สอนลูกนอกตำรา : ใช้ฟุ่มเฟือย สอนไม่ฟุ่มเฟือย


เล่นกับพลังลบ จากความฟุ่มเฟือย ดูดซับพลิกแพลงให้เป็นพลังบวก เป็นการปลูกฝังให้ประหยัดอย่างตื่นรู้ ไม่ต้องท่องจำ แต่กลับสนุกและมีชีวิตชีวา

สามสี่วันก่อน คุณพ่อพาน้องอาสากับพี่ออมสินไปร้านสะดวกซื้อ จะไปซื้ออะไรกินสักหน่อย แต่พอสายตาหนูน้อยอาสาเหลือบไปที่ชั้นของเล่น ก็ออกอาการอ้อนพ่อ อยากให้ซื้อตุ๊กตาเด็กตัวเล็กๆให้ แววตาเธอดูอยากได้มากกก


"เดี๋ยวพ่อดูราคาก่อนนะ เท่าไรเนี่ย โห ตั้ง 150 บาทน่ะลูก แพงนะ ไม่เอาดีกว่ามั้ง ตุ๊กตาที่บ้านหนูมีเต็มตระกร้าแล้วนี่ ไม่เอาละเนาะ เก็บตังค์ไว้ทำอย่างอื่น"


ว่าแล้ว คุณพ่อก็จูงเธอออกไปดูของอย่างอื่นในร้าน ไม่วายเธอก็ยังมีอาการหงิมๆ เหมือนแมวขี้อ้อน ทำตาแดงๆละ เอาสิ พ่อจะทำยังไง "ก็มันน่ารัก หนูอยากได้นี่ จะได้เอาไปเล่นกับหมีสีชมพู (ตุ๊กตาอีกตัว)" เธอพูดเบาๆ พร้อมต่อมน้ำตาที่เริ่มซึมๆออกมา ตามสไตล์


"วันหน้ามีตังค์ค่อยมาซื้อก็ได้เนาะลูกเนาะ" คุณพ่ออ้อนบ้าง

"มันมีอยู่ตัวเดียว เดี๋ยวคนอื่นก็ซื้อไปแล้วจะทำยังไง" เธอแย้ง

แค่หกขวบต่อรองยังกะผู้ใหญ่.... คุณพ่อนึกในใจ

" เอ้า ถ้าหนูอยากได้จริงๆ พ่อไม่ว่า แต่พ่อออกให้ห้าสิบบาท ที่เหลือหนึ่งร้อยหนูต้องเอาเงินจากกระปุกออมสินมาจ่ายเองนะ พี่ออมสิน (ยืนข้างๆ) มาเป็นพยานด้วยนะ จะได้ไม่ลืม "

"ค่ะ" หนูน้อยยิ้มแป้น อุ้มตุ๊กตาออกจากร้านด้วยความลิงโลด


กลับไปถึงบ้านก็ค่ำแล้ว คุณพ่อยังคงทำงานนั่งโต๊ะประจำเช่นเคย แต่วันนี้ เหลือบเห็นเธอเล่นกับตุ๊กตา พูดคุย ดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำอยู่ในห้องนั่งเล่นข้างๆ ก็น่ารักดี อมยิ้มในใจ เป็นความสุขใกล้ตัวที่ลูกส่งพลังมาถึงพ่อได้มากทีเดียว


สี่ทุ่ม ได้เวลาเข้านอนละ "เอ้า อาสา ได้เวลาเอาตังค์ค่าตุ๊กตามาคืนให้พ่อละนะ พี่สินมาช่วยน้องนับเงินจากกระปุกหน่อยเร้ว" คุณพ่อพาลูกทั้งสองไปที่ห้องนอน แล้วเอากระปุกหมูออมสิน เปิดจุกยางข้างใต้ออกแล้วช่วยกันนับเหรียญบาท เหรียญห้า เหรียญสิบที่ปนๆกัน


"หนึ่ง สอง สาม....." ระหว่างที่พี่ชายนับเหรียญอยู่นั้น คุณพ่อก็แอบสังเกตน้องสาว ตาเธอจับจ้องดูแต่ละเหรียญที่เอาออกมา

"ครบหนึ่งร้อยบาทละพ่อ โห กระปุกหมูอันนิดเดียว ใส่เงินได้ตั้งเยอะนะ นี่ยังเหลือในกระปุกอีกเยอะเลย" ออมสินอุทาน

"ทำไม ตังค์หนูมีเยอะจัง" อาสาถาม

"ก็หนูมาอ่านนิทานกับพ่อแม่แล้วได้ตังวันละห้าบาทสิบบาท เก็บมาเรื่อยๆมันก็เยอะขึ้นๆ อย่างนี้ไงลูก แต่ถ้าเอาเงินออกมาเรื่อยๆ หมูมันก็หิวนะ เอาตังค์ออกจากท้องมัน ท้องมันก็ไม่มีอะไร"

"อ้อ"

"แล้วอาสารู้สึกยังไงลูก " ผมหยอดคำถาม

"อืม ก็เสียดายเงินอยู่นะ มันก็เยอะอยู่"

"วันพรุ่งนี้ เราไปซื้อตุ๊กตากันอีกไหม อาสาก็ออกเงินด้วย เดี๋ยวพ่อช่วยตังค์เสริมให้"

"ไม่เอาละค่ะ หนูเสียดายเงิน กว่าจะเก็บได้"

คุณพ่อยิ้ม


ที่ผ่านมา บ่อยครั้งที่เราสอนเขาตรงๆ ไม่ได้ผล เพราะเขาไม่ได้คิดตาม ไม่ได้สัมผัสกับความรู้สึกลึกๆของตนเอง คำตอบของเขาจึงเป็นคำตอบของพ่อ แม่ ผู้ใหญ่ แต่การสอนแบบนี้ บอกตรงๆ ผมก็ไม่ได้วางแผนมาก่อน แต่มันมาได้ไงไม่รู้ แต่รู้สึกดี และได้ผลดีกว่ามาก เพราะคำตอบท้ายสุดนั้น มาจากตัวเขาเอง มันเป็นการเรียนรู้ที่มาจากความรู้สึก นึกคิดของเขา โดยคุณพ่อเป็นผู้จัดกระบวนการบูรณาการกับชีวิตประจำวัน


เป็นการเล่นกับพลังลบ จากความฟุ่มเฟือย ดูดซับพลิกแพลงให้เป็นพลังบวก เป็นการปลูกฝังให้ประหยัดอย่างตื่นรู้ ไม่ต้องท่องจำ แต่กลับสนุกและมีชีวิตชีวา

มากไปกว่า การสอนให้เขารู้จักประหยัด เขายังจะได้ความภาคภูมิใจ ที่ความรู้นั้น มาจากตัวเขาเอง

และที่ภูมิใจไม่แพ้กัน คือตัวเราเอง

หมายเลขบันทึก: 617958เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2016 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2016 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

รับรองว่าวิธีนี้ได้ผลระยะยาวเลยค่ะ

ยอดเยี่ยมมากครับครูยอด

ให้เด็กได้เรียนรู้จากการสัมผัสกับความรู้สึกลึกๆของตนเอง .....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท