เส้นทางของครูพันธุ์ใหม่


ครูในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ขาดความเชี่ยวชาญในการสอนทั้งทางวิชาการและคุณลักษณะความเป็นครู
ความเอาใจใส่ต่อเด็กลดลง ความนิยมยกย่องของสังคมต่อครูจึงลดลง ทำให้วิชาชีพครูตกต่ำลง
ดังนั้นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 จึงจัดให้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยกำหนด
ว่าระบบและกระบวนการผลิตพัฒนาครูจะต้องปรับเปลี่ยนให้ได้ครูที่มีศักยภาพคุณภาพ สมกับเป็น
วิชาชีพชั้นสูง จึงได้มีการผลิตครูระบบใหม่เกิดขึ้น ออกแบบหลักสูตรเป็น 5 ปี สังคมและในวงวิชาการ
ต่างคาดหวังว่า "ครูพันธุ์ใหม่" จะเป็นสายเลือดใหม่และผู้นำทางการศึกษารุ่นใหม่ที่จะมากู้วิกฤตศรัทธา
ในวิชาชีพครู ครูพันธุ์ใหม่จึงต้องเป็น “ครูดี ครูเก่ง” และถูกส่งเสริมอย่างเป็นระบบ พัฒนาเป็นครูแกนนำ
เพื่อเป็นต้นแบบปฏิรูปการเรียนรู้และขยายผลแก่ครูเครือข่าย เพื่อสร้างการศึกษาไทยภายใต้กระแส
โลกาภิวัฒน์ให้เป็นเศรษฐกิจบนฐานความรู้ที่สดใส และเข้มแข็ง

“ครูที่ดีและเก่ง” ในมุมมองของดิฉัน ต้องเป็นครูที่สอนดี มีทั้งภูมิรู้และภูมิธรรม มีศิลปะในการสอน
และการอบรมผู้เรียน สามารถนำหลักสูตรไปสู่การเรียนการสอนในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ต้องทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายได้ ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้เร็วและสนุกสนาน ประทับใจ จดจำได้นาน
มีทักษะชีวิต และนำความรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน สอดคล้องกับ รัชนี ธงไชย (2553)
ที่กล่าวว่าครูที่ดี ต้องเป็นให้ได้ดังนี้

1. ครูเป็นนักบุญ การเป็นครูเป็นงานที่สำคัญ มีคุณค่าและยิ่งใหญ่ เพราะครูสร้างคนให้เป็นคน
สร้างเด็กเพื่อสร้างสรรค์สังคม เริ่มจากการสร้างวิธีคิดที่ดี คิดในทางบวก มีสติ ครูเป็นนักบุญ
ต้องใช้สันติธรรมให้สังคมเกิดสันติสุข

2. ครูทุกคนต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต้องค้นหาความจริง แล้วค่อยๆแก้ปัญหา

3. ครูต้องเป็นนักบริการ ต้องทำให้เด็กมีความสะดวก เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
ทำให้เด็กเกิดฉันทะ หากเด็กอยากเรียนก็ปล่อยให้เรียน ถ้าเด็กประสบความสำเร็จจากเรื่องเล็กๆ เขาจะอยาก
เรียนรู้ไปเรื่อยๆเด็กจะเกิดความสนุก การเล่นจะเกิดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กหาในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ
ครูต้องรู้จักหยิบเรื่องชุมชนมาจัดการศึกษาให้เด็กเกิดฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

4. ครูคือพรหม ต้องทำงานโดยใช้พรหมวิหาร 4 คือ เมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา, อุเบกขา
หรือการปล่อยวาง อย่างมีเมตตา

5. ครูต้องเป็นนักวิจัย รู้จักสังเกต เฝ้าดู หากเห็นว่าเด็กจัดการตัวเองได้ ให้อยู่ห่างๆ แต่ต้องเปิดประตู
ทิ้งไว้เสมอรอให้เด็กเข้ามา เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ครูต้องมีข้อมูลของเด็ก และเข้าใจ
ความสัมพันธ์ของเด็กแต่ละคน ครูต้องมองเด็กใหม่ เห็นชีวิตของคน ครูพันธุ์ใหม่ต้องเป็นครูที่มีชีวิต

ครูพันธุ์ใหม่เป็นบุคลากรวิชาชีพ ซึ่งทำหน้าที่หลักทั้งทางด้านการเรียนการสอน และการส่งเสริมการเรียนรู้
ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาของรัฐ และเอกชน โดยมีองค์ประกอบคุณลักษณะที่เพียบพร้อม
ในด้านความรอบรู้ ในวิทยาการ ในฐานะครู และพลเมืองที่มีคุณภาพ มีความสามารถ และทักษะในด้าน
การเรียนการสอนที่สร้างสรรค์การเรียนรู้สมกับเป็นบุคลากรในวิชาชีพชั้นสูง มีคุณธรรม จริยธรรม
และบุคลิกภาพสมกับความเป็นครู มีความรู้อย่างลึกซึ้ง กว้างขวางในศาสตร์สาขาที่สอน อันนำไปสู่บุคลากร
วิชาชีพ ผู้ซึ่งสมควรได้รับใบประกอบวิชาชีพครู ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพที่สภาวิชาชีพครูกำหนด
เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เป็นที่ยอมรับ
จากสังคมทั่วไป เริ่มต้นตั้งแต่การปรับปรุงระบบการผลิตครูเพื่อให้การผลิตครูสอดคล้องกับสภาพ
ความต้องการ ความจำเป็นทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ โดยการพัฒนาหลักสูตรการผลิตครูพันธุ์ใหม่
ให้เข้มข้นในศาสตร์ที่สอนและหลากหลายในวิธีการสอน ซึ่งสอดคล้องกับพลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง (2547)
ที่กล่าวถึงหลักและมาตรฐานคุณลักษณะตามเกณฑ์การประเมินครูพันธุ์ใหม่ 10 ประการดังนี้

หลักประการที่ 1 ครูพันธุ์ใหม่ต้องเข้าใจความคิดหลัก เครื่องมือที่จะใช้หาความรู้ และโครงสร้างของ
หลักการที่ใช้สอน สามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหมายแก่นักเรียน

หลักประการที่ 2 ครูพันธุ์ใหม่ต้องเข้าใจว่าเด็กเรียนรู้อย่างไรและพัฒนาอย่างไร สามารถตระเตรียมโอกาส
แห่งการเรียนรู้ที่สนับสนุนการพัฒนาทางสติปัญญาและสังคมของเด็กแต่ละคน

หลักประการที่ 3 ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจถึงความแตกต่างในการเรียนรู้ของเด็ก และสามารถสร้างสรรค์
โอกาสในการจัดการเรียนการสอนที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับผู้เรียนที่หลากหลายได้

หลักประการที่ 4 ครูพันธุ์ใหม่ต้องเข้าใจและใช้ยุทธศาสตร์การสอนต่างๆ ที่จะช่วยเร่งการพัฒนาของนักเรียน
ให้มีความคิด รู้จักวิพากษ์วิจารณ์ แก้ปัญหาและแสดงทักษะได้

หลักประการที่ 5 ครูพันธุ์ใหม่ต้องใช้ความเข้าใจในตัวเด็กแต่ละคน รวมทั้งการใช้แรงจูงใจ

และพฤติกรรมของกลุ่มมาสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในเชิงสร้างสรรค์
มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และการสร้างแรงจูงใจในตัวของผู้เรียน

หลักประการที่ 6 ครูพันธุ์ใหม่รู้จักเลือกใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดผล สามารถใช้อากัปกิริยาท่าที รวมทั้งเทคนิควิธี
การสื่อความหมายที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็กรู้จักถาม รู้จักแสวงหาความรู้ ตลอดทั้งรู้จักสร้างบรรยากาศแห่ง
ความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์

หลักประการที่ 7 ครูพันธุ์ใหม่ต้องรู้จักวางแผนการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชา ความต้องการของชุมชน
และเป้าหมายของหลักสูตร

หลักประการที่ 8 ครูพันธุ์ใหม่มีความเข้าใจและใช้วิธีการประเมินผลในรูปแบบทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็น
ทางการ เพื่อประเมิน สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นว่าผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทั้งทางสติปัญญา สังคม
และร่างกายอย่างต่อเนื่อง

หลักประการที่ 9 ครูพันธุ์ใหม่ต้องเป็นนักปฏิบัติการที่มีความถี่ถ้วน รู้จักประเมินผลการปฏิบัติงานของตนเอง
และบุคคลอื่นอย่างต่อเนื่อง (นักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ในชุมชน) พร้อมทั้งหา
โอกาสที่จะสร้างความก้าวหน้าทางวิชาชีพของตนให้เกิดขึ้น

หลักประการที่ 10 ครูพันธุ์ใหม่ต้องสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในโรงเรียน ผู้ปกครอง และองค์กร
ในประชาคมที่กว้างขวางมากขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนการเรียนรู้และความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน

จากที่กล่าวมาข้างต้น ดิฉันจึงได้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการผลิตครู และการพัฒนาครูให้เป็นครูที่มีคุณภาพ เป็นครูมืออาชีพ เป็นครูที่รักของผู้เรียน พร้อมที่จะเรียนรู้ ส่งเสริมชี้แนะให้ผู้เรียนได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เป็นผู้รักในการเรียนรู้ เป็นครูที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเพื่อยกมาตรฐานวิชาชีพให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง เป็นครูมุ่งพัฒนาสามารถประเมินและปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง พร้อมปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณวิชาชีพครูอย่างเคร่งครัด เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียนและผู้อื่น มีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีความเป็นไทยในความเป็นสากล เป็นคนเก่งเป็นคนดี และมีความสุข
(Teacher Professional Development , 2552)



อ้างอิง

พลสัณห์ โพธิ์ศรีทอง. (2547, 4 กรกฎาคม ). ลักษณะครูพันธ์ใหม่. มติชน, น.10

รัชนี ธงไชย. (2553). บทเรียนครบรอบ 1 ปี อาสาสมัครครูอาสาเพื่อการศึกษาทางเลือก
สู่ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษารอบ2
. กรุงเทพมหานคร: โรงเรียนรุ่งอรุณ

Teacher Professional Development. (2552). คุณลักษณะครูรุ่นใหม่กับการปฏิรูปหลักสูตรผลิตครู.
[ออนไลน์].
เข้าถึงได้จาก https://educ105.wordpress.com. สืบค้นเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2559.

หมายเลขบันทึก: 617845เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2016 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2016 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท