๆ " ได้ค่ะ หึๆๆ การเล่นกับลูกนี่ก็ยากไม่ใช่เล่น ๆ เลยเนอะ

- อีกแบบคือหนังสือนิทานไม่มีภาพ และไม่ต้องมีจำนวนเยอะ เป็นตัวอักษร อ่านให้ลูกฟัง ซ้ำๆ กับเรื่องเดิมๆ ทำไปเรื่อยๆ เด็กจะค่อยๆ ซึมซับภาษา สร้างความจดจำ สร้างจินตนาการ เรียนรู้โลกผ่านนิทาน เคยทราบมาว่า เราไม่ควรสรุปว่า "นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า......" แต่ให้ลูกเรียนรู้และคิดเอง (ใครสนใจคำอธิบายมากกว่านี้ อ่านในช่องความคิดเห็นนะคะ จะโพสต์ลิ้งค์ไว้ให้ค่ะ)

- ครูเอ๋แนะนำหนังสือพวกเทพนิยาย นิทานกริม นิทานพื้นบ้าน (นิทานอีสบไม่แนะนำ ฮ่าๆๆๆที่บ้านมีเพียบและอ่านเป็นพรีดเลย)

- ควรจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย และมีพื้นที่เล่นได้อย่างเต็มที่ (ตามความเหมาะสมของแต่ละบ้านนะคะ) ถ้าไม่มีพื้นที่ เช่น แม่ดาวอยู่เป็นห้องพัก ก็เลยพาลูกออกไปเล่นสวนสาธารณะนอกบ้านบ่อย ๆ (ในตอนที่สามีอนุญาตแล้ว หมายถึงเขาไปกับเราค่ะ5555)

- ให้เด็กช่วยเหลือตัวเองหรือรับผิดชอบตามวัย เช่น วัยที่ฝึกทานอาหารก็ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้กินด้วยตัวเอง ให้ช่วยงานบ้าน เช่นในวัยเล็กๆ ก็ ซื้อไม้กวาดเล็ก ๆ ที่ตักผงเล็กๆ ให้ลูกได้ช่วยทำ (อย่างมีความสุข) เข้าใจค่ะ ว่าบางคนก็ทำใจลำบาก รู้สึกยุ่งยากและเหนื่อยกว่าทำเองคนเดียว แต่ๆๆๆๆ นี้คือ การเล่น การเล่น คือการทำงานของลูก ลูกกำลังทำงานเพื่อเติบโตอย่างแข็งแรงสมวัย ถ้าพ่อแม่ขี้เกียจ เอาความสะดวกสบายในวันนี้ ก็เตรียมตัวไปเหนื่อยหนักอีกทีในอนาคต ซึ่งจะเหนื่อยมากและแก้ไขยากนะคะ คุณเลือกได้
อาจให้เด็กเล่นแยกสีผ้าในตะกร้าก็ได้นะคะ ไม้หนีบผ้าก็เล่นได้ (อย่าลืมเรื่องวัสดุ ถ้าไม่ลำบากเกินไป)

- เรื่องอาหาร ควรทำอาหาร หรือหาอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดสาร รสชาติเป็นธรรมชาติไม่จัดจ้าน หวาน เค็ม ธรรมชาติๆ ดีที่สุด ให้ลูกทาน ครูเอ๋บอกว่า ถ้าไหวก็คุ้มค่าแก่การลงทุน ควรดูแหล่งที่มาด้วย ส่งผลต่อเรื่องพัฒนาการด้วยนะเออ (ครูเอ๋พูดเรื่องนี้ ภาพคุณโจน จันได เด้งชัดขึ้นมาทันใด เกี่ยวเรื่องอาหารและพลังชีวิต)

- 0-3 ปี (4 ขวบเริ่มเข้าใจเหตุผล) เป็นวัยที่เราไม่ต้องใช้เหตุผลกับลูก พ่อแม่ทำให้ลูกดู พาลูกทำ เช่น ลูกไม่ยอมแปรงฟัน ก็ยิ้มหวาน ๆ พาลูกไปแปรงด้วยกัน ไม่ต้องอธิบายเยอะ "ลูกค่ะ หากลูกไม่แปรงฟัน ฟันของลูก ก็จะมีแมงกินฟันมากัดกินเนื้อฟันของลูก ทะลุไปถึงโพรงประสาทฟัน และจะทำให้ลูกนั้นปวดฟัน เจ็บปวดทรมานมากนะคะ" แบบนี้คือไม่ควรนะคะฮ่าๆๆๆ ควรสร้างขอบเขตให้ชัดเจน เด็กจะได้รู้จักขอบเขตของตัวเองและผู้อื่น อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เวลาใดควรเล่น เวลาใดควรนอน

- 0-4 ปี เด็กๆ ฟังอะไรที่เห็นภาพเขาจะทำค่ะ เช่น อย่าวิ่ง คำว่าอย่าไม่เห็นภาพ เห็นภาพวิ่ง จึงวิ่งๆๆๆๆๆๆๆ แม่บอก "อย่าจับ" ลูกจึง "จับ"ค่ะ ฮ่าๆๆๆๆ ตลกร้ายจริงนะ โดนกันมาเยอะใช่ไหมคะ555 หากต้องการให้ลูกหยุด จงใช้พลังภายในค่ะ จินตนภาพ เห็นภาพลูกหยุดชัด ๆ ในหัวของเรา และเปล่งเป็นคำพูดที่มีพลัง(มิใช่ตวาด ฟาดเสียงใส่นะคะ) อารมณ์หนักแน่นจริงจัง "หยุด" แนะนำว่าอย่าใช้คำว่าหยุดกับลูกพร่ำเพรื่อนะคะ เอาที่จำเป็นจริง ๆ เช่น ลูกเอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟเป็นอันตรายต่อชีวิตของลูกและต่อหัวใจของเรา ดีกว่าคือจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมจะได้ไม่ต้องใช้คำว่า "หยุด" เพราะเป็นการหยุดการพัฒนาการของลูกด้วย (อันนี้แม่ดาวเรียนมาจากครูอีกท่าน หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "ไม่ ห้าม อย่า หยุด" โดยไม่จำเป็น)

- 2-7 ปีเล่นเป็นสัญลักษณ์ได้ เช่นเอากล่องมาเล่นสมมุตเป็นรถ ใบไม้เป็นเรือ

- ก่อน7 ปี ให้ทุกอย่างรอบตัวมีชีวิต มีอารมณ์ สอนให้เขาเคารพและเห็นค่า เช่น ลูกเล่นตุ๊กตาไม่เก็บ เดินเหยียบ แม่เก็บไป ลูกถามหา อาจบอกลูกว่า พี่ตุ๊กตาเสียใจที่ลูกไม่ดูแล เลยหลบไปพักบ้านเพื่อนสักพัก แล้วค่อยเจรจากับลูกต่อไป (ประมาณนี้นะคะ) อาจฟังดูต๋อง ๆไร้สาระสำหรับบางท่าน แต่วิธีนี้แม่ดาวก็ใช้นะคะสมัยลูกเด็กๆ ก็ได้ผลดี (ที่สอนผิดๆ มาก็เยอะมากค่ะ5555)

- อาจให้ลูกได้อาบน้ำโดยใช้ใยต่าง ๆ เช่น ใยบวบ ผ้า ในการอาบน้ำแทนการใช้มือ เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ทางการสัมผัส (พิจารณาดูวัยของลูกด้วยนะคะ)

- มีคนถามเรื่องการเรียนดนตรี ศิลปะ กีฬา ว่าควรเรียนวัยไหนอย่างไร ครูเอ๋แนะนำว่า ก่อน 9 ขวบจะไปเรียนก็ได้แต่มิใช่เพื่อสร้างวินัย แต่เน้นสร้างความสนุกสุขใจ ถ้าเรียนเพื่อสร้างวินัยหรืออะไรก็หลังจากนี้เนอะ 0-8 ขวบ วินัยเกิดจากการทำกิจวัตรประจำซ่ำๆ ทำเป็นเวลา แต่ถ้าเขาขอเรียนอะไรแล้ว ให้เรียนแล้ว อย่าหยุดกลางคัน ให้เรียนให้จบคอร์ส สร้างนิสัยทำอะไรให้สำเร็จ ไม่จับจดนะจ๊ะ หากเป็นเครื่องดนตรีแนะนำตามลำดับ เริ่มจาก เป่า ดีด ตี สี นะเออ

- 9 ขวบเด็ก ๆ ควรแสดงอารมณ์เป็น เรียนรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร สอนให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง (ซึ่งก็คงสอนมาเรื่อย ๆก่อนหน้านี้บ้างแล้ว)

-12 ขวบพาลูกไปทำงานจิตอาสา วัยนี้ควรเรียนรู้เรื่องการเห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่นได้แล้ว (ถ้ายังไม่ได้ก็ทำต่อไปนะพ่อแม่)

- ใครยังไม่มีลูกคนที่ 2 อยากจะมี ครูเอ๋แนะนำว่าควรมีให้ห่างกันสัก 3-4 ปี ลูกคนโตจะได้พอเข้าใจอะไร ๆ บ้างแล้ว แม่ได้พักร่างฟื้นฟูร่างกายจิตใจ พ่อได้พักผ่อน(มั้ง) น่าจะเป็นเวลาอันเหมาะสมแก่การผลิตลูกคนต่อไป กับหัวข้อนี้แม่ดาวขอผ่านค่ะ55555 เกินทั้งสภาพร่างแม่และอายุลูก ส่วนพ่อนั้นสบตาแล้วไม่พร้อมแน่ ๆ

+++
ยังไม่จบ แต่พบว่าปวดตามากแล้วค่ะ ทั้งอ่านลายมืออันน่าวิงเวียนของตัวเอง (ลายมือตัวเองช่างทำร้ายสายตาและสมองอย่างยิ่ง) และจ้องจอพิมพ์

ขอพักการแบ่งปัน......ใครยังสนใจไว้ติดตามตอนต่อไปนะคะ เรื่องราวที่แบ่งปันนี้ เกิดจากการจด จำ และนำมาต่อยอดบ้าง หากมีความผิดพลาดประการใด ต้องขอภัยมา ณ ที่นี้ และหากใครจะช่วยแก้ไขก็ยินดีอย่างยิ่งนะคะ จักขอบพระคุณอย่างยิ่ง หวังว่าเพื่อนที่ไปอบรมมาด้วยกัน จะแวบเข้ามาอ่าน ตรวจทานให้ เผื่อมีข้อมูลใดผิด ตกหล่นจะได้เพิ่มเติม
+++
ครั้งหน้าจะว่ากันด้วยเรื่อง "คำเตือน" ข้อควรระวัง วิธีการเล่นนิดหน่อย ข้อคิดเล็กๆ รอยยิ้มน้อย ๆ รออีกหน่อยนะคะ
ใครมีคำถาม ๆ ได้นะคะ ถ้าตอบได้ตอบ ถ้าตอบไม่ได้จะถามผู้รู้ต่อให้ โพสต์ไว้หน้ากระดาน เผื่อมีผู้รู้ท่านใดตอบได้จะได้ช่วยตอบ ขอบคุณอีกครั้งที่ตามอ่านย๊าวยาว......ยิ้มกว้าง ๆ อีกครั้ง อยากบอกว่าท่านใดที่อ่าน "ขอบคุณค่ะและชื่นชมอย่างยิ่งค่ะ" เป็นคุณแม่คุณพ่อ คุณ.......ที่มีความรัก และไม่ขาดการเรียนรู้ สู้ๆ ต่อไปนะคะ
+++

+++
สุดท้ายขอขอบคุณข้อมูลพัฒนาการความรู้จากเว็บตามลิ้งค์นี้ค่ะ http://www.babybestbuy.in.th/shop/child_development และขอขอบคุณข้อมูลความรู้และความรักดีๆ จากเพจ
A Real Working Mom https://www.facebook.com/notes/a-real-working-mom/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B9%86-%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7-%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9F-%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%9D%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%99/369429337665
+++

เยอะนะ ค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ ย่อยความรู้ ระวังหัวฟูความรู้อืดเต็มสมองนะคะ เจอกันใหม่ตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 618575เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2016 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2016 07:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท